Thursday, April 2, 2015

เลนิน บนเส้นทางปฏิวัติ (8)

10. วันอาทิตย์นองเลือด

การถวายฎีการ้องทุกข์ได้ปลุกเร้าความกระตือรือร้นของมวลชนได้อย่างมหาศาล    เมื่อมันถูกอ่านต่อหน้ามวลชนคนงาน    ทุกหนทุกแห่งมีเสียงโห่ร้องด้วยความยินดี   ด้วยความปลื้มปิติและไร้เดียงสา...กาปอนได้เขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีมหาดไทยก่อนหน้าวันอาทิตย์นองเลือดเพียงสองวัน      เรียกร้องให้มีการอนุญาตอย่างถูกกฎหมายให้มีการเดินขบวนอย่างสันติไปยังพระราชวังฤดูหนาวเขาเขียนว่า “พระเจ้าซาร์ พระองค์ไม่มีอะไรที่จะต้องทรงวิตกกังวล   ข้าพเจ้าในฐานะตัวแทนของมวลชนกรรมกรรัสเซียรวมถึงบรร ดาเพื่อนมิตรของข้าพเจ้าและเหล่าสหายกรรมกร   และแม้กลุ่มที่เรียกตนเองว่านักปฏิวัติที่ต่างความคิด...ต่างรับประกันว่าจะไม่เกิดความรุนแรงขึ้น     ขอกราบบังคมทูลพระเจ้าซาร์ให้ทรงออกมาพบปะประชาชนของพระองค์เพื่อรับฎีการ้องทุกข์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์”  ลงนาม  บาทหลวงกาปอนและคณะตัวแทนคนงาน 11 คน, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก , 8  มกราคม
ด้วยเจตนาที่จะควบคุมการเคลื่อนไหวให้เป็นแบบ”สันติวิธี” ผู้ดำเนินงานได้ห้ามใช้ธงแดงในขบวนแถว    พรรคสังคมประชาธิปไตยได้ตัดสินใจเข้าร่วมเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้คนในชนชั้นของตนโดยไม่คำนึง ถึงความแตกต่างในทิศทางการต่อสู้       แต่ผู้ดำเนินการเคลื่อนไหวมีข้อแม้ว่าให้ขบวนแถวของพรรคสังคมประชาธิปไตยไปอยู่ท้ายขบวน     นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่พวกเขาส่วนใหญ่สามารถรอดพ้นจากความตายมาได้

ในขณะที่บรรดาผู้นำของสหภาพฯพยายามควบคุมขบวนแถว        แสดงให้เห็นถึงภาพการเดินขบวน โดยสันติเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของรัฐบาล, แต่ในท้ายที่สุดรัฐบาลและชนชั้นปกครองต่างตกอยู่ในอาการที่ตื่นตระหนกและเตรียมพร้อมที่จะให้บทเรียนเลือดแก่มวลชน        เวลาบ่ายสองโมงของวันอาทิตย์ที่  9 มกราคม  มวลชนกรรมกรต่างมารวมตัวกันที่หน้าพระราชวังฤดูหนาว   จตุรัสที่กว้างใหญ่หน้าพระราชวังดูเล็กแคบลงไปถนัดตาและแออัดไปด้วยฝูงชน     ไม่เพียงแต่กรรมกรเท่านั้นยังมีนักศึกษา    นักสังคมนิยมกลุ่มต่างๆ  สตรี   เด็ก  และผู้สูงอายุอีกเป็นจำนวนมาก     รวมแล้วประมาณ 140,000 คนพร้อมใจกันเดินไปยังประตูพระราชวังอย่างสงบ,สันติ และเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการร้องรำทำเพลง  ไม่มีธงทิว  ไม่มีการปราศรัย   ประชาชนส่วนใหญ่ล้วนสวมเสื้อผ้าชุดที่ดีที่สุดของตนที่ใช้ใส่ไปโบสถ์

