Monday, April 6, 2015

เลนิน บนเส้นทางปฏิวัติ (10)

14. สงครามปล้นชิงของจักรพรรดิ์นิยม

9 เมษายน 1917 เลนินและครุฟสกายาได้พบกับบรรดาเพื่อนผู้ลี้ภัยที่กรุงเบิร์น   กลุ่มผู้ลี้ภัยจำนวน 30 คนถูกนำตัวไปขึ้นรถไฟจากเบิร์นไปยังซูริค    จากที่นั่นก็เดินทางไปคอยที่เมือง กอทมาดิงเก็น เพื่อโดยสารรถไฟขบวนพิเศษที่จัดไว้ให้    ข้ามเข้าพรมแดนเยอรมันที่ ซิงเงน โดยมีนายทหารเยอรมันสองนายนั่งคุ้มกันไปด้วย    กลุ่มผู้ลี้ภัยเดินทางผ่านเมืองฟรังค์เฝิร์ทและเบอร์ลินไปยัง ซาสซนิทซ์  ลงเรือ ข้ามฟากไปยัง เทรลเลอบอร์ก  เพื่อต่อรถไฟที่กรุงสต๊อคโฮม สวีเดน กลับรัสเซีย     ก่อนเที่ยงคืนเล็ก น้อยขบวนรถของเลนินก็ถึงเปโตรกราด    ที่นั่นเขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยเพลง  ลา มาร์เซยเญ[1]ท่ามกลางคลื่นมหาชนมีทั้งคนงาน ทหารบก ทหารเรือ  โบกสะบัดธงแดงเป็นระลอก   เป็นพิธีต้อนรับการกลับบ้านของนักปฎิวัติผู้ลี้ภัยการเมืองชาวรัสเซีย     ชไคเซ ประธานสภาโซเวียตแห่งเปโตรกราดสังกัดเมนเชวิคจัดพิธีต้อนรับ,     เมื่อก้าวลงจากรถไฟ   เลนินเดินไปหามวลชนที่เฝ้ารออยู่และเริ่มต้นปราศรัยถึงความสำคัญของการปฏิวัติรัสเซียที่จะสร้างผลสะเทือนในทางสากล

“สงครามปล้นชิงของจักรพรรดินิยมเริ่มกลายเป็นสงครามกลางเมืองไปทั่วยุโรป    รุ่งอรุณของการปฏิวัติสังคมนิยมได้เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก   ในเยอรมันเริ่มเข้มข้นขึ้น  ทุนนิยมทั้งมวลในยุโรปจะเผชิญกับความเสื่อมสลาย....พี่น้องทหารและสหายทั้งหลายเราจะต้องสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยม....เราจะสู้ไปจนกว่าชัยชนะจะตกเป็นของชนชั้นกรรมาชีพอย่างสมบูรณ์   การปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลกจงเจริญ”  

เลนินได้เขียนนิพนธ์เดือนเมษายน(The April Theses)ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคบอลเชวิคบนขบวนรถไฟในขณะกลับจากสวิตเซอร์แลนด์       เนื้อหาสาระในนั้นเลนินเรียกร้องไม่ให้ชาวบอลเชวิคอ่อนข้อต่อแก่ชนชั้นนายทุนเหมือนที่นักสังคมนิยมรัสเซียทั้งหลายกระทำในการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์     ชาวบอลเชวิคจะต้องยืนหยัดผลักดันการปฏิวัติสังคมนิยมของชนชั้นกรรมกรและชาวนาจนให้เดินหน้าไปจนถึงที่สุด   ทั้งนี้เพราะ สภาพภววิสัยของรัสเซียในขณะนั้น(ปี 1905)ยังถือว่ายังเป็นเพียงขั้นตอนแรกของการปฏิวัติ      สำนึกทางชนชั้นและระบบการจัดตั้งของชนชั้นกรรมาชีพยังไม่เข้มแข็งพอ      ทำให้อำนาจต้องตกไปอยู่ในมือของชนชั้นนายทุน       ต่อไปในขั้นตอนที่สอง...ชนชั้นกรรมาชีพและชาวนาจนจะต้องยึดอำนาจให้กลับ มาอยู่ในมือของตน         เลนินได้ให้เหตุผลว่า การปฏิวัติสังคมนิยมจะบรรลุได้ก็ด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาลเฉพาะกาลโดยโซเวียตคนงานเท่านั้นโดย    
“ไม่สนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาล..ไม่เอาสาธารณรัฐที่ระบบรัฐสภาของนายทุน      ต้องเป็นสาธารณรัฐของโซเวียตกรรมกร ,ผู้ใช้แรงงานด้านเกษตร, กรรมและชาวนาทั่วประเทศจากบนสู่ล่าง”

เพื่อบรรลุภารกิจนี้     เขาเสนอว่าภาระเร่งด่วนของพรรคบอลเชวิคคือจะต้องใช้ความอุตสาหะวิริยะอย่างสูงในการรณณรงค์ให้ความรู้ท่ามกลางประชาชนรัสเซีย    เพื่อโน้มน้าวพวกเขาให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการได้อำนาจมาของสภาโซเวียตคนงาน

ด้วยความจริงที่ว่า    ตัวแทนของของพรรคบอลเชวิคมีไม่มากในคณะกรรมการบริหารสภาโซเวียตทั้งหมดและเป็นเสียงส่วนน้อย      ดังนั้นภาระหน้าที่ของพวกเขาคือจะต้องอธิบายอย่างเป็นระบบด้วยความอดทน  ยาวนานตราบเท่าที่รัฐบาลเฉพาะกาลยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนชั้นนายทุน       ยืนหยัดอธิบายถึงยุทธวิธีที่ผิดพลาดของพวกเขา      โดยเฉพาะอย่างยิ่งอธิบายถึงวิธีปรับการปฏิบัติให้เป็นไปตามความต้องการที่แท้จริงของมวลชน

