Thursday, April 2, 2015

เลนิน บนเส้นทางปฏิวัติ (9)

12. ลี้ภัยอีกครั้ง:1907–1917

ปี 1909 เพื่อทำความกระจ่างในข้อสงสัยทางปรัชญาต่อแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในการปฏิวัติสังคมนิยม เลนินได้ตีพิมพ์หนังสือ  ”ลัทธิวัตถุนิยมและวิจารณ์ลัทธิจัดเจน” (Materialism and Empirio-criticism) ซึ่งได้กลายเป็นพื้นฐานทางปรัชญาของลัทธิมาร์กซ-เลนินในเวลาต่อมา    เลนินได้เดินทางตระเวนไปในยุโรปตลอดช่วงของการลี้ภัย     เข้าร่วมเคลื่อนไหวทั่วไปในแนวทางสังคมนิยมในสถานที่ต่างๆ

ปี 1914  ซึ่งเป็นระยะแรกของสงครามโลกครั้งที่1(1914 -18)     พรรคสังคม-ประชาธิปไตยในยุโรป ส่วนมากสนับสนุนการทำสงครามด้วยคำขวัญ ”เพื่อปกป้องปิตุภูมิ”   เมื่อแรก.. เลนินไม่เชื่อว่าชาวพรรคสังคม-ประชาธิปไตย   จะมีความเอนเอียงทางการเมืองกันได้ถึงขนาดนี้ (เพราะอุดมการณ์ของชาวพรรคสังคม-ประชาธิปไตยนั้นต่อต้านสงคราม-ผู้แปล)   โดยเฉพาะชาวพรรคเยอรมันที่ลงคะแนนเสียงสนับสนุนการทำสงคราม    การสนับสนุนการทำสงครามของบรรดาพรรคสังคม-ประชาธิปไตยเช่นนี้ เลนินจำต้องตัดขาดจากสากลที่สอง (1889-1916) ที่มีนักสังคมประชาธิปไตยเยอรมันครอบงำอยู่     เขาคัดค้านการทำสงครามเพราะเห็นว่ากรรมกรและชาวนาควรจะต่อสู้ในสงครามต่อต้านจักรพรรดิ์นิยม  เพราะสงครามครั้งนี้(สงครามโลกครั้งที่ 1) มันเป็นสงครามของชนชั้นนายทุนซึ่งในทางสากลควรจะแปรให้เป็นสงครามระหว่างชนชั้น     ยามต้นสงครามพวกออสเตรียได้พยายามหน่วงเหนี่ยวเลนินให้อยู่แต่ในเมืองโปโรนิน ซึ่งเป็นที่พำนักในประเทศออสเตรีย      ในที่สุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 1914 ก็ได้ย้ายไปยังประเทศสวิต เซอร์แลนด์ที่เป็นกลาง     ตอนแรกที่เบิร์นและซูริคในเวลาต่อมา

การประชุมเพื่อต่อต้านสงครามของชาวสังคม-ประชาธิปไตยได้จัดขึ้นที่เมือง ซิมเมอร์วาล (Zimmerwald Conference)ในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่5-8กันยายน  ปี 1915   มีผู้แทน 38 คนจาก 11 ประเทศ เลนินและสหายร่วมอุดมการณ์อีก 8 คนที่รู้จักกันในนามของ ”กลุ่มซ้ายซิมเมอร์วาล”(Zimmerwald Left)[1]  แพ้มติในการเสนอร่างที่ให้แปรเปลี่ยนสงครามจักรพรรดินิยมให้เป็นสงครามทางชนชั้น   เสียงส่วนใหญ่ไม่ยอมรับร่างของฝ่ายซ้าย     บรรยากาศในที่ประชุมช่างเต็มไปด้วยความอะลุ้มอะล่วยและลงมติผ่านคำประกาศที่คลุมเครือออกมาด้วยลักษณะประนีประนอม

ฤดูใบไม้ผลิปี1916ในซูริค....เลนินได้เขียนหนังสื่อเรื่อง “จักรพรรดินิยมขั้นตอนสูงสุดของทุนนิยม” งานชิ้นนี้ได้สังเคราะห์บทนิพนธ์ของ คาร์ล เค้าทสกี / จอห์น เอ ฮอบสัน เรื่อง ”บทศึกษา: ว่าด้วยจักรพรรดินิยม” (Imperialism: A Study) และ “ดาส  ฟินันซคาปิตาล” (Das Finanzkapital /ทุนการเงิน) ของ รูด๊อฟ  ฮิฟเฟอร์ดิง   ประยุกต์เข้ากับสภาวการณ์ของสงครามโลกครั้งแรกกับการต่อสู้ระหว่างจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิอังกฤษ    ซึ่งเป็นตัวอย่างที่อธิบายถึงการแข่งขันกันระหว่างนายทุนจักรพรรดินิยมได้เป็นอย่างดี     บทนำเสนอนี้ได้แสดงถึงขั้นตอนของการรวมศูนย์ทางด้านอุตสาหกรรม/การค้า  ทำให้ทุนพาณิชย์เติบโตขึ้น       ซึ่งก็คือพื้นฐานเบื้องต้นของจักรพรรดินิยมที่ถือเอาการแสวงหากำไรเป็นเป้า หมายสูงสุดและจะนำไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือการแบ่งปันโลกของบริษัทผูกขาด    การล่าอาณานิคมไปทั่วโลกของประเทศในยุโรปก็เพื่อค้ำจุนผลประโยชน์ทางธุระกิจของมัน ดังนั้น..จักรพรรดิ์นิยมก็คือพัฒนาการขั้นสูงของระบอบทุนนิยมที่มีรากฐานมาจากการผูกขาด   การส่งออกทุน(ซึ่งมีปริมาณมากกว่าการส่งสิน ค้า) การขยายอิทธิพลทางธุรกิจการค้าไปทั่วโลก    การล่าอาณานิคมก็เป็นรูปแบบหนึ่งของมัน

13. การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
เดือนกุมภาพันธ์ 1917 การเดินขบวนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในรัสเซียซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ   ความทุกข์ยากจากสงครามเป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้ ซาร์ นิโคลัส ที่สองจำต้องสละราชสมบัติ       ระบอบกษัตริย์ถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างจะยุ่งยากซับซ้อน       ด้านหนึ่งคือระบอบรัฐสภาของรัฐบาลชั่วคราว    และอีกด้านหนึ่งคือสภาปฏิวัติ ของ”โซเวียต” (โซเวียตแห่งเปโตรกราดที่โด่งดัง) ที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากกรรมกร ทหาร และชาวนา ในขณะนั้นเลนินยังคงลี้ภัยอยู่ในซูริค

ในช่วงบ่ายของวันที่ 15 มีนาคม    เลนินกำลังเตรียมตัวจะไปห้องสมุดที่อัลท์ชตาดท์(Altstadt)  มีซซิ สลาฟ บรอนสกี   เพื่อนผู้ลี้ภัยชาวโปลได้ร้องตระโกนบอกอย่างตื่นเต้นว่า “คุณไม่รู้ข่าวหรือไงว่าเกิดการปฏิวัติขึ้นในรัสเซียแล้ว”  วันต่อมาเลนินเขียนจดหมายถึง อเล็กซานดรา คอลลอลไท[2]  ในสต๊อคโฮล์มเพื่อยืนยันให้แน่ใจว่า     เป็นความตั้งใจของนักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพสากลที่จะโฆษณาปลุกระดมเพื่อสนับสนุนการยึดอำนาจโดยคณะกรรมการโซเวียตคนงานหรือไม่       วันต่อมา...ข่าวแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วได้ปลุกเร้ากระตุ้นให้เกิดการจัดตั้งองค์กรบริหารแบบใหม่ในทุกๆระดับชั้น      และพิสูจน์ให้พวกเขาได้เห็นว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็จากการลุกขึ้นยึดอำนาจด้วยอาวุธของโซเวียตคนงานเท่านั้น

เลนินตัดสินใจกลับรัสเซียอีกครั้ง   แต่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักในระหว่างสงครามที่กำลังดำเนินไปอย่างรุนแรงเช่นที่เป็นอยู่นี้      สวิตเซอร์แลนด์ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรดาประเทศที่กำลังขับเคี่ยวกันในสงคราม   อังกฤษ...พันธมิตรของรัสเซียมีอิทธิพลควบคุมภาคพื้นทะเลอยู่       เลนินเห็นว่าควรจะใช้เส้นทางข้ามประเทศเยอรมันกลับรัสเซียโดยใช้หนังสือเดินทางของสวีเดน     โดยผ่านการเจรจากับรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อขออนุญาตให้ผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียเดินทางกลับบ้านโดยผ่านประเทศเยอรมัน   ด้วยการพ่วงเงื่อนไขการแลกกับเชลยศึกชาวเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี   ในที่สุด..วันที่ 31 มีนาคม  ฟริตซ์   พลาทเทน[3]ชาวคอม มิวนิสต์สวิสก็ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมันผ่านเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำสวิตเซอร์  แลนด์  บารอน  กิสแบร์ท  ฟอน  รอมแบร์ก  (freiherr Gisbert von Romberg) โดยให้เลนินและผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียโดยสารรถไฟตู้หนึ่งเป็นการลับและให้มีการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ

ปี 1917 เริ่มขึ้นด้วยคลื่นการนัดหยุดงานในเปโตรกราด    หลักจากซบเซามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 1916  ในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียวมีกรรมกรเข้าร่วมการหยุดงานมีจำนวนถึง 200,000 กว่าคน      ตรวจสอบแล้วเป็นกรรมกรตามโรงงานต่างๆในเปโตรกราดถึง 177,000 คน   สงครามที่ไม่มีวันจบสิ้นได้สร้างความยากลำบากแก่มวลชนจนไม่สามารถทนทุกข์ทรมานได้อีกต่อไป   ท่ามกลางฝันร้ายจากสงคราม....วิกฤตทางด้านเศรษฐกิจที่นับวันยิ่งจมดิ่งลงไปก็ยิ่งเพิ่มความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนมากขึ้น       ภายในเดือน ธันวาคม 1916 โรงงาน 39 แห่งในเปโตรกราดต้องชะลอการผลิตลงเนื่องจากขาดแคลนพลังงานเชื้อเพลิง     และมากกว่า 11 แห่งถูกตัดพลังงาน,การเดินรถไฟตกอยู่ในขั้นหายนะ   ไม่มีเนื้อสัตว์และขาดแคลนแป้งทำขนมปัง   ความหิวโหยกระจายไปทั่วแผ่นดิน  การเข้าแถวรอซื้อขนมปังเริ่มกลายเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันของชาวรัสเซีย       ทั้งหมดนี้รวมไปถึงข่าวความพ่ายแพ้ของกองทัพในแนวรบและเรื่องอื้อฉาวของราชสำนักได้กระจายไปทั่ว, ทั้งกลุ่มก๊วนของนักบวชกาลีรัสปูติน[4]และกลุ่มอันธพาลทางการเมืองขวาจัด  แบล๊ค ฮันเดรด(Black Hundred)[5] สมุนของผู้นิยมระบอบกษัตริย์-เจ้าที่ดินที่มีอำนาจรัฐหนุนอยู่เบื้องหลัง       ผู้มีอำนาจปกครองประเทศล้วนถูกครอบงำโดยพวกขุนนางที่ฉ้อฉล,นักแสวงโชค,นักฉวยโอกาสทางการเมืองที่ต่ำทรามได้เผยโฉมหน้าอันเน่าเฟะของมันมาก่อนหน้านี้แล้ว...   สร้างความเกลียดเกลียดชังให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก  นายทุนเสรีนิยมทั้งหลายใน ”กลุ่มการเมืองก้าวหน้า” ได้พยายาม ยั่วยุพระเจ้าซาร์ นิโคลัส ให้ตื่นกลัวต่อการปฏิวัติโดยร้องขอต่อ พระองค์ให้ทรงปฏิรูปประเทศโดยเร่งด่วน