ในบางเขตของเมือง...ขบวนคนงานถือธงสัญลักษณ์ทางศาสนา  ร้องเพลงสวดมนต์อวยพรแก่พระเจ้าซาร์   ทุกหนทุกแห่งประชาชนต่างมารวมตัวกันเป็นขบวน      พวกเขาร้องขอให้เจ้าหน้าที่เปิดทางให้,โบกธง และพยายามเดินอ้อมเครื่องกีดขวางไป      หรือไม่ก็พยายามรื้อถอนสิ่งกีดขวางเพื่อจะเดินต่อไปข้างหน้า  ทหารได้ใช้อาวุธยิงสกัดตลอดเวลา, มีผู้เสียชีวิตนับร้อย,บาดเจ็บนับพันคน     แต่ไม่สามารถบอกจำนวนที่แท้จริงได้เนื่องจากซากศพถูกขนใส่เกวียนและถูกนำไปฝังอย่างลับๆในเวลากลางคืน     อย่างน้อยมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายประมาณ 4,600 คน
การสังหารหมู่ในวันที่ 9 มกราคม ได้เผยให้เห็นโฉมหน้าของกษัตริย์ “นิโคลัส ผู้กระหายเลือด” ให้เป็นที่รับรู้กันอย่างแท้จริง    ไม่เพียงแต่มีความเหี้ยมโหดและน่ารังเกียจเท่านั้น   แต่ยังเป็นกษัตริย์ที่แสนจะโง่บัดซบอีกด้วย       ในวันที่ 22 มกราคม 1905 หลังการยิงใส่ประชาชนไม่กี่วัน  อีวา  โบรอิโด  ได้กล่าวระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า  “รัสเซียถูกปลุกให้ตื่นแล้ว   ทุกหนทุกแห่งประชาชนต่างออกมาแสดงความพึงพอใจ (ในกรณีตาสว่าง..ผู้แปล) ความเชื่อเก่าๆถึงราชธรรมและความมีเมตตาของพระเจ้าซาร์ผู้ที่มีฉายานามว่าเป็น ”พ่อของชาติ” นั้นได้จบสิ้นลง    แม้กระทั่งกรรมกรที่มีความคิดล้าหลังที่สุดก็สามารถเข้าใจได้ถึงการหลอกลวงของพระองค์เป็นอย่างดี”

หลังการสังหารหมู่ทำให้บาทหลวงกาปอนได้รับรู้ถึงความสยดสยอง   เขาได้กล่าวประณามพระเจ้าซาร์และเรียกร้องให้ลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ        บรรยากาศการประชุมในคืนของวันนองเลือดเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่เดือดพล่าน     กาปอนประกาศต่อหน้ากรรมกรที่มารวมตัวกันว่า “เราไม่ต้องการกษัตริย์อีกต่อไป”  ฝูงชนที่ปราศจากการนำได้ทะลักออกสู่ท้องถนนด้วยความโกรธแค้น     และในที่สุดบรรดานักปฏิวัติที่เคยถูกปฏิเสธ   ถูกขับไล่  กระทั่งถูกทุบตีทำร้าย  กลับกลายมาเป็นบุคคลที่ได้รับการสนใจกันอีก    การประชุมสมัชชาครั้งที่ 3 ตัวแทนของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้รายงานถึงเหตุการณ์ในตอนเย็นของวันที่ 9 ว่า นักปลุกระดมของบอลเชวิคออกตระเวนไปตามท้องถนน มองหากลุ่มกรรมกรเพื่อทำการปราศรัยชี้แจง    แต่พบว่ามันได้ก้าวล้ำขั้นตอนนั้นไปไกลโขแล้ว

มวลชนกรรมกรได้เรียนรู้สัจธรรมอย่างมากมายในเพียงไม่กี่ชั่วโมง  มากกว่าที่ได้จากการปลุกระดมและโฆษณาที่เคยรับฟังกันมากันมานับเป็นสิบๆปี   “เราได้เห็นเกวียนขนศพผู้ตายผ่านหน้าเราไป  ประชาชนที่วิ่งติดตามมาต่างตระโกน “โค่นซาร์ลงไป!  โค่นซาร์ลงไป!”   ฝูงชนพากันพังประตูร้านค้าเศษเหล็กในเขตวาซิลลี  เพื่อค้นหาอาวุธเท่าที่จะหาได้และติดอาวุธตนเองด้วยดาบโบราณ   นั่นเป็นเรื่องที่น่าเวทนา  แต่ประทับใจเป็นอย่างยิ่ง    ทุกแหล่งแห่งหนจะได้ยินแต่เสียงเรียกร้อง “อาวุธ  อาวุธ” ตกเวลาเย็นการจัดตั้งมีแนวโน้มที่จะก้าวไปสู่ความรุนแรง    นักปลุกระดมของเราต่างเฝ้าจับตาอย่างตั้งอกตั้งใจในขณะที่นักจัดตั้งทั้งหลายต่างตระเวนไปในที่ต่างๆตามต้องการ    ในแต่ละวันอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ควรได้รับการพิจารณาเฝ้าสังเกตุ”

