Monday, March 23, 2015

เลนิน บนเส้นทางปฏิวัติ (6)

ชนวนของการปฏิวัติ
วันที่ 9 มกราคม 1905
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท   

“เนื่องจากข้าพระพุทธเจ้าเหล่ากรรมกรทั้งหลายพร้อมด้วยภรรยาและลูกหลาน,พ่อแม่ที่แก่เฒ่าไร้ที่พึ่ง    ต้องมาขอเข้าเฝ้าพระองค์...เพื่อแสวงหาความยุติธรรมและความคุ้มครองจากพระองค์ พวกข้าพระ พุทธเจ้าทั้งหลายล้วนแต่เป็นคนยากไร้  ถูกกดขี่บังคับให้ใช้แรงงานจนเกินกว่าที่จะทนต่อไปได้แล้ว     ถูกหยามเหยียดประหนึ่งมิใช่มนุษย์ถูกกระทำย่ำยีและปฏิบัติต่อราวกับทาสที่ไม่สามารถมีปากเสียงใดๆ   พวกข้าพระพุทธเจ้าได้รับทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่งมีสภาพไม่ต่างจากขอทานไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมายและไม่ได้รับการเหลียวแล ถูกบีบคั้นด้วยกฎเกณฑ์เผด็จการที่ตั้งขึ้นตามอำเภอใจ ความอดทนของพวกข้าพระพุทธเจ้าจวนเจียนจะถึงที่สุดแล้วในเวลาเช่นนี้ย่อมเป็นการดีที่จะตายเสียดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยความปวดร้าวทรมาน”

ถ้อยคำเหล่านี้ทำให้ชนชั้นกรรมกรรัสเซียได้ก้าวเข้าสู่เวทีประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกด้วยการยื่นเรื่องถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพระเจ้าซาร์ผู้เป็นประหนึ่ง ”พระบิดาน้อย”(Little father)[1]ของชาติด้วยมือของตนเอง  หลังจากนั้นอีก11เดือนภายใต้การนำของพรรคการเมืองลัทธิมาร์กซ  ชนชั้นกรรมกรรัสเซียก็ได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับชนชั้นปกครอง ในช่วงหลายเดือนที่การปฏิวัติครั้งแรกในรัสเซียได้ถูกเล่าขานแพร่ กระจายออกไปอย่างรวดเร็วในหมู่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานรวมไปถึงบรรดาชนชั้นผู้ถูกกดขี่ทั้งหลายในสังคม  และยังผ่านไปสู่แนวทางการต่อสู้ที่เป็นมีลักษณะอุดมคติที่หลากหลายและวิธีการต่อสู้อื่นๆ  เช่นการหยุดงานทางเศรษฐกิจ การร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ ตลอดไปถึงการนัดหยุดงานทั่วไปและการเดินขบวนประท้วง...กระทั่งการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ 
    
ปี 1905 การปฏิวัติได้ปรากฏขึ้นอย่างเปิดเผย แม้ว่าจะเป็นเพียงหน่ออ่อนและเป็นการซ้อมใหญ่ก็ตาม   กระบวนการพื้นฐานนี้ได้เกิดซ้ำขึ้นอีกและยกระดับสูงขึ้นในอีกใน 12 ปีให้หลัง เพื่อให้ชัยชนะขั้นสุด ท้ายของชนชั้นกรรมาชีพเป็นความจริงขึ้นมาในเดือนตุลาคม 1917  แนวทางของปี 1905 ความคิดทั้งหลาย   นโยบายต่างๆ  พรรค  และบรรดาผู้นำต่างได้รับการตรวจสอบมาตลอด   ประสบการณ์ของการปฏิวัติครั้งแรกเป็นเครื่องตัดสินการพัฒนาและแนวโน้มในอนาคตของสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย

ก่อนที่การปฏิวัติปี 1905 จะเกิดขึ้นในขณะนั้นพรรคสังคมประชาธิปไตยกำลังตกต่ำสุดขีดจากการแตกแยกและการถูกไล่ล่าจับกุมการต่อสู้กันของกลุ่มที่แตกแยกเป็นฝักฝ่ายภายในพรรคทำให้การเคลื่อนไหวต่อสู้กับศัตรูต้องหยุดชะงักไปหลายเดือนการเคลื่อนไหวภายในรัสเซียเองไม่ได้รับการยอมรับและเกิดการหลงทิศผิดทางขึ้น เนื่องจากขาดการชี้นำจากศูนย์กลางพรรคที่อยู่ภายนอกประเทศ  ตัวแทนกลุ่มบอลเชวิคถูกถอดถอนออกจากองค์กรต่างๆ  จนกระทั่งเดือนธันวาคม 1904  หนังสือพิมพ์ วีเปอร์ยอด(Vperyod) ฉบับแรกจึงสามารถออกมาได้  การขาดแคลนเงินทุนคงทำให้ฐานะของ วีเปอร์ยอดไม่ค่อยจะมั่นคงนักกลุ่มเมนเชวิคซึ่งมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนมากกว่าแต่การเคลื่อนไหวใต้ดินภายในประเทศกลับมีน้อยกว่า ยกเว้นบางพื้นที่เช่นแถบคอเคซัสใต้แต่ที่นั่นผู้ปฏิบัติงานค่อนข้างจะอ่อนแอ

ในเวลานั้นแม้จะมีการเคลื่อนไหวงานใต้ดิน ก็ยากที่จะประเมินความเข้มแข็งที่แท้จริงของบอลเชวิคได้   ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กยังมีการบริหารองค์กรพรรคร่วมกันอย่างปกติ   จนกระทั่งถึงเดือนธันวาคม 1904 เมนเชวิคจึงได้แยกตัวออกไป เมื่อถึงเวลานั้นผู้สนับสนุนเลนินต่างได้กลับเข้ามาบริหารพรรคอีก  แต่การต่อสู้ภายในที่ผ่านมาทำให้งานของพรรคเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้จากภาพสะท้อนของจำนวนใบปลิวที่สมาชิกบอลเชวิคเคลื่อนไหวแจกจ่ายในปีเตอร์สเบิร์กเมื่อปี 1904 มีแค่ 11 ครั้งเท่านั้นเมื่อเทียบกับปี 1903 ที่มี 55 ครั้ง และ 117 ครั้งในปี 1905โดยทั่วไปแล้ว  องค์กรจัดตั้งของบอลเชวิคในรัสเซียในครึ่งหลังของปี 1904 นั้นถือว่ามีความตกต่ำมาก ผู้ปฏิบัติงานเต็มเวลา(นักปฏิวัติอาชีพ) ต่างไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของการแตกแยก และได้รับผลสะเทือนด้านลบจากการแยกตัวออกไปของนักประนีประนอมในคณะกรรมการกลางของพรรค แม้จะได้รับคำอธิบายและให้กำลังใจจากเลนินก็ตาม แต่พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะไปเข้าร่วมกับกลุ่มเมนเชวิค ซึ่งกำลังอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ  โดยการส่งทั้งตัวแทนและเงินจำนวนมากเข้าไปในรัสเซีย ในไม่ช้าก็สามารถเข้าไปครองเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการบริหารองค์กรพรรคแทนกลุ่มบอลเชวิค

ความผิดพลาดและความเฉื่อยชาของคณะกรรมการฯ เป็นสาเหตุให้กรรมกรแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เกิดความรู้สึกไม่พอใจเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้นที่จะเอียงไปทางเมนเชวิค คณะกรรมการแห่งเมืองนาร์วา(Narva ปัจจุบันอยู่ในประเทศเอสโทเนีย)ได้ออกมติชี้ชัดถึง ” ความเบื่อหน่ายที่จะทำงานต่อไปภายใต้การนำของคณะกรรมการ ” คณะกรรมการแห่งวาซีเลียฟ (Vasiliev) ออสตร๊อฟ (Ostrov) ได้ผ่านมติ“ไม่ไว้วางใจในการนำของคณะกรรมการบอลเชวิค” ในส่วนของ นาร์วา เนวา วาซิเลียฟ  ออสตร๊อฟ  และ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  กรรมกรได้แยกตัวออกไปเป็นจำนวนมากและประกาศเข้าร่วมกับเมนเชวิค และในเดือนธันวาคมต่างก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเอง  คณะกรรมการทั้งสองส่วนนี้ก็ดำรงอยู่ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กว่าจะได้รับการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก็เมื่อครั้งการประชุมสมัชชาพรรคที่ที่สต๊อคโฮม(สวีเดน) เมื่อปี 1906