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ อารมณ์ความรู้สึกของมวลชนได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ    ทรอตสกีได้อธิบายกระบวนการนี้ว่าเป็น ”กระบวนการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในระดับโมเลกุล” มันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง, กระทั่งต่อนักปฏิวัติเองบางครั้งก็เกิดความผิดพลาดขึ้นได้โดยไม่มีข้อสรุปที่ถูกต้อง,เมินเฉยต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไปอย่างไม่สนใจ   และไม่ได้สังเกตเห็นถึงลักษณะภายนอกที่แสดงออกถึงความไม่พอใจที่สะสมปริมาณมากขึ้น ,ความเดือดดาลและความขมขื่น       มันคล้ายกับปรากฏการณ์ของแรงดันภายใต้เปลือกโลกที่สะสมปริมาณอย่างช้าๆก่อนที่จะทำให้เกิดแผ่น ดินไหว   กระบวนการนี้ถ้าสังเกตอย่างผิวเผินเพียงภายนอกโดยไม่พิจารณาถึงปริมาณที่เดือดพล่านภาย  ใต้พื้นผิวโลกที่ไม่อาจควบคุมได้  ก็ไม่สามารถรู้ได้เช่นกันเมื่อเกิดการประทุขึ้น

เมื่อเกิดการประทุขึ้น  มันได้สร้างความประหลาดใจขึ้นทั่วไป   ”ผู้รู้” ทุกระดับมักจะให้คำอธิบายไม่ไกลเกินไปกว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นในขณะนั้นคือแทบจะไม่ได้บอกอะไรเลย ที่กล่าวว่า”การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์เกิดขึ้นเพราะการขาดแคลนขนมปัง”    การอธิบายเช่นนี้ออกจะมองข้ามความเป็นจริงมากเกินไป     ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง...ภายหลังการปฏิวัติใหญ่เดือนตุลาคม,การขาดแคลนขนมปังยิ่งเลวร้ายเสียยิ่งกว่าก่อนการปฏิวัติ       อีกทั้งตามติดมาด้วยสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่พวกปฏิปักษ์ปฏิวัติก่อขึ้น   และการรุกรานแทรกแซงของกองทัพต่างชาติถึง 21 ทัพ    ทำไมจึงไม่เกิดการปฏิวัติขึ้นเล่า?     ไม่เคยมีคำถามเช่นนี้และก็คงไม่มีคำตอบ      ถ้าเรายังยืนยันด้วยความสับสนต่อสภาพภววิสัยที่ได้จุดชนวนการเคลื่อน ไหวด้วยสาเหตุสำคัญที่ยังซ่อนเร้นอยู่     นั่นคือความสับสนระหว่าง “อุบัติเหตุ” กับ “ความจำเป็น”  มันก็คงเหมือนกับตำราเก่าที่เคยสอนกันในโรงเรียนซึ่งยืนยันว่ามูลเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้นเกิดจากการลอบสังหารอาร์คดยุ๊ค เฟอร์ดินาล ที่ซาราเยโว   ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งระหว่างประเทศจักรวรรดินิยมที่สะสมมาก่อนปี 1914

การนัดหยุดงานในวันที่ 9 กุมภาพันธ์(ปฏิทินเก่า)นั้นเป็นการนัดหยุดงานที่ใหญ่ที่สุดที่เปโตรกราดเคยเห็นมาตลอดระยะสงคราม     การนัดหยุดงานทั่วไปเริ่มที่เขต วีบอร์กและเนฟสกี  มีผลกระทบต่อโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสงครามเป็นอย่างมาก     มีกรรมกรเข้าร่วมถึง 145,000 คนซึ่งเป็นการ”ซักซ้อม” สำหรับการปฏิวัติ   การนัดหยุดงานนั้นประกอบไปด้วยการชุมนุม และการเดินขบวนประท้วง       เมืองเปโตรกราดมีสภาพเหมือนค่ายทหารที่เต็มไปด้วยกำลังทหารและตำรวจ       มาตรการใดๆของตำรวจก็ไม่อาจยับยั้งการปฏิวัติได้   จากมุมมองของบรรดานายทุนเสรีนิยมที่พยายามจะหยุดการปฏิวัติโดยร้องขอให้พระเจ้าซาร์ทำการปฏิรูปประเทศ   รอดเซียนโก[6] ได้ร้องขอให้พระเจ้าซาร์ยืดอายุสภาดูมาและจัดตั้งรัฐบาลใหม่    คณะกรรมการแรงงานอุตสาหกรรมสงครามที่เมนเชวิคควบคุมอยู่  ได้ฉวยโอกาสใช้วันที่ 14 กุมภาพันธ์(ปฏิทินเก่า)ซึ่งเป็นวันเปิดสภาเรียกร้องให้กรรมกรเปโตรกราดเดินขบวนไปยังพระราชวังเทาริดาซึ่งเป็นที่ตั้งของสภาดูมาเพื่อสำแดงพลังสนับสนุนพวกเสรีนิยมปีกซ้าย

 กลุ่มบอลเชวิคได้ประณามนโยบายการร่วมมือทางชนชั้นในครั้งนี้และเรียกร้องให้มีการนัดหยุดหนึ่งวัน เพื่อเฉลิมฉลองวันครบรอบการดำเนินคดีตัวแทนของบอลเชวิค    กรรมกร 90,000 คนจาก 58 โรงงานตอบรับข้อเรียกร้องนี้    กรรมกรโรงงานปูติลอฟประท้วงด้วยคำขวัญ “สงครามจงพินาศ”   “รัฐบาลจงพินาศ” “สาธารณรัฐจงเจริญ”     ไม่มีใครสนใจที่จะเดินไปยังพระราชวังเทาริดา    รอดเซียนโกยอมรับว่าสภาดูมามีบทบาทลดลง   ผู้ประท้วงพากันมุ่งหน้าไปค้นหาความมุ่งหวังที่ เขตเนฟสกี การซักซ้อมและประเมินความก้าวหน้าเป็นไปอย่างต่อเนื่องบ่งบอกถึงความหนักแน่นจริงจังมากขึ้น    และแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนที่บรรลุถึงจุดเดือด     ตัวแทนจากโรงงานปูติลอฟเดินทางไปยังโรงงานอื่นๆ ในเขต นาร์วาและวีบอร์ก  ซึ่งเป็นสถานที่จุดประกายการเคลื่อนไหวด้วยการร่วมก่อจลาจล”ขนมปัง” ที่โดดเด่นยิ่งของเหล่ากรรมกรสตรี


การนัดหยุดงานของโรงงานขนาดใหญ่เช่นปูติลอฟ     เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์(ปฏิทินเก่า)โดยกรรมกรเพียงไม่กี่ร้อยคนในโรงซ่อมที่เรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างและให้รับเพื่อนสมาชิกที่ถูกไล่ออกจากงานกลับเข้ามาใหม่โดยการนำของกรรมกรและนักปฏิวัติ   กรรมกร 30,000 คนของบริษัทยักใหญ่นี้ได้ก่อตั้ง”คณะกรรมการหยุดงาน”   ด้วยการออกสู่ถนนและเรียกร้องการสนับสนุนจากกรรมกรด้วยกัน  ฝ่ายจัดการของโรงงานตอบสนองด้วยการปิดประตูทางเข้าออก        นั่นกลายเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ทำให้กรรมกรหลายพันคนเกิดความโกรธแค้นและเริ่มเดินขบวนบนท้องถนน     ในขณะเดียวกับที่กรรมกรหญิงกำลังยืนเข้าแถวบนถนนที่หนาวเย็นเพื่อรับบัตรปันส่วนขนมปัง       นี้เป็นแรงระเบิดที่รุนแรงเสียยิ่งกว่ากระสุนปืนใหญ่ที่ผลิตโดยโรงงานปูติลอฟเสียอีก

ประจวบกับวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 23 กุมภาพันธ์(ปฏิทินใหม่คือ 8 มีนาคม)เป็นวันสตรีสากล   ถือว่าสเป็นพลังผลักดันการเคลื่อนไหวของมวลชน    กระแสความตื่นตัวของสตรีและเยาวชนซึ่งเมื่อก่อนนี้ยังอยู่ในระดับที่ล้าหลังและไร้การจัดตั้ง   ได้สร้างความประหลาดใจแก่นักเคลื่อนไหวเป็นอย่างมาก   นักประวัติศาสตร์โซเวียต อี.เอ็น.บูร์ดาลอฟ  กล่าวยืนยันว่ากรรมกรหนุ่มสาว “ได้เสนอตัวในที่ประชุมขอเป็นแถวหน้าของขบวน    หากเกิดการประทะกับตำรวจ,และ...ในการปฏิวัติทำหน้าที่เป็นหน่วยสืบเสาะหาตำแหน่งที่ตั้งของหน่วย ตำรวจ ทหารเพื่อแจ้งให้แก่กรรมกรรุนอาวุโสได้รับรู้ล่วงหน้า  ฯลฯ “

วันที่ 24 กุมภาพันธ์(ปฏิทินเก่า) กรรมกรกว่า 200,000 คนซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของชนชั้นกรรมกรในเปโตรกราดเข้าร่วมการหยุดงาน      กลุ่มโรงงานต่างๆได้รวมตัวกันเดินขบวนประท้วง   มวลชนกรรมกรได้สลัดหลุดพ้นจากความกลัวเก่าๆ  ลุกขึ้นเผชิญหน้ากับผู้ที่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่พวกเขา  การปฏิวัติเริ่มขึ้นแล้ว...!!!!   มันได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง , การเคลื่อนไหวต่อสู้ได้พัฒนาขึ้นจากครั้งก่อนด้วยพลวัตรของมันเอง   การประท้วงร่วมกับการนัดหยุดงานได้แพร่ขยายลุกลามออกไปอย่างรวดเร็วประดุจไฟป่าจากเขตวีบอร์กไปยังเขตที่ตั้งของอุตสาหกรรมอื่นๆ      ฝูงชนในขบวนโบกมือเมื่อเดินผ่านหน่วยตำรวจ-ทหารเพื่อมุ่งไปยังใจกลางเมือง  แม้ว่าจะต้องเดินผ่านพื้นน้ำแข็งของแม่น้ำเนวาพร้อมกับเสียงตระโกน “ขนมปัง” และ “พวกอำมาตย์จงพินาจ”