ครั้งหนึ่งมาร์กซได้เขียนไว้ว่า   ในช่วงเวลาของการปฏิวัติความเป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติก็มีความจำเป็นคล้ายดั่งแส้ที่กระหน่ำตีลงมาและสามารถผลักดันให้การปฏิวัติเดินหน้าต่อไป     คำอุปมานี้คือผลพวงที่กรรมกรได้รับบทเรียนจากกาปอนในขณะนั้น, กาปอนเป็นเพียงปัจจัยของความบังเอิญที่เกิดขึ้นจากแรงเหวี่ยงของการเคลื่อนไหวต่อสู้ของมวลชน   ซึ่งเปรียบเสมือนฟองน้ำที่ลอยตัวอยู่บนยอดคลื่นอันทรงพลัง,ซึ่งปรากฏขึ้นเพียงชั่ววูบเท่านั้นก่อนที่จะแตกดับสูญสลายไปตลอดกาล      สิ่งที่ทำให้กาปอนประ สบความสำเร็จได้อย่างยิ่งยวดนั้น    ที่จริงแล้ว..มันเริ่มต้นจากบุคลิกภาพที่เรียบง่ายและเป็นกันเองของเขา   เขาเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยสัญชาติญาณของชนชั้นกรรมกร, แรกสุดคือการปลุกจิตสำนึกของมวลชน   แน่นอน.การเคลื่อนไหวของเขามีแนวโน้มที่แสวงหาวิธีการที่ถูกต่อต้านน้อยที่สุด   วิธีเก่าที่ยังใช้ได้ดีคือปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ผู้คนคุ้นเคยและการใช้ผู้นำที่มีชื่อเสียง
การเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ของวันอาทิตย์นองเลือดได้ทำให้มวลชนก้าวพ้นออกมาจากการหลอกลวงที่พระเจ้าซาร์กระทำมานานนับศตวรรษ     ในสถานการณ์ปฏิวัติ,จิตสำนึกของกรรมกรได้เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดและไร้ข้อจำกัด        จริงๆแล้วอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันนั้นประกอบด้วยปัจจัยพื้นฐานทั้งในช่วงของการปฏิวัติและก่อนหน้าการปฏิวัติ      คือในช่วงระยะเวลาปลายปีที่ผ่านมา   นักปฏิวัติของพรรคสังคมประชาธิปไตยได้พัฒนาตนเองให้กลายมาเป็นพลังที่ทรงอิทธิพลต่อชนชั้นกรรมาชีพแล้ว   และมีความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอตัวเองในฐานะของผู้นำการปฏิวัติของชาติ

เมื่อกลับมาจากการลี้ภัยในสวิตเซอร์แลนด์     เลนินได้เรียกร้องให้เหตุการณ์นองเลือดเดือนมกราคมเป็นการเริ่มต้นของการปฏิวัติในรัสเซีย    เขาเขียนว่า “ชนชั้นกรรมาชีพได้รับบทเรียนที่สำคัญมากในสงครามกลางเมืองครั้งนี้     การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพได้ให้การศีกษาแก่เรา   ทำให้เราก้าวหน้าได้ภายในหนึ่งวันมากกว่าที่เราได้เคยศึกษามาเป็นเวลาแรมเดือนหรือแรมปีซึ่งเป็นการศึกษาที่ค่อนข้างจะไร้สีสัน จืดชืด น่าเบื่อ  และยากลำบาก       คำขวัญของวีรชนชนชั้นกรรมาชีพของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่ว่า “ความตายหรืออิสรภาพ” นั้นได้ส่งเสียงดังกึกก้องไปทั่วรัสเซียแล้เว”
เหตุการณ์นองเลือดในเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก สร้างความไม่พอใจแก่สาธารณชนเป็นอย่างยิ่ง   การประท้วงด้วยการหยุดงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายไปอย่างรวดเร็วตามเมืองต่างๆที่เป็นศูนย์อุตสาหกรรมทั่วทั้งจักรวรรดิ์   ทั้งพรรคสังคมนิยมโปแลนด์และพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์และลิธัวเนียเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานทั่วไป    ปลายเดือนมกราคม 1905 คนงานรัส เซียและโปแลนด์กว่า 400,000 เข้าร่วมการหยุดงาน    กรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมของนักลงทุนชาวยุโรปในรัสเซียเข้าร่วมหยุดงาน   ในโปแลนด์มีกรรมกรรวมทั้งในฟินด์แลนด์และแถบชายฝั่งทะเลบอลติคเข้าร่วมถึง 93%    วันที่ 26มกราคมผู้ประท้วงในเมืองริกา(เมืองหลวงของลิธัวเนีย)ถูกฆ่าถึง 80 คน และเพียงไม่กี่วันผู้นัดหยุดงานในกรุงวอร์ซอของโปแลนด์ถูกยิงตายกลางถนนกว่า 100 คน 