นิพนธิ์บทนี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างจะจริงจังหนักแน่นกว่าเนื้อหาอื่นๆชนิดที่นักปฏิวัติผู้สนับสนุนเลนินเคยได้ ฟังมาก่อน    ก่อนหน้านี้นโยบายของบอลเชวิคแทบจะไม่แตกต่างอะไรกับของเมนเชวิค..ที่ว่ารัสเซียยังอยู่ในขั้นตอนของการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน   ยังไม่ใช่ขั้นตอนของสังคมนิยม   โจเซฟ สตาลิน และเลฟ คาเมเนฟ  ที่พึ่งจะกลับมาจากไซบีเรียหลังพ้นโทษเนรเทศในราวกลางเดือนมีนาคม   ทั้งสองเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในหนังสือพิมพ์ ”ปร๊าฟดา”ของพรรคบอลเชวิคที่รณณรค์สนับสนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาล    เมื่อเลนินเสนอบทนิพนธิ์ในที่ประชุมร่วมพรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตย  พวกเมนเชวิคโห่ฮาแสดงความไม่เห็นด้วย   บ๊อคดานอฟ เรียกข้อเสนอนี้ว่า “ความเพ้อฝันของคนบ้าแห่งบอลเชวิค”  คอลลอนไท  เป็นคนแรกที่สนับสนุนแนวทางในบทนิพนธิ์นี้

การนำเสนอ“นิพนธิ์เดือนเมษายน” ของเลนินต้องขอบคุณต่องานของเขาเกี่ยวกับทฤษฎีจักรพรรดินิยมที่เขียนขึ้นในระหว่างการลี้ภัย     จากที่ได้ศึกษาการเมืองและเศรษฐศาสตร์อย่างกว้างขวางทำให้เลนินมีทัศนะต่อการเมืองรัสเซียในมิติของความเป็นสากล   ในช่วงสงครามโลกครั้งแรกเลนินเชื่อว่า..แม้ทุนนิยมในรัสเซียจะล้าหลัง   แต่การปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียจะจุดประกายให้แก่การปฏิวัติในประเทศที่ก้าวหน้าในยุโรป    เอ.เจ.พี. เทเลอร์  กล่าวว่า 

“เลนินทำการปฏิวัติไม่ใช่เพื่อรัสเซียหากแต่เพื่อยุโรป   ท่านคาดการณ์ว่าการปฏิวัติของรัสเซียจะถูกบดบังลงเมื่อเกิดการปฏิวัติทางสากล      เลนินไม่ได้สร้างม่านเหล็กขึ้นมา...ในทางตรงกันข้ามมันถูกสร้างขึ้นจากการต่อต้านตัวท่าน...และจากพลังปฏิปักษ์ปฏิวัติของยุโรปซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นขบวนแถวของการปิดล้อมการปฏิวัติรัสเซีย”

ด้วยนโยบายในนิพนธิ์เดือนตุลาคมทำให้พรรคบอลเชวิคสลัดหลุดจากภาพลวงตาของรัฐบาลเฉพาะกาลและนโยบายสงครามของมัน    นิพนธ์เดือนเมษายนได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ปร๊าฟดา  และเลนินได้อ่านถึงสองครั้งในการประชุมตัวแทนสมัชชาโซเวียตคนงานและทหารทั่วประเทศเมื่อวันที่ 17 เมษายน 1917 (ปฏิทินใหม่)ในบทนิพนธ์ เลนินได้

- ประณามรัฐบาลชั่วคราวว่าเป็นรัฐบาลของชนชั้นนายทุนและเรียกร้องไม่ให้การสนับสนุน   ให้รัฐบาลออกมาชี้แจงเรื่องที่เคยสัญญาไว้ให้ชัดเจนไม่ใช่แค่การให้สัญญาแต่ปาก   เขายังประณามสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่าเป็นสงครามปล้นชิงของจักรพรรดินิยม   และวิจารณ์”ลัทธิปกป้องการปฏิวัติ” ของบรรดาพรรคสังคม-ประชาธิปไตยต่างประเทศ   และเรียกมันว่าลัทธิยอมจำนนของการปฏิวัติ
- ยืนยันว่ารัสเซียกำลังผ่านขั้นตอนแรกของการปฏิวัติ   ซึ่งเนื่องมาจากสำนึกทางชนชั้นและการจัดตั้งของชนชั้นกรรมาชีพยังมีไม่มากพอ โดยให้อำนาจตกไปอยู่ในมือของชนชั้นนายทุน   และการจะไปสู่ขั้นตอนต่อไปจะต้องให้อำนาจอยู่ในมือของชนชั้นกรรมาชีพและชาวนาจนเท่านั้น
 - พิจารณาว่าชาวบอลเชวิคยังเป็นส่วนข้างน้อยในสภาโซเวียต  ท่ามกลางกลุ่มชนชั้นนายทุนน้อยนักฉวยโอกาสจากพรรค คาเด็ท และพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ    องค์คณะกรรมการบริหาร(ชเคอิดเซ,เซเรตเตลี ฯลฯ ) สเต๊กลอฟ  ฯลฯ  ฯลฯ   ที่ยอมสยบต่ออิทธิพลของชนชั้นนายทุน   และขยายอิทธิพลของชนชั้นนายทุนน้อยในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ  