การประชุมของวันที่ 23 กุมภาพันธ์(ปฏิทินเก่า)   มีมติให้ทำการต่อต้านสงคราม  ค่าครองชีพสูง  และสถานการณ์ทำงานที่เลวของกรรมกรหญิง     การต่อสู้ในรอบนี้ได้พัฒนาไปสู่กระแสหยุดงานครั้งใหม่ที่สตรีเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสูง    พวกเธอเดินไปตามโรงงานต่างๆ,เรียกร้องชักชวนให้กรรมกรออกมาร่วมต่อสู้  เป็นผลให้เกิดการประท้วงของมวลชนตามท้องถนน   ธงทิว  ใบปลิว และประกาศ เต็มไปด้วยคำขวัญของการปฏิวัติเช่น   “สงครามจงพินาศ”    “ความหิวโหยจงพินาศ”   “การปฏิวัติจงเจริญ”  นักพูดตามท้องถนน และนักปลุกระดมปรากฏขึ้นทุกหนทุกแห่ง    ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกบอลเชวิคและกรรมกรพื้นฐานทั้งหญิงและชายผู้ซึ่งเคยถูกบังคับให้สงบเสงี่ยมเจียมตัว    บัดนี้พวกเขาต่างค้นพบแล้วว่า..พวกเขามีปากที่จะพูด  มีสมองไว้คิดตามที่ใจปรารถนา

เช้าวันนั้น ฟียอร์ด  ฟีโดโรวิช อิลยิน (ราสโคลนิคอฟ) อดีตกะลาสีเรือวัย 25 ปี   มองออกนอกหน้าต่างพลางคิด  ” วันนี้เป็นวันของผู้หญิงจริงๆ    ตามถนนต้องมีอะไรเกิดขึ้นเป็นแน่” บางสิ่งเกิดขึ้นจริงๆ กรรมกร 128,000  คนพร้อมกันหยุดงานทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยความโกลาหล   เหมือนกับประตูถูกเปิดออก   ”วันของสตรี” กลายเป็นวันแรกในการกำหนดชะตาของการปฏิวัติ   กรรมกรหญิงล้วนถูกปลุกขึ้นจากความสิ้นหวังในชีวิตด้วยการเป็นเหยื่อของความหิวโหยเป็นคนกลุ่มแรกๆที่ก้าวออกสู่ถนนเพื่อเรียก ร้อง “ขนมปัง  อิสรภาพ  และสันติภาพ”

ในวันนั้น  เมื่อเราติดอยู่ในเขตที่เราอยู่อาศัย  เมื่อมองจากหน้าต่างออกไปก็เห็นภาพที่ไม่ปกติ  รถรางหยุดวิ่ง   นั้นหมายความว่าเกิดสิ่งผิดบนท้องถนนซึ่งมีแต่ความว่างเปล่าและเงียบสงัด  ที่มุมของโรงละครบอลชอยและถนน กาวานสกายา กรรมกรหญิงกำลังรวมตัวกัน     ตำรวจม้าพยายามสลายพวกเธอด้วยความรุนแรง, ดันและผลักให้แตกกระจายด้วยจมูกม้าและตีกระหน่ำพวกเธอด้วยด้านแบนของดาบ   เมื่อทหารราชองครักษ์ของพระเจ้าซาร์ขี่ม้าอ้อมขึ้นบนทางเท้า    ฝูงชนก็แตกฮือไปชั่วขณะและพากันก่นด่าสาปแช่งอย่างสุดจะอดกลั้น    ทันทีที่ตำรวจม้าหันกลับไปบนถนนฝูงชนก็กลับมารวมตัวกันอีกอย่างเป็นหนึ่งเดียว    ในบางกลุ่มพอจะเห็นพวกผู้ชายบ้าง   แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นเหล่ากรรมกรหญิงและบรรดาภรรยาของกรรมกร”

วันที่ 25 กุมภาพันธ์(ปฏิทินเก่า)   ผู้นำกรรมกร 30-35 คนได้พบปะกันที่สำนักงานสหบาลสหกรณ์กรรมกรแห่งเปโตรกราดเพื่อก่อตั้งโซเวียต(สภา)   ถึงแม้ว่ากว่าครึ่งจะถูกจับไปในเย็นวันเดียวกันนั้น     สองวันต่อมาเมื่อกระแสเปลี่ยน, พวกเขาก็ได้ประกาศแถลงการณ์ของคณะกรรมการชั่วคราวของโซเวียตแห่งเปโตรกราด    เอ็น. เอส. ชไคซเซ ผู้แทนของเมนเชวิคในสภาดูมาได้รับเลือกเป็นประธาน, แม้ว่าเขาจะไม่ ได้เป็นตัวแทนของโรงงานใด   แต่เสียงส่วนใหญ่ 150 เสียงในการประชุมโซเวียตที่เลือกเขาให้ดำรงตำ แหน่งยังเป็นเรื่องที่น่าคลางแคลงใจและไม่มีหลักฐานใดๆ       ได้มีการกำหนดจุดมุ่งหมายไว้ในฐานะที่ คล้ายคลึงกับ  ”องค์กรพลังของประชาชน ที่ต่อสู้เพื่อความมั่นคงในเสรีภาพทางการเมืองและรัฐบาลที่ชอบธรรม”     ในเย็นวันเดียวกันนั้น  ซาร์นิโคลัส จำต้องออกคำสั่งถึงนายพล คาบาลอฟ  ผู้บัญชาการทหารรักษานครหลวงเปโตรกราดให้ “ยุติความวุ่นวายในนครหลวงภายในวันพรุ่งนี้”     ในเวลาบ่ายต่อมากองทหารเริ่มเปิดฉากยิง     ตำรวจรายงานว่า  “หากจะให้ฝูงชนสลายตัวมีแต่บรรจุกระสุนแล้วยิงเข้าใส่หัวใจของฝูงชนเท่านั้นที่พอจะเป็นไปได้       เพราะส่วนใหญ่กระจายไปทั่วโดยหลบไปอยู่ตามลานบ้าน  ใกล้เคียง  เมื่อหยุดยิงก็จะกลับมาบนพื้นถนนอีก”   เมื่อประชาชนไม่กลัวความตายแล้วอะไรก็เกิดขึ้นได้   กระนั้นก็ดีฝ่ายนำของบอลเชวิคในเปโตรกราดก็ไม่ได้เข้าใจถึงธรรมชาติของสถานการณ์   วี. คายูรอฟ สมาชิก ในคณะกรรมการบอลเชวิคในวีบอร์กสรุปว่า  “สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะชัดเจนก็คือ : การลุกขึ้นสู้ได้จบลงแล้ว”ที่จริงแล้วมันพึ่งจะเริ่มต้น เท่านั้น

ภายในไม่กี่วันจากวันที่ 25 - 27(ปฏิทินเก่า) เปโตรกราดยังอยู่ในภาวะหยุดงานทั่วไป      ซึ่งทำให้เกิดสุญญกาศทางอำนาจ    ซึ่งตัวมันเองก็ไม่สามารถแก้ไขได้,ปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวสถานการณ์เอง จึงมีคำถามว่า  ใครเป็นคนปกครองใครเป็นนายของบ้านสุดท้ายก็คือต้องตัดสินกันด้วยกำลังซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้   กลุ่มชนชั้นปกครองเริ่มฟื้นจากความชงักงันในเบื้องต้นเริ่มและมีการเคลื่อนไหว  พระเจ้าซาร์ได้ออกคำสั่งด้วยตัวเองว่า :”ข้าพเจ้าขอสั่งการให้ท่านทั้งหลายจงขจัดความวุ่นวายในนครหลวงให้จบลงภายในวันพรุ่งนี้โดยไม่อาจล้มเหลวได้”  ทหารและตำรวจต่างรับคำสั่งจากพระเจ้าซาร์โดยตรงให้ยิงผู้ประท้วง    วันที่ 26 กุมภาพันธ์(ปฏิทินเก่า) การยิงเริ่มต้นขึ้น,ทหารส่วนใหญ่ยิงขึ้นฟ้าแต่พวกตำรวจซึ่งค่อนข้างจะมีความคิดล้าหลังและปฏิกิริยาได้ยิงเข้าใส่ฝูงชน หลายคนบาดเจ็บล้มตาย  นี่คือจุดเปลี่ยนทางด้านจิตสำนึกที่สำคัญของบรรดาทหาร   วันนั้นเองกรมทหารปาฟ-ลอฟสค์ ที่ถูกสั่งให้ยิงประชาชนได้หันปากกระบอกเข้าปืนใส่ตำรวจ   ในเอกสาร, กลุ่มผู้กุมอำนาจมีกำลังเพียงพอที่จะจัดการ   แต่ในความเป็นจริงกองกำลังเหล่านี้ได้สลายตัวลงเกือบหมดแล้ว     ในภาวะที่ล่อแหลมเช่นนี้การขอกำลังเสริมกลับไร้คำตอบ     ทรอตสกีได้สำเนาคำถาม-ตอบ ที่นายพลอิวานนอฟส่งถึงนายพล คาบาลอฟ ดังนี้

คำถามของอิวานนอฟ  :  คุณมีกำลังที่ยังสั่งการได้กี่หน่วย และ มีหน่วยไหนบ้างที่ แปรพักตร์ ?
คำตอบของคาบาลอฟ :   ผมยังควบคุมกำลังรักษากองบัญชาการ 4 กองร้อย   ทหารม้า 5 กองร้อยและกองร้อยทหารคอสแซค  หน่วยปืนใหญ่อีกสองกองร้อย   กำลังที่เหลือนอกนั้นไปเข้ากับพวกปฏิวัติหรือ ไม่ก็วางตัวเป็นกลาง     พวกทหารต่างแตกแถวเดินเพ่นพ่านไปทั่วเมืองและทิ้งอาวุธประจำกาย

ถาม:   สถานี(รถไฟ)ไหนบ้างที่มืทหารคุ้มกัน?
ตอบ:  ทั้งหมดตกอยู่ในมือของพวกปฏิวัติ   และถูกคุ้มกันอย่างหนาแน่น

ถาม:  มีเขตไหนบ้างที่ยังปฏิบัติตามคำสั่งอยู่?
ตอบ:  ทั้งเมืองตกอยู่ในมือพวกปฏิวัติหมดแล้ว   โทรศัพท์ใช้การไม่ได้ทุกเขตขาดการติดต่อ

ถาม : มีเจ้าหน้าที่ดูแลในเขตอื่นๆหรือเปล่า?
ตอบ : ผมไม่สามารถตอบได้

ถาม :  คณะรัฐมนตรียังปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่?
ตอบ : คณะรัฐมนตรีถูกพวกปฏิวัติจับตัวไปหมดแล้ว

ถาม  : ตอนนี้กำลังตำรวจยังอยู่ในความควบคุมของคุณหรือเปล่า ?
ตอบ : ไม่มีเลย

ถาม : หน่วยงานด้านเทคนิคทหารของกระทรวงกลาโหมและหน่วยส่งกำลังบำรุงหน่วยใดบ้างที่คุณมีอยู่ ?
ตอบ :  ผมไม่มีเลย

ถาม :   คณมีเสบียงสำรองจำนวนเท่าไหร่ ?
ตอบ :  หน่วยที่ผมรับผิดชอบไม่มีการจัดสำรองไว้เลย  เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ในเมืองมีแป้งสาลีสำรองอยู่    5,600,000 ปอนด์

ถาม : คุณมีอาวุธเท่าไหร่  ปืนใหญ่และคลังแสงถูกพวกกบฏยึดไปกี่มากน้อย
ตอบ : ปืนใหญ่และที่ตั้งถูกพวกปฏิวัติยึดไปหมดแล้ว?

