Monday, April 6, 2015

เลนิน บนเส้นทางปฏิวัติ (11)

16.  การลอบสังหาร

เลนิน และสหาย ฟริทซ  พลาทเทน ที่ถูกลอบยิงเมื่อปี 1919  

  เลนินรอดจากการลอบสังหารถึงสองครั้งสองครา  ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 1918 ในเปโตรกราด   ผู้ลอบสังหารได้ซุ่มคอยลงมือในขณะที่เลนินนั่งอยู่ด้านหลังรถกับ ฟริทซ์ พลาทเทน  (Fritz Platten)หลังจากจบการปราศรัย  พลาทเทน กดศีรษะเลนินให้หมอบต่ำลงใช้ตัวกำบังกระสุนให้  กระสุนพลาดเป้าถากมือ พลาทเทนไป    ครั้งที่สองเกิดเหตุเมื่อ30 สิงหาคม 1918 ฟานญา  คาปลัน[1](Fanya  Kaplan) อดีตนักนักอนาธิปไตย  ภายหลังเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติ   บุกเข้าประชิดตัวขณะที่เลนินหยุดสนทนากับหญิงคนหนึ่งในขณะที่เดินมาขึ้นรถหลังจากจบการปราศรัย  คาปปลัน  เรียกชื่อเลนินและเมื่อเขาหันไปเธอก็ลั่นกระสุนเข้าใส่ทันที  นัดแรกถูกที่แขนนัดที่สองเข้าที่กรามทะลุคอ   นัดที่สามพลาดเป้าไปถูกหญิง คนที่เลนินหยุดคุยด้วย     อาการบาดเจ็บทำให้เขาหมดสติไป    เพราะกลัวว่าเลนินจะถูกดักสังหารอีกในระหว่างทางไปโรงพยาบาลจึงถูกนำตัวไปยังที่พักในเครมลิน     แพทย์ตัดสินใจไม่ผ่าเอาหัวกระสุนออกเนื่องจากเกรงว่าการผ่าตัดนั้นอันตรายเกินไปอาจทำให้เสียชีวิตได้      คอยให้เขาฟื้นฟูสุขภาพเสียก่อนจะเป็นการดีกว่า

ฟานญา  คาปลาน

หนังสือพิมพ์ ปร๊าฟดา รายงานข่าวเกี่ยวกับการลอบสังหารที่ล้มเหลวครั้งนี้เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้อ่านว่า
“เลนินรอดชีวิตจากการถูกลอบสังหารโดยกระสุนเจาะทะลุปอด    วันรุ่งขึ้นแม้จะยังบาดเจ็บสาหัสอยู่ท่านยังอ่านและฟังรายงานต่างๆ   ท่านคือหัวขบวนรถจักรที่จะนำพาเราไปสู่การปฏิวัตินั้นยังคงเดินหน้าต่อไป”    แผนลอบสังหารทำให้เลนินยิ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม    มวลชนส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยจะสนใจพรรคบอลเชวิคกลับมาให้ความเห็นใจมากขึ้น    พวกเขากล่าวได้ถูกต้องว่าถ้าเลนินเสียชีวิตย่อมเป็นความหายนะอย่างไม่มีอะไรเทียบได้    ทุกสิ่งทุกอย่างจะชะงักงันโดยสิ้นเชิง  ท่ามกลางความสับสน ยุ่งเหยิงนี้เลนินเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังขององคาพยพในระบอบการเมืองใหม่      

17.ยุคสงครามกลางเมือง   (25 October 1917 – October 1922)

สงครามกลางเมืองรัสเซียเป็นการสู้รบช่วงชิงอำนาจกันระหว่าง   ”กองทัพแดง” ของพรรคบอลเชวิคกับ “กองทัพขาว” ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มต่อต้านบอลเชวิค   ได้แก่พวกขุนศึกนิยมกษัตริย์  ปัญญา ชนอนุรักษ์นิยม   เมนเชวิค   พรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติ   พรรคคาเด็ท   กลุ่มอนาธิปไตย  และกลุ่มชาตินิยมต่างๆ รวมไปถึงกองกำลังต่างชาติที่เข้าแทรกแซงและสนับสนุนกองทัพอาสาสมัครหรือกองทัพขาว(White army)     หลังจากกองทัพแดงมีชัยต่อกองทัพรัสเซียขาวฝ่ายใต้  (Armed Forces of South Russia)ในยูเครนและกองทัพปฏิปักษ์ปฏิวัติด้านไซบีเรียที่นำโดยพลเรือเอกโคลชัคแล้ว   จึงหันไปสู้รบกับกองทัพขาวอาสาสมัครที่นายพล  ปยอทร์  นิโคไลเยวิช  แวรงเกล  ควบคุมบัญชาการอยู่ในไครเมีย  เมื่อพิชิตกองทัพขาวกองสุดท้ายจึงเป็นการสิ้นสุดสงครามกลางเมือง

