Thursday, April 16, 2015

เลนิน บนเส้นทางปฏิวัติ (15) จบ

4.  อเล็กซานเดอร์  นิโคไลเยวิช โปเตรซอฟ ( Алекса́ндр Никола́евич Потре́сов)
นักสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย  เป็นหนึ่งในผู้นำของกลุ่มเมนเชวิค  และเป็นหนึ่งในคณะบรรณาธิการของหนังสือ พิมพ์อิสครา   เกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 1869 ที่มอสโคว์ในตระกูลผู้ดี   บิดาเป็นนายทหารยศพลโท  ศึกษาวิชาฟิสิคส์ คณิตศาสตร์ และกฎหมายที่มหาวิทยาลัย เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก   ในขณะที่เป็นนักศึกษาได้สัมพันธ์กับกลุ่มนักปฏิวัติ   ต้นปี 1890  ได้เปลี่ยนจากพวกนักประชาธิปไตยสายกลาง(ป๊อปปูลิสต์)มาเป็นนักลัทธิมาร์กซ  มีความสัมพันธ์อย่างลับๆกับคนในแวดวงสังคมนิยมประชาธิปไตยของปีเตอร์ สตรูฟและมาร์ตอฟ    ปี1892 ได้เข้าร่วมกับกลุ่มปลดปล่อยแรงงานของเพลคานอฟที่ลี้ภัยอยู่ในสวิตเซอร์ แลนด์และเป็นคนจัดพิมพ์งานนิพนธ์ของเพลคานอฟบางเรื่องอย่างถูกกฎหมายในรัสเซีย     ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลรัสเซียกำลังเน้นความสนใจกับองค์กรปฏิวัติ ”นารอดนายา โวลยา”(Наро́дная во́ля /เจตนารมณ์ประชาชน)ของกลุ่มนักประชาธิปไตยสายกลาง(ป๊อปปูลิสต์) มากกว่ากลุ่มของเพลคานอฟซึ่งเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกัน

ในปี 1896 โปเตรซอฟ ได้ช่วยก่อตั้ง “สหภาพการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นกรรมกรแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก” ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยใจกลางของ พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย(RSDRP)   ปี1897 โปเตรซอฟถูกจับและ ถูกเนรเทศไปยังจังหวัดวียัทกา    หลังถูกปล่อยตัวได้เดินทางไปอาศัยในเยอรมันได้พบปะแลกเปลี่ยนกับนักสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน   และได้รู้จักคุ้นเคยกับ อัคเซลรอด และเวรา ซาซูลิค   ปี1898  ได้แต่งงานกับ เยคัธรินา  ทูลินโวเอีย  ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกัน  โปเตรซอฟ ได้ร่วมกับเพลคานอฟ  อัคเซลรอด  ซาซูลิค  มาร์ตอฟ  และเลนิน ออกหนังสือพิมพ์อิสครา  ภาระหน้าที่ของพวกเขาก็คือการปกป้องลัทธิมาร์กซและคัดค้านความคิดนอกร่องรอยของลัทธิเศรษฐกิจและลัทธิแก้ซึ่งกำลังเป็นกระแสอยู่ในกลุ่มสังคมประชาธิปไตยรัสเซียขณะนั้น    ในปี 1898 โปเตรซอฟได้ร่วมก่อตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย  

ต่อมาอีกสองสามปีเขาเกิดป่วยหนักไม่สามารถช่วยงานด้านหนังสือ พิมพ์ได้มากนัก      ประกอบกับเลนินเสนอให้ลดจำนวนสมาชิกของหน่วยบรรณาธิการลงให้เหลือเพียงสามคนคือ เพลคานอฟ  มาร์ตอฟ  และ  ตัวเขาเอง    เป็นเหตุให้คนที่ถูกปลดออกเกิดความไม่พอใจขึ้น     เลนินเกรงว่าจะเกิดปัญหาลุกลามไปจึงลาออกจากคณะบรรณาธิการเหลือเพียงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคเพียงแต่ตำแหน่งเดียว     เพลคานอฟจึงเลือกคนทั้งสามกลับมาเป็นกรรมการอีกโดยพละการทำให้อิสคราแตกออกเป็นสองส่วนคือ  อิสคราที่ไม่มีเลนินถูกเรียกว่าอิสคราใหม่และอิสคราที่เลนินกำกับเรียกว่าอิสคราเก่า  เรื่องนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยแตกออกเป็นสองกลุ่มคือบอลเชวิคและเมนเชวิค    โปเตรซอฟสังกัดกลุ่มเมนเชวิค

โปเตรซอฟเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญมากของกลุ่มเมนเชวิคเพราะว่าเขามีความสัมพันธ์กับพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันมาอย่างแนบแน่น   และคณะกรรมการของพรรคนี้ส่วนมากเห็นอกเห็นใจกลุ่มเมนเชวิค  (แต่แสดงออกอย่างเป็นทางการว่าวางตัวเป็นกลาง)   ไม่นานโปเตรซอฟก็เกิดความมึนตึงกับเพลคานอฟเนื่องจากเพลคานอฟลงมติสนับสนุนกลุ่มบอลเชวิคเพื่อให้เกิดความสมานสามัคคีในพรรค   โปเตรซอฟซึ่งมี เวรา ซาซูลิค  สนับสนุนอยู่ได้พิจารณาเห็นว่าการสมานฉันท์กับเลนินนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้   จึงถอนตัวออกจากกองบรรณาธิการของอิสครา    การปฏิวัติขึ้นในปี 1905 นำโปเตรซอฟกลับรัสเซีย   และได้จัดทำหนังสือพิมพ์ของเมนเชวิคชื่อ นาชาโล (การเริ่มต้น) และเนฟสกียี โกโลส(เสียงใหม่)    ภายหลังการพ่ายแพ้ของการปฏิวัติปี 1905 เขามีใจให้กับแนวทางที่เรียกว่า “ผู้คัดค้าน” ที่มีจิตเจตนาจะหยุดยั้งการต่อสู้ปฏิวัติที่ผิดกฎหมาย     โดยการหันมาให้ความสนใจแนวทางสหภาพแรงงาน(ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายในรัสเซียตั้งแต่ปี 1906) และการเลือกตั้งเข้าสู่สภาดูมา(แนวทางรัฐสภา...ผู้แปล)  ซึ่งเป็นแนวทางที่เลนินไม่เห็นด้วย      ทำให้ตัวเขาเด่นขึ้นในพรรคฝ่ายเมนเชวิคเหมือนมาร์ตอฟ     ดังนั้นแนวคิดลัทธิ ”ปฏิเสธิชนชั้นปฏิวัติ” จึงเป็นกระแสหลักในฝ่ายเมนเชวิค   ในฐานะบรรณาธิการ นาชา ซาริเยีย วารสารของนักลัทธิปฏิเสธการปฏิวัติ โปเตรซอฟจึงเป็นหนึ่งในนักทฤษฎีผู้โดดเด่นที่เสนอความเรียงด้านประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์     และเป็นหนึ่งในบรรณาธิการและผู้เผยแพร่งานเขียนสี่ตอนเรื่อง ” การเคลื่อนไหวทางสังคมในรัสเซียก่อนศตวรรษที่ 20    

ปี 1914 โปเตรซอฟ เปลี่ยนความคิดไปเป็นพวกสนับสนุนสงครามเพื่อปกป้องปิตุภูมิหรือพวกดีเฟ้นซิสต์ (Defencist) อย่างกะทันหัน  แม้เพลคานอฟจะสนับสนุนเขาแต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากบรรดาเมนเชวิคทั้งหลายทีเห็นต่างกับแนวทาง ”สงครามและชัยชนะ” ของเขา   โปเตรซอฟให้เหตุผลว่าชัยชนะของกลุ่มสามมหาอำนาจ”อองตองเต” (Entente ) ที่ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียต่อกลุ่มอำนาจกลาง(Central Powers) คือ เยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี   หมายถึงชัยชนะของระบอบประชาธิปไตยตะวันตกที่มีต่อรัฐทหารปรัสเซีย  ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหวลัทธิสังคมนิยมในยุโรปและทุกหนทุกแห่ง     เขาได้ทำการโฆษณาชวนเชื่อผ่านหนังสือพิมพ์ นาเช เดโล (เหตุผลของเรา)  เปโตรซอฟไม่เพียงแต่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักในเรื่องของความไร้ประสิทธิภาพในการนำสงคราม   เป็นผลให้วารสารของเขาถูกปิดและต้องหลบออกจากเปโตรกราดในปี 1915  แต่ก็ยังได้รับอนุญาตให้อยู่ในมอสโคว์ได้    เขาพยายามช่วยเหลือสนับสนุนการทำสงครามโดยเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการอุตสาหกรรมทหารแห่งมอสโคว์