การสูญเสียทั้งพื้นที่และผู้ปฏิบัติงานในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กทำให้เลนินต้องรับภาระที่หนักอึ้ง มันเป็นการสูญเสียอิทธิพลและการชี้นำของบอลเชวิคให้แก่เมนเชวิคอย่างต่อเนื่องในเดือนต่อๆมา ทำใหัทุกสิ่งทุกอย่างเลวลง, และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเป็นการสูญเสียที่ส่งผลให้บอลเชวิคต้องขาดผู้นำในระดับท้องถิ่น เลนินต้องกุมศีรษะเมื่ออ่านคำอธิบายจากจดหมายของ โรสซาเรีย เซ็มลียาชกา ตัวแทนบอลเชวิคในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เธอรายงานว่า“พวกเมนเชวิค ยกโขยงกันเข้ามาในรัสเซียอย่างไม่รู้จักหมดสิ้น...คณะกรรมการกลาง(ฝ่ายเมนเชวิค...ผู้แปล)ได้จัดการเปลี่ยนให้ผู้คนมาคัดค้านเรา เราเองก็ไม่มีกำลังพอที่ต่อสู้และรักษางานเอาไว้ได้  ข้อเรียกร้องต้องการของผู้คนมาจากทั่วทุกสารทิศ มันจึงมีความจำเป็นที่คณะกรรมการกลาง(ฝ่ายบอลเชวืค...ผู้แปล) ควรจะเดินทางกลับไปอย่างเร่งด่วน  ไม่มีใครสักคนที่จะสามารถเดินทางออกไปได้  ฉันจำต้องทิ้งสำนักงานและแฝงตัวเข้าไปทำงานในท้องถิ่น  ทุกอย่างดูจะเลวร้ายไปหมด....เราต้องการกำลังคน  ทุกคนต่างก็เรียกร้อง  ไม่มีใครที่เราพอจะทำงานด้วยได้...”  และในบันทึกยังกล่าวต่อไปอีกว่า

“เรากำลังก้าวสู่จุดเสี่ยงที่จะสูญเสียเมืองแล้วเมืองเล่าจากการขาดแคลนกำลังคน    ทุกๆวันฉันได้รับจดหมายกองพะเนินจากหลายๆที่...เรียกร้องให้ส่งคนไปช่วย...นี่ก็พึ่งจะตอบจดหมายจากเยคัธรินโนสลาฟ   พวกเขาขอให้ส่งคนและเงินไปช่วยไม่เช่นนั้นคงรักษาเยคัธรินโนสลาฟไว้ไม่ได้...แต่เราไม่มีคนเลยจริงๆ    คนแล้วคนเล่าต่างก็เลิกราไปโดยไม่มีผู้ปฏิบัติงานใหม่ๆเข้ามาเสริมเลยแม้แต่คนเดียว   ในขณะเดียวกันทุกหนทุกแห่งมีแต่คนของเมนเชวิคอยู่ในตำแหน่งเต็มไปหมด....มันน่าจะง่ายขึ้นที่จะขับ เคลื่อนงานต่อไปขอเพียงแต่เรามีกำลังคนเท่านั้น     ส่วนสำนักงานก็คงเป็นแค่เทพนิยายตั้งแต่พวกเราทั้งหมดไปเคลื่อนไหวงานในท้องถิ่น”

จดหมายพวกนี้เขียนเมื่อวันที่ 7 มกราคม 1905 สองวันก่อนถึงวันอาทิตย์นองเลือด   ความไม่พอใจจากการขาดแคลนผู้ปฏิบัติงาน    แสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นในคณะกรรมการทั้งหญิงและชายในหมู่มวลชนกรรมกร   แทนที่จะเสริมเลือดใหม่ๆเข้าไปในคณะกรรมการ,เปิดเงื่อนไขสำหรับกรรมกรและคนหนุ่มสาวให้มากขึ้น,หาทางแก้ปัญหา, เรียกร้องนักปฏิวัติอาชีพกลับจากต่างประเทศ      ทุกๆบรรทัดของจดหมายแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนคือ     ไม่สามารถเข้าไปเชื่อมงานกับฝ่ายนำของหน่วยเคลื่อนไหวที่กุมบทบาทที่เป็นจริงของขบวนการชนชั้นกรรมกรได้   ในสถานการณ์เช่นนี้  ลิทวินอฟ  ได้เขียนจดหมายเสนอข้อคิดเห็นต่อเลนินว่า 

“ความยุ่งยากที่เธอ (เซ็มลียาชกา) ไม่ได้ตระหนักเลยแม้แต่น้อยว่าอะไรคือวิกฤติและอะไรคือภาวะที่น่าสมเพชของชาติเรา ?  ในแวดวงทั้งหมด,ถ้าหากทุกหนทุกแห่งต่างก็ต่อต้านเรา  เราคงต้องประสบกับความยากลำบากมิใช่น้อย   การเติบใหญ่ของพรรคชนชั้นกรรมาชีพยังพอจะทำให้เราคิดได้ว่า  เรายังดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลุ่มก้อนของมวลชนกรรมกรที่ไร้การจัดตั้ง  ที่ไม่มีการสนับสนุนใดๆมาตั้งแต่มีการปรองดองกัน(ของคณะกรรมการกลางและเมนเชวิค) ทัศนคติของคณะกรรมการกลางเปลี่ยนแปลงไป   ความพยายามทั้งหมดของพวกเรากลายเป็นการดิ้นรนไปสู่ความตายของบอลเชวิค ไม่เคยมีการประชุม(อย่างน้อยแม้แต่การประชุมลับ),ไม่มีการปลุกระดมเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติในระดับกว้าง    ผมขอย้ำว่า...สถานภาพของเราขณะนี้สั่นคลอนและอันตรายอย่างที่สุด   เราสามารถหาทางออกได้เพียงสองทางเท่านั้นคือ   
1. เรียกประชุมสภาโดยทันที(ไม่ควรเกินเดือนกุมภาพันธ์) และ 
2.เริ่มออกหนังสือพิมพ์ให้เร็วที่สุด   

หากไม่สามารถบรรลุทั้งสองข้อนี้ให้เร็วแล้ว เราจะต้องก้าวไปสู่ความหายนะอย่างแน่นอนและเป็นก้าวที่จะชี้ชะตากรรมของพรรคด้วย   บางทีเราจำเป็นต้องยอมสูญเสียปีเตอร์สเบิร์ก  เมนเชวิคกลุ่มใหญ่จะยึดกุมที่นั่น....เราควรสำแดงพลังของเราที่นั่น..แต่ใครละจะเป็นคนทำ?” บอลเชวิคกำลังตกอยู่ในความยุ่งยากแต่เมนเชวิคเองก็ไม่ได้ดีไปกว่านั้น  ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนกรรมกร     องค์กรสังคมประชาธิปไตยในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเริ่มแต่ มกราคม 1905 เป็นต้นมาไม่ว่าจะใช้มาตรการใดๆก็ยังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ  โซโลมอน ชวาร์ซ (Solomon Schwarz)บันทึกไว้ว่า  

“เดือนธันวาคม 1903 มีเพียง 18 กลุ่มโรงงานที่เข้าร่วมในองค์กรสังคมประชาธิปไตยและสมาชิกของแต่ละกลุ่มมีเพียง 7 ถึง 10 คน ซึ่งเท่ากับมีสมาชิกที่เป็นกรรมกรทั้งหมดเพียงไม่เกิน 180 คน  ถ้าสมาชิกที่เป็นนักศึกษาและปัญญาชนมีจำนวนพอๆกันนี้    สมาชิกทั้งหมดก็น่าจะมีประมาณ 360 คน    ในช่วงหน้าหนาวปี 1904 สมาชิกคณะกรรมการและนักเคลื่อนไหวกิจกรรมมีจำนวนลดลงและการติดต่อสัมพันธ์กับฝ่ายซ้ายในต่างประเทศก็น้อยลงมากหรือเกือบจะไม่มีเลย ในทำนองเดียวกันสามารถกล่าวได้ว่ากลุ่มเมนเชวิคก็ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนมากไปกว่าเรา   ในเขตหนึ่งๆมีหน่วยย่อยเพียง 15 ถึง 20  หน่วย    และในเดือนธันวาคมปี 1904 เหลือเพียง 4 ถึง 5 หน่วยเท่านั้น”

พี เอ การ์วี  สมาชิกระดับนำคนหนึ่งของเมนเชวิคได้อธิบายสภาพในกรุงเคียฟก่อนปี 1905 ว่า
”การขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานเป็นเรื่องที่น่าประหลาด,  การห่างเหินจากมวลชนกรรมกรและผลประโยชน์รายวันของพวกเขา,  การไม่มีชีวิตทางการจัดตั้งหากเทียบกับเวลาที่ผ่านมา  มีผลกระทบต่อผมในเคียฟ  มันเป็นสภาวะการที่ห่อเหี่ยวมากหากเทียบกับชีวิตการจัดตั้งเมื่อก่อนที่โอเดสสาในช่วงปี 190-1902 ที่มีแต่ความกระตือรือล้น , มีการจัดประชุมที่เคียฟ, มีการประชุมในส่วนของผู้ทำหน้าที่โฆษณาเพื่อชี้นำหน่วยงานโฆษณา ซึ่งส่วนมากจะเป็นการทำใบปลิวแจกจ่ายไปตามหน่วยต่างๆนั่นเป็นที่ทำทั้งหมด”