- ไม่เอาสาธารณรัฐแบบรัฐสภาซึ่งถือว่าเป็นการก้าวถอยหลัง    ต้องเป็นสาธารณรัฐโซเวียตที่เป็นตัวแทนของ กรรมกร คนงานภาคเกษตรกรรมและชาวนาจนทั่วทั้งประเทศจากบนสู่ล่าง   เรียกร้องให้ยกเลิกกำลังตำรวจ กองทัพ และระบบราชการ  เงินเดือนของชั้นสัญบัตร  เรียกร้องให้เน้นถึงความสำคัญของนโยบายด้านการเกษตรด้วยการยกระดับขึ้นเป็นสภาโซเวียตของผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตร       ยึดคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดและทำให้เป็นของชาติ  ที่ดินจะถูกจัดสรรให้แก่สภาโซเวียตของผู้ใช้แรงงานในภาคเกษตร    โดยกระจายการจัดการไปสู่ สภาโซเวียตของชาวนาจน  จัดรูปแบบฟาร์มตัวอย่างขึ้นในที่ดินขนาดใหญ่แต่ละผืน (ในขนาดตั้งแต่ 100-300 เดสเซียติน โดยให้ขึ้นอยู่กับสภาพและดุลยพินิจของแต่ละท้องถิ่น) ภายใต้การควบคุมของสภาโซเวียตเกษตรกร
-- เสนอให้มีการควบรวมธนาคารทั้งหมดในประเทศเป็นธนาคารแห่งชาติเพียงแห่งเดียวและให้อำนาจแก่สมัชชาโซเวียตเป็นผู้ควบคุม
 - แถลงถึง   “ภาระเร่งด่วนของเรายังไม่ใช่การเข้าสู่สังคมนิยมเพียงแต่นำผลิตผลของสังคมแบ่งสรรผลผลิตเหล่านี้กลับคืนไปสู่สังคมอีกครั้งภายใต้การควบคุมดูแลของสภาโซเวียตของคนงาน”
- เรียกประชุมพรรคในทันทีเพื่อกำหนดภาระหน้าที่   แก้ไขนโยบายพรรคที่ล้าสมัย  หลักๆได้แก่
  (1)  ว่าด้วยปัญหาจักรพรรดินิยมและสงครามจักรพรรดินิยม
 (2)  ว่าด้วยทัศนะต่อรัฐและเรียกร้องรูปแบบรัฐแบบคอมมูน (หมายถึงรัฐที่ใช้คอมมูนปารีสเป็นแม่แบบ..      ผู้แปล)
  (3)  แก้ไขปรับปรุงนโยบายที่ล้าหลังบางประการและการเปลี่ยนชื่อพรรค
เลนินได้เขียนไว้ว่า  ”เนื่องจากผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตย” ส่วนใหญ่ในโลกได้ละทิ้งและทรยศต่อหลักการสังคมนิยมไปแล้ว   (ได้แก่บรรดากลุ่มนิยมเค้าทสกี้ที่โลเล)    เราต้องเรียกพวกเราว่าพรรคคอมมิวนิสต์”  การเปลี่ยนชื่อจะเป็นการแยกบอลเชวิคออกจากพวกสังคมประชาธิปไตยของยุโรปที่สนับสนุนชาติของตนเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่1    เลนินได้พัฒนาจุดเด่นนี้จากจุลสารของเขาเรื่อง “สังคมนิยมหรือสงคราม”   เมื่อแรกที่เขาเรียกพวกสังคมประชาธิปไตยผู้สนับสนุนสงครามว่า “นักสังคมคลั่งชาติ”  เสนอให้ก่อตั้ง ” องค์กรการปฏิวัติสากล” เพื่อต่อต้านนักสังคมคลั่งชาติ และต่อต้านศูนย์กลางของสากลที่ 2 ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็น สากลที่ 3 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1919   (บทแปลทั้งหมดของนิพนธ์นี้อยู่ในภาคผนวก)

ภาพวาดเลนิน หน้าสถาบัน สมอนึย โดย อิสซาค บรอดสกี

15. การปฏิวัติเดือนตุลาคม
เดือนกรกฎาคม....คนงานและทหารได้เดินขบวนสำแดงกำลังขึ้นในเปโตรกราดด้วยความไม่พอใจที่ขึ้นถึงขีดสุดต่อระบอบการปกครองของรัฐบาลชั่วคราว    รัฐบาลได้ประณามว่าเลนินและพวกบอลเชวิคอยู่เบื้อง หลังเหตุการณ์ครั้งนี้      อเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี   กริกอรี  อเล็กซินสกี  และปรปักษ์คนอื่นๆได้กล่าวหา  ว่าเลนินเป็นสายลับของจักรวรรดิเยอรมันเป็นผู้ยั่วยุให้เกิดการจลาจล   ลีออน  ทร๊อตสกี  ได้ออกมาปก ป้อง    บรรยากาศที่อึมครึมอยู่นั้นถูกทำให้เลวร้ายลงไปอีก    เมื่อเลนินและซิโนเวียฟถูกขว้างปาด้วยของโสโครก    เลนินที่ได้ต่อสู้ปฏิวัติมาเป็นเวลาร่วมสามสิบปีกล่าวว่า
 “ข้าพเจ้าได้ต่อสู้กับการกดขี่ประชาชนมาร่วมยี่สิบปี    คงไม่อาจชื่นชมต่อระบอบทหารที่น่ารังเกียจของเยอรมันได้     ข้าพเจ้าถูกศาลเยอรมันไต่สวนและตัดสินจำคุกนานแปดเดือนในกรณีต่อต้านคัดค้านระบอบทหารของเยอรมันเรื่องนี้ใครๆก็รู้       คงไม่มีใครในที่ประชุมนี้จะกล่าวหาว่าพวกเราถูกเยอรมันจ้างมา”
ภายหลังกรณีกรกฎาคม....ในหนังสือประวัติพรรคฯ ได้บรรยายไว้ดังนี้

“......สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน   สภาพการณ์ที่อำนาจสองขั้วที่ดำรงอยู้ได้สิ้นสุดลง   โซเวียตที่นำโดยพรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติและกลุ่มเมนเชวิคไม่ต้องการกุมอำนาจรัฐไว้ทั้งหมดทำให้โซเวียตไม่มีอำนาจอะไรอีก     อำนาจรัฐไปรวมศูนย์อยู่ในมือของรัฐบาลเฉพาะกาลของชนชั้นนายทุน...”     
รัฐบาลเฉพาะกาลยังจับกุมสมาชิกพรรคบอลเชวิคและสั่งให้เป็นพรรคที่ผิดกฎหมาย    ทำลายองค์กรจัดตั้งของพรรคหวังกวาดล้างให้สิ้นซาก       เป็นเหตุให้เลนินต้องหนีไปลี้ภัยที่ฟินแลนด์อย่างเร่งด่วน อีกครั้งหนึ่ง     ความปรารถนาที่จะพัฒนาการปฎิวัติให้เป็นไปอย่างสันติจึงไม่มีอีกต่อไป    เลนินตัดสินใจเตรียมการเพื่อเอาชนะต่อพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติ     รัฐบาลเฉพาะกาลจะต้องถูกโค่นลงไปด้วยการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ      ในช่วงนั้นเขาได้ตีพิมพ์บทนิพนธิ์เรื่อง ”รัฐและการปฏิวัติ” ชูประเด็นรัฐบาลที่จัดตั้งโดยโซเวียต (ซึ่งเลือกตั้งมาจากสภาของคนงาน  ทหาร  ชาวนา)เป็นองค์กรหลัก  คำขวัญ  “อำนาจทั้งปวงเป็นของโซเวียต”   นิพนธิ์เดือนเมษายนของเลนินเริ่มได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น,มากกว่าแนวทางของรัฐบาลเฉพาะกาลที่หมดคุณค่าลงไปในสายตาของสาธารณะชน