ถาม : ยังมีหน่วยใดที่คุณยังพอควบคุมไว้ได้บ้าง?
ตอบ : ผมยังกุมกองบัญชาการในเขตของผมได้อยู่ แต่ในเขตอื่นนั้นขาดการติดต่อ

ความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องระหว่างทหารและผู้หยุดงานประท้วงแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง   กรรมกรไปยังค่ายทหารเพื่อขอเครื่องแบบให้แก่บรรดาพี่น้องกรรมกร   ที่กองบัญชาการของบอลเชวิคมีการอภิปราย โต้เถียงกันอย่างต่อเนื่องเผ็ดร้อนเกี่ยวกับการกำหนดยุทธวิธี, ในสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่วันต่อวันหากเป็นชั่วโมงต่อชั่วโมง    ชลียาปนิคอฟไม่เห็นด้วยกับการแบ่งกำลังออกเป็นหน่วยย่อย, ให้ความสำคัญอยู่ที่การรวมกำลังทั้งหมด    ชูการินและคนอื่นๆว่ามีความเห็นว่า ทั้งสองประเด็นต่างมีความจำเป็นพอๆกัน..และความเห็นในเรื่องอื่นๆ      สถานการณ์ได้ดำเนินล้ำหน้าไปเร็วกว่าที่ฝ่ายนำพรรคบอลเชวิคในเปโตรกราดที่ถกเถียงกันมาก     ด้วยจำนวนคนและความกล้าหาญ มวลชนกรรมกรยึดเมืองได้สำเร็จ ทั้งๆที่ขาดแคลนอาวุธและไม่มีทักษะทางการทหารเลย   หลังวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ในนครหลวงต่างตกอยู่ในการยึดครองของกรรมกรและทหารรวมทั้ง สะพาน ค่ายทหาร  สถานีรถไฟ โทรเลขและสำนักงานไปรษณีย์     ในยามนั้นกองกำลังที่ทรงประสิทธิภาพที่กลุ่มปกครองมีอยู่ได้มลายหายไปในอากาศธาตุ    คืนวันที่ 28 คาบาลอฟ ได้หลบหนีไปโดยไม่มีกองกำลังติดตาม... เป็นนายพลผู้ไร้กองทัพ    คณะรัฐมนตรีชุดสุดท้ายของรัฐบาลพระเจ้าซาร์ถูกนำไปยังป้อมปีเตอร์และปอลในฐานะนัก โทษของคณะปฏิวัติ!!    จากประสบการณ์ในปี 1905 กรรมกรได้ก่อตั้งโซเวียตขึ้นมาดำเนินการบริหารจัดการสังคม     บัดนี้อำนาจเป็นของชนชั้นกรรมกรและทหาร

สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือการโค่นล้มระบอบซาร์ได้บรรลุผลลงไปอย่างสมบูรณ์แล้วโดยชนชั้นกรรมาชีพที่ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาชาวนาในชนบท      จริงๆแล้วการปฏิวัติประสบความสำเร็จแค่เพียงในเปโตรกราดเพียงเมืองเดียวที่มีจำนวนพลเมืองเพียง1 ใน 75 ส่วนของพลเมืองทั้งหมดในรัสเซียเท่านั้น   และที่นี่.. วิธีที่โดดเด่นก็คือการนัดหยุดงาน, เราจะเห็นได้ว่าน้ำหนักในการชี้ขาดอยู่ที่กรรมกรมากกว่าชาวนาในชนบท   การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์นั้นค่อนข้างจะเป็นไปโดยสันติเพราะไม่ได้มีการตระเตรียมกองกำลังใดๆไว้พิทักษ์ป้องกันกลุ่มอำนาจเก่า        เมื่อชนชั้นกรรมาชีพเริ่มเคลื่อนไหวก็ไม่อาจมีสิ่งใดมายับยั้งได้    ทรอตสกีได้เขียนถึงความสัมพันธ์ในการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ว่า

ไม่เกินความจริงหากจะกล่าวว่าเปโตรกราดได้รับความสำเร็จในการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์    และเป็นที่ยอมรับในส่วนต่างๆที่เหลืออยู่ในประเทศ    ไม่ว่าในที่ใดๆต่างไม่เห็นกลุ่มชน  พรรคการเมือง  สถาบัน  กองทหาร  ที่พร้อมจะต่อสู้เพื่อกลุ่มปกครองเดิม      อย่างที่พวกปฏิกิริยาได้กล่าวกันในภายหลังว่านั่น เป็นผลจากการไม่มีกองทหารม้ารักษาความปลอดภัยในพระนครประจำค่ายทหารเมืองปีเตอร์สเบิร์ก.. หรือไม่ก็ ..ถ้าอิวานนอฟเรียกกองพลน้อยมาจากแนวหน้าสักกองหนึ่ง,ชตากรรมของราชวงศ์คงต่างไปจากนี้     แต่ไม่ว่าจะแนวหน้าหรือแนวหลังหลัง,กองพลน้อยหรือกองพลทั้งหลายต่างก็พร้อมที่จะทำสงครามเพื่อปกป้องนิโคลัสที่สองอยู่แล้ว”

บัดนี้กรรกรได้อำนาจแล้ว, แต่เลนินได้อธิบายในภายหลังว่า, “มันยังไม่พอเพียงทั้งทางการจัดตั้งและจิตสำนึกที่จะนำการปฏิวัติให้ก้าวไปได้ตลอดรอดฝั่ง   นี่เป็นปัญหาใจกลางที่ไม่ปกติในการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์   แม้ชนชั้นที่นำการปฏิวัตินั้นจะไม่ใช่ชนชั้นอื่นนอกจากชนชั้นกรรมกรซึ่งมีชาวนาในชนบทที่สวมเสื้อคลุมสีเทาของทหารหนุนช่วยอยู่     มันเป็นการปฏิวัติของนายทุนหรืออย่างไรแน่นอน...นโยบายเนื้อหาของการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์นั้นเป็นเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน    นายทุนมีบทบาทอะไร?   บทบาทในการเป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติที่ต่อต้านนักการเมืองเสรีนิยม  เหมือนกับบรรดาข้าราชการที่ไร้ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ     ซึ่งเป็นไปได้ที่จะรีบกระโดดเข้าไปหาผลประโยชน์ในกองเลือดของการปฏิวัติ    พวกเขารีบตั้ง ”รัฐบาลเฉพาะกาล” เพื่อพยายามควบคุมการเคลื่อนไหวปฏิวัติและทำให้มันหยุดชงักลง    รัฐบาลเฉพาะกาลได้ตั้งคณะกรรมการชั่วคราวของสภาดูมาและเรียกโดยรวมว่า “คณะ กรรมการเพื่อสร้างระเบียบและความสัมพันธ์กับสถาบันสาธารณะและบุคคลสำคัญ”  ที่นำโดย มิคาอิล รอดเซียนโก   อดีตประธานสภาดูมาผู้ที่ยอมรับว่าได้เฝ้ามองการสละราชสม บัติของพระเจ้าซาร์ด้วยความ ”เศร้าหมองสุดที่จะบรรยาย”   ส่วนคนที่มีความโดดเด่นและเป็นสมาชิกฝ่ายก้าวหน้าอย่าง ชูลกิน  ก็มีความปรารถนที่จะจัดการฝูงชนด้วยปืนกล    ซึ่งบังเอิญพลั้งปากไปกล่าวถึงเหตุ ผลที่แท้จริงของรัฐบาลชั่วคราวว่า  ”ถ้าเราไม่ใช้อำนาจ  คนอื่นก็จะใช้กับเรา  ไอ้พวกชั้นต่ำทั้งหลายพวกมันก็พร้อมที่จะเลือกไอ้พวกสารเลวในโรงงานอยู่แล้ว”

ไอ้พวก”สารเลวในโรงงาน” นั้นล้วนเป็นสมาชิกของสภาโซเวียตกรรมกร     ที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันคณะกรรมการส่วนใหญ่มีพื้นฐานการต่อสู้มาอย่างยาวนาน,ได้รับเลือกตั้งมาจากสถานประกอบการอย่างเป็นประชาธิปไตย, กรรมกรเหล่านี้ได้เคลื่อนไหวมานานตั้งแต่ปี 1906  บนเส้นทางการปฏิวัติ,พวกเขาได้รื้อฟื้นวิธีการในอดีตมาใช้อีกนั่นคือการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารในทุกๆโรงงาน   ในความเป็นจริงพวกเขาได้อำนาจมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว      ปัญหาก็คือการไม่มีพรรคและขาดแคลนผู้นำการปฏิวัติ      ผู้นำฝ่ายปฏิรูปมีความเห็นว่าพวกตนได้เข้าร่วมเป็นกองหน้าตั้งแต่การปฏิวัติเริ่มต้นขึ้น,เป็นกลุ่มที่มีความ สำคัญซึ่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของสภาโซเวียตกรรมกร     และพวกเขาก็ไม่มีความคิดที่จะยึดกุมอำนาจไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จ     ซ้ำยังกลับทำตัวให้ตกต่ำลงโดยรีบเร่งคืนอำนาจให้แก่ชนชั้นนายทุน     หลังจากนั้นพวกเขาก็ไม่มีบทบาทอะไรในการปฏิวัติซ้ำยังกลัวการปฏิวัติเสียด้วยซ้ำไป     