“ผมก็ยังเดินหน้าต่อไป   กล่าวได้ว่าตลอดปี 1905 ทั้งในเคียฟ รอสตอฟ และมอสโคว์  แต่ละวันต้อง ต่อสู้ดัดแปลงผู้ปฏิบัติงานของเราในองค์กรจัดตั้งของพรรค ซึ่งเป็นแหล่งรวมของผู้ปฏิบัติงานหนุ่มสาวที่ขาดประสบการณ์  ขี้โมโห ใจร้อน เด็ดเดี่ยว แต่กลับอ่อนด้อยในเรื่องความสัมพันธ์กับมวลชนกรรมกรและไม่มีบารมีในโรงงาน  นักสังคมประชาธิปไตยรุ่นเก่าซึ่งเป็นกองหน้าที่แท้จริงของมวลชนกรรมกร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงที่มีการโฆษณารณณรงค์ในเรื่อง ”ลัทธิเศรษฐกิจ[2]” คนงานรุ่นเก่าเหล่านี้ต่างไม่เข้าร่วมในการนัดหยุดงานเมื่อเดือนตุลาคม  ไม่ว่าจะในเคียฟ รอสตอฟ และมอสโคว์   ผม..ไม่เพียงแต่ผมเท่านั้นที่ต้องหันไปใช้วิธีการที่แยบยลเพื่อดึงเอาคนเก่าแก่เหล่านั้นให้หันกลับมาทำงานให้พรรคอีก  แต่ดูเหมือน ว่าพวกเขากลับมาอย่างไม่สู้จะเต็มใจนัก  พวกเขาไม่เชื่อถือในองค์กรจัดตั้งและวิธีทำงานของเรา”

-----------------------------------------------------------------------------------------
[1] พระบิดาน้อย (Little  father)  เป็นสมัญญานามของพระเจ้าซาร์ในฐานะที่ถูกยกย่องให้เป็นเสมือน “พ่อ” ของประชาชนรัสเซีย   รองลงมาจากพระบิดาใหญ่ (Great father) ซึ่งหมายถึงพระเยซูคริสต์

เลนิน บนเส้นทางปฏิวัติ (5)

8. การประชุมสมัชชาครั้งที่2ของพรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตยรัสเซีย
ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน 1902  ”สันนิบาติกรรมกรยิว” ได้ประชุมเพื่อกำหนดการประชุมสมัชชาครั้งที่สองของพรรคไว้แล้วในเดือนมิถุนายนที่เมือง เบลโลสต๊อค  ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของโปแลนด์ หลังจากการประชุมผู้แทนทุกคนถูกจับกุมยกเว้นตัวแทนจาก เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก คณะกรรมการจึงได้ตัดสินใจที่จะจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการขึ้นคณะหนึ่งสำหรับการประชุมสมัชชาโดยเฉพาะในการประชุมบรรดากลุ่ม-พรรคสังคม-ประชาธิปไตยเมื่อเดือนพฤศจิกายน1902 (ปฏิทินใหมGregorian calendar)   ครุฟสกายาได้ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“การเตรียมการอย่างกว้างขวางสำหรับการประชุมสมัชชาดำเนินรุดหน้าไปตลอดฤดูหนาว   มีการตั้งคณะกรรมการจัดการเพื่อเตรียมการประชุมสมัชชาขึ้นชุดหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 1902 (ตามปฏิทินเก่า Julian carlender) ประกอบด้วยสมาชิกจาก  ยูซนี ราโบชี   สหภาพภาคเหนือ  จาก คราสนูดา ,เอ.เอ. รัดเชนโก ,  เลงค์นิค , คราชินานอฟสกี , สันนิบาติกรรมกรยิว เข้ามาร่วมภายหลัง”

การประชุมสมัชชาของพรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตยรัสเซียมีขึ้นในระหว่าง 30 กรกฎาคมถึง 23สิงหาคม 1903 ที่โกดังเก็บแป้งสาลีขนาดใหญ่ในกรุงบรัสเซลล์ประเทศเบลเยี่ยม การประชุมดำเนินไปได้เพียง 13 วาระ (ถึงแค่วันที่ 6 สิงหาคม) และไปเริ่มประชุมกันต่ออีก 24 วาระ ที่กรุงลอนดอน  จนจบการประชุม  ที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากรัฐบาลเบลเยียมถูกกดดันจากสถานทูตรัสเซียตำรวจเบลเยียมจึงได้ผลักดันตัวแทนผู้ประชุมทั้งหมดออกนอกประเทศ การประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากบรรดาพรรคลัทธิมาร์กซรัสเซียซึ่งได้ประกาศอย่างเปิดเผยเมื่อการประชุมสมัชชาครั้งแรกของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย    

การประชุมสมัชชาครั้งแรกนั้นเป็นเพียงการประกาศก่อตั้งพรรคเท่านั้นที่ได้ผ่านมติออกมายังไม่ได้มีโครงการหลักนโยบายอะไรออกมาเลย ส่วนการประชุมครั้งนี้เป็นการวางรากฐานทางอุดมการณ์และโครงสร้างของพรรคได้มีการนำปัญหาพื้นฐานทางทฤษฎีขึ้นมาพิจารณา ทุกโครงการได้ใช้เวลาอภิปรายตรวจสอบกันอย่างกว้างขวาง ทุกคำ ทุกประโยค  ถูกแปรญัตติ  และโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน   หนังสือ ”ประวัติสังเขปพรรคบอลเชวิค” ได้บรรยายบรรยากาศของการประชุมครั้งนั้นไว้ดังนี้

“ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมสมัชชาครั้งนี้มีอยู่ 43 คนเป็นตัวแทนขององค์กรจัดตั้ง 26 แห่ง  คณะกรรมการพรรคขององค์กรจัดตั้งทุกแห่งมีสิทธิ์ส่งผู้แทนได้ 2 คน  แต่บางแห่งส่งเพียงคนเดียวดังนั้นผู้แทน 43 คนจึงมีสิทธิ์ลงคะแนนรวม 51 เสียง...มีผู้สนับสนุนอิสครา(กลุ่มเลนิน)33 คนเป็นเสียงข้างมาก   และในบรรดา 33 คนนี้มิใช่ผู้ที่สนับสนุนฝ่ายอิสคราเสียทั้งหมด   มีเพียง 24 เสียงเท่านั้นที่เหนียวแน่นอยู่กับฝ่ายอิสคราส่วนอีก 9 คนเป็นพวกที่ยังโลเล      พวกเขาสนับสนุนมาร์ตอฟ     และยังมีตัวแทนอีกกลุ่มหนึ่งที่แกว่งไปมาระหว่างฝ่ายอิสครากับฝ่ายทคัดค้าน  พวกนี้มีอยู่ 10 เสียง เป็นฝ่ายกลาง    ส่วนฝ่ายที่ค้านอิสคราอย่างเปิดเผยมีอยู่ 8เสียง เป็นนักลัทธิเศรษฐกิจ 3 คนและฝ่ายบุนด์[1]5 คน [ 33+10+8 = 51]

ว่าด้วยแนวทางใหญ่ของพรรคที่ควรให้การสนับสนุน”เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ“ นั้นได้รับเสียงสนับสนุนเกือบทั้งหมดมีเพียงนักเศรษฐศาสตร์ อาคิมอฟ เท่านั้นที่งดออกเสียง มาตราที่หนึ่งว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติของสมาชิกพรรคเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตยได้แตกออก เป็นสองฝ่ายด้วยความเห็นที่ไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรง ต่อประเด็นที่ว่า   

คนอย่างไรจึงเป็นสมาชิกพรรคได้?  องค์ประกอบของพรรคควรเป็นเช่นไร? และในการจัดตั้ง..พรรคควรเป็นองค์รวมขององค์กรจัดตั้งทั้งหมด  หรือเป็นสิ่งที่มีสัณฐานไม่แน่นอน(รวมกันแบบหลวมๆ)   

เลนินเสนอว่า ...ผู้ที่ยอมรับหลักนโยบายของพรรค  ให้การสนับสนุนทางวัตถุปัจจัยและต้องเป็นสมาชิกขององค์กรจัดตั้งหนึ่งใดของพรรคล้วนเป็นสมาชิกพรรคได้  ด้วยเหตุผลว่าพรรคเป็นขบวนการที่มีการจัดตั้ง,  การสมัครเป็นสมาชิกพรรคมิใช่จะลงชื่อแล้วก็เข้าพรรคได้ด้วยตนเอง หากต้องผ่านองค์กรจัดตั้งใดๆของพรรคเป็นผู้รับเข้ามาและพวกเขาต้องปฏิบัติตามวินัยพรรค ที่เลนินเสนอเช่นนี้เพราะมีเป้าประ สงค์ที่จะบ่มเพาะสมาชิกผู้ที่ซื่อสัตย์เอาการเอางานเพื่อเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวต่อสู้ในอนาคต  โดยมีโครงสร้างทางการจัดตั้งเป็นหน่วยเล็กๆที่คล่องตัว มิใช่มีบทบาทเพียงแค่ประสานงานในสาขาพรรคแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นการพัฒนาไปสู่สมาชิกระดับนำ,เป็นแกนกลางของนักปฏิวัติอาชีพที่มีความเชื่อมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะสามารถใช้เวลาในการบริหารจัดการพรรคได้อย่างเต็มกำลังเพื่อนำมวลชนคนงานเข้าสู่การปฏิวัติโค่นล้มระบอบเอกาธิปไตยของพระเจ้าซาร์ หนังสือประวัติพรรคบอลเชวิคฯได้บรรยายเรื่องนี้ว่า

“สำหรับโครงสร้างและองค์ประกอบของพรรคนั้นเลนินเสนอว่า พรรคควรประกอบด้วยสองส่วนคือ หนึ่ง..ส่วนที่เป็นผู้ปฏิบัติงานระดับแกนซึ่งมีจำนวนไม่มากนักและดำเนินงานอยู่เป็นประ จำ  ส่วนนี้ได้แก่นักปฏิวัติอาชีพ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ประกอบอาชีพอื่นนอกจากทำงานพรรคเพียงอย่างเดียว  คนเหล่านี้ต้องมีความรู้ทางทฤษฎี ,ความจัดเจนทางการเมือง  และความสามารถทางการจัดตั้งอย่างต่ำที่สุดก็ในระดับที่จำเป็น ตลอดจนต้องสันทัดในการต่อสู้กับตำรวจของพระเจ้าซาร์และรู้จักหลบหลีกหูตาของตำรวจด้วย ส่วนที่สองคือส่วนที่เป็นสมาชิกพรรคซึ่งเป็นสายใยขององค์กรพรรคท้องถิ่น.......”