นายพล  ลาร์ฟ  คอร์นิลอฟ

ปลายเดือนสิงหาคมขณะที่ลี้ภัยในฟินแลนด์   นายพล ลาร์ฟ คอร์นิลอฟ  ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพรัสเซียได้เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ยกเลิกคณะกรรมการต่างๆของโซเวียตเสีย     บรรดานายทุนต่างพากันเข้าพบเสนอให้เงินเพื่อการสนับสนุน

วันที่ 25 สิงหาคม นายพล คอร์นิลอฟ  สั่งให้กรมทหารม้าที่ 3 ภายใต้การบัญชาการของนายพล ครีมอฟเพื่อเตรียมการ ”พิทักษ์ปิตุภูมิ”(กู้ชาติ)  คณะกรรมการกลางพรรคบอลเชวิคได้ระดมทั้งกรรมกรและทหารขึ้นเป็นกองกำลังในการเผชิญหน้ากับกบฏคอร์นิลอฟและต่อต้านพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติ  
บรรดากรรมกรต่างติดอาวุธเตรียมต่อต้านอย่างเร่งด่วน    หน่วยพิทักษ์แดงหรือเรดการ์ดเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากมายในระยะนั้น    บรรดาสหภาพแรงงานต่างเคลื่อนไหวระดมสมาชิก   กองกำลังปฏิวัติในเปโตรกราดพร้อมแล้วที่จะทำสงคราม    สนามเพลาะถูกขุดขึ้นรอบๆเมือง    ลวดหนามถูกขึงเพื่อสร้างแนวกีดขวาง   ทางรถไฟที่จะเข้าสู่ตัวเมืองถูกรื้อทิ้ง     ทหารเรือนับพันๆนายจากคอนสตรัดท์เข้ามาสมทบเพื่อช่วยป้องกันเมือง      ตัวแทนโซเวียตถูกส่งไปยังกองพลทหารพรานภูเขาของฝ่ายกบฏที่เป็นหน่วยหน้าในการเข้าโจมตีเปโตรกราด       เมื่อตัวแทนเหล่านั้นอธิบายจุดประสงค์ที่แท้จริงของคอร์นิลอฟให้หน่วยทหารพรานภูเขาชาวคอสแซกฟัง    ทหารเหล่านั้นก็กลับใจไม่ยอมรุกหน้าต่อไปอีก     นักปลุกระดมถูกส่งไปยังกำลังหน่วยอื่นๆของคอร์นิลอฟในที่ๆเสี่ยงอันตราย        คณะกรรมการปฏิวัติได้ตั้งกอง บัญชาการขึ้นเพื่อสู้กับคอร์นิลอฟ

ในวันเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้    พวกผู้นำของพรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติและเมนเชวิค ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็มี นายกรัฐมนตรี  เคเรนสกี ร่วมอยู่ด้วยต่างหันมาขอความคุ้มครองจากบอลเชวิค     เพราะพวกเขาส่วนมากเชื่อมั่นว่าในนครหลวงนี้มีแต่กำลังของบอลเชวิคเท่านั้นที่พอจะต่อต้านคอร์นิลอฟได้   ในขณะที่มวลชนเคลื่อนไหวบดขยี้กบฏคอร์นิลอฟ      ชาวบอลเชวิคก็ไม่ได้หยุดการคัดค้านรัฐบาลชั่วคราวของเคเรนสกี   พวกเขาเปิดโปงรัฐบาลเคเรนสกี  พวกเมนเชวิค และพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ  ต่อหน้ามวลชน       ชี้ให้เห็นว่านโยบายของพวกเขาทั้งหมดล้วนแต่มีส่วนช่วยต่อแผนการต่อต้านการปฏิวัติของคอร์นิลอฟทั้งสิ้น 

มาตรการทั้งหลายส่งผลให้กบฏคอร์นิลอฟต้องพ่ายแพ้ไป    นายพลครีมอฟฆ่าตัวตาย  คอร์นิลอฟและผู้สมรู้ร่วมคิดคนอื่นๆเช่น เดนิกิน และลูคอมสกี ถูกจับกุม (ภายหลังเคเรนสกี้ได้ปล่อยตัวไป)     ความพ่ายแพ้ของกบฏคอร์นิลอฟแสดงออกอย่างชัดแจ้งถึงความเข้มแข็งของขบวนการปฏิวัติและปฏิปักษ์ปฏิวัติ    มันแสดงให้เห็นว่าฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นบรรดานายพลทั้งหลาย  พรรครัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย  ตลอดจนพวกเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติที่หลงเข้าไปติดอยู่ในร่างแหของชนชั้นนายทุนที่กำลังตกอยู่ในความมืดมน       มันแสดงให้เห็นอีกว่าความนิยมเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติ ในหมู่มวลชนได้หดหายไปทุกขณะ      มวลชนไม่อาจอดทนกับนโยบายทำสงครามและความวุ่นวายหายนะทางเศรษฐกิจที่มีสาเหตุมาจากการทำสงครามที่ไม่รู้จักจบสิ้น    จากการพิชิตกบฎคอร์นิ
ลอฟทำให้พรรคบอลเชวิคเติบใหญ่ขึ้นจนมีลักษณะชี้ขาดในการปฏิวัติและสามารถทลายความพยายามใดๆที่พวกปฏิปักษ์ปฏิวัติจะสกัดกั้นการเติบใหญ่นี้ลงไปได้      แม้ว่าพรรคฯยังไม่มีอำนาจในการปกครองแต่ระหว่างเหตุการณ์กบฏคอร์นิลอฟ   พรรคได้แสดงถึงพลังที่แท้จริงในการบริหารจัดการเรื่องราวต่างๆได้เป็นอย่างดี       บรรดากรรมกรและทหารต่างยอมรับคำชี้แนะของพรรคไปปฏิบัติการอย่างไม่ลังเล
ท้ายที่สุด....ความพ่ายแพ้ของกบฏคอร์นิลอฟยังแสดงให้เห็นว่า    บรรดาโซเวียตที่ดูเหมือนว่าจะอ่อนล้าลงไปนั้นความจริงแล้วมันแฝงเร้นไว้ด้วยพลังที่ปฏิวัติอยู่อย่างมากมายมหาศาล    จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าโซเวียตและคณะกรรมการโซเวียตนั้นคือพลังหลักในการต่อต้านกองทหารของคอร์นิลอฟและตีมันให้แตกพ่ายไป