การนัดหยุดงานลุกลามไปทั่ว   เดือนกุมภาพันธ์ในคอเคซัส  เมษายนในอูราลและแถบใกล้เคียง  สถาบันศึกษาระดับสูงจำต้องทยอยปิดการเรียนการสอน   นักศึกษาเสรีนิยมเข้าร่วมการนัดหยุดงานของกรรมกรตามมาด้วยการประท้วงของกรรมกรรถไฟในเดือนตุลาคม  เหตุการณ์ลุกลามไปทั่วทั้งเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กและมอสโคว์    มีการตั้งสภาโซเวียตคนงานขึ้นในเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กโดยกลุ่มเมนเชวิคที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การควบคุมของทร๊อตสกีได้ตั้งคณะตัวแทนขึ้นเพื่อนำการนัดหยุดงานของกรรมกรกว่า200 โรงงาน     กรรมกรกว่าสองล้านคนได้เข้าร่วมโดยเฉพาะกรรมกรรถไฟทั่วประเทศ    มีการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทั่วทั้งเขตคอเคซัสยังผลให้เกิดการฆ่าหมู่ชาวตาร์ตาในอาร์เมเนีย   บ้านเมืองเสียหายอย่างหนักจากการต่อสู้   รวมไปถึงเมืองบากู(เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจันในปัจจุบัน)แหล่งผลิตน้ำมันใหญ่ด้วย

ประกอบกับการเพลี่ยงพล้ำในสงครามตะวันออกไกลต่อญี่ปุ่น(1904–1905)  ทำให้เกิดการแข็งขืนขึ้นในกองทหาร    วันที่ 2 มกราคม 1905 กองทัพญี่ปุ่นพิชิตเมืองมุกเด็น  รัสเซียต้องสูญเสียกำลังพลไปเกือบ 80,000 นาย    กองเรือบอลติคพ่ายแพ้ในยุทธนาวีที่ช่องแคบ ซัทชึมะ     เคาท์ วิทเท ยื่นข้อเสนอต่อญี่ปุ่นขอเจรจาสงบศึกและต่อมาได้ร่วมเซ็นต์สัญญาสงบศึกที่เมืองปอร์ทสมัธในวันที่  5 กันยายน 1905   การเจรจาสงบศึกสร้างความไม่พอใจรัฐบาลเป็นอย่างมาก      มีการลุกฮือขึ้นตามฐานทัพเรือในเซวาส  โตโปล  วลาดิวอสสต๊อค  และคอนสตรัดท์  และขึ้นสู่จุดวิกฤตในเดือนมิถุนายนเมื่อเกิดการกบฎขึ้นบนเรือรบ โปเต็มกิน     แต่เนื่องจากเป็นการลุกขึ้นสู้แบบเป็นไปเองโดยไม่มีการวางแผนและการจัดตั้ง  จึงต้องประสบความพ่ายแพ้ไปในที่สุด      แม้จะเกิดความไม่สงบขึ้นในหน่วยทหารเรือ   แต่บรรดาทหารที่ไม่สนใจการต่อสู้ทางการเมืองส่วนใหญ่ยังมีความภักดีต่อรัฐบาลอยู่     จึงยังคงเป็นเครื่องมือของรัฐบาล พระเจ้าซาร์ในการใช้ปราบปรามควบคุมความไม่สงบในปี 1905