แม้มาร์ตอฟจะเห็นด้วยในเรื่องการรับนโยบายพรรคและการสนับสนุนปัจจัยทางวัตถุแก่พรรค  แต่คัดค้านโดยไม่ยอมรับเงื่อนไขของการเข้าสังกัดองค์กรหนึ่งใดของพรรค โดยให้เหตุผลว่าพรรคเป็นสิ่งที่ไม่มีสัณฐานที่แน่นอนทางการจัดตั้ง  สมาชิกทุกคนสามารถลงชื่อเข้าพรรคได้ด้วยตัวเองและไม่จำเป็นต้องสังกัดองค์กรจัดตั้งของพรรค แม้แต่ผู้ที่เข้าร่วมการนัดหยุดงานทั้งหลายก็สามารถลงชื่อเข้าพรรคได้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามวินัยพรรค  ข้อเสนอของเลนินได้รับการสนับสนุนจากเพคลานอฟ   ส่วนเอ๊กเซรอดและ เวรา ซาซูลิค พร้อมกับบรรดาผู้โลเลทั้งหลายรวมทั้งทร๊อตสกี ซึ่งภายหลังได้เป็นผู้นำโซเวียตแห่งเปโตรกราดก็สนับสนุนข้อเสนอของมาร์ตอฟ    

คะแนนเสียงในที่ประชุม  28 – 23  สนับสนุนข้อเสนอของมาร์ตอฟรวม 6 เสียงของพวกบุนด์และ1 เสียงของนักลัทธิเศรษฐกิจที่สนับสนุนมาร์ตอฟ แต่พวกเขาได้ประท้วงโดยเดินออกจากที่ประชุมไปกลุ่ม  ของเลนินจึงกลับมาชนะด้วยคะแนนเสียง 23-21ครองเสียงข้างมาก เลนินจึงเรียกกลุ่มของตนว่า บอลชินสตโว(bolshinstvo /большинство́) หรือ”บอลเชวิค”ที่หมายถึงเสียงข้างมาก และเรียกฝ่ายมาร์ตอฟว่าเมนชินสตโว (menshinstvo /меньшинство)หรือ”เมนเชวิค”ที่หมายถึงเสียงข้างน้อย   หลังจาก การประชุมสมัชชาครั้งนี้ทำให้พรรคแรงงาน-สังคมประชาธิปไตยรัสเซียแตกออกเป็นสองฝ่าย ที่ทั้งสองฝ่ายต่างต่อสู้และร่วมมือกันมาตลอด  จนกระทั่งมาแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อปี 1912  จากนั้นต่างฝ่ายได้จัดตั้งศูนย์กลางของตนขึ้นมา

การประชุมวาระที่ 27 สหพันธ์กรรมกรยิวหรือบุนด์ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรหนึ่งของพรรคตามมติของการประ ชุมสมัชชาครั้งแรกได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาถึงฐานะของตนว่า สหพันธ์ฯควรมีฐานะเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของชนชั้นผู้ใช้แรงงานยิวทั่วทั้งรัสเซีย  ตัวแทนของสหพันธ์ได้เสนอว่า ประชาชาติรัสเซียต้องมีสิทธิ์ทในการใช้ภาษาของตนได้  เลนินและกลุ่มอิสคราคัดค้านส่วน โจโซฟ สตาลิน ให้การสนับสนุนคะแนนเสียงออกมา 23:23 เท่ากัน  โนเอ  ซอร์ดาร์เนีย  ผู้นำของกลุ่มสังคมประชาธิปไตยแห่งชาวคอเคเซียนเสนอให้ข้ามญัตตินี้ไปก่อน

นอกเหนือจากนั้นสันนิบาตฯ ยังเสนอว่าโครงสร้างของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยควรจะอยู่ในรูปของสหพันธ์ และฐานะของ”สันนิบาตกรรมกรยิว”หรือบุนด์ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบนี้ด้วย  ข้อเสนอนี้ตกไปด้วยคะแนนเสียง 45:5 โดยสมาชิก 5 คนงดออกเสียง   ทั้งกลุ่มบอลเชวิคและเมนเชวิคต่างก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของบุนด์โดยวิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดของลัทธิแบ่งแยก  ลัทธิชาตินิยม   และลัทธิฉวยโอกาส    หลังจากข้อเสนอของตนถูกคัดค้านตกไปสันนิบาตกรรมกรยิวหรือบุนด์ก็ถอนตัวออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยโดยนักลัทธิเศรษฐกิจสองคนก็ถอนตัวตามไปด้วย กลุ่มอิสคราจึงเป็นตัวแทนพรรคในต่างประเทศไปโดยปริยาย

กล่าวไปแล้ว เลนินมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรวมพลังจากกลุ่มสังคมประชาธิปไตยที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั้งหมดเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน..เป็นพรรคการเมืองที่เป็นแนวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะที่กลุ่มเหล่านี้ยังมีทัศนะต่อพรรคการเมืองแบบเก่าคือไม่มีความไว้วางใจต่อกัน  อยากจะดำรงตนอยู่อย่างอิสระ   ความคิดเช่นนี้มีพื้นฐานมาจากลักษณะที่หลากหลายของประชาชาติรัสเซียเอง   สำหรับเสียงส่วนใหญ่ของสันนิบาติกรรมกรยิวนั้นรับเอาจุดยืนของหนังสือพิมพ์ ราโบเชเย เดโล(วารสารกรรมกร)มาใช้คือเคลื่อนไหวต่อสู้ในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ในความเห็นของเลนิน...หากว่าสันนิบาตฯเข้าร่วมพรรคและรักษาความเป็นอิสระของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับเชื้อชาติเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ใช่ปัญหา   แต่สันนิบาตฯต้องการอิสระในทุกด้านทุกปัญหาและต้องการเข้าร่วมในฐานะของพันธมิตรในสหพันธ์เท่านั้น  ซึ่งแน่ใจได้ว่าวิธีดังกล่าวนั้นสันนิบาตฯไม่มีทางได้รับชัยชนะในการต่อสู้ด้วยตนเองเพียงลำพังได้เลยไม่ว่าในจะเรื่องหนึ่งเรื่องใด ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือประเทศควรจะมีพรรคกรรมกรที่รวมเอากรรมกรทุกเชื้อชาติในจักรวรรดิรัสเซียเข้าไว้ด้วยกันเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   หรือว่าจะให้มีพรรคกรรมกรหลายพรรคที่ตั้งขึ้นต่างหากตามลักษณะเชื้อชาติ

เกี่ยวกับปัญหาการรับรององค์กรกลาง  กลุ่มอิสคราได้รับการรับรองอย่างท่วมท้นมีเพียงกลุ่ม ราโบเชเย  เดโล (วารสารกรรมกร) เพียงกลุ่มเดียวที่คัดค้าน  ที่ประชุมได้เลือกกรรมการกลางเพิ่มอีกสามคนได้แก่ เลงค์นิค  นอสคอฟ  และ ครซินซานอฟสกี  ซึ่งทั้งสามสนับสนุนเลนิน   คณะบรรณาธิการอิสคราบัดนี้ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของพรรค การเลือกตั้งบุคคลสำหรับศูนย์กลางของพรรคต้องเป็นนักปฏิวัติที่มั่นคงจริงๆเท่านั้น ในส่วนของหนังสืออิสคราแม้ส่วนใหญ่จะเห็นพ้องกับแนวทางของอิสคราแต่ก็ต้องเลือกตั้งกองบรรณาธิการกันใหม่อีก เลนินเห็นว่ากองบรรณาธิการควรจะมีแค่สามคนซึ่งแนวคิดเรื่องนี้ได้บอกแก่โปเตรซอฟและมาร์ตอฟก่อนหน้าการประชุมแล้ว แต่มาร์ตอฟเรียกร้องให้เลือกกรรมการชุดเดิมทั้ง 6 คน   ในที่สุดที่ประชุมได้มีมติลดจำนวนกองบรรณาธิการอิสคราลงจาก 6 เหลือเพียง 3 คนได้แก่ เลนิน  เพลคานอฟ   และมาร์ตอฟ    ผู้ที่พ้นตำแหน่งไปก็คือ เอ๊กเซรอด  เวรา ซาซูลิค  และโปเตรซอฟ 