การต่อสู้กับคอร์นิลอฟ ทำให้โซเวียตแห่งคนงานและทหารและได้รับการปลดปล่อยจากแนวทางการเมืองที่ประนีประนอม   เปิดทางไปสู่การต่อสู้ปฏิวัติและหันกลับมาสนับสนุนพรรคบอลเชวิค
-  อิทธิพลของบอลเชวิคในสภาโซเวียตเข้มแข็งขึ้นมากกว่าเดิม
-  อิทธิพลของพรรคได้แผ่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วในท้องถิ่นชนบท
กบฏคอร์นิลอฟ  ได้ทำให้มวลชนชาวนาอันไพศาลได้รับรู้ว่า  ถ้าเจ้าที่ดินและสมุนของมันไม่ถูกบอลเชวิคและโซเวียตโค่นล้มลงไปแล้ว,ในอนาคตพวกนั้นจะต้องโจมตีมวลชนชาวนาอีกอย่างแน่นอน     มวลชนชาวนาจน ต่างเริ่มเข้ามาใกล้ชิดกับชาวบอลเชวิคมากขึ้น    ชาวนากลางผู้โลเลที่เคยหน่วงรั้งพัฒนาการของการปฏิวัติในช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม 1917    แต่หลังจากที่คอร์นิลอฟพ่ายแพ้ไปแล้วพวกเขาก็เริ่มแกว่งเข้าหาพรรคบอลเชวิค,หันมาร่วมมือกับชาวนาจน     ชาวนาเริ่มเกิดสำนึกว่ามีแต่พรรคบอลเชวิคเท่านั้นที่จะนำพวกเขาให้หลุดพ้นจากสงคราม   มีแต่พรรคนี้เท่านั้นที่จะมอบที่ดินคืนให้แก่พวกเขาได้

จัดตั้งรัฐบาล :   เดือนกันยายน 1917 เลนินได้ลงบทความชี้แจงในหน้าหนังสือพิมพ์ต่อประเด็นที่ว่า   การพัฒนาของการปฏิวัติอย่างสันตินั้นโดยทั่วไปแล้วเป็นเพียงลมปาก     ไม่เคยเกิดขึ้นจริงและยากลำ บาก....พัฒนาการของการปฏิวัติโดยสันติจะมีความเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อต้องโอนอำนาจทั้งหมดให้แก่โซเวียตเท่านั้น    แต่การต่อสู้ของพรรคในโซเวียตก็ย่อมดำเนินต่อไปอย่างสันติถ้าโซเวียตนั้นๆมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง      เดือนตุลาคม....เลนินกลับมาจากการลี้ภัยในฟินแลนด์ได้ใช้สถาบันสมอลนึย(Смольный[2]), (สถาบันศึกษาของเยาวชนหญิงที่มาจากครอบครัวผู้ดี..ผู้แปล)เป็นกองบัญชาการปฏิวัติ     เขาได้ชี้นำและโค่นรัฐบาลชั่วคราวลงในวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 1917   วันต่อมาก็เข้าจู่โจมยึดพระราชวังฤดูหนาว  เคเรนสกียอมจำนน  พรรคบอลเชวิคจึงได้สถาปนารัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นในรัสเซีย

การปฏิวัติเดือนธันวาคมนั้นค่อนข้างจะเป็นไปอย่างสันติ      ไม่มีการต่อต้านจากกองกำลังป้องกันนครหลวง     เมืองจึงตกอยู่ในการควบคุมของกองกำลังปฏิวัติซึ่งเป็นผู้นำที่แท้จริง   มีกำลังทหารเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังทำการคุ้มครองรัฐบาลชั่วคราวอยู่ในพระราชวังฤดูหนาว     ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังดำ เนินชีวิตประจำวันกันอย่างปกติในขณะที่รัฐบาลชั่วคราวกำลังจะถูกโค่น     เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าอำนาจกำลังเปลี่ยนผ่านไปยังโซเวียตอย่างสันติ   ในตอนเย็นมีการประชุมสมัชชาโซเวียตครั้งที่สองซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยสมาชิกบอลเชวิค  และกลุ่มสังคมนิยม-ปฏิวัติปีกซ้ายขึ้นที่ “สมอลนึย” ในเปโตรกราด    เมื่อมาร์ตอฟปีกซ้ายเมนเชวิคได้เสนอว่ารัฐบาลโซเวียตควรประกอบด้วยพรรคการเมืองทุกพรรค    ลูนาชาร์สกี้ ชาวบอลเชวิคได้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้     ตัวแทนของบอลเชวิคลงคะแนนสนับสนุนลูนาชาร์สกี้อย่างเป็นเอกฉันท์
อย่างไรก็ตาม.... พรรคสังคมนิยมปฏิวัติรัสเซียเห็นด้วยกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจไปยังโซเวียต    เมื่อถึงวาระเกี่ยวกับการโค่นล้มรัฐบาลชั่วคราว    พวกปีกขวาของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติและเมนเชวิคได้ประท้วง ด้วยการเดินออกจากที่ประชุม     เวลาเย็นของวันต่อมา เลนินได้เข้าร่วมประชุมสภาโซเวียตอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกตั้งแต่เหตุการณ์เดือนกรกฎาคม(July Days)   จอห์น  รีด  นักข่าวชาวอเมริกันกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า 

”ชายผู้ที่ปรากฏตัวขึ้นเมื่อเวลา 20.40 น.ได้รับการต้อนรับด้วยเสียงโห่ร้องอย่างกึกก้อง  รูปร่างกำยำสันทัด    ศีรษะใหญ่ล้านโหนกตั้งตรงอยู่บนไหล่   นัยน์ตาเล็ก  จมูกใหญ่  ปากกว้าง  คางที่ค่อนข้างใหญ่พึ่งจะผ่านการโกนหนวดมาหมาดๆ   เคราที่สั้น – แข็ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในอดีตและปัจจุบัน   สวมเสื้อผ้าปอนๆ  กางเกงดูเหมือนว่าจะยาวไปหน่อยสำหรับเขา...ดูแล้วไม่น่าประ ทับใจแต่อย่างใด....ว่าเขาจะกลายมาเป็นขวัญใจที่มวลชนทั้งรักและเคารพ   ซึ่งผู้นำน้อยคนนักในประวัติศาสตร์พึงจะได้รับ   เป็นผู้นำที่ไม่เหมือนใคร   เฉลียวฉลาด  ไม่เสแสร้ง  ไม่ค่อยมีอา รมณ์ขัน  ไม่ประนีประนอมและตรงไปตรงมา   ไม่สร้างภาพ    แต่มีพลังในการอธิบายเรื่องที่ยากให้เป็นเรื่องง่าย    ประกอบไปด้วยความหลักแหลมในการวิเคราะห์สถานการณ์ได้ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม    และกล้าที่จะแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ”