ปี 1917 การปฏืวัติเดือนกุมภาพันธ์ได้สร้างความชื่นชมยินดีแก่เขาเป็นอย่างมากที่โค่นระบอบการปก ครองของพระเจ้าซาร์ลงไปได้       แต่ข้อเสนอของเขาที่เห็นควรให้ทำสงครามต่อไปนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาเมนเชวิคส่วนใหญ่  กระทั่งพวกที่สนับสนุนการทำสงคราม(Defencist)ทั้งหลายที่เป็นกระแสหลักครอบงำรัสเซียอยู่ในขณะนั้นก็พยายามหลบเลี่ยง    ในระหว่างการเตรียมการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญอยู่นั้นเขาได้ขู่ว่าจะพาผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางของเขาถอนตัวออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย    โปเตรซอฟต่อต้านการปฏิวัติเดือนตุลาคมอย่างหนักในที่สุดเขาก็ออกจากพรรคไปร่วมกับสหภาพเพื่อการช่วยเหลือรัสเซีย  ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่รวมเอาบรรดาปีกขวาของเมนเชวิค พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ และพวกป๊อปปูลิสต์  ซึ่งภายหลังทำให้เขาผิดหวังเป็นอันมาก

ปี 1918  เขาถูกจับโดยบอลเชวิคในข้อหาเข้าร่วมกับพวกนั้น  และได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากรัส เซียเพื่อไปรักษาตัวในต่างประเทศ    แรกสุดได้พักอยู่ในเบอร์ลินจากนั้นได้ย้ายไปปารีส   โปเตรซอฟมีความเห็นว่าสหภาพโซเวียตรัสเซียไม่ใช่รัฐสังคมนิยม   แต่เป็นรัฐปฏิกิริยาคณาธิปไตยโดยสมบูรณ์แบบ   ทัศนะเช่นนี้ของเขาแตกต่างไปจากบรรดาเมนเชวิคส่วนใหญ่   เขาให้เงินช่วยเหลือแก่นิตยสาร “ดนี”(วัน)ของ เอ.เอฟ. เคเรนสกี้อย่างสม่ำเสมอ      เชื่อว่าระบอบบอลเชวิคกำลังจะถึงกาลล่มสลายในไม่ช้าและเรียกร้องให้ผู้ที่ต่อต้านบอลเชวิครวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   โปเตรซอฟเสียชีวิตที่ปารีสเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 1934

5.  จูเลียส  มาร์ตอฟ (Ма́ртов) 
ชื่อจริงคือ ยูลิอา โอสิโปวิช เซเดอร์บาวม์ (Ю́лий О́сипович Цедерба́ум)
นักการเมือง   และภายหลังได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของกลุ่มเมนเชวิค  เกิดในตระกูลชนชั้นกลางชาวยิวเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 1873  ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล(ปัจจุบันคือเมืองอิสตันบุล ประเทศตุรกี)  เป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดกับวลาดิมีร์ เลนิน  และร่วมกันก่อตั้งสันนิบาติเพื่อการต่อสู้ปลดปล่อยชนชั้นผู้ใช้แรงงานในปี 1895   ทั้งคู่ถูกเนรเทศไปยังไซบีเรียเช่นเดียวกัน  มาร์ตอฟถูกส่งไปยัง ทูรูคันสค์ ในแถบอาร์คติก   ในขณะที่เลนินถูกส่งไปยังที่ซึ่งหนาวน้อยกว่าเนื่องจากสาเหตุที่มาร์ตอฟมาจากครอบครัวชาวยิว  ส่วนเลนินมีพื้นฐานมาจากครอบครัวขุนนาง     เขาถูกบีบให้ต้องลี้ภัยจากรัสเซียพร้อมๆกับพวกที่มีความคิดรุนแรงในทางการเมือง  

มาร์ตอฟเป็นผู้หนึ่งที่เป็นสมาชิกก่อตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย(RSDLP)กับเลนินในปี 1900 และเป็นหนึ่งในคณะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “อิสครา”   เลนินได้เสนอแนวคิดของตนเกี่ยวกับแนวทางการเคลื่อนไหวของพรรคในจุลสารของเขาเรื่อง “จะทำอะไรดี”( What Is to Be Done?)  ซึ่งเป็นเอกสารที่บ่งชี้ถึงทัศนะของกลุ่มอิสครา    เมื่อการประชุมสมัชชาพรรคฯครั้งที่สองในลอนดอนในปี 1903  ทั้งสองมีความเห็นไม่ตรงกันในการพิจารณากำหนดคุณสมบัติของสมาชิกพรรค   มาร์ตอฟเห็นว่าใครก็ได้ที่สนับสนุนปัจจัยหรือเข้าร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมของพรรคก็สมัครเป็นสมาชิกได้   หากเข้มงวดเกินไปจะทำให้สมาชิกน้อยลง    แต่เลนินเห็นว่าผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคจะต้องสังกัดองค์กรชนิดหนึ่งชนิดใดของพรรค   และมีสมาชิกอย่างน้อยสองคนให้การรับรองจึงจะได้รับการพิจารณาความขัดแย้งนี้เป็นผลให้สมาชิกพรรคแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม   กลุ่ม ที่สนับสนุนแนวคิดของเลนินเรียกว่า”บอลเชวิค” หมายถึงเสียงข้างมาก  ส่วนผู้สนับสนุนแนวคิดของมาร์ตอฟซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยเรียกว่า เมนเชวิค

มาร์ตอฟได้กลายมาเป็นผู้นำชั้นแนวหน้าของเมนเชวิคร่วมกับ เพลคานอฟฟีดอร์ แดน,อีราคลี เซอร์เรเตรี   ลีออน ทรอตสกี ก็เป็นผู้หนึ่งในขบวนแถวแต่ภายหลังได้แยกตัวออกไป     หลังการปฏิวัติปี 1905  ลัทธิปฏิรูปได้ถูกนำเสนอ    มาร์ตอฟไม่เห็นด้วยกับบทบาทของนักปฏิวัติที่จะตระเตรียมกองกำลังเพื่อต่อต้านรัฐบาลนายทุนใหม่    เขาสนับสนุนในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับเครือข่ายสหภาพแรงงาน  สหกรณ์  สภาหมู่บ้าน  และสภาโซเวียต   เพื่อก่อกวนรัฐบาลนายทุนจนกว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม เพื่อ ให้มีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มทำการการปฏิวัติสังคมนิยม

มาร์ตอฟสังกัดฝ่ายเมนเชวิคปีกซ้ายมาตลอดและสนับสนุนการรวมตัวกับบอลเชวิคในปี  1905 ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เปราะบางนี้เกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆ   และ ทั้งสองฝ่ายก็แตกกันอีกในปี 1907 ในปี 1911 มาร์ตอฟ ได้ออกจุลสารที่อื้อฉาวเรื่อง “ผู้ช่วยหรือผู้ทำลาย? ใครทำลายพรรค RSDLPและทำลายอย่างไร?  (Saviours or destroyers? Who destroyed the RSDLP and how) ซึ่งเป็นการวิพากษ์กลุ่มบอลเชวิคในหลายๆเรื่อง    จุลสารนี้ได้ถูกตอบโต้และวิจารณ์จากเค๊าทสกีและเลนิน
ปี 1914 มาร์ตอฟต่อต้านคัดค้านสงครามโลกครั้งที่1    เขามองในลักษณะเดียวกันกับเลนินและทรอตสกีว่าเป็นสงครามของจักรพรรดิ์นิยม     ทำให้เขากลายเป็นผู้นำของกลุ่มสายกลางซึ่งเรียกกลุ่มของตนว่า   “นักสากลนิยม” ที่ต่อต้านฝ่ายนำในพรรคเมนเชวิค      เขาได้เข้าร่วมกับเลนินในการประชุมองค์กรสากลในสวิตเซอร์แลนด์  แต่ในภายหลังก็ตัดขาดจากพรรคบอลเชวิค

หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ 1917 มาร์ตอฟเดินทางกลับรัสเซีย    แต่ก็สายเกินไปในการคัดค้านมิให้พรรคเมนเชวิคเข้าร่วมในรัฐบาลชั่วคราว      เขาได้วิพากษ์ผู้นำเมนเชวิคเช่น อิราคลิ เซอร์เรเตลี และ ฟีดอร์ แดน อย่างรุนแรงซึ่งขณะนั้นได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลชั่วคราวที่สนับสนุนการทำสงคราม  อย่าง   ไรก็ตามในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 1917  เขาประสบกับความล้มเหลวโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้แทนของพรรคในการเสนอนโยบายให้รัฐบาลเปิดเจรจาสันติภาพกับฝ่ายอำนาจกลาง(Central Powers/เยอรมัน ออสเตรีย/ฮังการี)โดยทันที

การปฏิวัติเดือนตุลาคม
เมื่อพรรคบอลเชวิคได้อำนาจรัฐจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917 มาร์ตอฟก็หมดบทบาทในด้านการเมือง   นี่เป็นการยกตัวอย่างจากถ้อยคำที่ทร๊อตสกีและบรรดาสมาชิกพรรคกล่าวออกมาเมื่อสิ้นสุดการประชุมสภาโซเวียตหลังวันที่ 25 ตุลาคม 1917   “คุณเป็นคนโดดเดี่ยวที่น่าสงสาร;  คุณจบสิ้นแล้วคุณไม่มีบทบาทอะไรอีกต่อไป    ไปในที่ๆคุณจากมา..จงกลับไปสู่ถังขยะของประวัติศาสตร์เถอะ    มาร์ตอฟเดินจากไปอย่างสงบโดยไม่เหลียวกลับมามอง    เขาหยุดเล็กน้อยที่ประตูทางออกเมื่อเหลือบเห็นกรรมกรหนุ่มชาวบอลเชวิคที่สวมชุดดำยืนอยู่ใต้ร่มเงาตึก   เด็กหนุ่มหันมามองมาร์ตอฟด้วยสายตาที่ขมขื่นพร้อมกล่าวว่า “อย่างน้อยสหายมาร์ตอฟน่าจะอยู่กับเรา” มาร์ตอฟหยุดและสั่นศีรษะตอบว่า “สักวันคุณจะเข้าใจถึงอาชญากรรมที่คุณมีส่วนร่วมก่อขึ้น”  เขาโบกมืออำลาและเดินจากไป    ไม่นานมาร์ตอฟได้เป็นแกนนำเมนเชวิคกลุ่มเล็กๆใสสภาร่างรัฐธรรมนูญกระทั่งถูกบอลเชวิคยุบเลิกไป   มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มาร์ตอฟได้รับเลือกเป็นตัวแทนของฝ่ายโรงงานไปแข่งขันกับเลนินในการเลือกตั้งสภาโซเวียต

มาร์ตอฟได้รับอนุญาตให้เดินทางไปเยอรมันอย่างถูกปี 1920    เขาไม่ได้มีความตั้งใจที่จะขอลี้ภัยในเยอรมัน   ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแรงกดดันจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่ครองอำนาจในรัสเซีย   อีก 3 ปีต่อมาเขาป่วยหนักและเสียชีวิตที่เมืองเชิมแบร์ก (Schömberg)    ก่อนหน้านั้นเขาได้ออกหนังสือพิมพ์ ”ข่าวสารชาวสังคมนิยม”    ซึ่งสมาชิกเมนเชวิคที่ลี้ภัยอยู่ใน เบอร์ลิน ปารีส และในนิวยอร์คยังคงตีพิมพ์อยู่จนกระ  ทั่งพวกเขาเสียชีวิต    

 6. เปทร์ (หรือ ปยอร์ท  หรือปีเตอร์) 
แบร์นการ๋โดวิช  สตรูฟวี (Пётр Бернга́рдович Стру́ве)
ปีเตอร์ (หรือ ปยอร์ท  หรือ เปทร์) แบร์การ๋โนวิช  สตรูฟ  นักเศรษศาสตร์การเมือง  นักปรัชญา  นัก หนังสือพิมพ์ชาวรัสเซีย เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 1870 ที่เมืองเปิร์ม (Perm) จักรวรรดิรัสเซีย   เริ่มต้นอย่างนักลัทธิมาร์กซและเปลี่ยนเป็นเสรีนิยมหลังจากการปฏิวัติโดยพรรคบอลเชวิคโดยเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับฝ่ายขาว   หลังปี 1920  อยู่ในปารีสในฐานะผู้ลี้ภัยและได้วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างต่อ เนื่อง

ปีเตอร์ สตรูฟ หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นคนในตระกูลสตรูฟในรัสเซีย   เป็นบุตรชายของ แบร์นฮาร์ด สตรูฟ (Bernhard Struve) ข้าหลวงเมืองอัสตราคานและเมืองเปิร์ม   เป็นหลานของ ฟรีดริก เก-อร์อค วิลเฮล์ม ฟอน สตรูฟ (Friedrich Georg Wilhelm von Struve) เข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์สังคมที่มหาวิทยา ลัยแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อปี 1889 และเปลี่ยนไปเรียนวิชากฎหมายในปีต่อมาซึ่งเป็นเหตุให้เขาเริ่มมีความสนใจในลัทธิมาร์กซ     ได้เข้าร่วมพบปะกับนักลัทธิมาร์กซและพวกนารอดนิค  จึงได้พบกับ วลาดิมีร์ เลนิน คู่ปรับในอนาคต     ได้เขียนบทความเผยแพร่ลัทธิมาร์กซลงนิตยสารที่ถูกกฎหมายดังนั้นจึงถูกเรียกว่า”นักลัทธิมาร์กซถูกกฎหมาย”  จนกลายเป็นฉายานามที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

เดือนกันยายน 1893  ได้งานเป็นบรรณารักษ์ของรัฐมนตรีคลังแต่ต้องออกจากงานเมื่อถูกจับและถูกจำคุกในช่วงสั้นๆ    ปี1894 ได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มแรก ”วิจารณ์ว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย” โดยใช้มุมมองของลัทธิมาร์กซไปคัดค้านความเห็นนักวิจารณ์ชาวนารอดนิคในประเด็นสภาพที่แท้จริงของรัสเซีย เมื่อจบการศึกษาในปี 1895 ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงซาร์ นิโคลัส ที่เกี่ยวกับเรื่องสภาท้องถิ่นเซ็มสตโว (Zemstvo /Зѣмство)   ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ   เคยเข้าประชุมสภาสังคมนิยมสากลที่กรุงลอนดอนและได้รู้จักคบหากับ  เวรา ซาซูลิค ในเวลาต่อมา 

ภายหลังที่กลับมารัสเซียสตรูฟได้ทำหน้าที่บรรณาธิการนิตยสารแนวลัทธิมาร์กซที่ถูกกฎหมาย  ”โนโวเย สโลโว” ( Novoye Slovo /The New Word) ,นาชาโล(Nachalo /The Beginning, 1899) และ ซจีซึน (Zhizn/ชีวิต)ตามลำดับ    สตรูฟเป็นนักพูดเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซที่โด่งดังมาก  แม้เรื่องที่พูดค่อนข้างจะเข้าใจยากอยู่สักหน่อยสำหรับคนทั่วๆไป  ซึ่งไม่ค่อยชอบภาพลักษณ์ที่ผมเผ้าเป็นกระเซิงของเขา   ปี 1898  สตรูฟได้เขียนคำประกาศการก่อตั้งพรรคการเมืองในรูปแบบใหม่คือพรรค”แรงงานสังคมประชา  ธิปไตยรัสเซีย” ซึ่งเขาได้กล่าวในภายหลังว่า “ลัทธิสังคมนิยม..บอกตามตรงไม่คอยจะกระตุ้นความรู้สึกของผมสักเท่าไหร่   ไม่มีแรงดึงดูด....ที่ผมสนใจลัทธิสังคมนิยมโดยหลักๆแล้วก็เป็นแค่พลังทางอุดม การณ์.. ซึ่งไม่สามารถกำหนดชัยชนะได้ไม่ว่าทั้งทางสังคมและเสรีภาพการเมือง .....”