เมื่อการปฏิวัติเดือนตุลาคมผ่านพ้นไป     ทหารของกองทัพพระเจ้าซาร์แห่งจักรวรรดิรัสเซียถูกปลดประจำการและถูกแทนที่ด้วยกำลังหลักของพรรคบอลเชวิคที่ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครจากกองกำลังพิทักษ์แดง(เรดการ์ด)และกำลังกึ่งทหารขององค์กรตำรวจลับหรือเชคา(Cheka)ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติที่ตั้งขึ้นภายหลังที่เลนินถูกลอบสังหาร      กองกำลังนี้ได้ถูกคณะกรรมการกิจการสงสงครามที่มี  ลีออน ทร๊อตสกี  เป็นประธานปรับสภาพกำลังพลในกองทัพแดงของกรรมกร-ชาวนาให้มีลักษณะของทหารอาชีพมากขึ้น      มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเมืองเข้าประจำอยู่ในทุกๆหน่วยเพื่อประกันถึงความภักดีต่อการปฏิวัติ

การต่อต้านหน่วยพิทักษ์แดง(เรดการ์ด)นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกๆที่พรรคบอลเชวิคลุกขึ้นสู้แล้ว เนื่องจากเงื่อนไขที่เสียเปรียบในสนธิสัญญาสงบศึก เบรสท์-ลิตอฟสค์ ได้สร้างความไม่พอใจแก่บรรดานักลัทธิชาตินิยมและกลุ่มการเมืองฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติทั้งหลายที่ถูกรัฐบาลบอลเชวิคห้ามเคลื่อนไหว   สนธิสัญ  ญานี้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาผลักดันให้เกิดการคัดค้านบอลเชวิคขึ้นทั้งในและนอกรัสเซีย   ผู้คัดค้านได้ประ            สานงานกันอย่างหลวมๆเพื่อต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์   มีทั้งชนชั้นเจ้าที่ดิน   พวกนิยมสาธารณรัฐที่ ต้องการให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์    พวกที่ต้องการให้มีระบอบกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ   กลุ่มชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยม   พวกปฏิกิริยา    พวกเสรีนิยม    อดีตนายพลของระบอบซาร์     นักสังคมนิยมที่ไม่ใช่บอลเชวิค  และบรรดานักปฏิรูปทั้งหลาย     ต่างเข้ามาร่วมมือกันก็เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับกับระบอบการปกครองของบอลเชวิคทั้งสิ้น    ส่วนกำลังทหารที่สนับสนุนพวกเขาก็ได้มาจากการเกณฑ์ด้วยวิธีโหดร้าย       นำโดยนายพลยูเดนิช    พลเรือเอกโคลชัค   และนายพลเดนิกินเป็นรู้จักกันทั่วไปว่า เดอะ ไวท์ มูฟเมนท์ (the White movement) หรือขบวนการสีขาว     ซึ่งบางครั้งก็หมายถึง ”กองทัพขาว” และยังได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากต่างชาติซึ่งยึดครองพื้นที่สำคัญๆของจักรวรรดิ์รัสเซียมาก่อนจะเกิดสงคราม

นายพล นิโคไล นิโคเลวิช ยูเดนิช

และยังมีกองกำลังของขบวนการชาตินิยมยูเครนที่รู้จักในนาม “กองทัพเขียว”( Green Army) ซึ่งเคลื่อน ไหวอยู่ในยูเครนในช่วงต้นสงครามอีก        ที่สำคัญคือเป็นการปรากฏตัวของขบวนการทางการเมืองและการทหารของกลุ่มอนาธิปไตยที่เรียกขบวนการของตนว่า  กองทัพลุกขึ้นสู้เพื่อการปฏิวัติแห่งยูเครนหรือ   ”กองทัพดำของชาวอนาธิปไตย”( the Anarchist Black Army) ที่นำโดย  เนสทอร์  มาคโน   กองทัพนี้มีชาวยิวและชาวนายูเครนเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมากและได้แสดงบทบาทสำคัญในการขัดขวางการรุกเข้าตีมอสโคว์ของนายพลเดนิกินแห่งกองทัพขาวในช่วงปี  1919    ภายหลังได้ขับไล่กองกำลังของชาวคอสแซคออกจากภูมิภาคไครเมีย      

ส่วนในภูมิภาคที่ห่างไกลเช่นเขต โวลกา  อูราล  ไซบีเรีย และภาคตะวันออกไกลได้กลายเป็นฐานที่มั่นอย่างดีของขบวนการสีขาวในการซ่องสุมกำลังเพื่อต่อต้านบอลเชวิค      พวกขาวได้ตั้งองค์กรขึ้นบริหารควบคุมเมืองต่างๆในภูมิภาคเหล่านี้และยังใช้บางพื้นที่ๆตนมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นเป็นที่ตั้งของกำลังทหาร

กองกำลังที่มีบทบาทต่อต้านบอลเชวิคอีกหน่วยหนึ่งได้แก่หน่วยทหารเชคโกสโลวัค     ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของกองทัพรัสเซียเก่าที่มีกำลังพลประมาณ 30,000 คน พวกเขาได้ทำความตกลงกับรัฐบาลใหม่(บอลเชวิค) ในการถอนตัวออกจากแนวรบด้านตะวันออกโดยใช้เส้นทางจากเมืองท่า วลาดิวอสสต๊อคไปยังฝรั่งเศส     เพราะการขนส่งจากแนวรบด้านตะวันออกไปยังเมืองท่าวลาดิวอสสตอคนั้นล่าช้าและเต็มไปด้วยความยุ่ง ยากสับสน       ทั้งยังมีกองทหารหนีทัพที่ควบคุมไม่ได้กระจัดกระจายอยู่ตามเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย       และภายใต้การกดดันจากกลุ่มอำนาจกลาง(เยอรมัน, ออสเตรีย-ฮังการี)ทำให้ให้ทร๊อตสกี ประธานกรรมการฝ่ายทหารจำต้องสั่งปลดอาวุธทหารท้องถิ่น     ยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างทหารเหล่านั้นกับบอลเชวิค