รีดยังกล่าวต่อไปว่า    เลนินคอยจนเสียงปรบมือโห่ร้องบางเบาลงก่อนที่จะประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า   “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเราจะดำเนินการสร้างระเบียบของสังคมนิยม”  เลนินได้เสนอนโยบายสันติภาพต่อสมัชชา  เรียกร้องประชาชนและประเทศคู่สงครามให้หันหน้ามาเจรจากันในเรื่องสันติภาพและประชาธิป ไตย     พร้อมกับเสนอนโยบายการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของบรรดาขุนนาง  เจ้าที่ดิน   ที่ดินในการถือครองของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  และของวัดให้แก่โซเวียตชาวนา      ที่ประชุมสมัชชาได้ผ่านนโยบายสันติภาพ    นโยบายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยไม่มีเสียงคัดค้าน
หลังจากที่ได้ลงมติรับรองนโยบายหลักของบอลเชวิคแล้ว  สภาโซเวียตยังได้รับเลือกชาวบอลเชวิคเข้าไปเป็นคณะกรรมการสภาประชาชนเป็นเสียงส่วนใหญ่อีกด้วย   พรรคบอลเชวิคเสนอตำแหน่งคณะกรรม การให้แก่กลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติปีกซ้ายซึ่งครั้งแรกได้ปฏิเสธ    แต่ก็มารับในภายหลังเป็นคณะกรรมการผสมกับพรรคบอลเชวิค      เลนินได้เสนอให้ทรอตสกี้ดำรงตำแหน่งประธานสภาโซเวียตซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาล    แต่ทรอตสกี้ปฏิเสธเนื่องจากมีเชื้อสายยิวซึ่งอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นได้     แต่ยอมรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศแทน       ด้วยเหตุนี้เลนินจึงได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลรัสเซีย

ทรอตสกีได้ประกาศถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการกลางซึ่งบอลเชวิคเป็นเสียงส่วนใหญ่    แต่ได้สำ รองตำแหน่งไว้ให้ตัวแทนจากพรรคอื่นๆด้วยซึ่งได้แก่พรรคสังคมนิยมปฏิวัติปีกซ้ายและพรรคเมนเชวิค   ทรอตสกี้ได้สรุปการประชุมว่า  “เราขอต้อนรับรัฐบาลใหม่จากทุกกลุ่มทุกพรรคพรรคที่ยอมรับนโยบายของเรา”      

เลนินได้ประกาศเมื่อปี 1920  ว่าจะทำให้รัสเซียเป็นประเทศที่ทันสมัยภายในศตวรรษที่ยี่สิบด้วย”ระบอบ    คอมมิวนิสต์คือโซเวียตบวกกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า .....เราต้องแสดงให้บรรดาชาวนาเห็นว่าการจัดการระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี่ชั้นสูงบนรากฐานของการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า ,ตระ   เตรียมการเชื่อมต่อระหว่างเมืองกับชนบท     เพื่อให้ความแตกต่างระหว่างชีวิตความเป็นอยู่ของเมืองและชนบทหมดสิ้นไป      จะยกระดับวัฒนธรรมในชนบทที่ถูกครอบงำมานาน  

เราจะเอาชนะความล้าหลัง   ความยากจน   และความป่าเถื่อน    เพื่อประชาชนที่ถูกละเลยทอดทิ้งไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในซอกมุมใดในแผ่นดิน “ 

นอกจากนี้แล้วภาระจำเป็นอย่างแรกสุดของรัฐบาลบอลเชวิคคือการถอนตัวออกจากสงครามโลกในทันทีโดยทำความตกลงกับจักรวรรดิ์เยอรมันและกลุ่มอำนาจกลาง( ออสเตรีย-ฮังการี)   เพราะเคยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนรัสเซียก่อนหน้าการปฏิวัติ    ในขณะที่ศัตรูทางการเมืองของเลนินอ้างว่าการตัดสิน ใจครั้งนี้ได้รับการอุปถัมภ์จากที่ปรึกษาการต่างประเทศของจักรพรรดิ วิลเฮล์ม ที่สองแห่งเยอรมัน ให้เล        นินดำเนินการถอนตัวออกจากสงครามเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่เยอรมันเคยช่วยเหลือจัดขบวนรถไฟให้เลนินโดยสารผ่านแดนเยอรมันในคราวที่กลับมายังเปโตรกราดเพื่อนำการปฏิวัติ    

แต่หลังจากความพ่ายแพ้ของกองทัพรัฐบาลชั่วคราวจากการรุกกลับของเยอรมันในฤดูร้อน(แม้บอลเซวิคจะได้จัดตั้งรัฐบาลจากการปฏิวัติ  แต่กองทัพรัสเซียที่เผชิญศึกในแนวรบยังอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลที่ภักดีต่อรัฐบาลชั่วคราวอยู่...ผู้แปล)  ทำให้แนวทางเจรจาสงบศึกของเลนินมีน้ำหนักมากขึ้น      ขณะเผชิญหน้ากับจักพรรดินิยมเยอรมันที่กำลังได้เปรียบและรุกมาทางตะวันออก   

เลนินเสนอให้รัสเซียต้องถอนตัวออกจากสงครามของพวกยุโรปตะวันตกด้วยเหตุผลที่ว่าหากทำสงครามต่อไปจะเป็นผลเสียต่อการรักษาอำนาจรัฐโซเวียตที่ยังไม่มีความมั่นคงนัก    รัฐบาลโซเวียตยังไม่มีกำลังทหารอาชีพที่แท้จริงมีแต่กองกำลังอาสา สมัครและที่สำคัญศัตรูภายในยังดำรงอยู่       หากต้องการจะให้อำนาจรัฐโซเวียตสมบูรณ์ขึ้นต้องยุติสง ครามในทันที      ทำให้ข้อเสนอของบอลเชวิคบางคนที่สนับสนุนให้ทำสงครามต่อไปเพื่อเป็นการปูทางสร้างเงื่อนไขให้แก่การปฏิวัติในเยอรมันต้องตกไป

ก่อนการประชุมสมัชชา ได้มีการประชุมย่อยเกี่ยวกับปัญหาสัญญาสันติภาพที่เลนินเข้าร่วมด้วย   หลัง จากได้ฟังรายงานสถานการณ์สงครามแล้วเขาได้ตั้งคำถามต่อที่ประชุมสามข้อ    

ข้อแรก.....คือมีเหตุผลใดที่แน่ใจได้ว่าเยอรมันจะไม่โจมตีกองกำลังของรัสเซีย 

สอง...... ในกรณีที่เยอรมันรุกคืบเข้ามาอีก  กองทัพของรัสเซียจะสามารถถอยโดยเคลื่อนย้ายยุทธสัมภาระกลับมาป้องกันแนวหลังได้ทันหรือไม่?    