ส่วนพวกเสรีนิยมก็ไม่มีฐานมวลชนสนับสนุน    เหตุผลเพียงประการเดียวของรัฐบาลชั่วคราวที่จะอยู่รอดได้คือต้องได้รับการสนับสนุนจากพรรคเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติ       ตัวแทนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่รู้ดีว่าพวกเขามีความโน้มเอียงที่จะแสวงหาการสนับสนุนจากบรรดาผู้นำโซเวียต     ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่จะต้องทำก่อนสิ่งอื่นใด     การเคลื่อนไหวเริ่มลดลง ,และพวกเขา(นักปฏิรูป)พยายามกล่าวหาให้ร้ายเพื่อทำลายนักสังคมนิยม     ซึ่งในเวลานั้นจำต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นยักษ์มารเพื่อให้ผู้คนเกิดความหวาดกลัวในสิ่งที่พวกเขาจะต้องสูญเสียไป     ดังนั้นพวกเขาจำต้องกล้ำกลืนฝืนทนความเดือดดาลเอาไว้ก่อนและเริ่มทำในสิ่งที่เห็นว่าจำเป็น       ผู้นำนักปฏิรูปทั้งหลายเร่งจัดการพบปะกันที่พระราชวังเทาริดาร่วมกับสมาชิกคณะกรรมการกลางของกลุ่มแรงงานอุตสาหกรรมสงคราม, ผู้แทนของเมนเชวิคในสภาดูมา  พวกนักหนังสือพิมพ์ที่คัดสรรแล้วและปัญญาชนในค่ายเมนเชวิค   พวกเมนเชวิคไม่รีรอที่จะเสนอจุดยืนทัศนะในการสามัคคีทุกชนชั้น    ซึ่งเป็นความมุ่งหมายเพียงเรื่องเดียวที่แสดงออกถึงตรรกทั้งหมดของพวกเขาที่วิวัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้     พวกเขาได้ออกแถลงการณ์ซึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม เรียกร้องต่อรัฐบาลชั่วคราว “ เตรียมเงื่อนไขสำหรับองค์กรใหม่ของรัสเซียที่เสรี"   กรรมกรได้หลั่งเลือดเพื่อแลกมาซึ่งชัยชนะ,ในขณะที่บรรดานายทุนได้แต่คอยเฝ้ามองดูความสยดสยองอยู่ด้านข้าง   ยังคงเป็นเช่นเดิม...พวกเมนเชวิค—ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของ”ไอ้พวกสารเลวในโรงงาน” ยังปรารถนาที่จะมอบคืนอำนาจให้แก่นายทุน!!!

บรรดากรรมกรและทหารต่างไม่เคยไว้วางใจพวกนายทุน     แต่เชื่อมั่นในผู้นำของพวกเขาโดยเฉพาะ อย่างยิ่งผู้นำที่หัวรุนแรงและมีภาพพจน์”ซ้าย” อย่าง เคเรนสกี  นักกฎหมายชนชั้นกลางที่ประสบความความสำเร็จในอาชีพที่มีคารมคมคาย,เป็นนักแสดงละครหลอกลวงทางการเมือง และไม่ได้มีส่วนร่วม กับมวลชน ที่กำลังสับสนและตื่นตระหนกเลย      เคเรนสกี ได้รับการยอมรับจากโซเวียตให้เข้าร่วมในรัฐบาลชั่วคราว   นี่เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่งในเหตุการณ์ปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์    คือเป็นการก้าวเข้าสู่อำนาจของหมู่คนที่ไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเลยแม้แต่น้อย     อีกทั้งยังกลัวการปฏิวัติประ ดุจปีศาจกลัวน้ำมนต์อันศักดิ์สิทธิ์อย่างพรรคคาเด็ทและพรรคอ๊อคโทบริสต์ (Octobrist) ที่เป็นพันธมิตรกันในสภาดูมา

วันที่ 2 มีนาคม (ปฏิทินเก่า), รัฐบาลชั่วคราวได้ก่อตั้งขึ้น  ประกอบด้วยเจ้าที่ดินใหญ่และนายทุนอุตสา หกรรม     เจ้าชาย ลวอฟ ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล(นายกรัฐมนตรี)  มิลยูคอฟ หัวหน้าพรรคคาเด็ทดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ    เทเรเชนโก  ผู้ประกอบธุรกิจโรงงานน้ำตาลและเจ้าที่ดินใหญ่ผู้มั่งคั่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง    ส่วนกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ตกเป็นของ โคโนวาลอฟ เจ้าของกิจกรรมสิ่งทอ     กุชคอฟ  สมาชิกพรรคอ๊อคโทบริสต์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการสงครามและนาวี       กระทรวงเกษตรเป็นของ ชิกาเรฟ แห่งพรรคคาเด็ท   โซเวียตกรรมกรได้มอบรัฐบาลรัสเซียให้แก่แก๊งปฏิกิริยาผู้ฉ้อฉล  ผู้นำชนชั้นนายทุนน้อยของโซเวียตไม่ได้มีความเชื่อมั่น มวลชนในการนำการปฏิวัติ      แต่กลับไปให้ความไว้วางใจอย่างแน่นแฟ้นแก่ชนชั้นนายทุนว่ามีความเหมาะสมในการบริหารประเทศพวกเขามีความวิตกกังวลว่าควรส่งมอบอำนาจที่ยึดมาได้โดยกรรมกรและทหารให้แก่ ”ผู้รู้” ในเรื่องการเงินเสียแต่เริ่มแรก 

กลุ่มเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติพยายามรณณรงค์เพื่อให้มวลชนเชื่อว่า   การปกครองโดยไม่มีชนชั้นนายทุนเข้าร่วมจะเป็นการ”ทำลาย”การปฏิวัติของประชาชน (หนังสือพิมพ์ อีสเวสติยา/ Izvestiya 2/3/1917) พวกเขาตั้งข้อสังเกตอย่างหนักแน่นต่อเนื้อหาที่ว่าชนชั้นกรรมกรนั้นอ่อนแอเกินไปที่จะนำพาการปฏิวัติให้ลุล่วงไปได้ตลอดรอดฝั่งและจะต้องไม่ปิดกั้นตนเอง    โปเตรซอฟ* กำหนดบทบาทของเมนเชวิคต่ำเกินไปเมื่อเขากล่าวว่า  ”ขั้นตอนนี้เป็นการปฏิวัติของชนชั้นนายทุน   ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีความพร้อมที่สุดทั้งในด้านสังคมและจิตวิทยาในการแก้ปัญหาของชาติ”     วันที่ 7 มีนาคม(ปฏิทินเก่า) หนัง   สือพิมพ์ ราโบชายา เกเซทตา ขององค์กรเมนเชวิคเปโตรกราดเขียนว่า “สมาชิกของรัฐบาลชั่วคราว!! ชนชั้นกรรมาชีพและกองทัพรอคอยคำสั่งของท่าน ในจะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่การปฏิวัติและสร้างประชา -ธิปไตยในรัสเซีย”!!!!!

ไม่ว่าอย่างไร, ความคิดเช่นนี้ก็ยังห่างไกลอย่างสุดกู่จากจิตสำนึกของผู้นำชนชั้นนายทุนในรัฐบาลชั่วคราวสัญชาตญาณเบื้องต้นของพวกเขา(นายทุน)ที่เราเห็นได้ก็คือการอาศัยการปราบปรามซึ่งยังเป็นไปไม่ได้ในขณะนี้   เพราะพวกเขาถูกบีบให้ต้องหลบเลี่ยงไปมาเพื่อคอยเวลา   ดังนั้นพวกเขาจึง”ยอมให้”เฉพาะสิ่งที่มวลชนและทหารได้ต่อสู้เอาชนะมาแล้วเท่านั้น    สิ่งเดียวที่พวกเสรีนิยมมีความมุ่งมั่นก็คือยับยั้งการปฏิวัติโดยฉวยโอกาสปรับแต่ง(นโยบาย)จากข้างบนเพื่อจะรักษากลุ่มอำนาจเก่าเอาไว้เท่าที่จะเป็นไปได้ซึ่งกลุ่มอำนาจเก่านั้นได้ถูกทุบทำลายอย่างรุนแรง,บอบช้ำและสั่นคลอน,นายธนาคารและนายทุน, อำมาตย์ใหญ่,ชนชั้นขุนนาง, สภาดูมาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันกษัตริย์

การปฏิวัติทำให้บรรดานายทุนเสรีนิยมต่างหวาดกลัว   ซึ่งมันยังตราตรึงอยู่กับความหายนะของสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่มันเป็นป้อมปราการอันมั่นคงของทรัพย์สินและฐานันดร     การจะรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้   รัฐบาลชั่วคราวจะต้องเปลี่ยนเอาพระโอรสซึ่งเป็นรัชทายาทขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทนพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่2 โดยให้อยู่ภายใต้ผู้สำเร็จราชการเจ้าชาย มิคาอิล พระอนุชา    หวังให้หนึ่งในตระกูลโรมานอฟขึ้นมาเป็นตัวแทนของราชวงศ์     มันเป็นความผิดพลาดของละครตลกที่แสนจะวิปลาส, กรรมกรผู้ซึ่งใช้เลือดของตนโค่นราชวงศ์โรมานอฟ  ได้มอบอำนาจให้แก่บรรดาผู้นำของพวกเขา, ผู้ซึ่งตอนนี้กลับมอบอำนาจให้แก่พวกนายทุนเสรีนิยมเพื่อจะนำราชวงศ์โรมานอฟกลับคืนมาอีก!!

แต่ก็ยังไม่สูญเปล่าเสียทั้งหมด เมื่อกรรมกรและทหาร,โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเคลื่อนไหวผู้ที่มีความวิตกกังวลและไม่เชื่อถือพฤติกรรมของนักการเมืองชนชั้นนายทุนในรัฐบาลชั่วคราว      แต่พวกเขายังมีความเชื่อมั่นต่อผู้นำที่เป็นชาวเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติซึ่งมีความเป็นนักสังคมนิยม”ผู้เป็นกลาง” ที่ส่วนมากดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารโซเวียต, ซึ่งเคยพูดกับพวกเขาอย่างสม่ำเสมอว่าเราต้องมีความอดทนภาระหน้าที่แรกสุดก็คือการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้มั่นคง    และเตรียมการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญและ.....ฯลฯ    มวลชนต่างเชื่อและรับพิจารณาและ  “เฝ้ารอคอย” ว่าพวกผู้นำรู้ดีว่าควรทำอย่างไร?   กระทั่งความไม่เชื่อมั่นและวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นทุกวี่วันที่ล่วงเลยไป

กำลังของบอลเชวิคในเดือนกุมภาพันธ์    พรรคบอลเชวิคได้สูญเสียกำลังพื้นฐานไปเป็นจำนวนมากในปี 1904    และยิ่งแย่ลงไปอีกเมื่อต้องเผชิญกับการปราบปรามกวาดล้างในครั้งสุดท้ายเมื่อเร็วๆนี้     หนังสือพิมพ์ “อิสตอริยา” รายงานความเข้มแข็งของพรรคโดยประมาณการจากจำนวนสมาชิกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ไว้ดังนี้

ในเปโตรกราด                             ประมาณ 2,000 คน
มอสโคว์                                    ประมาณ  600  คน
อูราล                                         500
เยคัธริโนสลาฟ                              400
นิซซี-นอฟกอรอด                          300
รอสตอฟ                                     170
ทเวอร์                                       ประมาณ 120 – 150
อิวานโนโว-โวสเนสต์เซ็งค์                ประมาณ 150 -200
คาร์คอฟ                                      200
ซามารา                                       150
เคียฟ                                         200
มาเคเยฟสค์                                ประมาณ 180 -200