ปี 1900 สตรูฟได้กลายไปเป็นนักลัทธิแก้ที่เป็นปีกหนึ่งในบรรดานักลัทธิมาร์กซรัสเซีย  สตรูฟ และ มิคาอิล บารานอฟสกี  ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มสายกลางในการประชุมเจรจากับ จูเลียส มาร์ตอฟ   อเล็กซานเดอร์ โปเตรซอฟ   ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มซ้ายจัดในพรรคที่เมืองปัสคอฟ   หลังปี 1900 เขาเดินทางไปมิวนิคอีกครั้งเพื่อทำการเจรจากับกลุ่มฝ่ายซ้าย(ในพรรค)  ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุความตกลงที่จะมีการประนีประนอมกัน     รวมถึงการที่สตรูฟเข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ”บทวิจารณ์ร่วมสมัย”(Contemporary Review) ที่เสนอเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกับนิตยสารแนวซ้าย “ซารียา”(รุ่งอรุณ)ของกลุ่มเพลคานอฟ   เป็นการแลกเปลี่ยนที่เขาให้ความช่วยเหลือทางการเงิน      แต่แผนงานได้รับความกระทบเป็นอย่างมากเนื่องจากสตรูฟถูกจับกุมในเหตุการณ์ประท้วงที่จตุรัสคาซานทันทีที่เขากลับมารัส เซีย     เขาถูกห้ามอาศัยอยู่ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเช่นเดียวกับผู้ประท้วงคนอื่นๆที่ยื่นข้อเสนอขอเลือกสถานที่ต้องเนรเทศเอง    และได้เลือกเมืองทเวอร์ซึ่งเป็นศูนย์กำลังของฝ่ายซ้ายที่ยึดกุมสภาท้องถิ่นอยู่  

ปี 1902 สตรูฟได้หลบหนีจากทเวอร์ไปต่างประเทศอย่างลับๆ    แต่ก๋ไม่ได้เข้าร่วมดำเนินงานวารสารต่อและคราวนี้เขาได้เปลี่ยนความคิดจากสังคมนิยมไปสู่ความเป็นนักเสรีนิยม    และได้ออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์แนวเสรีนิยมอิสระ “ออสโวบอซเดนิเย”(Освобождение/เสรีนิยม)  ด้วยความช่วยเหลือจากปัญญา ชนเสรีนิยมและสภาท้องถิ่นฝ่ายซ้ายบางส่วน    ดี.อี. ซูซอฟสกี  เป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินและตีพิมพ์ฉบับแรกที่เมืองชตุร์ทการ์ตประเทศเยอรมัน  (1 กรกฎาคม 1902 - 15 ตุลาคม 1904)  ได้กลายเป็นนิตยสารที่ถูกลักลอบเข้าไปเผยแพร่ในรัสเซียและได้รับความสำเร็จเป็นอันมาก  จนตำรวจลับรัสเซียได้ส่งหลักฐานไปให้ตำรวจเยอรมันดังนั้นจึงถูกจับตามองอย่างเข้มงวด     ทำให้สตรูฟต้องย้ายไปพิมพ์ต่อที่ปารีสจนกระทั่งทางการรัสเซียได้ประกาศให้เสรีภาพแก่สื่อจึงกลับเข้าไปตีพิมพ์ในรัสเซีย

สตรูฟเดินทางกลับรัสเซียเมื่อปี 1905 และเข้าร่วมก่อตั้งพรรค ”รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย”ดำรงตำแหน่งกรรมการกลาง   ได้รับเลือกเข้าเป็นตัวแทนในรัฐสภาเมือปี 1907เขาเผยแพร่แนวคิดผ่าน รุสกายา มืยซึล (Русская мысль/ Russian Thought) หนังสือพิมพ์ชั้นนำของฝ่ายเสรีนิยมที่เขาเป็นเจ้าของและบรรณา ธิการตัวจริงมาตั้งแต่ปี 1906
เมิ่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งระเบิดขึ้นในปี 1914 สตรูฟอยู่ฝ่ายรัฐบาลที่สนับสนุนการทำสงคราม  และในปี1906 ได้ลาออกจากกรรมการกลางพรรครัฐธรรมนูญประชาธิปไตย  เพราะเห็นว่าพรรคคัดค้านรัฐบาลมากเกินไปในระหว่างสงคราม     เมื่อเกิดการปฏิวัตขึ้นอย่างฉับพลันในเดือนตุลาคม 1917   โดยการนำของพรรคบอลเชวิค     เขาได้หลบหนีไปยังภาคใต้และเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการของกองทัพอาสาสมัคร(กองทัพขาว)

ในขณะที่เกิดสงครามกลางเมือง  สตรูฟเห็นว่าชีวิตเขาตกอยู่ในอันตรายจึงหลบหนีไปยังฟินแลนด์ และได้เจรจากับนายพล ยูเดนิช และ คาร์ล กุสตาฟ อีมิล มานเนอร์ไฮม์ ผู้นำฟินแลนด์ ก่อนจะเดินทางไปยังยุโรปตะวันตกเพื่อทำหน้าที่ตัวแทนรัฐบาลของนายพล อันตอน เดนิกิน ทำการต่อต้านบอลเชวิคทั้งในปารีสและลอนดอนในปี 1919 ก่อนที่จะหวนกลับมายังเขตยึดครองของนายพลเดนิกินในรัสเซียภาคใต้   และทำหน้าที่ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือพิมพ์ของฝ่ายขาว    หลังจากที่เดนิกินสละตำแหน่งให้แก่นายพล  ปยอร์ท แวรงเกิล ที่โนโวรอสสิสค์   สตรูฟได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิตทางการเมืองด้วยการรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของรัฐบาลนายพลแวรงเกิล

เมื่อกองทัพของแวรงเกิลถูกกองทัพแดงพิชิตเมื่อเดือนพฤศจิการยน 1920 เขาหนีไปยังบุลกาเรีย  และเริ่มออกหนังสือพิมพ์ “รุสกายา มึยซึล” อีกครั้งภายใต้ภายใต้ความช่วยเหลือของสำนักพิมพ์ของ  สมาคมผู้ลี้ภัยทางการเมืองรัสเซียในบุลกาเรีย   ภายหลังได้ย้ายไปยังกรุงปารีสและได้เสียชีวิตที่นั่นเมื่อปี 1944

7.  มิคาอิล วาซิลเยวิช ฟรุนเซ  (Михаи́л Васи́льевич Фру́нзе)
มิคาอิล วาซิลิเยวิช ฟรุนเซ  หรือ  เซอร์ไก เปตรอฟ เป็นสมาชิกคนสำคัญของบอลเชวิคระหว่างการปฏิวัติรัสเซียปี 1917 เป้นผู้นำหลักทางการทหารคนหนึ่งในสงครามกลางเมืองรัสเซีย   มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในนามผู้พิชิตนายพล แวงเกิล ในไครเมีย    เกิดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1885 .ที่เมืองบิเชคซึ่งขณะ นั้นชื่อพิชเปคเป็นเมืองที่มีลักษณะค่ายทหารเล็กๆในคีร์กิซสถานของจักรวรรดิ์รัสเซีย     เป็นบุตรของแพทย์ฝึกหัดชาวโรมาเนียและภรรยาชาวรัสเซีย   เริ่มศึกษาที่แวร์นึย (ปัจจุบันคือเมืองอาลมาตี)และที่มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ในการประชุมสมัชชาครั้งที่สองของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยในลอนดอนเมื่อปี 1903 ในขณะที่มีการแตกแยกทางความคิดระหว่าง วลาดิมีร์ เลนินและ จูเลียส มาร์ตอฟผู้นำหลักของพรรคในเรื่องยุทธวิธีของพรรค(มาร์ตอฟเสนอแนวทางพรรคใหญ่ที่ประกอบไปด้วยนักเคลื่อนไหว    ในขณะที่เลนินเสนอให้มีลักษณะจัดตั้งเป็นหน่วยเล็กๆประกอบด้วยนักปฏิวัติมืออาชีพเป็นแกนกลางที่ห้อมล้อมไปด้วยสมาชิกที่สังกัดองค์กรจัดตั้งของพรรค) ฟรุนเซ  สนับสนุนเลนินซึ่งเป็นฝ่ายข้างมากหรือบอลเชวิค
 สองปีหลังการประชุมสมัชชา  เขาเป็นผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งในการปฏิวัติปี 1905  ในการนำการนัดหยุดงานใน ชูยา และอิวานโนโวที่จบลงด้วยความปราชัยอย่างย่อยยับ   ฟรุนเซถูกจับเมื่อปี 19075 และถูกพิพากษาประหารชีวิต    ต้องรอการประหารอยู่เป็นเวลาหลายเดือนแต่ก็ได้รับการบรรเทาโทษด้วยการเปลี่ยนคำตัดสินให้ไปทำงานหนักแทน    หลังจากรับโทษในไซบีเรียมา10 ปี ได้หลบหนีไปยังเมืองชิตา  ซึ่งที่นั่นเขาได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์”โวสโตชโน    โอโบสเรนิเย” (Eastern Review) ของพรรคบอลเชวิค