เรื่องนี้ได้สร้างความร้าวรานใจให้แก่เอ๊กเซรอดเป็นอย่างมาก มาร์ตอฟ ถอนตัวออกจากกองบรรณาธิการ ส่วนทร๊อตสกี้...ที่ให้ความเคารพนับถือเอ๊กเซลรอดเป็นอย่างมากก็ไม่ให้ความร่วมมือใดๆอีกต่อไป  เพลคานอฟเรียกร้องให้รับคณะกรรมการชุดเดิมกลับมาอีกเพื่อความสมานฉันท์    เลนินไม่เห็นด้วย...การลา ออกจึงเป็นวิธีเดียวที่ทำได้จึงขอลาออกจากกองบรรณาธิการ คงเหลือเพียงฐานะกรรมการของคณะ กรรมการกลางเท่านั้น เพลคานอฟได้จัดการเลือกกองบรรณาธิการชุดเดิมกลับมาอีกโดยพละการ   ตั้งแต่นั้นมาอิสคราก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายเมนเชวิค ภายในพรรคจึงเรียกอิสคราที่นำโดยเลนินว่า อิสคราเก่า และเรียกอิสคราที่ถูกยึดไปว่าอิสคราใหม่  

ที่พำนักของเลนินระหว่างลี้ภัยในสวิตเซอร์แลนด์ (ถ่ายเมื่อปี 1920)

9. การปฏิวัติปี 1905     
3 มกราคม 1904 มีการนัดหยุดงานที่โรงงานปูติลอฟ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตหัวรถจักรและปืนใหญ่ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สาเหตุมาจากกรรมกร 4 คนถูกปลดออกจากงาน การหยุดงานได้กระจายไปในหลายพื้น  ที่ในนครหลวงทำให้จำนวนผู้นัดหยุดงานเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 คน  บาทหลวง จอร์จ กาปอน  ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับตำรวจได้ก่อตั้งองค์กร ”สภากรรมกรโรงงานรัสเซีย” ได้นำขบวนคนงาน 140,000 คนเดินขบวนอย่างสงบไปยังพระราชวังฤดูหนาวที่พระเจ้าซาร์ประทับอยู่เพื่อถวายฎีการ้องทุกข์  กรรมกรและครอบครัวแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดที่ดีที่สุดสำหรับไปโบสถ์ของตน ถือธงศาสนจักรและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าซาร์ ร้องเพลงสวดมนต์ขอพรให้แก่พระองค์ไปตลอดทางด้วย   กรรมกรส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าพระองค์จะทรงมีเมตตาและช่วยเหลือพวกตนให้พ้นจากความทุกข์ยากได้   ทหารรักษาพระองค์ได้รับคำสั่งจาก เคาท์ เซอร์ไก ยุลิเยวิช  วิทเท (Count Sergei Yulyevich Witte) สั่งสกัดผู้เดิน ขบวนไม่ให้ผ่านไปยังเขตพระราชวังด้วยการยิงเข้าใส่ฝูงชน ยังผลให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 1,000 คน บาดเจ็บอีกกว่า2,000 คน เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในนาม“วันอาทิตย์นองเลือด”(Bloody Sunday) อันเป็นปฐมเหตุในกระแสธารของการปฏิวัติ  ความเชื่อถือศรัทธาของบรรดากรรมกรที่มีต่อพระเจ้าซาร์ได้หมดสิ้นลงและได้รับรู้จากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับตนเองแล้วว่า  พระเจ้าซาร์ไม่ได้รักประชาชนอย่าง ที่กล่าวขานโฆษณาเล่าลือกันมาเลย 






[1] คือองค์กร”สันนิบาติกรรมกรยิว” (General Jewish Labour Bund) 

เลนิน บนเส้นทางปฏิวัติ (4)

5. ถูกเนรเทศไปไซบีเรีย(1895–1900) 
วลาดิมีร์ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานแรกรับนักโทษที่ตั้งอยู่บนถนน ชปาเลอร์นายา ในระหว่างการสอบ ปากคำเบื้องต้นโดยไม่ยอมรับทนายความที่ทางการจัดให้และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของตำรวจ   ทางครอบครัวได้วิ่งเต้นเพื่อช่วยเหลือแต่เขาปฏิเสธการประกันตัว   นั่นหมายความว่าต้องถูกขังอยู่ถึงหนึ่งปีกว่าศาลจะตัดสิน     มิตรสหายสมาชิกขบวนการปฏิวัติได้ลักลอบส่งข่าวสารเข้ามาให้อยู่เสมอ   ในเวลาเดียวกันวลาดิมีร์ก็ประดิษฐ์รหัสต่างๆเพื่อใช้ในการติดต่อกับสหายโดยอาศัยการเล่นหมากรุกกับผู้ต้องขังอื่นๆ      บรรยากาศการถูกจองจำ นาเดซดา ครุฟสกายา ภรรยาและเพื่อนร่วมรบได้เขียนบรรยายไว้ในหนังสือความทรงจำของเธอในภายหลังว่า  

“วลาดิเมียร์ อิลยิช นั้นมีความห่วงใยต่อบรรดามิตรสหายที่ติดคุกด้วยกันมาก  จดหมายทุกฉบับที่ท่านส่งผ่านออกมา    เป็นต้องขอร้องให้ทำโน่นทำนี่ให้เพื่อนนักโทษอยู่เสมอไม่คนใดก็คนหนึ่ง     เช่นว่าคนๆนั้นไม่มีใครมาเยี่ยมเลยจำเป็น ต้องหาคู่หมั้น(คนมาเยี่ยม)ให้เขาสักคนหนึ่ง   หรือไม่ก็นักโทษคนหนึ่งต้องการรองเท้าบู๊ทที่อุ่นๆสักคู่หนึ่ง ฯลฯ “

เขาได้ใช้เวลาส่วนมากไปกับการเขียนบทความโดยเน้นไปที่บทบาทของชนชั้นกรรมกรที่วลาดิมีร์มีความเชื่อมั่นว่าจะเป็นผู้นำการปฏิวัติ      เชื่อมั่นว่าการเติบโตของวิสาหกิจทุนนิยมจะทำให้ชาวนาจำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้าเมืองและจะแปรเปลี่ยนฐานะไปเป็นชนชั้นกรรมาชีพ     และยังได้ให้อรรถาธิบายถึง  ”สำนึกทางชนชั้น” จะถูกพัฒนายกระดับขึ้นในอีกไม่ช้า      ซึ่งจะนำไปสู่การลุกขึ้นสู้ด้วยการปฏิวัติที่รุนแรงต่อต้านชนชั้นนายทุนผู้ซึ่งกดขี่พวกเขา    สิงหาคม 1896 บทความ ”ฉบับร่างว่าด้วยการอธิบายนโยบายสำหรับพรรคสังคม-ประชาธิปไตย”  ได้เขียนจบลงและเริ่มต้นเขียนหนังสือเรื่อง ”พัฒนาการของทุนนิยมในรัสเซีย”

เช่นเดียวกับบรรดามิตรสหาย วลาดิมีร์  อุลิยานอฟ ถูกตัดสินให้เนรเทศไปไซบีเรียตะวันออกเป็นเวลาสามปี     ก่อนไปในเดือนกุมภาพันธ์ 1897  ทางการได้ให้เวลาจัดการเรื่องราวต่างๆใน เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กแค่สองสามวัน    เขาได้ใช้เวลาอันน้อยนิดที่มีค่านี้พบปะกับมิตรสหายนักปฏิวัติทั้งหลาย     ในขณะที่เขาถูกจองจำอยู่นั้น....ขบวนการเคลื่อนไหวของพรรคสังคม-ประชาธิปไตยได้ถูกเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า  ”สันนิบาตการต่อสู้สำหรับการปลดปล่อยของชนชั้นกรรม กร”      การที่ผู้นำระดับปัญญาชนเกือบทั้งหมดถูกจำคุก   ทำให้บรรดากรรมกรต่างก็เลือกคนงานอาวุโสขึ้นมาแทนในตำแหน่งผู้นำ   จึงเกิดความแตกแยกไม่ค่อยจะเป็นเอกภาพนักทางการจัดตั้ง      วลาดิมีร์ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาด้วยความระมัดระวัง