หากละเว้นไม่กล่าวถึงประเทศขนาดมหึมาที่มีพลเมืองถึง 150 ล้านคนแล้ว จะเห็นว่าในการเริ่มต้นการปฏิวัติ, พรรคประกอบด้วยสมาชิกเพียงเล็กน้อย   ต่อเรื่องนี้เราจำต้องกล่าวถึงองค์ประกอบอื่นๆด้วย   ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าระดับคุณภาพของฝ่ายนำบอลเชวิคนั้นมีแนวโน้มที่เหนือกว่าฝ่ายอื่น,ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยชนชั้นกรรมกรที่ได้รับการบ่มเพาะมาเป็นอย่างดีและมีระดับวินัยที่เหนือกว่าสมาชิกพรรคเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติ    สัดส่วนที่แตกต่างกันอย่างมากมายนั้นคือสิ่งที่เราเรียกว่า ”ผู้นำโดยธรรม ชาติ” ในหน่วยงานของพวกเขา   ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นและมีจิตใจสู้รบ,จึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ร่วมงานได้แต่ละคนมีการติดต่อสัมพันธ์กับกรรมกรเป็นจำนวนมา   นอกจากนั้นพวกเขายังเป็นรากฐานของบอลเชวิคมาตั้งแต่ 1912–1914 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองศูนย์กลางอุตสาห - กรรม     พูดถึงการจัดตั้ง,เมนเชวิคและพรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติยังอยู่ในขั้นตอนที่แย่มาก     โดยพื้นฐานแล้วพรรคบอลเชวิคมีความเหนือกว่าอยู่ค่อนข้างมาก   ซูกานอฟ ซึ่งภายหลังไปเช้าร่วมกับเมนเชวิคกล่าวถึงพวกเขา(บอลเชวิค)ว่าเป็นด้านหลักของกรรมกรในเปโตรกราดเมื่อเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์     ต่อ เรื่องนี้ต้องให้น้ำหนักด้านคุณภาพแก่ฝ่ายนำบอลเชวิคในเปโตรกราด    การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์นั้นฝ่ายนำของบอลเชวิคได้แก่  ชลียาปนิคอฟ  ซูลุทสกี  และนักศึกษาหนุ่มโมโลตอฟ

ในบทแรกของหนังสือประวัติศาสตร์การปฏิวัติ  ได้ให้ข้อมูลจากการสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดของซูคานอฟชาวเมนเชวิคปีกซ้ายผู้เคยเข้าร่วมการประชุมกล่าวถึงฝ่ายนำของบอลเชวิคในเปโตรกราดว่า  ”มีแต่ความเงอะงะ ลังเลและไม่รู้จะทำอย่างไร”      หรือที่ถูกคือไม่มีความสามารถที่จะคิดได้อย่างถูกต้องต่อปัญหาเฉพาะหน้าทางการเมืองส่งผลให้เราพลอยรู้สึกห่อเหี่ยวใจไปด้วย    ซูคานอฟ ประเมิน ชลียาปนิคอฟ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำ ”พรรคของผู้รักชาติ”  ที่พร้อมจะประเมินการปฏิวัติบนจุดยืนในความสำ เร็จของพรรคบอลเชวิคในเรื่องของผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์, เป็นนักจัดตั้งที่มีความยืดหยุ่นพลิกแพลง  และเป็นสมาชิกระดับผู้ปฏิบัติงานที่เป็นนักเคลื่อนไหวแบบมืออาชีพ     แต่ไม่ใช่นักการเมืองที่สามารถเกาะกุมสาระสำคัญของสถานการณ์ทั่วไปได้    ถ้าในเวลานั้น.หากจะมีการเสนอความคิดอื่นใดในทางการเมือง    ก็คงจะเป็นเพียงรูปแบบของการตัดสินใจแบบพรรคการเมืองยุคเก่า     ซึ่งในขณะนั้นบรรดาผู้นำที่รับผิดชอบต่อองค์กรแรงงานเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด       มีทั้งอิสระทางความคิดหรือไม่ก็มีความสามารถดำเนินงานอย่างมีเนื้อหาสาระและเป็นรูปธรรม

ไม่เป็นที่สงสัยเลยที่สมาชิกเมนเชวิคอย่างซูคานอฟจะประเมินคุณภาพของ ชลียาปนิคอฟ ต่ำเกินไปและมีลักษณะด้านเดียว    แต่ว่าอย่างน้อยก็เป็นการเขียนที่ค่อนข้างจะเป็นความจริงอยู่บ้างที่สรุปจากลักษณะ เฉพาะในด้านจิตใจของ ”กรรมการ” ชาวบอลเชวิค     เหมือนอย่างในปี 1905  ที่ได้สูญเสียความมั่นใจไปอย่างรวดเร็วเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ใหม่ๆและการเคลื่อนไหวที่ล้าหลังมวลชน  จนกระทั่งเลนินได้ทำการติดอาวุธทางความคิดให้พรรคด้วยมุมมองใหม่ของการปฏิวัติ     ความจริงเรื่องนี้ได้รับการปก ปิดจากงานเขียนประวัติศาสตร์ของสหภาพโซเวียต    ตัวอย่างเช่น:พวกเขาอ้างว่าพรรคได้ออกแผ่นปลิว ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์(ปฏิทินเก่า)   แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการตรวจสอบปรากฏว่าคณะกรรมการแห่งเปโตรกราดได้พิมพ์แผ่นปลิวครั้งแรกในวันที่ 27 กุมภาพันธ์   ซึ่งในเวลานั้นเมืองเปโตรกราดถูกยึดเรียบร้อยแล้วจากการนัดหยุดงานทั่วไป   และการกบฎได้แพร่กระจายไปตามกองทัพและฐานทัพเรือ    ซึ่งเป็นการตัดสินชะตาของกลุ่มปกครอง    

กล่าวได้ว่าฝ่ายนำของบอลเชวิคในเปโตรกราดไม่ได้นำการเคลื่อนไหวอะไรเลยได้แต่ติดตามการเคลื่อน ไหว    พรรคแทบจะไม่มีบทบาทอะไรในเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์    ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตถูกเขียนขึ้นภายใต้อำนาจของครุสชอฟ  เช้าวันที่ 25 กุมภาพันธ์(ปฏิทินเก่า) ที่สำนักงานของบอลเชวิคได้มีการประชุมตัดสินใจต่อจังหวะก้าวที่จะให้มีการเคลื่อนไหวกระจายไปทั่วประเทศอย่างมีพลังแต่มีการเสนอวิธีการที่แตกต่างออกไป    การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์นั้นไม่เพียงแต่เลนินเท่านั้นที่ให้ความสนใจแต่ยังสร้างความประหลาดใจไปทั่วทั้งพรรคเมื่อการปฏิวัติเริ่มขึ้นพรรคยังคงอยู่ในสภาพที่อ่อนล้ามาก      จุดด้อยอย่างที่ มาร์เซล ลิปมาน ได้ชี้ชัดไว้ในกรณีศึกษาที่ค้อนข้างจะละเอียดแหลมคมของเขาว่า     เดือนมกราคม 1917 คณะกรรมการเปโตรกราดไม่มีความสามารถแม้แต่จะออกใบปลิวเนื่องในโอกาสระลึกถึงวันครบรอบเหตุการณ์นองเลือด       กระนั้นในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือนพรรคบอลเชวิคมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมากว่าสิบเท่า   จนกลายเป็นพลังชี้ขาดของชนชั้นกรรมกร  

การเติบโตของพรรคบอลเชวิคในปี 1917  นั้นหมายถึงการเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรคการเมือง     นั่นเป็นขั้นตอนแรกของการปฏิวัติแต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่พรรคไม่ได้มีการตระเตรียมและไม่มีความพร้อม,   ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงว่าจะมีมวลชนเข้าร่วมมากถึงขนาดนั้น  มาร์เซล  ลิปมาน   เขียนว่า “ขาดความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมีสายตายาวไกล”  และ  “ชาวบอลเชวิคตอบสนองต่อการชุมนุมประท้วงครั้งแรกของกรรมกรโดยส่วนใหญ่เป็นแค่กำลังสำรอง   ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อนึกย้อนไปถึงทัศนคติของพวกเขาในปี 1905   และค่อนข้างจะโดดเดี่ยวตัวเองแม้ในที่ทำงานของพวกเขาเอง”

ตั้งแต่การปฏิวัติเริ่มขึ้นจนกระทั่งบัดนี้    พวกเขายังไม่เคยมีเหตุผลดีพอที่จะมาอ้างถึงการไม่เข้าร่วมของชาวบอลเชวิคในเปโตรกราดที่ครั้งหนึ่งได้พยายามยับยั้งการเคลื่อนไหวในวันสตรีสากลเสียด้วยซ้ำไป   วี. เอ็น. คายูรอฟ  กรรมการคนสำคัญของเขตวีบอร์ก   ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาเข้าไปแทรกแซงการประชุม ในหน่วยสู้รบของกรรมกรหญิงในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ (ปฏิทินเก่า) ว่า :” ผมได้อธิบายความหมายของวันสตรีสากลและการเคลื่อนไหวโดยทั่วไปของผู้หญิง, และเมื่อผมต้องพูดถึงสถานการณ์ในเวลานั้นขั้นแรก ผมได้พยายามพูดและเรียกร้องให้พวกเธอระงับการเข้าร่วมการประท้วงใดๆ   และขอปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการพรรค” แต่พวกเธอกลับไม่สบอารมณ์ที่จะคอยต่อไป    คายูรอฟ  ได้เรียนรู้ด้วย ”ความประหลาดใจ”และ ”เดือดดาล”  ที่คำขวัญของพรรคถูกเพิกเฉย  “ผมโมโหมากในความประพฤติของบรร ดาผู้หยุดงานประท้วง”    เขาบันทึกว่า : “ แรกสุดพวกเขาปฏิเสธการตัดสินใจของกรรมการประจำเขตของพรรคอย่างเห็นได้ชัดและของผมด้วย    เย็นวานนี้ผมได้ไปเยี่ยมกลุ่มกรรมกรหญิงเพื่อแสดงเอกสารคำสั่งให้ระงับการเข้าร่วมหยุดงานโดยไม่ได้บอกล่วงหน้า” 

ในหนังสือ ประวัติของทรอตสกี  ได้ยืนยันว่า “สำหรับลัทธิบอลเชวิค,เดือนแรกของการปฏิวัติเป็นช่วง เวลาที่ยากลำบากและความไม่แน่นอน” มันชัดเจนอย่างที่สุดต่อคำยืนยันนี้   ประสบการณ์ทางการเมืองของผู้นำคนสำคัญๆเหมือนถูกคุมขังอยู่ในคุก ทั้งในไซบีเรีย และต่างประเทศ     การนำในเปโตรกราดเท่าที่เรารู้คือไม่ได้มีการตระเตรียมภาระหน้าที่แต่อย่างใดเลยในช่วงกระแสต่ำก่อนหน้านี้      สาขาพรรคในรัสเซียซึ่งประกอบด้วย ชลียาปนิคอฟ โมโลตอฟ และ ซาลุทสกี ที่ยังมีการติดต่อกับเลนินทางจดหมาย    วี. เอ็น. คายูรอฟ  สมาชิกคณะกรรมการเขตวีบอร์กได้กล่าวในภายหลังว่า “ไม่เคยได้รับคำชี้แนะจากฝ่ายนำขององค์กรพรรคเลย   คณะกรรมการของเปโตรกราดล้วนถูกจับและสหาย ชลียาปนอคอฟ ตัวแทนของคณะกรรมการกลางก็ไม่สามารถเสนอเข็มมุ่งการเคลื่อนไหวในอนาคตได้”