ระหว่างการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ฟรุนเซรับผิดชอบในตำแหน่งหัวหน้ากองกำลังพลเรือนของเมืองมินสค์ก่อนที่จะได้รับเลือกขึนเป็นประธานโซเวียตไบโลรุสเซีย  ภายหลังได้ย้ายมามอสโคว์และนำกองกำลังคนงานเข้าต่อสู้ช่วยเหลือในการควบคุมเมือง   ภายหลังเดือนตุลาคม 1918 ได้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการทหารของจังหวัด โวซเนเซ็งสค์   ก่อนสงครามกลางเมืองรัสเซียเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการหมู่ทัพภาคใต้   หลังจากที่พิชิตพลเรือเอกโคลชัคและกองทัพขาวที่ออมสค์แล้ว   เลออน ทร้อทสกี ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพแดง   ได้มอบอำนาจให้เขาบัญชาการในแนวรบด้านตะวันออกทั้งหมด  ฟรุนเซได้ทำการกวาดล้างปราบปรามการกลุ่มต่อต้าน มาสบาชิ  และกองกำลังของฝ่ายขาวในเตอรกีสถาน  จับ  คีวา  ได้ในเดือนกุมภาพันธ์  และบุคคารา ได้ในเดือนสิงหาคม

ในเดือนพฤศจิกายน  ฟรุนเซยึดไครเมียกลับคืนมาและผลักดัน นายพล ปยอร์ท แวรงเกิล และกองทัพของเขาออกจากรัสเซีย  ในฐานะของผู้บัญชาการแนวรบด้านใต้เขาได้ทำลายการเคลื่อนไหวกองกำลังกลุ่มอนาธิปไตยของ เนสตอร์ มาคโน ในยูเครน   และการเคลื่อนไหวกลุ่มชาตินิยมยูเครนของ  ซีมอน เพททิอูรา อีกด้วย    เดือนธันวาคม 1921 ได้เดินทางไปยังเมืองอังการา(เมืองหลวงของตุรกี) ในระหว่างสงครามเพื่ออิสระภาพของชาวเติร์กเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเตอรกี-โซเวียต   มุสตาฟา   เคมาล อตาเติร์ก  ยกย่องเขาในฐานะเพื่อนสนิทและให้เกียรติอย่างสูงโดยปั้นรูปของเขาไว้เป็นส่วนหนึ่งในอนุสาวรีย์แห่งการปลดปล่อยซึ่งตั้งอยู่ที่ จัตุรัสทักซิม ในเมืองอิสตันบุล

ในปี 1921 ได้รับเลือกเข้าสู่คณะกรรมการกลาง หลังจากนั้นอีกสองปีก็ได้ถูกเลือกให้เป็นผู้แข่งขันในตำแหน่งกรมการเมือง(politburo)     และในเดือนมกราคม 1925 ได้รับตำแหน่ง คณะกรรมการทหาร ฟรุนเซสนับสนุน กริกอรี ซิโนเวียฟ     คู่ปรับคนสำคัญของสตาลินทำให้เขากลายเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับสตาลิน       ซึ่งครั้งหนึ่งทั้งคู่เคยสนิทสนมกันมาก่อนเนื่องจากเขาให้ความนับถือในความรอบรู้ของ สตาลินในช่วงที่ยังเป็นผู้พิทักษ์การปฏิวัติรุ่นเก่าและเป็นผู้ต้องโทษด้วยกันมาก่อน    ฟรุนเซ   ถือว่าเป็นผู้นำที่มีความสร้างสรรค์เป็นอย่างมากและมีมุมมองทางการเมืองและนโยบายที่แทบจะกล่าวได้ว่าต่างจากคอมมิวนิสต์แบบฉบับดั้งเดิม   ซึ่งได้รับความนับถือและชื่นชมจากบรรดามิตรสหายที่ติดตามผลงานของเขาที่สามารถแก้ปัญหาทางการทหารอันยุ่งยากสับสนจนประสบความสำเร็จ   เป็นผู้ไม่หวั่นเกรงต่ออุป สรรคใดๆและมีจิตใจที่ทรหดอดทนอย่างยิ่งที่ผ่านการทดสอบในช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังเป็นพรรคนอกกฎหมาย    และยังได้รับความคาดหมายว่ามีศักยภาพในการเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเลนินทั้งในเรื่องของความเข้มแข็งทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อความก้าวหน้าของงานพรรค  และเป็นที่ชัดว่าเขาไม่เคยมีความทะเยอทะยานที่จะการตีตัวออกจากพรรค

ฟรุนเซมีอาการเจ็บป่วยจากการเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร    แม้ว่าจะมีผู้เสนอแนะให้เข้ารับการผ่าตัดหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ชอบที่จะรักษาแบบพื้นบ้าน     หลังจากมีอาการรุนแรงขึ้นจนต้องเข้ารักษาในโรง พยาบาลเมื่อปี 1925 สตาลินและ อนาสตาส มิโคยัน  ได้ไปเยี่ยมและให้คำแนะนำว่าควรจะรักษาด้วยการผ่าตัด     ก่อนเสียชีวิตไม่นานฟรุนเซได้เขียนถึงภรรยาของเขาว่า     “ขณะนี้ผมรู้สึกว่าตัวเองสุขภาพยังดีและดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่น่าขันที่จะกล่าวถึงมัน     ที่มากไปกว่านั้นยังต้องทนเจ็บหลังการผ่าตัดอีกด้วย  อย่างไรก็ตามก็เป็นความปรารถนาดีของตัวแทนพรรคทั้งสองคนนั้น”

ฟรุนเซเสียชีวิตจากพิษของโคโรฟอร์มระหว่างทำการผ่าตัด ซึ่งเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาตามมาตรฐาน การรักษาในยุคนั้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1925         ดังนั้นจึงเป็นที่คาดกันว่าสตาลินหรือใครบางคนที่มีศักยภาพในแข่งขันเพื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงจะเป็นผู้สั่งการให้ขจัดเขา    แต่ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนมาสนับสนุนยืนยันในเรื่องนี้       ฟรุนเซได้รับการให้โคโรฟอร์มมากเกินธรรมดาเพื่อเพิ่มการหมดสติ    ร่างของเขาถูกฝังไว้ที่สุสานกำแพงพระราชวังเครมลิน   ทีมแพทย์สี่คนที่ทำการผ่าตัด  (มาร์ตีนอฟ  เกรคอฟ  โรซานอฟ  และเกตเต) ต่างทยอยเสียชีวิตตามๆกันไปในปี 1934

8. เอดูอาร์ด  แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein)  
นักทฤษฎีการเมืองสังคมประชาธิปไตยและนัก การเมืองชาวเยอรมัน  สมาชิกพรรค SPD (พรรคสังคมประชาธิปไตย)   นักการเมืองชาวเยอรมัน  สมาชิกพรรค SPD (พรรคสังคมประชาธิปไตย)  เป็นผู้ก่อตั้งลัทธิสังคมนิยมวิวัฒนาการ[1](evolutionary socialism) และลัทธิแก้[2] (revisionism)
เอดูอาร์ด  แบร์นชไตน์ (6  มกราคม 1850 – 18 ธันวาคม 1932)
แบร์นชไตน์เกิดที่เชินเนอแบร์ก (Schöneberg) ปัจจุบันเป็นเขตหนึ่งของเบอร์ลินในครอบครัวชาวยิว  บิดาของเขาเป็นพนักงานขับรถไฟ     หลังจากจบการศึกษาได้เข้าทำงานในตำแหน่งเสมียนธนาคาร  ตั้งแต่ปี 1866 ถึง 1878 เริ่มอาชีพทางการเมืองเมื่อปี 1872 เมื่อเข้าร่วมกับกลุ่มไอเซนนาค[3](Eisenach)  ซึ่งตั้งตามชื่อเมืองไอเซนนาคในเยอรมันนี   เป็นปีกหนึ่งของการเคลื่อนไหวแนวทางสังคมนิยมของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันที่มีแนวโน้มไปทางลัทธิมาร์กซ  เป็นที่รู้จักกันในนาม ”พรรคสังคมประชาธิป  ไตยคนงาน”  ตามนโยบายของชาวไอเซนนาค    และในไม่ช้าก็ได้กลายเป็นนักเคลื่อนไหวที่โดดเด่น  พรรคของเขาลงแข่งขันเลือกตั้งสู้กับพรรคแนวทางสังคมนิยมของลาซาลล์ถึงสองครั้ง(พรรคสมาคมคนงานเยอรมัน)แต่ทั้งสองครั้งไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากจากการออกเสียงลงคะแนนของฝ่ายซ้าย