สาม...... กองทัพรัสเซียสามารถต้านการรุกของกองทัพเยอรมันได้หรือไม่?    

เสียงส่วนใหญ่เชื่อว่าเยอรมันต้องทำการโจมตีอย่างแน่นอน    กองทัพรัสเซียคงไม่สามารถต้านทานการรุกของเยอรมันได้      เรื่องการขนทหาร ยุทธสัมภาระต่างๆเช่นกระสุนดินดำ ปืนใหญ่ และยุทโธปกรณ์ต่างๆกลับมายังแนวหลังนั้นคงเป็นไปได้ยาก     เลนินจึงสรุปว่าถ้าเช่นนั้นเราพร้อมที่จะรบหรือยัง?  ถ้ายังไม่พร้อม    ก็มีทางเดียวคือควรทำสัญญาสงบศึกกับเยอรมันก่อนเพื่อจะได้หยุดพักหายใจ     ไม่ควรทำสงครามต่อไปทั้งๆที่รู้ล่วงหน้าแล้วว่ารัสเซียจะถูกบดขยี้

แต่ในการประชุมสมัชชาวันที่ 30 ธันวาคมเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการกลางและสมัชชาต่างก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเลนิน     กลุ่มที่ต้องการทำสงครามได้เสนอคำขวัญในการโฆษณาออกมาอย่างชัด เจนว่า   “ปล่อยให้อำนาจโซเวียตตายไปเสียดีกว่าที่จะทำสัญญาสันติภาพที่อัปยศ”  โดยไม่คำนึงถึงดุลกำลัง......เลนินแพ้มติ     

ในตอนแรกรัฐบาลโซเวียตได้ยื่นเจตน์จำนงถึงตัวแทนฝ่ายสัมพันธมิตรในรัสเซียอันได้แก่   อังกฤษ ฝรั่งเศส  แต่ทั้งสองประเทศไม่ยอมรับข้อเสนอ      ดังนั้นรัสเซียจึงเสนอแผนการเจรจาสันติภาพกับเยอรมัน  ออสเตรีย-ฮังการรี แทน     เยอรมันยอมรับเพราะหากสงบศึกกับรัสเซียแล้วจะสามารถเผชิญ หน้ากับอังกฤษ-ฝรั่งเศสได้อย่างไม่ต้องกังวลกับแนวหลัง      เมื่อได้รับคำตอบจากกองบัญชาการเยอรมันแล้ว      รัสเซียจึงแจ้งให้ทางฝ่ายพันธมิตร(อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอเมริกา) ทราบเพื่อขอความเห็นว่าพวกเขาเห็นด้วยหรือไม่?  แต่ไม่มีคำตอบรับใดๆ        ดังนั้นจึงตัดสินใจเจรจาสงบศึกกับเยอรมันตามลำพัง     การเจรจาถูกกำหนดขึ้นที่เมืองเบรส-ลิตอฟสค์   ฝ่ายเยอรมันยอมรับข้อเรียกร้องของรัฐบาลโซเวียตที่เสนอสันติภาพบนพื้นฐานของการไม่ผนวกดินแดนที่ต่างฝ่ายต่างยึดครองไว้    แต่เยอรมันมีข้อแม้ว่าประเทศคู่สงครามทั้งหมดต้องเข้าร่วมวงเจรจาด้วย    การเจรจาจึงประสบความล้มเหลวเพราะสัมพันธมิตรไม่ยอมเข้าร่วม

จาก 30 พฤศจิกายน 1917  จนถึงเดือนมกราคม 1918 จอฟเฟ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของโซเวียตที่ถูกส่งไปเจรจากับเยอรมันที่เมือง เบรสท์-ลิตอฟสค์  จบลงด้วยความล้มเหลว  วันที่ 22 ธันวาคม 1917  จอฟเฟ ได้เสนอเงื่อนไขของบอลเชวิคก่อนจะมีการลงนามเซ็นสัญญาสัติภาพดังนี้
- ต้องไม่มีการผนวกดินแดนที่ยึดได้ในสงคราม
- ฟื้นฟูเอกราชของบรรดาชาติต่างๆที่สูญเสียไปในระหว่างสงคราม
- จัดให้บรรดาชาติที่เป็นอิสระก่อนสงครามได้ลงประชามติในความเป็นเอกราชของตน
- ให้อิสระในการจัดการวัฒนธรรมของตนเองในภูมิภาคที่มีหลากหลายวัฒนธรรม
- ไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย,การสูญเสียส่วนบุคคลควรได้รับการชดเชยจากกองทุนระหว่างประเทศ
- ปัญหาอาณานิคมควรตัดสินตามข้อ 1-4

วันที่ 16 ธันวาคม  1917,   ได้มีการเจรจาหยุดยิงระหว่างกลุ่มอำนาจกลาง(เยอรมัน  ออสเตรีย-ฮังการี) ที่เมืองเบรสต์-ลิต๊อฟสค์     การเจรจาได้เริ่มขึ้นครั้งนี้ฝ่ายรัสเซียมี   ลีออน ทรอตสกี  เป็นหัวหน้าคณะ   เยอรมันยื่นเงื่อนไขว่า....คู่สงครามทั้งสองมีสิทธิ์ในการผนวกดินแดนที่ยึดครองอยู่ 