กลุ่มพันธมิตรตะวันตก(อังกฤษ,ฝรั่งเศส)เองก็เกิดความวิตกถึงความยากลำบากที่จะเกิดขึ้นในสถาน การณ์สงครามที่กำลังดำรงอยู่ หากรัฐบาลบอลเชวิคได้นำรัสเซียออกจากสงคราม     และเป็นกังวลว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่รัสเซียกับเยอรมันจะทำสนธิสัญญาร่วมมือกัน      อีกอย่างหนึ่งคือกลัวว่ารัฐบาลบอลเชวิคจะปฏิเสธความรับผิดชอบในการจ่ายคืนหนี้ซึ่งผูกพันมาตั้งแต่รัฐบาลก่อน     เนื่องจากหนี้เหล่า นี้ยังไม่ได้มีการตกลงกันอย่างถูกต้องตามกฏหมาย(กับรัฐบาลบอลเชวิค)       พรรคบอลเชวิคยังมีความผูกพันกับนักปฏิวัติสังคมนิยมในประเทศฝ่ายอำนาจกลางและของพวกตนด้วย    อีกทั้งอุดมการณ์สังคมนิยมได้แพร่กระจายไปสู่ประเทศตะวันตกอีกหลายประเทศ       ดังนั้นประเทศเหล่านี้จึงมีจุดยืนร่วมกันที่จะให้ความช่วยเหลือแก่กองทัพฝ่ายขาวที่เป็นปฏิปักษ์กับบอลเชวิครวมไปถึงให้การสนับสนุนทั้งกำลังทหารและยุทธปัจจัยอีกด้วย   

วินสตัน   เชอร์ชิล  ถึงกับประกาศว่า  “ลัทธิบอลเชวิคจะต้องถูกตรึงให้หยุดอยู่กับที่”   สหราชอาณาจักรลและฝรั่งเศสได้ให้ความช่วยเหลือด้านยุทธปัจจัยแก่กองทัพของจักรวรรดิ์รัสเซียเดิมเป็นจำนวนมาก   ดูเหมือนว่ายุทธปัจจัยส่วนมากตกจะอยู่ในมือของเยอรมันภายหลังสนธิสัญญาเบรสท์-ลิตอฟสค์   ภายใต้ข้ออ้างนี้กลุ่มพันธมิตรจึงถือโอกาสเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองในรัสเซีย      ทั้งสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทหารของตนเข้าควบคุมเมืองท่าสำคัญๆของรัสเซีย   โดยสหราชอาณาจักรส่งทหาร 40,000 คนร่วมกับทหารสหรัฐอเมริกา 12,000 คนเข้าควบคุมเมือง อาร์คานเกลสต์  เมืองท่าทางตอนเหนือบนฝั่งทะเลขาว (White sea)   และวลาดิวอสส๊ตอค เมืองท่าทางตะวันออกไกลของรัสเซีย     ฝรั่งเศสส่งทหารฝรั่งเศสและทหารจากอาณานิคมของตน 12,000 ไปยังเมืองท่าอาร์คานเกลสต์และ เมืองโอเดสสาเมืองท่าตอนใต้      ทหารคานาดา 4,192 คนยกเข้าวลาดิวอสส๊ตอคและอีก 1,100 คนไปสมทบกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาที่เมือง เมอร์มันสก์และ อาร์คาเกลสก์    อีก 41 คนไปยังเมืองบากูชายฝั่งทะเลสาบคัสเปียน    เป็นการใช้กำลังเผชิญหน้ากับกองทัพแดงของกรรมกรชาวนาที่สนับสนุนพรรคบอลเชวิค

ทางด้านเยอรมันก็ได้สถาปนาประเทศและรัฐอิสระในเขตยึดครองของตนขึ้นมาเพื่อเป็นแนวกันชน       และเป็นข้อต่อรองทางการเมืองของตนภายหลังสนธิสัญญา  เบรสท์-ลิตอฟสต์คือ ”สหพันธรัฐดัชชีแห่งบอลติค”[2]  ดัชชีแห่งเคอร์แลนด์และเซมิกาเลีย   ราชอาณาจักรลิธัวเนีย    ราชอาณาจักรโปแลนด์     สาธารณรัฐประชาชนเบลารุส    รัฐอิสระยูเครน    ภายหลังที่เยอรมันแพ้สงครามประเทศเหล่านี้ก็ถูกปลดปล่อย      ฟินแลนด์เป็นประเทศแรกที่ประกาศอิสรภาพจากรัสเซียเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1917     ท่ามกลางสงครามกลางเมืองในระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคมปี 1918     โปแลนด์ได้ประกาศเอกราชเป็นสาธารณรัฐที่สองแห่งโปแลนด์   ลิธัวเนีย   ลัทเวีย   เอสโทเนีย   ต่างก็ได้เร่งสร้างกองทัพแห่งชาติของตนขึ้นภายหลังสนธิสัญญาเบรสท์-ลิตอฟสท์