ในที่สุดจึงได้ร่วมกับ เอากุสต์ เบเบล (August Bebel) วิลเฮล์ม  ลิบเนคท์   แบร์นชไตน์เตรียมการประชุมเพื่อรวมพรรคกับ ลาซาลล์ ที่เมืองโกธาในปี 1875   มาร์กซได้วิพากษ์นโยบายนี้และแนวคิดของลาซาลล์ไว้อย่างน่าสนใจของเรื่อง “วิพากษ์นโยบายโกธา”  ว่าเป็นชัยชนะของลาซาลล์ที่มีต่อกลุ่มไอเซนนาคที่เขาสนับสนุนอยู่     ภายหลังแบร์นชไตน์พบว่าลีบเนคท์เป็นผู้สนับสนุนลัทธิมาร์กซที่เอาการเอางานที่สุดในกลุ่มไอเซนนาค   ซึ่งเป็นผู้เสนอให้รวบรวมความคิดชนิดต่างๆที่บิดเบือนลัทธิมาร์กซ

 การเลือกตั้งสมาชิกสภาในปี 1877 พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันได้คะแนนสนับสนุน 493,000 คะแนน      ในปีต่อมาการพยายามลอบสังหารพระจักรพรรดิถึงสองครั้งจึงเป็นข้ออ้างให้บิสมาร์ค[4]เสนอกฎหมายห้ามกิจกรรมของพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมทั้งหมด   ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมหรือการเผยแพร่สิ่งพิมพ์แม้ว่าบรรดาพรรคสังคมประชาธิปไตยจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการพยายามลอบสังหารก็ตาม      แต่ปฏิกิริยาต่อต้าน ”ศัตรูของจักรวรรดิ” ได้ขึ้นสู่กระแสสูงจนรัฐสภาจำต้องผ่านร่างกฎหมายต้านสังคมนิยมของบิสมาร์ค

 กฎหมายต่อต้านสังคมนิยมอย่างเข้มงวดของ อ๊อตโต ฟอน บิสมาร์ค ผ่านสภาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม1878      เป็นการกระทำเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ในการกดดันพรรคสังคมประชาธิปไตยเป็นพรรคนอกกฎหมายทั่วเยอรมัน       อย่างไรก็ตามพรรคสังคมประชาธิปไตยยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวในการเลือกตั้ง        แม้จะถูกกลั่นแกล้งอย่างหนักหน่วงก็ยังได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นถึง 550,000 เสียงในปี 1884 และ 763,000 เสียงในปี 1887. 

แบร์นชไตน์ เป็นปฏิปักษ์อย่างรุนแรงต่อรัฐบาลของบิสมาร์ค        ส่งผลให้เขาต้องตัดสินใจออกจากเยอรมันไปยังซูริค,สวิตเซอร์แลนด์ก่อนหน้าที่กฎหมายต่อต้านสังคมนิยมจะออกมาเพียงไม่กี่วัน   และรับตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของ คาร์ล เฮิคสแบร์ก (Karl Höchberg ) ผู้สนับสนุนสังคมประชาธิปไตย     ต่อมารัฐบาลได้ออกหมายจับเขาไม่ว่ากรณีใดๆหากเดินทางกลับเยอรมัน   ทำให้เขาต้องตกอยู่ในสภาพผู้ลี้ภัยนานกว่ายี่สิบปี    ปี 1888 บิสมาร์คเรียกร้องต่อรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ให้เนรเทศบุคคลระดับแกนนำของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ออกนอกประเทศ      ดังนั้นแบร์นชไตน์จึงลี้ภัยไปยังลอนดอน  ที่นั่นเขาได้พบกับ ฟรีดริค เองเกลส์และ คาร์ล เค้าทสกี 

หลังจากมาอยู่สวิตฯ ชั่วระยะเวลาสั้นๆนั้นเขาคิดว่าตนเองเป็นนักลัทธิมาร์กซ    ในปี1880 ได้ร่วมทางกับ เบเบลไปยังลอนดอนเพื่อแก้ข้อเข้าใจผิดที่เขาเข้าไปพัวพันกับบทตีพิมพ์ของเฮิคสแบร์ก  ที่ถูกมาร์กซและเองเกลส์วิพากษ์แนวคิดที่ว่า    ชนชั้นนายทุนและชนชั้นนายทุนน้อยจะหนุนช่วย(การปฏิวัติ)อย่างสุดกำลัง   การเดินทางครั้งนี้ประสบความสำเร็จและเองเกลส์รู้สึกประทับใจในความกระตือรือล้นและจุดมุ่งหมายหมายของเขา

 เมื่อกลับมาซูริค  แบร์นชไตน์ทำงานอย่างหนักกับการออกหนังสือพิมพ์  “แดร์ โซเซียลเดโมคราท”  (Der Sozialdemokrat /สังคมประชาธิปไตย)   และได้สืบต่อตำแหน่งบรรณาธิการแทน เกอ๊อค ฟอน โฟลล์มาร์ (Georg von Vollmar)  และทำหน้าที่นี้เป็นเวลาถึง10 ปี  ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นในฐานะนักทฤษฎีชั้นนำของพรรคผู้สืบทอดหลักการที่ถูกต้องของลัทธิมาร์กซ     ในกรณีนี้เขาได้รับความช่วยเหลือจากเองเกลส์อย่างใกล้ชิดทั้งส่วนตัวและด้านการงาน       ความสัมพันธ์นี้เนื่องมาจากเขามีความเห็นด้วยกับมุมมองทางยุทธศาสตร์และยอมรับแนวทางทางการเมืองที่ได้รับการถ่ายทอดจากเองเกลส์       ปี 1887 รัฐบาลเยอรมันได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลสวิตฯอย่างเป็นทางการให้ปิดหนังสือ พิมพ์ สังคมประชาธิปไตย

แบร์นชไตน์จึงต้องย้ายไปลอนดอน   และที่นั่นเขาได้เริ่มงานพิมพ์ในแถบ เคนทิช ทาวน์ กรุงลอนดอน  ความสัมพันธ์กับเองเกลส์เบ่งบานจนทั้งสองกลายฐานะมาเป็นมิตรสหาย    เขาก็ยังติดต่อสัมพันธ์กับองค์กรสังคมนิยมอังกฤษอย่างหลากหลาย   เช่นสมาคมเฟเบียน[5]ที่โด่งดังและสมาพันธ์สังคมนิยมประชาธิปไตยของไฮด์มาน    ซึ่งต่อมาปีหลังๆฝ่ายตรงกันข้ามได้ยืนยันว่าแนวคิด ”นักลัทธิแก้” ของเขาได้รับอิทธิพลมาจากการมองโลกจากมุมมองแบบอังกฤษ   แบร์นชไตน์เป็นหนึ่งในผู้ร่างนโยบาย   แอร์เฟิร์ท (Erfurt Program[6])จากปี 1896 ถึง 1898 ได้เขียนหนังสือชื่อ  ”ปัญหาของลัทธิสังคมนิยม” ("Problems of Socialism") ออกมาอย่างต่อเนื่อง  เป็นการนำไปสู่การถกเถียงอภิปรายกันในพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน   และเขียนหนังสือเรื่อง “เงื่อนไขเบื้องต้นของลัทธิสังคมนิยมและภาระหน้าที่ของสังคมประชาธิปไตย” (The Prerequisites for Socialism and the Tasks of Social Democracy) หนังสือเล่มนี้เป็นแนวทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดของ  เอากุสต์ เบเบล(August Bebel) คาร์ล เค้าทสกี (Karl Kautsky)  และวิลเฮล์ม  ลีปเนคท์(Wilhelm Liebknecht  )     ในปี1900  โรซา ลุกเซ็มบวร์ก (Rosa Luxemburg) ได้ออกมาวิพากษ์ความคิดของแบร์นชไตน์ในความเรียงเรื่อง ”ปฎิรูปหรือปฎิวัติ? ” แบร์นชไตน์เองก็ได้ตอบโต้ด้วยการพิมพ์หนังสือเรื่อง ” ประวัติศาสตร์และทฤษฎีของลัทธิสังคมนิยม”