ในนครหลวง เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กปี 1896–97 มีกระแสการนัดหยุดงานเรียกร้องให้ลดเวลาทำงาน จากวันละ 12-13 ชั่วโมงลงมาเป็น 11 ชั่วโมงครึ่ง   แต่นักลัทธิมาร์กซไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในองค์กรนำของ กรรมกร   งานนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ากรรมกรสามารถจัดการนัดหยุดงานกันเองได้ทำให้เชื่อว่าการคาด การณ์ล่วงหน้าของเขาเกี่ยวกับสำนึกทางชนชั้นนั้นกำลังเป็นจริงขึ้นมา  วลาดิมีร์ไม่มีความสุขนักที่ต้องละทิ้งการโอกาสเคลื่อนไหวไปในขณะที่เหตุการณ์กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มเช่นนี้ รัฐบาลซาร์เริ่มใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของค่ายพักและเขตพื้นที่(กันดาร)จัดการกับนักโทษการเมืองที่ต้องโทษเนรเทศราวกับว่าเป็นอาชญากร  ปี 1897 มีประชาชนรัสเซียถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในระบบนี้ถึง 300,000 คน ซึ่งเป็นจำนวน  5% ของประชากรในจักรวรรดิ์รัสเซียและวลาดิมีร์เองก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น     เขาได้รับอนุมัติให้เดินทางเองโดยไม่มีผู้ติดตาม   การเดินทางไปยังไซบีเรียตะวันออกใช้เวลาถึง 11 สัปดาห์ กว่ามารดาและน้องสาวจะตามมาสมทบก็กินเวลานาน     สรุปแล้วยังถือว่าได้รับการปฏิบัติที่ไม่เลวร้ายนักในการถูกเนรเทศไปยังชนบทที่หมู่บ้าน ชูเชนสโคเย (Shushenskoye) ตำบลมินูซินสกี  (Minusinsky District) เป็นสถานที่ซึ่งวลาดิมีร์กล่าวถึงว่า ”ไม่เลวนักหรอก”  เขาได้เช่าห้องเล็กๆในกระท่อมของชาวนาและต้องถูกจำกัดสถานที่และถูกจับตาเฝ้ามองจากตำรวจตลอดเวา  แต่ก็ยังสามารถติดต่อสื่อสารกันทางจดหมายกับบรรดาผู้ที่ต้องการล้มล้างระบอบซาร์ หลายคนได้เดินทางมาเยี่ยมเยือน,ร่วมเดินป่าล่าเป็ดและลงว่ายน้ำในแม่น้ำเยนิไซ(Yenisei River)ด้วยกัน

6. การประชุมสมัชชาครั้งที่ 1

บ้านที่ใช้เป็นที่ประชุมในเมืองมินสค์

การประชุมสมัชชาพรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตยครั้งแรกเป็นการประชุมลับขึ้นที่เมืองมินสค์ใน จักรวรรดิรัสเซีย (ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของเบลารุส)โดยใช้บ้านพักของครอบครัว รูมิยันเซฟ คนงานรถไฟแถบชานเมือง (ขณะนี้เป็นกลางเมืองไปแล้ว)เป็นที่ประชุมโดยจัดงาน” วันตั้งชื่อ”(nameday)ภรรยาเจ้าของบ้านบังหน้า เตาผิงในห้องถัดไปถูกจุดอยู่ตลอดเวลาเผื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นจะสามารถเผาเอกสารได้ทันท่วงที โดยมีนโยบายฉบับร่างของเลนินที่เขียนจากหมึกพิเศษซึ่งถูกลักลอบนำออกมาจากที่คุมขังมาพิจารณาด้วย สมัชชาประกอบ ด้วยกลุ่มสังคม-ประชาธิปไตยสามหน่วยหลักจากส่วนต่างๆของจักรวรรดิ   ได้แก่สหพันธ์เพื่อการต่อสู้ปลดปล่อยผู้ใช้แรงงานแห่งเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 1895 เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เก่าที่สุดในจักรวรรดิเนื่องจากถูกกวาดล้างเมื่อไม่นานมานี้ทำให้อ่อนตัวลงและไม่มีบทบาทสำคัญแต่อย่างใด    

กลุ่มที่สองคือ สหพันธ์แรงงานชาวยิว(The General Jewish Labour Bund) หรือที่เรียกสั้นๆว่า“บุนด์”ที่ รวมเอาคนงานสังคม-ประชาธิปไตยชาวยิวจาก “เขตที่กำหนดให้ตั้งถิ่นฐาน”[1](Pale of Settlement) ทั้ง  ในรัสเซีย  ลิทัวเนีย  โปแลนด์(บางส่วน) ของจักรวรรดิรัสเซียก่อตั้งเป็นสหพันธ์ขึ้น   ในเวลานั้นสหพันธ์ฯเป็นกลุ่มสังคมนิยมที่ใหญ่ที่สุดในจักรวรรดิ์และเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินในการประชุมสมัชชาครั้งนี้    กลุ่มที่สามได้แก่องค์กรสังคม-ประชาธิปไตย ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1897  ในเคียฟ(ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของยูเครน)และท้องถิ่นรอบๆ  มีหนังสือพิมพ์ ราโบเชยา กาเซทตา (หนังสือพิมพ์ กรรมกร) เป็นกระบอก เสียง    องค์ประชุมประกอบด้วยตัวแทนของทั้งสามกลุ่มรวมไปถึงตัวแทนจากมอสโคว์และ เยคัธลินโนสลาฟ รวม  9 คน  ชาวสังคมนิยมจากคาร์คอฟปฏิเสธิในการเข้าร่วมเพราะเห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะเคลื่อนเคลื่อนไหว

การประชุมมี 6 วาระ...ไม่มีการจดบันทึกนอกจากจากการลงมติเพราะต้องการให้เป็นความลับ      เรื่องที่ตัวแทนทั้งหลายได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นคือ  การรวมตัวกันของกลุ่มนักสังคม-ประชาธิปไตยต่างๆให้เป็นพรรคเดียวและการตั้งชื่อพรรค    ที่ประชุมยังเลือกคณะกรรมการกลางสามคนได้แก่  สเตพัน  รัดเชนโก  หนึ่งในนักสังคม-ประชาธิปไตยผู้อาวุโสของรัสเซียในฐานะผู้นำสันนิบาติแห่ง เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก   บอริส ไอเดลมาน แห่งหนังสือพิมพ์ ”กรรมกร”และอเล็กซานเดอร์  เครเมอร์ผู้นำสหพันธ์กรรมกรยิว    ส่วนคำประกาศตั้งพรรคนั้นรัดเชนโกเห็นสมควรให้สตรูฟเป็นผู้เขียน

คณะกรรมการกลางได้พิมพ์คำประกาศและการตัดสินใจของสมัชชาฯ  แต่อีกไม่ถึงหนึ่งเดือนตัวแทนห้าคนจากเก้าก็ถูกจับกุมโดย ”หน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐ”(Okhrana,โอ๊คครานา) การประชุมสมัชชาครั้งแรกจึงไม่ประสบความสำเร็จในการผนึกรวมนักสังคม-ประชาธิปไตยรัสเซียเข้าด้วยกัน    ไม่ว่าจะเป็นข้อ บังคับหรือนโยบายก็พลอยล้มเหลวไปด้วย     เท่านั้นไม่พอยังถูกไล่ล่าถูกกดดันอย่างหนักจากตำรวจที่ต้องการขัดขวางไม่ให้มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพของกลุ่มนักสังคม-ประชาธิปไตย ซึ่งได้เกิดผลกระทบในเวลาต่อมาอันเป็นสาเหตุไปสู่การแตกแยกภายใน บรรดาผู้นำต่างก็มีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่เสมอ และการที่กรรมการอีกสามคนไม่ถูกจับเป็นเพราะ  ซูบาตอฟ[2] ปักใจว่าการละเว้นไม่จับกุมสมาชิกที่เหลือนั้นจะสามารถนำไปสู่การจับกุมสมาชิกคนอื่นๆต่อไป แต่แผนการของเขาไม่เกิดผล จนกระทั่งปี 1903  การประชุมสมัชชาครั้งที่สองของพรรคฯจึงได้ทำการประชุมนอกประเทศ    ทำให้พรรคสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขข้อบังคับและนโยบายได้ตามสถานการณ์ที่เป็นจริง