สงครามสามระยะ    
ในช่วงแรกของสงคราม    พรรคบอลเชวิคได้ช่วงชิงและควบคุมพื้นที่ในภาคเอเชียกลางไว้ทั้งหมดจากรัฐบาลชั่วคราว   ได้วางรากฐานของพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในเขตที่ราบสเตปป์และเตอรกีสถาน ที่มีชนชาติรัสเซียเข้าไปตั้งรกรากอยู่เกือบสองล้านคน       การสู้รบในระยะนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานรวมไปถึงการปะทะกันในระหว่างการเคลื่อนย้ายกำลังทางยุทธวิธีและความเกลียดชังกันทางเชื้อชาติอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างกองทหารเชคโกสดลวัคหรือพวก ”เชคขาว” กับกองพลปืนเล็กที่ 5 ของโปแลนด์    และหน่วยพลปืนลัทเวียแดงที่สนับสนุนบอลเชวิค 

ระยะที่สองของสงครามต่อเนื่องมาตั้งแต่มกราคม ถึง พฤศจิกายน 1919    ช่วงต้นกองทัพขาวเป็นฝ่ายได้เปรียบไม่ว่าจะเป็นแนวรบด้านใต้ภายใต้การบัญชาการของนายพล เดนิกิน  ทางตะวันออกโดยพลเรือเอกโคลซัค และแนวตะวันตกเฉียงเหนือโดย นายพลยูเดนิช    ต่างประสบความสำเร็จในการผลักดันกอง ทัพแดงและพันธมิตรฝ่ายซ้ายให้ถอยร่นได้ทั้งสามแนวรบ      เดือนกรกฏากองทัพแดงต้องถอยร่นอีกหลังจากมวลชนเปลี่ยนไปสนับสนุน”กองทัพดำ”[3]ภายใต้การนำของ เนสตอร์ มาคโน   กองทัพแดงต้องถอนตัวเพื่อให้แก่กองทัพดำของชาวอนาธิปไตยที่แข็งแกร่งกว่าเข้าควบคุมยูเครน

นายพล อันตอน  อิวานโนวิช  เดนิกิน 

ลีออน ทร๊อทสกี  ต้องเร่งรับปรุงกองทัพแดงโดยด่วน       ตัดสินใจให้กองทัพแดงส่วนหนึ่งเข้าไปเป็นพันธมิตรกับกองกำลังอนาธิปไตย(กองทัพดำ)    หลังจากการสู้รบที่ยืดเยื้อมานานเมื่อได้รับความช่วย เหลือจากกองทัพดำที่รุกโจมตีแนวต้านของกองทัพขาวทำให้กองทัพแดงสามารถเอาชนะต่อทัพของนายพลเดนิกินและทัพของนายพลยูเดนิชได้ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนตามลำดับ   
ในช่วงที่สามของสงครามคือการขยายวงล้อมกองทัพขาวที่ยังเหลืออยู่ในแถบไครเมีย      นายพลแวรงเกิลได้รวบรวมไพร่พลที่กระจัดกระจายของนายพลเดนิกินโดยเข้ายึดครองไครเมียเอาไว้   พยายามรุกเข้าไปในยูเครนแต่ถูกกองทัพอนาธิปไตยของ เนสตอร์ มาคโน ต้านทานเอาไว้และตีกลับไปยังไครเมีย      ทำให้แวรงเกลต้องเปลี่ยนแผนด้วยการตั้งรับในไครเมียแทน      หลังจากการรุกขึ้นเหนือเพื่อขับไล่กอง ทัพแดงประสบความล้มเหลวและถูกกองทัพดำบีบให้ถอยกลับลงใต้ทำให้เกิดความระส่ำระสายขึ้นในกองทัพของเขา      มีทหารหนีทัพมากขึ้นในที่สุดนายพล แวรงเกิล  จึงทิ้งกองทัพหนีไปยังคอนสแตนติโนเปิล(อิสตันบุล)ในเดือนพฤศจิกายน 1920

เหตุการณ์ในแนวรบต่างๆ   

นายพล  อเล็กไซ  มักซิโมวิช คาเลดิน (Алексе́й Макси́мович Каледи́н )


ในภาคพื้นยุโรปของรัสเซียสงครามและการสู้รบเกิดขึ้นสามแนวดังได้เกริ่นมาแล้วในเบื้องต้น    ที่สำคัญได้แก่แนวรบด้านตะวันออก   ด้านใต้   และด้านตะวันตกเฉียงเหนือ  จำแนกออกเป็นช่วงต่างๆดังต่อไปนี้      ช่วงแรกหลังจากการปฏิวัติจนถึงสัญญาหยุดยิง   เมื่อการการปฏิวัติจบสิ้นลงนายพลชาวคอสแซค   อเล็กไซ  มักซิโมวิช  คาเลดิน (Alexei Maximovich  Kaledin) ปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของคณะกรรมการโซเวียตประจำภูมิภาคลุ่มแม่น้ำดอน(Don region)  ผู้ที่คัดค้านบอลเชวิคได้อาสาสมัครเข้า ไปเป็นทหารในกองทัพของฝ่ายขาวที่หลายฝ่ายเริ่มให้การสนับสนุน   สนธิสัญญาเบรสท์-ลิตอฟสท์ เองก็ส่งผลโดยตรงต่อการแทรกแซงรัสเซียจากต่างชาติด้วยการติดอาวุธให้แก่กองกำลังที่ต่อต้านบอลเชวิค      หนึ่งเดือนหลังจากพรรคบอลเชวิคได้อำนาจรัฐ   ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลใหม่(บอลเชวิค)ต่างเคลื่อนไหวและไปซ่องสุมกำลังในบริเวณตะเข็บรอยต่อของจักรวรรดิรัสเซียเก่าซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพเยอรมัน    