เมื่อการห้ามการเข้าประเทศถูกยกเลิก แบร์นชไตน์ จึงเดินทางกลับเยอรมันเมื่อปี 1901   ในปีนั้นเองก็ได้ออกหนังสือพิมพ์  “ฟอร์แวร์ทส” (Vorwärts/ก้าวไปข้างหน้า)    และได้รับเลือกเข้าสู่สภาตั้งแต่ปี 1902-1918      เขาได้ออกเสียงคัดค้านโครงการเพิ่มอาวุธยุทโธปกรณ์ร่วมกับสมาชิกปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิปไตย     และลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับสงครามโลกครั้งที่1   จากนั้นก็ร่วมก่อตั้งพรรค USPD ซึ่งรวมเอานักสังคมประชาธิปไตยที่มีต่อต้านสงคราม  รวมไปถึงนักปฏิรูปอย่างแบร์นชไตน์  พวกเซนทริสต์(centrists[7]) อย่างเค้าทสกี     และนักสังคมประชาธิปไตยที่ยึดแนวทางปฏิวัติอย่าง คาร์ล ลีปเนคท์   แบร์นชไตน์เป็นสมาชิกพรรค USPDจนถึงปี 1919  ก็กลับมาเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตย  และได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาอีกตั้งแต่ปี 1920-1928  อันเป็นการสิ้นสุดชีวิตทางการเมือง   แบร์นชไตน์เสียชี  วิตที่เบอร์ลินเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1932   สำหรับอนุสรณ์ที่รำลึกถึงตัวเขาเป็นป้ายจารึกที่หน้าบ้านเลขที่ 18  ถนนโบเซนเนอร์  เขตเชินเนอแบร์ก กรุงเบอร์ลิน  ซึ่งเป็นบ้านที่เขาอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี 1918  ตราบจนกระทั่งเสียชีวิต

9. คาร์ล โยฮาน เค้าทสกี  (  16 ตุลาคม 1854 – 17 ตุลาคม 1938)
นักปรัชญา  นักหนังสือพิมพ์  นักทฤษฎีลัทธิมาร์กซ ชาวเยอรมันเชื้อสายเชค   เป็นที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ทมี่ยึดมั่นในหลักการลัทธิมาร์กซแบบดั้งเดิมมากที่สุดหลังมรณกรรมของเองเกลส์ตั้งแต่ปี1895 มาจนถึง หลังสงครามโลกครั้งที่ 1  ในปี 1914 และยังได้ฉายาว่า ”สันตะปาปาแห่งลัทธิมาร์กซ”   หลังสงครามเขาได้วิจารณ์การปฏิวัติของ พรรคบอลเชวิคอย่างเปิดเผยและได้โต้เถียงกับ เลนินและ  เลออน ทร้อทสกี้ เกี่ยวกับลักษณะของรัฐแบบโซเวียต

เค้าทสกี เกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 1854  ที่กรุงปร๊ากในครอบตรังชนชั้นกลาง  และครอบคัวได้ย้ายไปยังเวียนนา ออสเตรีย เมื่อเขาอายุ7ขวบ      ได้เข้าศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนา      เข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยออสเตรีย (SPÖ) เมื่อปี 1875ปี 1880 ได้เข้าร่วมกับกลุ่มนักสังคมนิยมเยอรมันในซูริคที่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือโดย คาร์ล เฮิร์กสแบร์ก (Karl Höchberg) และเป็นคนที่ลักลอบนำเอกสารเกี่ยวกับสังคมนิยมเข้าไปในจักรวรรดิเยอรมันซึ่งสมัยนั้นยังมีกฎหมายต่อต้านลัทธิสังคมนิยมอยู่      กลายมาเป็นนักลัทธิมาร์กซด้วยการรับอิทธิพลทางความคิดมาจาก แบร์นชไตน์ เลขานุการของ เฮิร์กสแบร์ก     ปี1881ได้ไปพบมาร์กซและเองเกลส์ในลอนดอน

 ปี1883 ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ดี นอยเออ ไซท์ รายเดือน (Die Neue Zeit / ยุคใหม่) ขึ้นที่เมืองชตุร์ทการ์ท(Stuttgart) และเปลี่ยนมาเป็นรายสัปดาห์ในปี 1890    โดยเป็นบรรณาธิการไปจนถึงปี 1917  ในช่วงระยะนี้เอง ทำให้เขามีโอกาสโฆษณาเผยแพร่ลัทธิมาร์กซได้อย่างจริงจัง    จากปี1885 ถึง 1890 เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในลอนดอนและได้กลายเป็นเพื่อนสนิทของเองเกลส์     และยิ่งมีสถานะภาพในฐานะของนักลัทธิมาร์กซที่โดดเด่น       เมื่อเองเกลส์ได้มอบหมายให้เขาเรียบเรียงงานสำคัญของมาร์กซเรื่อง ”ทฤษฎีของมูลค่าส่วนเกิน”    ในปี 1891ได้ร่วมร่าง นโยบายแอร์เฟือร์ทของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน กับ เอากุสต์ เบเบล และ เอดูอาร์ด  แบร์นชไตน์

หลังมรณะกรรมของเองเกลส์เมื่อ 1895 เค้าทสกีได้เป็นหนึ่งในนักทฤษฎีลัทธิมาร์กซที่สำคัญและทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งที่เป็นกระแสหลักในพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันร่วมกับ เอากุสท์ เบเบล และได้อธิบายสรุปความสำคัญเกี่ยวกับเนื้อหาทางทฤษฎีลัทธิมาร์กซที่ว่าด้วยเรื่องจักรพรรดินิยม      เมื่อแบร์นชไตน์โจมตีแนวคิดของนักลัทธิมาร์กซแบบเดิมเรื่องความจำเป็นของการปฏิวัติหลังทศวรรษ1890     เค้าท์สกีได้ออกมาตำหนิและตอบโต้ความคิดของแบร์นชไตน์      ที่เน้นหนักในประเด็นพื้นฐานทางจริยธรรของลัทธิสังคมนิยม    โดยเรียกร้องให้มีการสร้างพันธมิตรกับบรรดานายทุนที่ ”ก้าวหน้า” และเพื่อการบรรลุเป้าหมาย(การปฏิวัติ) โดยไม่ควรมีการแบ่งแยกทางชนชั้น

ในปี 1914 เมื่อผู้แทนพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันในสภาไร้ค์ชทาก(Reichstag) มีมติสนับสนุนการทำสงคราม     เค้าท์สกีซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประชุมได้เสนอให้งดลงคะแนน     โดยให้เหตุผลว่าเยอรมันจะกลายเป็นผู้เริ่มสงครามคุกคามต่อรัสเซีย    กระนั้นก็ตามในเดือนกรกฎาคม 1915 ประมาณ 10 เดือนให้หลังสงครามก็ประทุขึ้นและมีท่าทีจะยืดเยื้อออกไปอย่างต่อเนื่องเป็น   การสู้รบเป็นไปอย่างโหคเหี้ยมและสิ้นเปลือง    เขาได้ร่วมกับแบร์นชไตน์  ฮูโก ฮาสส์  ออกแถลงการณ์คัดค้านผู้นำพรรคสังคมประชา  ธิปไตยเยอรมันซึ่งสนับสนุนการทำสงครามและประณามรัฐบาลเยอรมันที่ดำเนินนโยบายผนวกดินแดน       และได้ลาออกจากพรรค เมื่อปี 1917 ไปสังกัดพรรค สังคมประชาธิปไตยเยอรมันอิสระ(USPD) ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่โดยการรวบรวมสมาชิกผู้ที่คัดค้านนโยบายทำสงคราม      หลังการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน เค้าท์สกีเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงระยะสั้นๆของรัฐบาลปฏิวัติของพรรคร่วม SPD-USPD    