พอถึงเดือนมีนาคม 1898  นาดยา (ครุฟสกายา)ก็ได้เดินทางมาอยู่ด้วย   เนื่องจากเธอถูกจับเมื่อเดือนสิงหาคม1896 ในข้อหาจัดการให้มีการนัดหยุดงาน   เธอถูกตัดสินให้ต้องโทษเนรเทศไปยังเมือง ยูฟา แต่เธอทำเรื่องร้องขอไปอยู่ที่ ชูเชนสโคเย ซึ่งเป็นที่เดียวกับวลาดิมีร์    โดยอ้างว่าเป็นคู่หมั้นของเขา   ต่อมาทั้งสองได้แต่งงานกันเมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม  และใช้ชีวิตครอบครัวในถิ่นเนรเทศโดยมี เอลิซาเวทตา  วาซิลลิเยฟนา(Elizaveta Vasilyevna) แม่ของนาดยาติดตามไปอยู่ด้วย คู่สามีภรรยาช่วยกันแปลหนังสือเล่มที่ สตรูฟ  ส่งมาให้เรื่อง  ”ประวัติศาสตร์ลัทธิสหภาพแรงงาน” (The History of Trade Unionism  1894 )  ของ ซิดนีย์ และ บีอาทริส เวบบ์ เป็นภาษารัสเซีย    ทั้งสองคนทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันพยายามติดตามศึกษาการพัฒนาการเคลื่อนไหวของนักลัทธิมาร์กซเยอรมันซึ่งได้รับเลือกตั้งจากการสนับสนุนของมวลชนด้วยการลงคะแนนให้กับพรรคสังคม-ประชาธิปไตย (Social Democratic Part) อย่างมีนัยยะอย่างไรก็ตามในพรรคสังคม-ประชาธิปไตยเยอรมันได้เกิดการแตกแยกทางอุดมการณ์ขึ้นักลัทธิแก้เช่น   เอดูอาร์ด  แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein)[3]  สนับสนุนการไปสู่สังคมนิยมโดยสันติโดยผ่านแนวทางรัฐสภา   ซึ่งค้านกับความคิดลัทธิมาร์กซแบบฉบับ(Orthofox Marxism)ที่เสนอการเปลี่ยนไปสู่สังคมนิยมโดยผ่านการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น เลนินเชื่อมั่นในความคิดแบบหลัง จึงตีพิมพ์หนังสือเรื่อง ”คัดค้านโดยชาวสังคม-ประชาธิปไตยรัสเซีย”  (A Protest by Russian Social-Democrats)  โจมตีโต้แย้งนักลัทธิแก้    จากนั้นเลนินได้เขียนเรื่อง “การพัฒนาของลัทธิทุนนิยมในรัสเซีย” จบลง    ซึ่งเป็นหนังสือที่ยาวที่สุดของเขาที่ได้นำเสนองานค้นคว้าวิจัยเพื่อโต้แย้งนักสังคม-ประชาธิปไตย(รัสเซีย)และความเชื่อของพวกเขาที่ว่าระบอบทุนนิยมได้ตั้งมั่นเป็นที่เรียบร้อยแล้วในสังคมชนบทของรัสเซีย    โดย เลนินได้อาศัยหลักลัทธิมาร์กซมาวิเคราะห์พัฒนาการทางเศรษฐกิจของรัสเซีย  โดยใช้นามว่า วลาดิมีร์ อิลิน

7. มิวนิค ลอนดอน และ เจนีวา 1900–1905
กุมภาพันธ์ ปี1900 โทษเนรเทศสามปีได้สิ้นสุดลง   เลนินถูกห้ามกลับไปยัง เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก  แต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ที่เมืองปัสคอฟ       เมืองเล็กๆที่ห่างจากเมืองหลวงราวสองชั่วโมงโดยทางรถไฟ     ในขณะที่นาเดซดาภรรยาของเขาล้มป่วยลงในขณะที่เธอยังคงอยู่รับโทษต่อที่เมืองยูฟา  ด้วยความตั้งใจที่จะต่อสู้กับ”นักลัทธิแก้ ”(revisionist) ในพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ   และต่อสู้กับการโฆษณาใส่ร้ายบิดเบือนลัทธิมาร์กซจากรัฐบาลซาร์ด้วยการคิดที่จะใช้หนังสือพิมพ์  เลนินและสตรูฟ เริ่มหาเงินเพื่อทำหนังสือพิมพ์ ”อิสครา” (Iskra / ประกายไฟ) และตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อเคลื่อนไหวปฏิวัติรัสเซียโดยใช้ชื่อว่า “พรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตยแห่งรัสเซีย”   (Russian Social Democratic Labour Party, RSDLP)     หลังจากไปเยี่ยมภรรยาที่เมืองยูฟาแล้ววันที่ 29 กรกฎาคม1900อุลิยานอฟก็เดินทางไปยุโรปตะวันตก   

ในสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมันเขาได้พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับนักลัทธิมาร์กซอาวุโสของกลุ่ม ”ปลดปล่อยแรงงาน” เช่น เอ๊กเซลรอด , เพลคานอฟ ,  และโปเตรซอฟ   รายงานสถานการณ์ในรัสเซียให้ทราบเนื่องจากพวกเขาได้เดินทางมาลี้ภัยนอกประเทศเป็นเวลานานแล้ว    ซึ่งในเวลาเช่นนั้นสถานการณ์ต่างๆในรัสเซียกำลังก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วขบวนการกรรมกรเติบใหญ่ขึ้น ชีวิตลี้ภัยทางการเมืองเป็นเวลายาวนานส่งผลกระทบต่อทัศนะของพวกเขาเป็นอย่างมาก    เพราะถูกตัดขาดจากสังคมรัสเซีย   โดยเฉพาะขบวนการกรรมกรได้ก่อตัวขึ้นภายหลังที่พวกเขาไปอยู่ต่างประเทศแล้ว    ส่วนมากพวกเขาได้พบแต่นักการเมืองตัวแทนของพรรคต่างๆ   นักวิชาการ     นักศึกษาและแม้แต่กรรมกรเองเป็นรายบุคคล   แต่ไม่เคยได้พบเห็นมวลชนหรือชนชั้นกรรมกรรัสเซีย   ไม่เคยได้สัมผัสหรือเข้าร่วมเคลื่อนไหวทำงานด้วยเลย (จากความทรงจำถึงเลนิน, ครุฟสกายา)  

วันที่ 24 สิงหาคม 1900   นักลัทธิมาร์กซรัสเซียกลุ่มอิสคราซึ่งถือว่าเป็นหน่วยจัดตั้งระดับนำหน่วยหนึ่งได้มีการประชุมกันขึ้นที่เมือง คอร์แซร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์    อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกันเพื่อปูทางไปสู่แนวทางการสร้างพรรค   แต่ทั้งเพลคานอฟและโปเตรซอฟได้สร้างความประหลาดใจแก่คนอื่นๆด้วยการแสดงความกราดเกรี้ยวออกมาเมื่อกล่าวถึงกรรมกรชาวยิว     โดยเฉพาะเพลคานอฟที่มีแนวคิดต่อต้านชาวยิว(anti-semitism) อย่างรุนแรง   บุคลทั้งสองเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องนับถืออย่างสูงในฐานะ ”บิดาแห่งลัทธิมาร์กซรัสเซีย”  ต่างก็ได้สูญเสียเกียรติภูมิอันสูงส่งไปจนหมดสิ้น    ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าควรออกหนังสือพิมพ์เพื่อทำการโฆษณาแนวทางการสร้างพรรคโดยใช้ชื่อว่า “อิสครา”(ประกายไฟ) มาจากประโยคที่ว่า ”ประกายน้อยส่งสร้าง   เปลวเพลิง” (One spark will start a flame) จากบทกวีของ อเล็กซานเดอร์ โอโดเอียฟสกี(Alexander Odoevsky)[4]   
อุลิยานอฟเริ่มใช้นามปากกาว่า ”เลนิน” ในเดือนธันวาคม 1901 ซึ่งน่าจะมาจากชื่อแม่น้ำ เลนา ด้วยวิธีเดียวกันนี้ เพลคานอฟ ก็ได้ใช้นามแฝงว่า โวลกิน จากชื่อแม่น้ำโวลกา  ในปี 1902 ภายใต้นามปากกานี้เขาได้ตีพิมพ์จุลสารการเมืองเรื่อง What Is to Be Done? (จะทำอะไรดี)  ซึ่งได้ชื่อมาจากหนังสือนวนิ ยายที่ทรงอิทธิพลของ เชอร์นีเชฟสกี จุลสารฉบับนี้ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในแวดวงสิ่งพิมพ์ของยุคนั้น   มันสะท้อนความคิดของเลนินในการสร้างพรรคการเมืองที่เป็นกองหน้าเพื่อนำการต่อสู้ปฏิวัติของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน     ทั้งสองตั้งหน้าปลุกระดมทางการเมืองต่อไปโดยบทความที่เลนินเขียนลงในอิสคราฉบับต่อมาได้เสนอร่างนโยบายของพรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตย โจมตีวิจารณ์แนวคิดอุดมการณ์ของบรรดานักฉวยโอกาสทั้งภายในและภายนอกพรรค และยึดมั่นอยู่กับคำสอนดั้งเดิมของลัทธิมาร์กซ เลนินเริ่มยอมรับทัศนะของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ[5](Social Revolutionary Party's) ในประเด็นศักยภาพและพลังการปฏิวัติของชาวนารัสเซีย จึงได้ลงมือเขียนจุลสารเรื่อง ”ถึงคนจนในชนบท”(To the Village Poor)  เพื่อพยายามดัดแปลงพวกเขาให้เข้าใจในวัตถุประสงค์ของลัทธิมาร์กซ    