ที่เมืองโนโวเชอร์กาสค์(Novocherkassk)บนฝั่งขวาของแม่น้ำดอน     ชาวคอสแซคได้เลือก นายพล อเล็กไซ  มักซิโมวิช คาเดลิน ขึ้นเป็นอตามัน(Ataman)  หรือผู้นำของชาวคอสแซคทั้งหมดและยังเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพคอสแซคอีกด้วย       วันที่ 20 พฤศจิกายน ชาวคอสแซคแถบลุ่มแม่น้ำดอนหรือ ดอนคอสแซค (Don  Cossacks)  ก็ประกาศอิสระภาพ    เมืองโนโวเชอร์กาสค์จึงเป็นที่พักพิงหลบภัยของพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติทั้งหลายและภายหลังได้กลายเป็นกองบัญชาการของกองทัพอาสาสมัคร(กองทัพขาว)    ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยอดีตนายทหารของพระเจ้าซาร์ภายใต้การนำของนายพล มิคาอิล อเล็กเซเยฟ และนายพล ลาร์ฟ คอร์นิลอฟ

ความมุ่งหมายหลักของชาวคอสแซคคือการปกป้องรัฐใหม่ของพวกเขา       แต่กองทัพขาวอาสาสมัครได้โน้มน้าวว่าหากต้องการให้ความปรารถนานี้เป็นจริงขึ้นมา    ก็มีแต่เพียงหนทางเดียวเท่านั้นคือต้องร่วมมือกันต่อต้านพวกบอลเชวิคซึ่งขณะนี้กำลังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมากยกเว้นชาวคอสแซคในภูมิภาคดอน      ประกอบกับคาเลดินให้การสนับสนุนฝ่ายขาวใช้กำลังเพียง 500 คน ก็สามารถยึดเมือง รอสตอฟ(Rostov)ได้จากหน่วยพิทักษ์แดง(เรดการ์ด)ท้องถิ่นได้ในต้นเดือนธันวาคม 1917       

เมื่อเริ่มขึ้นปี 1918  กองทัพแดงที่มีการจัดตั้งที่ดีเริ่มมีความเข้มแข็งขึ้นตามลำดับกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบในสมรภูมิทางด้านเหนือสามารถยึดเมือง ทากันรอก(Taganrog)ได้ในเดือนกุมภาพันธ์  นายพลคอร์นิ ลอฟพร้อมกำลัง 4,000 คนที่ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองรอสตอฟเห็นว่าการป้องกันเมืองโดยต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่เหนือกว่านั้นไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดจึงตัดสินใจถอนทัพลงใต้     แม้ในขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงที่อา กาศกำลังหนาวจัด      แต่เพื่อจะเข้าไปตั้งมั่นในภูมิภาคคูบานพร้อมกับความหวังว่าจะได้รับการสนับสนุน จากชาวคอสแซคในคูบาน(Kuban Cossacks)    จึงเป็นการเริ่มยุทธการของการเดินทัพฝ่าน้ำแข็ง (Ice March) ซึ่งเป็นตำนานเล่าลือกันไปทั่วถึงการกำหนดยุทธวิธีที่ผิดพลาด     

กล่าวถึงนายพล คาเลดิน    เมื่อขาดแนวร่วมต้านบอลเชวิค    รัฐบาลที่พึ่งตั้งขึ้นใหม่ของเขาจึงถึงกาลอวสานลงและได้ตัดสินใจปลิดชีวิตตนเอง
วันที่ 23 กุมภาพันธ์เมื่อกองทัพแดงกรีฑาทัพเข้ายึดเมืองรอสต๊อฟ     คอร์นิลอฟเริ่มเดินทัพลงใต้โดยตัดผ่านทุ่งหญ้าเสต็ปป์ที่หิมะจับตัวเป็นน้ำแข็ง    ทหารแต่ละคนมีอาวุธประจำกายคนละกระบอกและยังต้องช่วยกันลากปืนใหญ่สนามอีกด้วย      มีพลเรือนชนชั้นกลางชาวรอสสต๊อฟที่กลัวการแก้แค้นของบอลเชวิค(ตามคำโฆษณาชวนเชื่อ)ได้ติดตามขบวนไปด้วยเป็นจำนวนมาก  นายพล อังตอน  เดนิกิน  ที่ขึ้นมาแทนตำแหน่งของคอร์ลินอฟกล่าวในภายหลังว่า “เราเดินจากคืนแห่งความมืดมนที่น่าสะพรึงกลัวของความเป็นทาส    ด้นดั้นเพื่อเสาะแสวงหานกสีน้ำเงิน “   (นกสีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังในเทพนิยายของรัสเซียและดินแดนใกล้เคียง)      การเดินทัพเป็นไปทั้งกลางวันและกลางคืนบางครั้งต้องเดินลุยไปในดงหิมะเพื่อเลี่ยงให้ห่างจากทางรถไฟหรือชุมชนที่เป็นปฏิปักษ์    คนจำนวนมากไม่สามารถทนต่อการทดสอบที่หนักหน่วงเช่นนี้ได้ (โดยเฉพาะพลเรือน ชนชั้นกลาง....ผู้แปล)   ต่างล้มป่วยและบาดเจ็บและถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง      หลายคนฆ่าตัวตายเพื่อหนีการถูกจับเป็นเชลย 

หลังจากเดินทางระหกระเหินมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์   หลายครั้งได้ประทะกับศัตรูที่ไล่ติดตามมา นายพลคอร์นิลอฟจึงตัดสินใจรวมพลเข้าตีเมือง  เยคัธรินโอดาร์ (Yekaterinodar) เมืองหลวงของสาธารณรัฐโซเวียตแห่งคอเคเซียเหนือที่พึงตั้งขึ้น     การจู่โจมเริ่มเมื่อ 10 เมษายนและต้องพบกับการต่อต้านอย่างเหนียวแน่นจากกำลังพลของกองทัพแดงทีมากกว่าถึงสองเท่า      นายพลคอร์นิลอฟเสียชีวิตจากกระสุนปืนใหญ่ในโรงนาที่เขาใช้เป็นกองบัญชาการ   นายพล เดนิกิน เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการแทนได้ตัดสิน ใจยกเลิกการโจมตีและถอนกำลังมุ่งกลับขึ้นเหนืออีก       เมื่อได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของนายพลคอร์นิลอฟ  เลนินกล่าวว่า  “พอจะพูดด้วยความมั่นใจได้ว่า ด้านหลักของสงครามกลางเมืองได้จบลงแล้ว  คือมันค่อนข้างดีที่จบในขณะกำลังเริ่มต้น”

เส้นทาง Ice March

1 8. การลุกขึ้นสู้ของชาวคอสแซค
หลังปฏิบัติการ ”เดินทัพฝ่าน้ำแข็ง” (Ice March) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์  การเกะกะระรานและกระทำตามอำเภอใจของทหารกองทัพแดงโซเวียตแห่งด็อน      ได้สร้างความไม่พอใจและเกิดปฏิกิริยาขึ้นในหมู่ประชาชนชาวคอสแซคเป็นจำนวนมากแม้ว่าพวกเขาจะต่อต้านกองทัพขาวก็ตามที      จากผู้ที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่มีไม่มากนักเริ่มขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะบริเวณรอบๆเมืองโนโวเชอร์คาสต์    ระหว่างเดือนเมษายนมีคนจากหลายแห่งมาอาสาเป็นทหารในกองทัพต่อต้านบอลเชวิคซึ่งรวมพลอยู่ที่เมือง ซาปลาฟสกายา ร่วมหมื่นคน   ด้วยเหตุนี้กองทัพขาวจึงสามามรถยึดเมืองหลวงของภูมิภาคดอนกลับคืนมาได้     ชาวคอสแซคได้เลือก  ปยอทร์ คราสนอฟ  ขึ้นเป็นอตามาน[4] คนใหม่ จนกระทั่งเดือนมิถุนายน คราสนอฟ  มีกำลังไพร่พลภายใต้การบังคับบัญชาถึง40,000 คน    ในสถานการณ์เช่นนี้ทำให้นายพล เดนิกินและกองทัพอาสาสมัครของเขาสามารถฟื้นฟูกำลังขึ้นมาสู้รบได้อีกหลัง      จากผ่านการทดสอบที่ยากลำบากจากการเดินทัพฝ่าน้ำแข็งในครั้งนั้นและสามารถกลับเข้าสู่ดุลกำลังใหม่อีกครั้ง    ในฤดูร้อนปีนั้น การได้กำลังเสริมจากหน่วยรบชาวคอสแซคและการสนับสนุนด้านอาวุธจากกองทัพเยอรมัน    เดนิกินก็สามารถยกระดับการรุกเข้าไปในภูมิภาคคูบานอีกเป็นครั้งที่สอง     ทำให้เขาสามารถควบคุมภาคใต้ส่วนใหญ่ไว้ได้   เป็นการยกระดับการท้าทายต่อรัฐบาลบอลเชวิคในมอสโคว์อย่างมีพลัง