 หลังปี 1919 ชื่อเสียงของเค้าท์สกีลดลงอย่างต่อเนื่อง   ในปีต่อมาเขาได้ไปเยือนจอร์เจียและเขียนหนัง สือ “ว่าด้วยประเทศสังคมประชาธิปไตยที่ยังคงเป็นอิสระจากบอลเชวิครัสเซีย”    พรรค USPD แตกในปี 1924  เขาและพรรคพวกบางคนได้หวนกลับไปเข้าพรรค SPD อีก   ในวัย70 ปี จึงกลับไปยังกรุงเวียนนาเพื่ออยู่ร่วมกับครอบครัว        จนกระทั่งปี 1938 ในช่วงที่ฮิตเล่อร์เข้าผนวกออสเตรียจึงได้หนีไปยังเชคโกสโลวาเกียเพื่อเตรียมย้ายไปยังเนเธอร์แลนด์และเสียชีวิตในปีนั้นเอง    คาร์ล เค้าท์สกี พักอาศัยใน เบอร์ลิน/เขตฟรีดเดอเนา(Berlin-Friedenau) เป็นเวลาหลายปี  หลุยส์ภรรยาของเขากลายมาเป็นเพื่อนสนิทของโรซา ลุกเซ็มบวร์ก ซึ่งอาศัยอยู่ที่ฟรีดเดอเนาเช่นเดียวกัน   อนุสรณ์ที่ระลึกถึงเค้าท์สกี  เป็นแผ่นป้ายจารึกที่ติดไว้หน้าบ้านเลขที่ 14 ถนนซารร์  เบอร์ลิน/ฟรีดเดอเนา

หลังจากพรรคบอลเชวิคได้อำนาจในรัสเซียจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม         แนวคิดของเค้าท์สกีได้แปรเปลี่ยนไป      เขาไม่เห็นด้วยกับเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพและคัดค้านการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการปฏิวัติ     ชนชั้นกรรมาชีพควรต่อสู้ทางรัฐสภาเพื่อบรรลุสังคมนิยม      วลาดิมีร์ เลนิน  พูดถึงเค้าท์สกีในฐานะ ”ผู้ทรยศ” ในจุลสารชิ้นสำคัญของเขาเรื่อง   ”การปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพและเค้าท์สกีผู้ทรยศ” (The Proletarian Revolution and the Renegade Kautsky) และเค้าท์สกีเองก็ได้วิพากษ์ตอบโต้เลนินอย่าง เผ็ดร้อนเช่นกันในหนังสือของเขาเรื่อง  “ลัทธิมาร์กซและลัทธิบอลเชวิคประชาธิปไตยและเผด็จการ” (Marxism and Bolshevism: Democracy and Dictatorship:) ว่า  “พวกบอลเชวิคภายใต้การนำของเลนินแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการยึดเปโตรกราดและมอสโคว์ด้วยกำลังอาวุธ       และนั่นหมายถึงการวางรากฐานของเผด็จการตัวใหม่ซึ่งมาแทนที่เผด็จการของระบอบซาร์”

ทั้งเลนินและทร้อตสกีต่างก็ปกป้องการปฏิวัติของบอลเชวิคว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและเป็นการยกระดับทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ต่อเนื่องมาจากการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส       ซึ่งใม่ใช่เป็นสิ่งที่จะต้องละอายเลย หากจะถูกมองว่ามีการกระทำแบบพวกจาโคแบง[8]     และเห็นว่า ”ลัทธิฉวยโอกาส” ของเค้าท์สกีทำหน้าที่ใกล้เคียงกับ  ”การติดสินบนทางสังคม”  อันมีรากเหง้ามาจากความใกล้ชิดสนิทสนมกับชนชั้นอภิสิทธิ์ชน

คาร์ล เค้าท์สกี  เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17ตุลาคม 1938 ที่อัมสเตอร์ดัม  เนเธอร์แลนด์  เบเนดิก บุตรชายของเขาใช้ชีวิตอยู่ในค่ายกักกันถึง 7 ปี  ในขณะที่หลุยส์ภรรยาได้เสียชีวิตในค่ายเชลยนาซีที่เอ๊าสวิซ

 ----------------------------------------------------------------------------
[1] มาร์กซใช้ทัศนะทางทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์ว่าการพัฒนาของสังคมมนุษย์ เนื่องมาจากการต่อสู้ทางชนชั้น      แต่แบร์นชไตน์  อ้างว่าเป็นเพราะการวิวัฒนาการตามทฤษฎีวิวัฒนาการของ  ชาร์ล ดาร์วิน  นักชีววิทยาชาวอังกฤษ

[2] หมายถึงการไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีลัทธิมาร์กซและแก้ไขหลักการทางทฤษฎีลัทธิมาร์กซ   ตัวอย่างเช่นการไปสู่สังคมนิยมนั้นไม่จำเป็นต้องผ่านการปฎิวัติ   เพราะอย่างไรเสียสังคมก็จะพัฒนาไปสู่สังคมนิยมด้วยตัวมันเอง     ซึ่งตรงกันข้ามกับลัทธิมาร์กซที่เห็นว่าการไปสู่สังคมนิยมนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็จากการปฏิวัติยึดอำนาจรัฐโดยมีชนชั้นกรรมาชีพเป็นกองหน้า    ฯลฯ
[3] กลุ่มไอเซนนาค (Eisenach)
[4] อ็อตโต  ฟอน บิสมาร์ก  (1 เมษายน 1815 – 30 มิถุนายน 1898)  รัฐบุรุษและนายกรัฐมนตรีผู้รวมชาติเยอรมัน
[5] คือกลุ่มที่มีทัศนะทางการเมืองในแนวทางปฏิรูป(คอยการเปลี่ยนแปลง)   โดยใช้ชื่อตามนายพล ฟาบิอุส แม่ทัพโรมันที่ใช้ยุทธวิธีปิดล้อมข้าศึกคอยจนกว่าข้าศึกจะอ่อนกำลังไปเองอย่างช้าๆ
[6] หรือนโยบาย แอร์เฟิร์ท ของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันจากการประชุมสมัชชาที่เมืองแอร์ฟวร์ท ในปี 1891 ภายใต้การชี้นำของ    เอดูอาร์ด แบร์นชไตน์  เอากุสท์ เบเบล  และคาร์ล เค้าทสกี  ใช้แทนนโยบายโกธา ที่ใช้ก่อนหน้านี้
[7] หมายถึงแนวคิดทางการเมืองที่เป็นกลาง ไม่เอาทั้งซ้ายและขวา  ไม่เอาทั้ง อัตตาธิปไตยและเสรีนิยม
[8]  คือกลุ่มนิยมสาธารณรัฐฝ่ายซ้ายสมัยปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส

-----------------------------------------------------------------------------------
หนังสือ เอกสาร เวปไซท์ และภาพที่ใช้ศึกษาประกอบการแปลและเรียบเรียง
1)  Wikipedia the free Encyclopedia
2)  Marxists Internet Archive
3)  เวปไซต์ In Defence of Marxism.
4)  Memories of Lenin …..Nadezhda    Krupskaya
     ความทรงจำถึงเลนิน(ภาคไทย) /ธนู อภิวัฒน์ และ มัทนี เกษกมล.....แปล
5)  How Lenin Studied Marx ……. Nadezhda   Krupskaya
6)  History of commumist party of the soviet union (Short Course)
     ประวัติพรรคบอลเชวิค(ภาคไทย) / พิษณุ คำไท......แปล
7)  The Red Army from 1918 – 1941  …….. Earl F. Ziemke,ISSN: 1473-6403
8)  History of  the  Makhovist  Movement (1918-1921) …… Peter Arshinov
9)  What is to be done…..Lenin      จะทำอะไรดี (ภาคไทย) / สุรเสกข์ สุวิชญา.....แปล
10) เลนินศาสดานักปฏิวัติ ……  นินา กรูฟิงเกล/วิภาษ  รักวาที...แปล
11) ทรอตสกี้ 1879 – 1917 /สัญชัย สุวังบุตร…..
12) เรื่องน่ารู้ในยุโรปสมัยกลาง / อนันตชัย เลาหะพันธุ
13) Bolshevik…..road to revolution/ Alan Woods
--------------------------------------------------------------------------------

1 comment:

  1. Many thanks for your kind invitation. I’ll join you.
    Would you like to play cards?
    Come to the party with me, please.
    See you soon...

    คาสิโนออนไลน์

    เครดิตฟรี

    เล่นบาคาร่า

    คาสิโนออนไลน์

    ReplyDelete