เพราะในเวลานั้นเยอรมันได้ยึดครองพื้นที่อันกว้างใหญ่ซึ่งเคยเป็นดินแดนของจักรวรรดิรัสเซียมาแต่เดิม(ลิทัวเนีย  โป แลนด์บางส่วน  ไบโลรุสเซีย  ยูเครน ......ผู้แปล)     และมอบคืนดินแดนภาคใต้ซึ่งเป็นชนชาติส่วนน้อย ให้แก่อณาจักรอ๊อตโตมัน-เติร์ก แต่ลีออน  ทร๊อตสกี  ผู้แทนของโซเวียตไม่ยอมรับเงื่อนไขของสันติภาพที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการผนวกดินแดนและการจ่ายเงินชดเชยแก่เยอรมัน   การเจรจาจึงล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง   
  
อีกสองวันต่อมากองทัพเยอรมันเริ่มปฏิบัติการ “เฟ้าสท์ชล้าก” (Operation Faustschlag /ปฏิบัติการทุบด้วยกำปั้น) ด้านแนวรบตะวันออกเป็นเวลา 11 วันโดยมีการต่อต้านเพียงเล็กน้อย     วันที่ 23 กุมภาพันธ์  ปีรุ่งขึ้นเยอรมันได้ยื่นคำขาดว่าจะทำสนธิสัญญาสันติภาพหรือไม่ และต้องการคำตอบภายใน 48 ชั่วโมง    ซึ่งในช่วงเวลานี้กองทัพเยอรมันก็รุกคืบหน้าเข้ายึดครองพื้นที่ได้อีกเป็นจำนวนมาก     การเซ็นต์สัญญาสงบศึกจึงเป็นทางเลือกเดียวที่จะรักษารัฐบาลบอลเชวิคเอาไว้ได้      เพราะว่ากองทัพรัสเซียขาดกำลังสนับสนุน     กองกำลังพิทักษ์แดงส่วนมากเป็นเพียงอาสาสมัครที่ขาดการฝึกฝนไม่มีศักยภาพพอในการเอาชนะข้าศึกได้    การรุกของเยอรมันครั้งนี้ได้ให้สติแก่สมาชิกพรรคบอลเชวิคพวกเขาเริ่มมีความเข้าใจดีว่าการต่อต้านการปฏิวัติกำลังคืบคลานเข้ามาและเป็นอันตรายมากยิ่งกว่าการยินยอมเซ็นต์สัญญาสงบศึก    สถานการณ์เปลี่ยนไป.....คณะกรรมการกลางและสมาชิกสมัชชาโซเวียตได้เห็นถึงสภาพความจริงที่เลนินได้วิเคราะห์เอาไว้      ดังนั้นในการประชุมสมัชชาครั้งที่7 ข้อเสนอของเลนินจึงได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น     ที่ประชุมอนุมัติให้ทำสนธิสัญญาสันติภาพ เบรส-ลิตอฟสค์  ด้วยคะแนนเสียง 704 เสียงต่อ 285 งดออกเสียง 115[3]    

ทัศนะของเลนินต่อปัญหาลัทธิต่อต้านเชื้อชาติยิว
เลนินมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะจะพัฒนาระบบสื่อสารมวลชนเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนและชาวนาผู้ไม่รู้หนังสื่อที่มีอยู่มากมายตามท้องถิ่นชนบทของรัสเซีย   โดยเฉพาะวิทยุกระจายเสียงและการอัดเสียง  ปี1919 ได้อัดคำปราศรัยไว้ออกอากาศถึงแปดครั้ง    เจ็ดชิ้นได้ถูกตีพิมพ์ในสมัยของ นิกิตา ครุสเชฟ (ภายหลัง34 ปี) คำปราศรัยชิ้นที่แปดซึ่งเป็นการแสดงทัศนะในเรื่อง ”ลัทธิต่อต้าน เชื้อชาติยิว” (anti-Semitism) ของเลนิน  ที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์มีใจความบางตอนดังต่อไปนี้

“ตำรวจในระบอบซาร์   ซึ่งเป็นพันธมิตรกับบรรดาเจ้าที่ดินและนายทุนได้ร่วมกันก่อความรุนแรงที่ต่อต้านชาวยิว     พวกเจ้าที่ดินและนายทุนพยายามเบี่ยงเบนความเกลียดชังของคนงานและชาวนาผู้ทุกข์ยากให้ต่อต้านชาวยิว      ชาวยิวเหล่านั้นไม่ได้เป็นศัตรูของเราผู้ใช้แรงงานเลย...   ศัตรูที่แท้จริงของชนชั้นกรรมกรในทุกประเทศทั่วโลกคือชนชั้นนายทุน     ชาวยิวส่วนใหญ่ก็คือชนชั้นกรรมกรพวกเขาคือพี่น้องของเรา    มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนพวกเราและต่างก็ถูกกดขี่โดยชนชั้นนายทุนเช่นเดียวกับพวกเรา   พวกเขาเป็นสหายของเราที่ต่อสู้เพื่อระบอบสังคมนิยม     ชนชั้นนายทุนพยายามเหลือเกินที่จะหว่านเพาะปลุกปั่นความเกลียดชังให้แก่บรรดากรรมกรที่มีความเชื่อทางศาสนา   เชื้อชาติ   หรือเผ่าพันธุ์ที่ต่างกัน......คนร่ำรวยชาวยิวก็เหมือนกับคนรวยชาวรัสเซียและคนร่ำรวยในทุกๆประเทศ    ต่างก็ร่วมกันกดขี่   เหยียบย่ำ   ปล้นชิง   และสร้างความแตกแยกให้แก่พวกเราที่เป็นชนชั้นผู้ใช้แรงงาน...มันช่างน่าละอายสำหรับใครก็ตามที่ยุยงปลุกปั่นให้ต่อต้านเกลียดชังชาวยิว....”  



----------------------------------------------------------------------
[1] เพลงที่แต่งขึ้นเพื่อปลุกเร้ากองกำลังของชาวเมืองมาร์เซย   เพื่อเดินทางไปสู้รบปกป้องสาธารณรัฐที่หนึ่งและการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789)   ต่อมาถูกใช้เป็นเพลงปลุกใจในการลุกขึ้นสู้ของชนชั้นล่างอย่างแพร่หลายจนกระทั่งกลายเป็นบทเพลงสัญลักษณ์และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก    ภายหลังได้ใช้เป็นเพลงชาติของฝรั่งเศส
[2]สมอลนึย (Смольный) Education of Noble Maidens In 1917, the building was chosen by Vladimir Lenin as Bolshevik headquarters during the October Revolution
[3] หนังสือระลึกถึงเลนิน  –  ครุฟสกายา  

No comments:

Post a Comment