นายพล ปยอร์ท  นิโคลาเยวิช  คราสนอฟ

ยูเครน,  รัสเซียใต้,  และคอเคซัส  1918    
บากูโซเวียตคอมมูน (เมืองบากูปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจันบนฝั่งทะเลสาบคัสเปียน)   เมื่อ 13 เมษายน  เยอรมันยกพลขึ้นบกที่เมืองโปติ(ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐจอร์เจียบนฝั่งทะเลดำ)ในวันที่8 มิถุนายน    กองทัพของอาณาจักรอิสลามออตโตมัน(ตุรกีในปัจจุบัน)ที่ร่วมมือกับอาเซอร์ไบจันถอยออกจากบากูในวันที่ 26  กรกฏาคม1918    หลังจากนั้นพรรค ดาชนัคส์  ซึ่งเป็นพรรคการเมืองปฏิวัติปีกซ้ายของอาร์เมเนีย  พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ  และเมนเชวิคก็เริ่มเปิดการเจรจากับ นายพล ดันสเตอร์วิลล์  ผู้บัญชาการทหารของสหราชอาณาจักรในเปอร์เซีย    พรรคบอลเชวิคและพันธมิตรของตนที่เป็นสมาชิกปีกซ้ายของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติไม่เห็นด้วย    วันที่ 25 กรกฏาคมสภาโซเวียตมีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ให้บอลเชวิคถอนออกจากบากู   ทำให้โซเวียตแห่งบากูที่พึ่งจะตั้งต้องถูกยกเลิก    อำนาจการปกครองโซเวียตในภูมิภาคคัสเปียนตอนกลางถูกแทนที่ด้วยเผด็จการ
เดือนมิถุนายนกองทัพอาสาสมัครนำกำลัง 9,000 นายได้เริ่มยุทธการคูบานอีกครั้งโดยเข้าล้อมเมืองเยคัธรินโอดาร์เป็นครั้งที่สามในวันที่ 1 สิงหาคม      ระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคมมีการรบอย่างรุนแรงที่เมืองอาร์มาวีร์และสตราโฟรโปล       กองพลทหารราบของนายพล คาซาโนวิช ก็ยึดเมืองอาร์มาวีร์ได้     วันที่ 1 พฤศจิกายน  นายพล ปยอทร์  แวรงเกล   ได้เสริมความมั่นคงด้วยการพิชิตเมืองสตราโฟรโปล  ให้ปลอดจากการโจมตีของกองทัพแดงด้วยการรบที่พวกบอลเชวิคไม่อาจหนีรอดไปได้เลย   ตั้งแต่ต้นปี1919 ตอนเหนือของคอเคซัสทั้งหมดก็ไม่มีพวกบอลเชวิคอีก

นายพล  บารอน ปยอร์ท นิโคไลเยวิช แวรงเกิล

เดือนตุลาคม  นายพลอเล็กเซเยฟ  ผู้นำของกลุ่มทัพขาวในภาคใต้เสียชีวิตลง   จึงมีการเจรจาตกลงกันระหว่างนายพลเดนิกินผู้นำกองทัพขาวอาสาสมัครกับนายพลคราสนอฟผู้นำของชาวคอสแซคแห่งลุ่มแม่น้ำดอนและได้ผนวกกำลังเข้าด้วยกัน โดย นายพลเดนิกินเป็นผู้นำ  ตั้งเป็นกองทัพแห่งรัสเซียใต้ (The Armed Forces of South Russia หรือ AFSA ขึ้นมา

รัสเซียตะวันออกและไซบีเรีย
การก่อกบฏของหน่วยทหารเชคโกสโลวัค เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1918 และเข้ายึดเมืองเชลียาบินสต์ ในเดือนมิถุนายนพร้อมกันนั้นนายทหารรัสเซียก็ได้โค่นพวกบอลเชวิคใน เปโตรพาฟลอฟสต์ และออมสต์ลงไป   ภายในหนึ่งเดือนฝ่ายขาวได้เข้าควบคุมทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียจากทะเลสาบไบคาลไปจนถึงภูมิภาคอูราล       ตลอดช่วงฤดูร้อนอำนาจการปกครองของพรรคบอลเชวิคในไซบีเรียถูกขจัดไปจนหมดสิ้น     รัฐบาลชั่วคราวของเขตปกครองตนเองแห่งไซบีเรียได้รับการสถาปนาขึ้นที่เมืองออมสค์  26กรกฏาคม1918 ฝ่ายขาวยังได้ขยายชัยชนะไปอีกโดยการเข้ายึดเมือง เยคัธรินสบวร์ก (Yekaterinburg )      ก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อยครอบครัวของพระเจ้าซาร์ได้ถูกสังหารโดยโซเวียตแห่งอูราล    เพื่อป้องกันมิให้ตกไปอยู่ในมือของพวกขาวในการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลบอลเชวิค

ในช่วงสงครามกลางเมืองได้เกิดภัยแล้งขึ้นในเขตเกษตรกรรมของรัสเซีย       ยูเครนซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมันจึงเป็นแหล่งสนองอาหารให้แก่กองทัพเยอรมัน     ที่ราบสเตปป์และคอเคซัสถูกควบคุมโดยกองทัพฝ่ายขาว  แหล่งผลิตอาหารถูกยึดครองโดยฝ่ายตรงกันข้ามส่งผลให้เกิดความขาดแคลน    ความอดอยากได้แผ่ขยายกว้างออกไปอีก    พวกคูลัค(kulak,ชาวนารวย) ที่มีข้าวอยู่ในมือได้ซ้ำเติมให้เกิดวิกฤติมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วยการกักตุนข้าวและโก่งราคาเพื่อกำไรที่มากขึ้นของตน

พวกเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติให้การสนับสนุนชาวนาในการต่อสู้คัดค้านโซเวียต   และเข้าควบคุมการสนองอาหาร     เดือนพฤษภาคม 1918 พวกเขาก็สามารถยึดเมืองซามาราและซาราต๊อฟไว้ได้ด้วยการช่วยเหลือของกองทหารเชคโกสโลวัค    พวกปฏิปักษ์ปฏิวัติจึงได้ตั้งคณะกรรมการสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ  ที่เรียกย่อๆว่า”โคมุส”ขึ้น   เดือนถัดไปอำนาจบริหารของโคมุสได้แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตยึดครองของกองทหารเชคโกสโลวัค     โคมุสได้ดำเนินนโยบายทางสังคม-การเมืองที่ประชาชนไม่ค่อยจะมีความมั่นใจนัก   โดยผสมผสานนโยบายสังคมนิยมและเสรีนิยมเข้าด้วยกันภายใต้แนวทาง “ปฏิรูป” เช่นกำหนดเวลาทำงานเป็นแปดชั่วโมง(จากข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรและสหภาพแรงงาน)       นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการคืนโรงงานให้แก่นายทุนและคืนที่ดินให้แก่เจ้าที่ดิน       หลังจากเสียเมืองคาซาน  เลนิน ได้เรียกร้องต่อคนงานแห่งเปโตรกรารดไปสู่แนวรบที่คาซาน   

ในเดือนกันยายน 1918 โคมุสและรัฐบาลชั่วคราวแห่งไซบีเรียและรัฐบาลท้องถิ่นที่คัดค้านบอลเชวิคได้พบปะกันที่เมืองยูฟาและทำความตกลงกันตั้งรัฐบาลชั่วคราวของทั่วทั้งรัสเซียขึ้นมาใหม่ที่เมืองออมสค์     โดยมีผู้นำหลัก 5 คน,   3 คนมาจากพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (นิโคไล อาคเซนเตียฟ  โบดีเรฟ  และวลาดิมีร์ เซนซินอฟ)อีก   2คนจากพรรคคาเดท(วี เอ วิโนกราดอฟ และ พี วี โวโลโกดสกี)   จากความล้มเหลวเมื่อปี 1918  ทำให้กองกำลังฝ่ายขาวที่ต่อต้านบอลเชวิคในภาคตะวันออกซึ่งรวมถึงกองทัพประชาชน (โคมุส)  กองทัพไซบีเรีย(ของรัฐบาลเฉพาะกาลไซบีเรีย)  และกองกำลังลุกขึ้นสู้ของชาวค๊อสแซคแห่ง โอเร็นบวร์ก  อูราล  ไซบีเรีย  เซเมียร์เรคซีเย  ไบคาล  อาร์มูร์และอุสซูรีคคอสแซค  ภายใต้การบัญชาการของนายพล  วี จี โบลดีเรฟ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการอำนวยการแห่งยูฟาให้เป็นผู้บัญชาการสูงสุด

พันเอก คัปเปล ที่ยึดได้ โวลกา, คาซานเมื่อ 7 สิงหาคม  จำต้องถอนกำลังออกไปเนื่องจากถูกกองทัพแดงยึดคืน  การรุกกลับของกองทัพแดงสามารถ ยึดเมือง ซิมสบีร์กได้ในวันที่ 11 สิงหาคม  ยึดเมืองซามาราได้ในวันที่ 8 ตุลาคม   กองทัพฝ่ายขาวต้องถอยร่นกลับไปยังเมืองยูฟ่าและโอเร็นบวร์ก  ที่เมือง
ออมสค์  รัฐบาลชั่วคราวของฝ่ายขวาต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ พลเรือเอก โคลซัค รัฐมนตรีสงครามคนใหม่    เพราะได้เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนขึ้นและตั้งโคลซัดเป็นผู้เผด็จการ    สมาชิกของรัฐบาลเฉพาะการถูกจับกุม  พลเรือเอก โคลซัค ได้ประกาศตนเป็นผู้ปกครองสูงสุดของรัสเซีย    กลางเดือนตุลาคม 1918 กองทัพขาวต้องทิ้งเมืองยูฟาแต่ชดเชยความล้มเหลวนี้โดยการเข้ายึดเมือง เปิร์ม ได้ในวันที่ 24 ธันวาคม

พลเรือเอก    อเล็กซานเดรอะ  วาสิลีเยวิช  โคลชัค


--------------------------------------------------------------------------------------
[1] ฟานญา  คาปลัน  ชื่อจริงคือ  ไฟกา ไฮโมฟวา  รอยท์บลาท (Feiga Haimovna Roytblat ( 1890 –  1918) สมาชิกพรรคสังคมนิยม-ปฏิวัติ  ในสมัยรัฐบาลซาร์ถูกเนรเทศและให้ทำงานหนักเป็นเวลา 11 ปี  เธอถูกปล่อยตัวหลังการปฏิวัติ  เธอมีความปักใจว่าเลนิน คือผู้ทรยศต่อการปฏิวัติ
[2] คือดินแดนรวมทั้งพลเมืองและไพร่ติดที่ดินที่อยู่ภายใต้อำนาจปกครองของดยุ๊ค (เทียบเท่าพระองค์เจ้า) หรือดัชเชส  ของระบอบศักดินายุโรปในสมัยกลาง
[3] คือกองทัพของพวกอนาธิปไตยแห่งยูเครนที่มี เนสตอร์ มาคโน  เป็นผู้นำ
[4] คือตำแหน่งผู้นำสูงสุดของชาวคอสแซค

No comments:

Post a Comment