หลังจากผ่านความไม่พร้อมในตอนแรก    ขอบเขตการเคลื่อนไหวของกรรมกรเริ่มมีความชัดเจนขึ้น ชาวบอลเชวิคเริ่มปฏิบัติการโดยให้การสนับสนุนการหยุดงานของกรรมกรและขยายงานออกไป    กรรมกรเริ่มก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวหยุดงานกันมากขึ้นและมากขึ้น  ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์(ปฏิทินเก่า) มีคนเข้าร่วมการนัดหยุดงานถึง 300,000 คนในเปโตรกราด     คลื่นของการนัดหยุดงานเริ่มเปลี่ยนไปเป็นการเรียกร้องทางการเมือง  กรรมกรถราง  สถานประกอบการเล็กๆ  ช่างพิมพ์   ร้านค้า  ทั้งหมดถูกกวาดเข้าไปแสดงบทบาทการต่อสู้โดยเหล่ากรรมกรหญิง   เนื้อหาคำขวัญในใบปลิวเช่น  “ทุกคนจงเข้าร่วมการต่อสู้”   “ออกมาสู่ท้องถนน!”   “ระบอบซาร์จงพินาศ”  “สงครามจงพินาศ” ฯลฯ

ในไม่ช้า...ชาวบอลเชวิคในเปโตรกราดได้ฟื้นจากความสับสนในเบื้องแรกและลงสู่งาน   วันที่มีการสู้รบสมาชิกพรรคบอลเชวิค 3 คนถูกจับ   คณะกรรมการเขตวีบอร์ก,กล่าวได้ว่ามีส่วนร่วมการนำในเปโตรกราดจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์(ปฏิทินเก่า)เป็นต้นไป    กำลังทั้งหมดในองค์กรจัดตั้งของเปโตรกราดถูกส่งไปประจำการในโรงงานต่างๆและค่ายทหาร   คลังแสงถูกยึด วี. อเล็กเซเยฟ สมาชิกบอลเชวิค ได้จัดตั้งคน งานรุ่นหนุ่มของโรงงานปูติอฟขึ้นเป็นหน่วยจู่โจมตำรวจและยึดเอาอาวุธ   เย็นวันที่ 27 ฝ่ายนำบอลเชวิค ส่วนใหญ่ประกอบด้วยกรรมการเขตวีบอร์ก    ได้ประชุมอภิปรายถึงความจำเป็นในการยกระดับการนัดหยุดงานทั่วไปขึ้นเป็นการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ      มีคำสั่งฉันท์พี่น้องไปยังกองทหารและปลดอาวุธ ตำรวจ ทำการจู่โจมร้านขายอาวุธ, คลังแสง แล้วติดอาวุธให้แก่กรรมกรโดยไม่ต้องร้องขอ  พวกเขาได้ฟื้นจากความไม่พร้อมของครั้งก่อนแล้ว  ชาวบอลเชวิคในเปโตรกราดต่างรุกด้วยความไม่พอใจ  พวกเขาประณามข้อ ตกลงกับพวกนายทุนเสรีนิยม   กระชากหน้ากากนัก ”ปกป้องการปฏิวัติ” ( Defencists คือกลุ่มการเมืองในรัสเซีย(และที่อื่นๆ)เช่นพวกเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ    ที่สนับสนุนการทำสงครามโลกครั้งแรกโดยให้เหตุผลว่าเพื่อ”ปกป้อง” ประเทศชาติและการปฏิวัติ)    และเรียกร้องให้กรรมกรออกมาแสดงบทบาทในทันที   กรรมกรมุ่งหน้าสู่ค่ายทหารฉันท์พี่น้อง   ทุกหนทุกแห่งพวกเขาได้รับการต้อนรับด้วยความเห็นอกเห็นใจและความเป็นเอกภาพ   อารมณ์ความรู้สึกของบรรดาทหารซึ่งบางคนเป็นอดีตคนงานของโรงงานปูติลอฟและเป็นนักปฏิวัติ   กองทหารกองแล้วกองเล่ากรมแล้วกรมเล่าต่างออกมาร่วมต่อสู้    เรื่องเช่นเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นที่มอสโคว์ด้วย     กรรมกรและทหารที่ลุกขึ้นสู้เข้ายึดคลังแสงในเปโตรกราด   ปืนยาว 40,000 กระบอก  ปืนสั้น 30,000 กระบอกถูกติดให้แก่กรรมกร     การได้รับการยอมรับนั้นไม่ใช่เหตุบังเอิญ,แต่มันมีผลจากการทำสงคราม     และนอกเหนือจากนั้นคือการสะสมความไม่พอใจของชาว นารัสเซียที่ต้องทนทุกข์ทรมานมาอย่างยาวนานทกับการถูกเกณฑ์ไปรบในสงคราม    บทบาทของวีรบุรุษนิรนามแต่ละคนนั้นมีมากเกินกว่าที่ประเมินค่าได้

แนวคิดของนักประวัติศาสตร์ชนชั้นนายทุนที่มักจะนำเสนอว่า     กรณีของการปฏิวัติเดือนตุลาคมนั้นเป็นเพียงการทำ ”รัฐประหาร” เท่านั้น    การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ,การเคลื่อนไหวแบบเป็นไปเองของมวลชน   บทสรุปวิจารณ์ตั้งแต่แรกนั้นเป็นเรื่องที่ผิด, เป็นแค่การสมคบคิดกันของคนส่วนน้อยที่ตั้งใจนำไปสู่ระบอบเผด็จการ    ขณะข้อที่สอง, แน่นอนเช่นที่ว่าการปฏิวัตินั้นไม่มีใครรับรอง แม้แต่กลุ่มปกครองของระบอบซาร์ก็ไม่ยอมรับ      แม้ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่      มุมมองทั้งสองข้อนั้นผิดโดยสิ้นเชิง     การปฏิวัติเดือนตุลาคมไม่ใช่ทั้งการรัฐประหารหรือการสมคบคิด   แต่การจัดการนั้นแสดงออกถึงความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่มีความพยายามอย่างมากมาเป็นเวลาถึง 9 เดือนเพื่อหาทางแก้ปัญหาโดยใช้อำนาจของโซเวียต     ด้านหนึ่งที่อธิบายการปฏิวัติเดือน กุมภาพันธ์ว่าเป็นแบบ ”เป็นไปเอง” นั้น     เท่ากับว่าเป็นการมองอย่างผิวเผินและด้านเดียว   อาจจะมีคนกล่าวว่ามันเป็นเพียงฉากๆหนึ่งที่พรรคไม่ได้เข้ามาจัดการ   นั่นก็ยังไม่เพียงพอ, มันยิ่งแสดงออกถึงความมืดบอดหนักขึ้นไปอีก    เหมือนการ”ตื่น”ของฝูงวัวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปราศจากเหตุผล    การใช้คำว่า  ”เป็นไปเอง” ในบริบทนี้อธิบายอะไรไม่ได้เลย   เป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มความความอับจนในการอธิบายความ    ที่แย่ไปกว่านั้นยังเป็นการดูถูกมวลชนว่าโง่เขลาโดยให้เหตุผลว่าทำไปตามสัญชาติญานเท่านั้น

แม้ไม่อาจกล่าวได้ว่าพรรคบอลเชวิคเป็นผู้นำของการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์กระนั้นก็มีคนนำ  บางคนเริ่มเรียกร้องให้หยุดงาน, จัดขบวนประท้วง   กรรมกรรู้ดีว่าการหยุดงานแค่สองชั่วโมงก็ต้องมีผู้นำ   บางคนเป็นผู้ริเริ่ม   บางคนเดินผ่านเข้าออกประตูห้องทำงานของผู้จัดการเพื่อยื่นข้อเรียกร้องของกรรมกร   คนเหล่านั้นได้รับเลือกจากกรรมกร    และการเลือกไม่ได้มีลักษณะที่ ”เป็นไปเอง”หรือบังเอิญ   กรรมกรจำเป็นต้องเลือกคนที่มีจิตสำนึกมากที่สุด    ไม่มีความกลัว   คนที่มีความมุ่งมั่นที่สุดไม่ว่าหญิงหรือชายในแผนกงานเพื่อเป็นตัวแทนของพวกเขา    คนเช่นว่านี้มีประวัติการต่อสู้มายาวนานไม่ใช่พึ่งจะเริ่มเมื่อวานนี้    เธอหรือเขาเป็นที่รู้จักของเพื่อนกรรมกรและรู้ดีว่าควรพูดถึงเรื่องอะไรนี่คือผู้นำโดยธรรมชาติของชนชั้นกรรมกรแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นตามกฎนี้เสมอไป    พวกเขาส่วนมากสังกัดองค์กรสหภาพแรงงาน หรือไม่ก็พรรคการเมืองปีกซ้าย   ในกรณีของรัสเซียพวกเขาส่วนใหญ่สังกัดพรรคบอลเชวิคแม้ว่ายังมีจำ  จำนวนไม่มากนักก้ตาม    

สมาชิกบอลเชวิคในช่วงเวลานี้มีแค่จำนวนร้อยในโรงงานหลักๆ    เช่นในโรงงานเก่าเลสเนอร์มีประมาณ 70-80 คน , 30 คน ในอู่ต่อเรือ รุสโซ–บอลติค และ อิซฮอร์สกี  และกลุ่มเล็กในโรงงานอื่นๆ  โรงงานปู ติลอฟที่มีกรรมกรจำนวน 26,000 คน แต่มีสมาชิกบอลเชวิคเพียง 150 คนเท่านั้น  นับว่าน้อยมากสำหรับการปฏิวัติที่ไม่ประนีประนอมทางชนชั้น      แน่นอน...สัดส่วนนี้ไม่รวมกับสมาชิกคนอื่นๆซึ่งเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งในเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์      โดยไม่รอการชี้นำจากพรรค,กรรมกรชาวบอลเชวิคในโรงงานและค่ายทหารได้ก้าวออกมารับภาระหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาดการประท้วงและหยุดงาน    การต่อสู้ทางการเมืองในอดีตเป็นต้นทุนในการสร้างบทบาทและส่งให้ของพวกเขาออกมาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องกรรม กรที่อยู่รายรอบตัวเขา