11. การปฏิวัติขึ้นสู่กระแสสูงและการลุกขึ้นสู้
ชนชั้นนายทุนเสรีนิยมเรียกร้องให้พระเจ้าซาร์ยอมรับสภาท้องถิ่นของพวกเขา(Zemstvo Congress ) อนุญาตให้ตั้งพรรคการเมืองได้และให้สิทธิ์ในการเลือกตั้งทั่วไป     ให้สภาดูมาเป็นองค์กรกลางในการออกกฎหมาย       พระเจ้าซาร์พิจารณาใคร่ครวญอยู่สามวัน     เนื่องจากต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อยและตระหนักถึงความจริงที่ว่า      กำลังทหารไม่สามารถจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดได้อีกแล้วจึงยอมลงนามใน  ”บทบัญญัติเดือนตุลาคม” ที่ร่างเสนอโดย  เคาท์ เซอร์ไก วิทเท และอเล๊กซิส  โอโบเลนสกี ยินยอมให้มีรัฐสภา(Duma)แห่งจักรวรรดิรัสเซียได้   แต่ให้มีฐานะเป็นแค่สภาที่ปรึกษาของพระองค์เท่านั้น       พระองค์ปรารภว่าทรงท้อแท้และเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้กระทำการทรยศต่อพระราชวงศ์ด้วยการจำยอมให้มีการเลือกตั้ง     แต่ให้สิทธิ์เฉพาะบางฐานันดรเท่านั้นที่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งได้ไม่ใช่ให้สิทธิ์แก่ประชาชนทั่วไป      ชนชั้นกรรมาชีพที่ก้าวหน้าได้เรียกร้องพระองค์ให้มอบอำนาจแก่สภาอย่างสมบูรณ์         ประชาชนทุกคนมีต้องสิทธิ์ในการเลือกตั้งและสิทธิในการตั้งพรรคการเมือง

เคาท์ เซอร์ไก วิทเท ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะรัฐมนตรีซึ่งเทียบเท่านายกรัฐมนตรี   เขาพยายามผลักดันให้มีการปฏิรูปการปกครองโดยให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ     มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งและเสนอร่างบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมือง      ความไม่สงบทำท่าจะรุนแรงขึ้นเมื่อสภาโซเวียตคนงานแห่งเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กเรียกร้องให้มีการหยุดงานทั่วไปอีก    มีการรณณรงค์ให้งดจ่ายภาษีและถอนเงินฝากจากธนาคาร    เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม  ชาวนาในหลายท้องที่ได้ก่อการจราจลเข้ายึดที่ดินและเครื่องมือจากเจ้าที่ดิน     

เมื่อบทบัญญัติเดือนตุลาคมถูกประกาศออกไป   ประชาชนตามเมืองใหญ่ๆต่างให้การสนับสนุน   การหยุดงานประท้วงใน เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กและที่อื่นๆจึงได้เพลาลงอย่างรวดเร็ว    มีการยื่นเสนอให้มีการนิรโทษกรรมทางการเมือง      กลุ่มอนุรักษ์นิยมทำข้อตกลงกันใหม่ในการต่อต้านการก่อความไม่สงบ  ฝ่ายขวาเริ่มโจมตีพวกฝ่ายซ้ายและชาวยิว     ในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมรัสเซียต่างพึงพอใจกับ”ประกาศเดือนตุลาคม”  เตรียมแต่งตัวเข้าสู่สภาดูมาจากการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้      พวกซ้ายจัดและฝ่ายนักปฏิวัติสังคมนิยมประณามและเรียกร้องให้เลิกล้มการเลือกตั้งที่รัฐบาลพระเจ้าซาร์อุปโลกน์ขึ้นด้วยการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ

เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนคือการลุกขึ้นสู้ที่ฐานทัพเรือ เซวาสโตโปลโดยการนำของอดีตนายทหารเรือ ปยอร์ท ชมิดท์ เป็นการต่อต้านรัฐบาลโดยตรง   แต่บางเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นจากความโกรธแค้นของฝูงชนซึ่งรวมไปถึงการก่อภัยอย่างอื่นด้วย      ภายหลังสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น  การประท้วงของคนงาน   การก่อความวุ่นวายของชาวนาและการก่อกบฏในหน่วยทหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง   จากสภาพที่ประชาชนชาวรัสเซียถูกบีบคั้นกดดันจากความโหดร้ายของสงคราม    กรรมกรอู่รถไฟได้เข้ายึดอำนาจในสาธารณรัฐชิต้าหรือทรานส์  ไบคาล   โดยได้รับความช่วยเหลือจากทหารที่พึ่งกลับจากสมรภูมิ  แมนจูเรีย        ดังนั้นรัฐบาลพระเจ้าซาร์จึงต้องส่งหน่วยทหารที่ยังจงรักภักดีไปคุ้มครองทางรถไฟสาย ทรานส์ไซบีเรีย     เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างเดียวกันอีก(การยึดทางรถไฟ)เพราะเป็นเส้นทางที่ใช้บรรทุกทหารปลดประจำการออกจากแมนจูเรียหลังสงคราม รัสเซีย-ญี่ปุ่น
กรรมกรรถไฟที่เมืองทิฟลิส(เมืองหลวงของจอร์เจียในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ทบีลิซี-ผู้แปล)ซึ่งเป็นชุมทางสำคัญ    กรรมกรประท้วงด้วยการดันขบวนรถให้ตกราง   ในมอสโคว์ระหว่างวันที่5 และ 7 ธันวาคม 1905 รัฐบาลส่งกำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วงจนเกิดการต่อสู้ประทะกันตามถนนสายต่างๆ   สัปดาห์ต่อมากองทหารเดินหน้าเข้ากวาดล้างแต่มวลชนคนงานปักหลักสู้อย่างกล้าหาญ   ทหารใช้ปืนใหญ่ยิงทำลายแนวป้องกันของคนงาน     มีผู้บาดเจ็บล้มตายนับจำนวนพันๆคน    บ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมากในที่สุดคนงานมอสโคว์ต้องยอมจำนน    เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่การลุกขึ้นสู้จะสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของคนงานในปี 1905    โปรเฟสเซอร์ มักซิม โควาเลฟสกี  รายงานต่อสภาดูมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 1906 ว่า  มีคนมากกว่า 14,000 คนถูกประหารชีวิต และ 75,000 ถูกจำคุก
ภายหลังนักทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตรัสเซียได้สรุปวิเคราะห์บทเรียนจากการปฏิวัติปี 1905 ไว้ในหนังสือ”ประวัติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตฉบับแก้ไขปรับปรุง " ( History of the communist party of the soviet union,Bolsheviks, Short Course)  หน้า 94 -95  ไว้ดังนี้

ภายในระยะอันสั้นเพียงสามปีของการปฏิวัติ(1905-07)ชนชั้นกรรมกรและชาวนาต่างก็ได้รับบทเรียนทางการเมืองที่ล้ำค่าชนิดที่ไม่เคยได้รับรู้มาก่อนตลอดระยะเวลาสามสิบปีที่ได้พัฒนามาในยามสันติ     สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนก็มีความแจ่มชัดยิ่งขึ้น
การปฏิวัติได้เปิดโปงระบอบซาร์ว่า....เป็นศัตรูของประชาชนอย่างแท้จริง(ไม่มีทางเป็นอย่างอื่น-..ผู้แปล) ดังสุภาษิตที่ว่า “หลุมศพเท่านั้นที่จะรักษาหลังของคนค่อมเหยียดตรงได้”
การปฏิวัติแสดงให้เห็นว่า....บรรดานายทุนเสรีนิยมนั้นเป็นพันธมิตรกับพระเจ้าซาร์  ไม่ใช่กับประชาชน   มันเป็นพลังต่อต้านการปฏิวัติ   การยินยอมประนีประนอมกับมันก็เท่ากับว่าทรยศต่อประชาชน

การปฏิวัติแสดงให้เห็นว่า ....มีแต่ชนชั้นกรรมกรเท่านั้นที่จะนำพาการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนได้     มีแต่พลังของชนชั้นกรรมกรเท่านั้นที่จะโค่นทำลายพวกชนชั้นนายทุนเสรีแห่งพรรครัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตยลงไปได้    ขจัดอิทธิพลของมันที่ครอบงำชาวนา  โค่นเจ้าที่ดิน   นำการปฏิวัติไปจนถึงที่สุดและบุกเบิกแผ้วถางหนทางไปสู่สังคมนิยม
สุดท้าย..การปฏิวัติแสดงให้เห็นว่าชาวนาผู้ที่รับภาระอันหนักอึ้ง  ที่แม้จะยังมีความโลเลอยู่แต่ก็เป็นพลังสำคัญที่จะผนึกเข้าเป็นพันธมิตรกับชนชั้นกรรมกร