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่ากรรมกรชาวบอลเชวิคแต่ละคน    ส่วนมากได้รับการจัดตั้งและเป็นกองกำลังในโรง งานต่างๆ     เป็นชนชั้นที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติ,ในการจัดทำคำขวัญ ,สร้างรูปแบบการเคลื่อนไหวและการจัดตั้งโดยไม่ต้องคอยคำชี้แนะจากฝ่ายนำบอลเชวิค(ซึ่งล้าหลังภววิสัย..ผู้แปล)    พวกเขาศึกษาทฤษฎีมาไม่มากนักและส่วนใหญ่จะจดจำคำขวัญพื้นฐานของพรรคในการต่อสู้   เพื่อที่ดิน  สาธารณรัฐ และแปดชั่วโมงทำงาน   แต่มันคือความคิดทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับสัญชาติญานพื้นฐานของจิตใจที่ปฏิวัติ  ซึ่งเพียงพอสำหรับที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในสถานที่ประกอบการของพวกเขาและบนท้องถนนและกลายมาเป็นนักปลุกระดมของพรรค

บรรดาผู้นำท้องถิ่นเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการนำกรรมกรเข้าโค่นล้มระบอบซาร์, ไม่มากไปกว่านั้น    และถ้าจะให้ก้าวไปไกลกว่านั้นพวกเขาต้องได้รับการชี้นำที่ถูกต้องและชัดเจนจากพรรค   แต่ฝ่ายนำของบอลเชวิคในปีเตอร์สเบิร์กยังคงยึดมั่นอยู่กับคำขวัญเก่า”เผด็จการประชาธิปไตยของกรรมาชีพและชาวนา” ที่ไม่เพียงพอและล้าสมัย ,ไม่มีมุมมองหรือแนวคิดในการเข้าผนวกอำนาจโดยชนชั้นกรรกรเลย      แม้แต่พวกหัวรุนแรงส่วนมากก็ไม่ได้มองไกลไปกว่าการสถาปนาสาธารณรัฐของชนชั้นนายทุน   การโค่นระบอบซาร์   ได้สร้างความสับสนและไร้ทิศทาง   ดังนั้น, บทบาทการนำในการลุกขึ้นสู้ของเดือนกุมภาพันธ์จึงกลายเป็นมาตรการที่สำคัญของกรรมกรชาวบอลเชวิค   ฝ่ายนำของบอลเชวิคในเปโตรกราด  ได้สูญเสียความคิดริเริ่มซึ่งเป็นผลมาจากความลังเลของพวกเขา      เหมือนเช่นที่เลนินได้ย้ำอยู่เสมอว่ากรรมกรได้แสดงออกซึ่งลักษณะปฏิวัติที่ล้ำหน้ากว่าบรรดาพรรคปฏิวัติทั้งหลายเสียอีก เช่นเดียวกับในโรงงาน ค่ายทหาร “ผู้นำตามธรรมชาติ” ส่วนมากเป็นชาวบอลเชวิคซึ่งขณะนี้ได้กลับมาเป็นตัวของตัวเองแล้ว   เช่นเดียวกับอดีตคนงานของโรงงานปูติลอฟที่เคยเข้าร่วมกองทัพในช่วงสงคราม   หน่วยคุ้มกันที่มีลักษณะชี้ขาดอยู่ภายใต้อำนาจของชาวบอลเชวิค     วันเวลาที่ผ่านไปไม่ได้สูญเปล่าชาวบอลเชวิคที่เป็นกำลังหลักได้รับการฝึกฝนจากโรงเรียนการปฏิวัติในภาคปฏิบัติมาตั้งแต่เมื่อปี 1905 และตั้งแต่ 1912-14 แต่สำหรับมวลชนแล้วเป็นเรื่องที่แตกต่างออกไป

สงครามได้เปลี่ยนองค์ประกอบของโรงงานต่างๆไปอย่างสิ้นเชิง  การจะดึงความล้าหลังในอดีตออกจากมวลชนคนงานที่ไม่มีการจัดตั้ง    ความไร้ประสบการณ์ของคนงานระดับต่างๆเป็นเรื่องที่หนักมากสำหรับมวลชนจำนวนนับล้าน   ที่มากไปกว่านั้นประสบการณ์(ในการปฏิวัติ)เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง    มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์,อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีการต่อต้านขัดขืนอยู่บ้างแม้แต่ในสถานการณ์ปฏิวัติ      ด้วยเหตุผลเช่นว่านี้...มวลชนมักจะยึดติดกับองค์กรของพวกเขาอย่างไม่คำนึงถึงเหตุผลใดๆ   เขาจะคิดอย่างง่ายๆว่า    ทำไมจะต้องโละทิ้งเครื่องมือเก่าก่อนที่จะลงมือทำงานใหม่เล่า?   ความแตกต่างประการหนึ่งในรัสเซียในปี 1917 คือ     มวลชนอันไพศาลจะแยกพรรคการเมืองและสหภาพแรงงานออกจากกันอย่าง ชัดเจนนอกเหนือไปจากความคิดที่คลุมเครือของ ”สังคมประชาธิปไตย”    จริงอยู่กรรมกรที่ก้าวหน้าส่วน มากเป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิคในระยะก่อนสงคราม,อย่างน้อยก็เป็นกรรมกรที่ได้รับการจัดตั้งมาแล้ว   แต่มวลชนที่พึ่งจะมีความตื่นตัวต่อชีวิตทางการเมือง      ยังไม่สามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างปีกซ้ายหรือปีกขวาได้ในทันทีทันใด    พวกเขาไม่อาจตัดสินใจได้อย่างฉับพลันเกี่ยวกับเนื้อหารายละเอียดของนโยบาย    หากแต่เคลื่อนไหวต่อสู้เพราะปรารถนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง     พวกเขามีศักยภาพเพียง พอในการดำเนินการปฏิวัติ   แต่ไม่ได้ตระเตรียมในการรักษาอำนาจและปล่อยให้หลุดมือไป  การเคลื่อน ไหวของพวกเขาก้าวไปไกลเกินกว่าจิตสำนึก   มันจำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวที่เป็นจริง     และมันเป็นภาระอันหนักอึ้งสำหรับชาวบอลเชวิคที่จะต้องทำงานอย่างทรหดอดทนในการยกระดับจิตสำ นึกของมวลชนเพื่อจะนำไปสู่ระดับความต้องการในสถานการณ์ที่เป็นจริง    

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงแนวทางที่แตกต่างกันระหว่างบอลเชวิคและเมนเชวิค    แต่ในขณะนั้น,ความแตกต่างระหว่างพวกเขาดูเหมือนว่าจะไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่อย่างใด     ทั้งสองกลุ่มไม่ได้ปกป้องสาธารณรัฐประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน     ในกรณีอื่นๆมีการปลุกเร้าให้สามัคคีกันเพื่อบรรลุผลของการปฏิวัติ     กรรมกรฝ่ายเมนเชวิคถูกกวาดเข้าไปในกระแสคลื่นของการปฏิวัติ,สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบอลเชวิค    มโนคติของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มปฏิวัติต่างๆได้แพร่กระจายออกไปในเวลานั้น  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบอลเชวิค,เมนเชวิค, แม้กระทั่งกรรมกรของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติต่างมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยปราศจากปัญหาใดๆ     ในหลายๆเขต,ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มสังคม-ประชาธิปไตยได้ผนึกกำลังร่วมกันโดยเป็นไปเอง นี่เป็นสัจธรรมที่มีความสำคัญยิ่ง,มันแสดงออกถึงการยืนหยัดและความสามัคคีซึ่งมีอยู่ในตัวตนของชนชั้นกรรมกร   และนั่นย่อมหมายถึงองค์ประกอบของภาระหน้าที่ในการสร้างพรรคการเมืองที่ปฏิวัติ

แม้ว่า ในปี 1912–14 พรรคบอลเชวิคจะประสบความสำเร็จในการเข้าไปบริหารในองค์กรกรรมกรรัสเซียถึงสี่ในห้าส่วน   ซึ่งในระหว่างสงครามกลุ่มเมนเชวิคจะแสดงบทบาทที่ต่างออกไปมาก   แต่เมื่อถึงวันที่มีเรื่องร้ายในเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน, ทั้งสองกลุ่มที่แตกแยกกันก็กลับเข้ามาร่วมกันเป็นองค์กรเดียวในแทบทุกจังหวัดยกเว้นเปโตรกราดและมอสโคว์     ในความเป็นจริง,ในหลายๆเขตยังคงร่วมมือจนกระทั่งในการปฏิวัติเดือนตุลาคมภายใต้ร่มธงเดิมของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย(RSDLP)  ในเดือนตุลาคม 1917  ฝ่ายปฏิวัติและกลุ่มปีกซ้ายได้รับชัยชนะโดยเสียงข้างมากในสภาโซเวียตในการนำชนชั้นกรรมกรเข้าเผด็จอำนาจรัฐและได้รับชัยชนะในที่สุด  
-------------------------------------------------------------------------------

[1] ได้แก่กลุ่มนักสังคมประชาธิปไตยสากลที่มีแนวคิดคัดค้านการเข้าร่วมสงครามของประเทศทุนนิยมในยุโรป     มีเลนินเป็นผู้นำ
[2] อเล๊กซานดรา มิคาอิลลอฟนา คอลลอนไท  (Алекса́ндра Миха́йловна Коллонта́й)   (  31 มีนาคม 1872 –  9  มีนาคม 1952) เป็นนักปฏิวัติหญิงชาวรัสเซีย  แรกสุดเป็นสมาชิกกลุ่มเมนเชวิคหลังจากปี 1914 จึงเปลี่ยนมาเป็นบอลเชวิค  หลังการปฏิวัติรับตำแหน่งในคณะกรรมการกลางพรรค   ในปี 1923 ถูกแต่งตั้งให้ไปเป็นเอกอัครราชทูตโซเวียตประจำนอร์เวย์ 
[3] ฟริตซ์ พลาทเทน ( Fritz Platten 8 July 1883 – 22 April 1944)  สหายชาวสวิสเป็นผู้ติดต่อประสานกับรัฐบาลเยอรมันให้เลนินได้กลับรัสเซียเมื่อปี 1917  ใช้ตนเองกำบังกระสุนปืนให้เลนินจากการลอบสังหาร     เสียชีวิตจากการกวาดล้างใหญ่(The great purge)ของสตาลิน
[4] กริกอรี เยฟิโมวิช ราสปูติน  (  Григорий Ефимович Распутин;  ) นักบวชชาวรัสเซียผู้มีพลังจิตที่เข้มแข็งเป็นที่ปรึกษา ครอบครัวโรมานอฟของพระเจ้าซาร์ 
[5] กลุ่มอันธพาลการเมืองขวาจัดที่ใช้ความรุนแรงต่อต้านพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในรัสเซียโดยเฉพาะพรรคบอลเชวิค
[6] มิคาอิล  วลาดิมีโรวิช  รอดเซียนโก   ( Михаи́л Влади́мирович Родзя́нко ) นักการเมืองชาวรัสเซีย/ยูเครน     หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค อ๊อคโทบริสต์ (Octobrist)  เป็นประธานสภาแห่งชาติดูมาที่ 4 จนถึงปี 1917

No comments:

Post a Comment