แนวทางสองแนวที่เกิดขึ้นในพรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตยในช่วงการปฏิวัติคือแนวทางของบอลเชวิคและเมนเชวิค   ชาวบอลเชวิคมีความมุ่งมั่นที่จะขยายขอบเขตของการปฏิวัติโค่นระบอบซาร์ด้วยกำลังอาวุธเพื่อให้อำนาจการนำเป็นของชนชั้นกรรมกร       โดดเดี่ยวพรรครัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน       ผนึกกำลังกับชาวนาสถาปนารัฐบาลปฏิวัติเฉพาะกาลที่ประกอบด้วยตัวแทนของกรรมกรและชาวนาให้ลุล่วงไปด้วยชัยชนะของการปฏิวัติ    ในทางตรงกันข้าม,พวกเมนเชวิคกลับคัดค้านการปฏิวัติที่โค่นล้มระบอบซาร์ด้วยกำลังอาวุธ    พวกเขาต้องการเพียงการปฏิรูปและให้ ”ปรับปรุง”(ระบอบซาร์-ผู้แปล) เปลี่ยนการเป็นผู้นำของชนชั้นกรรมมาชีพ   โดยเสนอให้พวกนายทุนเสรีนิยมเป็นฝ่ายนำแทนที่พันธมิตรของกรรมกร-ชาวนา      เสนอให้สร้างพันธมิตรกับพรรครัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน   ตั้งรัฐบาลแทนรัฐบาลเฉพาะกาลของพันธมิตรกรรมกร/ชาวนา    พวกเขายังเสนอให้สภาดูมาเป็นศูนย์กลางของพลังปฏิวัติทั่วประเทศอีกด้วย
พวกเมนเชวิคได้จ่อมจมอยู่ในหล่มปลักของการประนีประนอมเสียแล้ว   และกลายไปเป็นเครื่อง มือให้แก่ชนชั้นนายทุนในการขยายอิทธิพลครอบงำชนชั้นกรรมกร  เป็นนายหน้าที่แท้จริงของชนชั้นนายทุนนั่นเอง”

สำหรับเลนินได้ลอบกลับรัสเซียในเดือนพฤศจิกายน 1905 เพื่อร่วมการปฏิวัติ  แต่ต้องหลบๆซ่อนๆอยู่ตลอดเวลาเพราะการติดตามของตำรวจที่ได้ข่าวจากสายลับซ้อน     ได้แต่เดินทางไป-มาระหว่างรัสเซียและฟินแลนด์        หลังการปฏิวัติพ่ายแพ้จึงต้องลี้ภัยไปต่างประเทศอีกครั้งหนึ่งกว่าจะได้กลับมาก็ตกปี 1917   ชีวิตของเลนินช่วงนี้เป็นช่วงที่ยากลำบากมากไม่ว่าความเป็นอยู่ที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ    ไหนจะต้องต่อสู้ทางความคิดกับปรปักษ์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นปรปักษ์ทางชนชั้นและบรรดานักปฏิวัติด้วยกัน เอง     ไม่เพียงแต่กับพวกเมนเชวิคเท่านั้นยังต้องต่อสู้กับแนวคิดเอียงซ้าย-เอียงขวาของสหายบางส่วนที่มีรากฐานทางชนชั้นมาจากปัญญาชนนายทุนน้อยในกลุ่มบอลเชวิคอีกด้วย   แม้จะลำบากเพียงใดเลนินก็มีความปักใจศึกษาและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาลัทธิมาร์กซเพื่อปรับให้เข้ากับสภาพสังคมรัสเซีย    ครุฟสกายาผู้เป็นทั้งภรรยาละมิตรร่วมรบได้เล่าถึงวิธีศึกษาของเลนินว่า

หลังจากการย้ายที่พำนัก   จึงมีความเป็นไปได้สำหรับเลนินที่เริ่มศึกษาและคุ้นเคยกับงานนิ  พนธ์ต่างๆของมาร์กซและเองเกลส์    ประวัติของมาร์กซที่เลนินเขียนให้หนังสือพิมพ์ “กรานาท เอนไซโคลพีเดีย”  บ่งแสดงความถึงความรับรู้ที่น่าทึ่งของเลนินที่มีต่องานมาร์กซดีกว่าสิ่งอื่นใด   มันแสดงว่าเลนินมีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะตักตวงเอาความรู้ขณะที่อ่านงานของมาร์กซ     ที่สถาบันเลนินมีสมุดบันทึกของท่านมากมายโดยเฉพาะจากงานของมาร์กซ”
........”เลนินได้ใช้ความรู้จากบันทึกเหล่านี้   อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าจดและหมายเหตุเอาไว้  ท่าน  ไม่เพียงแต่ศึกษามาร์กซเท่านั้นแต่ยังใคร่ครวญต่อคำสอนของมาร์กซอย่างลึกซึ้งอีกด้วย.....เลนินไม่เพียงจะศึกษางานของมาร์กซเท่านั้น    แต่ยังศึกษาว่าบรรดานายทุนและนายทุนน้อยที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับมาร์กซอีกด้วย....ทำการสรุปข้อวิจารณ์อย่างระมัดระวัง  เลือก และทำสำเนาไว้อย่างชัดเจนสำหรับประโยคหรือถ้อยคำที่คัดค้านคำสอนของมาร์กซและลงมือวิเคราะห์อย่างระมัดระวังในข้อความที่วิจารณ์       เพื่อสามารถนำไปโต้แย้งอธิบายสิ่งที่ลัทธิมาร์กซได้นำเสนออย่างไรอีกด้วย”  
“....... สุภาษิตฝรั่งเศสบทหนึ่งกล่าวว่า “สัจธรรมเริ่มจากการไม่ลงรอยกันทางความคิด” (De choc des opinions jaillit la verite) ซึ่งเลนินชอบที่จะนำมาใช้อยู่เสมอ   ท่านได้ให้ความกระจ่างในเรื่องความแตกต่างทางชนชั้นจากมุมมองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคลื่อน ไหวของชนชั้นกรรมกรมาตลอด      มันเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่ว่าทำไมเลนินจึงได้กำหนดมุมมองในด้านที่แตกต่างกันไว้เคียงข้างกันอยู่เสมอ       ที่เป็นเช่นนี้ท่านจึงสามารถทำให้เรื่องต่างๆง่ายลง     วิธีการที่หลากหลายเหล่านี้จะพบเห็นใน (Volume XIX  )หรืองานซึ่งได้กลั่นกรอง ตรวจสอบ วางแผน แล้วจึงลงมือเขียน  เช่นปัญหาชาวนาที่ได้รวบรวมไว้ตั้งแต่ก่อน ปี 1917....”   (จาก “เลนินศึกษามาร์กซอย่างไร?/How Lenin studied  Marx?..ครุฟสกายา)

เพราะการไม่ยอมก้มหัวและประนีประนอมกับหลักการที่ขัดต่อคำสอนของมาร์กซทำให้ถูกมองว่าเป็นเผด็จการ      ยิ่งแนวทางปฏิวัติที่ต่อสู้ด้วยอาวุธทำให้เขาถูกประณามจากเหล่าชาวเมนเชวิคว่าแนวทางของเขา  ”ทำให้ชนชั้นนายทุนหวาดกลัวจนไม่กล้าเข้าร่วมการปฏิวัติ  เป็นการทำลายการปฏิวัติ”    ซึ่งเป็นการมองข้ามลักษณะชนชั้นของนายทุนที่เป็นประเด็นหลักไปอย่างมืดบอด

ในด้านทฤษฎีเลนินไม่เพียงแต่จะศึกษางานของมาร์กซ-เองเกลส์ เท่านั้น     ยังศึกษางานของ เฮเกล(Hegel) , ฟอยเออร์บัค(Feuerbach )  และนักปรัชญาท่านอื่นๆอย่างจริงจังอีกด้วย     โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาจิตนิยม(idealism)ที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษ(Dialectic Materialism)ของมาร์กซอย่าง     อิมมานูเอล  ค้านท์ (Imanuel Kant) นักปรัชญาชาวเยอรมันและนักปรัชญาจิตนิยมคนอื่นๆอีกด้วย    เนื่องจากมีความรอบรู้อย่างกว้างขวางทำให้เลนินสร้างงานด้านทฤษฎีปฏิวัติที่มีลักษณะพิเศษขึ้นมาจากลัทธิมาร์กซ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพรรคการเมืองที่เป็นกองหน้าปฏิวัติ   นำคำสอนและความจัดเจนของมาร์กซไปกำหนดยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวปฏิวัติ ฯลฯ    ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ลัทธิเลนิน”

No comments:

Post a Comment