เมื่อครุฟสกายาภรรยาของเลนินพ้นโทษเนรเทศแล้วเธอได้เดินทางตรงไปยังมิวนิคทันที   ที่นั่นทั้งสองได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง   โดยครุฟสกายาทำหน้าที่เป็นเลขานุการช่วยรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆให้เลนินเพื่อเตรียมงานสำหรับหนังสือพิมพ์อิสครา  หนังสือเชิงชีวประวัติและงานเรื่อง “เลนิน..ศาสดานักปฏิวัติ”  เขียนโดย นินา กรูฟิงเกล ที่วิภาษ รักษาวาที ถอดความเป็นไทยกล่าวถึงครุฟสกายาว่า    
“...ข่าวทั้งหมดซึ่งมีมากมายหลายชนิดที่ถูกต้องแน่นอน ที่อิสคราได้ข่าวจำนวนมหาศาลเหล่านี้มาจากงานงานประจำวันของครุฟสกายา เป็นงานซึ่งต้องใช้หน่วยงานเลขานุการที่ใหญ่โตแต่เธอสามารถทำโดยตัวเธอเอง”
กองบรรณาธิการอิสคราประกอบไปด้วย เพลคานอฟ  เอ๊กเซลรอด  เวรา ซาซูลิค  โปรเตซอฟ  เลนิน  และมาร์ตอฟ  ที่ประชุมได้ตกลงกันว่าจะพิมพ์ออกที่เมืองมิวนิค     ซึ่งเพลคานอฟที่มีฐานอยู่ในสวิสฯจะไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จและตัวเขาเองนานๆก็จะเขียนบทความมาลงในอิสคราสักครั้งหนึ่ง   อิสคราฉบับแรกออกเมื่อเดือนธันวาคมตรงกับวันคริสมาสอีฟ(วันก่อนหน้าวันคริสต์มาส)โดยเสนอบทนำเรื่อง ”หน้าที่จำเป็นของขบวนการของเรา”   ได้กล่าวอธิบายถึงการก่อตั้งพรรคการเมืองลัทธิมาร์กซที่มีความเข้มแข็ง    เพราะจะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่สามารถนำไปสู่การปลดปล่อยชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกขูดรีดได้    เลนินกล่าวว่า   “เวลาสำหรับพวกมือสมัครเล่นกลุ่มต่างๆที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายและกิจกรรมที่ไม่มีจุด มุ่งหมายในการรวมตัวกันควรยุติลงได้แล้ว      ที่สำคัญทุกคนต้องเข้าใจและมีความแจ่มชัดก่อนที่ จะรวมกัน   ก่อนอื่นใดทั้งหมด..เราต้องขีดเส้นแบ่งกลุ่มต่างๆออกจากกันให้ชัดเจน”

บทความในอิสคราฉบับแรกนี้ส่วนใหญ่เลนินเป็นคนเขียน โดยประณามเหตุการณ์ในขณะนั้นที่มหา อำนาจในยุโรปทำการแทรกแซงการลุกขึ้นสู้ของขบวนการ ”อี้เหอถวน”(Boxer Rebellion) ในประเทศจีน   ในขณะเดียวกันพรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตยรัสเซีย ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง ชื่อ“ซารียา”(Zarya รุ่งอรุณ) เมื่อเดือนมีนาคม 1901 ที่เมือง ชตุทการ์ท,เยอรมัน   แต่ออกได้เพียงสี่ฉบับเท่านั้นก็ต้องเลิกราไป   ส่วนอิสครากลับประสบความสำเร็จมากกว่าได้รับการสนับสนุนจาก โรซา ลุกเซ็มบวร์ก  คาร์ล เค้าทสกี นักทฤษฎีลัทธิมาร์กซชาวเยอรมัน  ช่วงนี้ ลีออน ทร๊อตสกี หนุ่มนักลัทธิมาร์กซชาวยูเครนที่หลบหนีโทษเนรเทศจากไซบีเรียได้เข้ามาร่วมงานในฤดูใบไม้ผลิปี 1902 นำข่าวที่ทำให้เลนิน ปลาบปลื้มใจเป็นอันมาก  ที่สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับลัทธิมาร์กซถูกเวียนกันอ่านในไซบีเรียเช่นเดียวกับในคุกที่มอสโคว์...หนังสืออิสคราถูกลักลอบนำเข้าไปเผยแพร่ในรัสเซียอย่างลับๆ  สามารถกระจายไปยังบรรดาผู้ถูกเนรเทศจนไปจรดฝั่งแม่น้ำเลนา

--------------------------------------------------------------------------

[1] คือกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยจักรพรรดินีคัธรีน     เป็นการจัดระเบียบเพื่อควบคุมประชาชนเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่รัสเซียให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตนิคมเดียวกันเพื่อสะดวกในการควบคุม
[2] เซอร์ไก วาสิลิเยวิช  ซูบาตอฟ (Sergei Vasilyevich Zubatov ) หัวหน้าตำรวจลับของระบอบซาร์
[3] นักทฤษฎี นักการเมือง ในพรรคสังคม-ประชาธิปไตยเยอรมันที่ไม่เห็นด้วยกับคำสอนของมาร์กซ    และได้เสนอทฤษฎีของตนที่ตรงกันข้ามกับทฤษฎีลัทธิมาร์กซ   จึงได้รับฉายานามจากนักลัทธิมาร์กซว่าเป็นบิดาแห่งลัทธิแก้ (Revisionist)
[4] นายทหาร  กวี  นักเขียนบทละคร   เป็นสมาชิกกลุ่ม decembrists ซึ่งทำรัฐประหารคัดค้านซาร์อเล็กซานเดอร์ที่หนึ่ง   เป็นเจ้าของบทกวี  One spark will start a flame. (“ประกายไฟน้อยส่งสร้าง    เปลวเพลิง”  )
[5] พรรคการเมือง แนวทางสังคมนิยมปฏิรูปแบบชนชั้นนายทุนน้อยที่สนับสนุนการต่อสู้ทางรัฐสภา   คัดค้านการใช้ความรุนแรงในการปฏิวัติ   

Monday, March 16, 2015

เลนิน บนเส้นทางปฏิวัติ (3)

3. ชีวิตในมหาวิทยาลัยและลัทธิการเมืองแบบเสรีนิยม1887–1893
เมื่อได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยคาซานในเดือนสิงหาคมแล้ว   วลาดิมีร์ได้เช่าอพาร์ทเม้นท์ในเมือง    ในขณะที่มารดากำลังจัดการบ้านของครอบครัวในซิมสบีร์กเพื่อให้ผู้อื่นเช่าและจะตามไปอยู่ด้วยในเดือนพฤศจิกายน     วลาดิมีร์เริ่มสนใจแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยมของพี่ชาย ด้วยการอ่านนิยายโรแมนติคของ นิโคไล  เชนีเชฟสกี เรื่อง จะทำอะไรดี? (What is to be done?,1863) อย่างตั้งอกตั้งใจหลังจากที่เคยอ่านจบมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อตอนอายุสิบสี่     เขาพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เชอร์นีเชฟสกีนำเสนอโดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพของประชาชน   วลาดิมีร์ไม่ยอมหยุดอยู่เพียงแค่นั้นเขาเริ่มมีการติดต่อพบปะกับหน่วยจัดตั้งลับของกองกำลังปฏิวัติที่นำโดยนักสังคมนิยมชาวนาชื่อ  โลซา โบโกราซ   และเข้าร่วมในชมรม ซามารา-ซิมสบีร์ก เชมลียาเชสตโว[1](zemlyachestvo) ในมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะเป็นชมรมท้องถิ่นและได้รับเลือกเป็นตัวแทนของสภาสมาคมท้องถิ่น(ลับ)ในมหาวิทยาลัยและเริ่มมีปฏิ สัมพันธ์กับบรรดาฝ่ายซ้ายโดยเต็มใจเข้าร่วมฟื้นฟูองค์กรปฏิวัติ ”นารอดนายา โวลยา” (Narodnaya Volya ”เสรีภาพของประชาชน”) ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธฝ่ายซ้ายที่ก่อนนี้เคยลอบสังหารพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สอง(เสียชีวิตเมื่อ 13 พฤษภาคม 1881)     วันที่ 4 ธันวาคม วลาดิมีร์ได้มีส่วนร่วมเดินขบวนเรียกร้องให้ยกเลิกข้อบังคับที่กำหนดให้สมาคมนักศึกษาเป็นสิ่งผิดกฏหมาย   ผลก็คือผู้ประท้วงถูกจับกุมกว่าร้อยคน      ตัวเขาเองถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นหัวโจกในการประท้วงและถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย   โดยมีคำสั่งจากรัฐมนตรีมหาดไทยให้เขาอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของตำรวจและให้เนรเทศไปอยู่ในที่ดินของครอบครัว(ตา)ที่โคคุชชิโน

เลนิน  ประมาณปี 1887 ช่วงวัยที่กำลังแสวงหาลัทธิสังคมนิยม

ที่นี่เขาได้อ่านเอกสาร,บทความของพวกเสรีนิยมด้วยความกระหายใคร่รู้   และเกิดความหลงไหลในงานของเชอร์นีเชฟสกี  แต่แม่ไม่คอยสบอารมณ์เท่าไหร่กับแนวคิดนี้    ในเดือนกันยายน1888 วลาดิมีร์จึงมีจดหมายไปถึงรัฐมนตรีมหาดไทยเพื่อขออนุมัติให้เขาได้ออกไปเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ     และในที่สุดคำร้องของเขาได้รับการปฏิเสธแต่อนุญาตให้กลับไปยังคาซานได้   ที่นั่นเขาได้อาศัยอยู่ที่ เปอรายา โกรา กับแม่และดมิตทรีน้องชาย

ที่พำนักใหม่ทำให้เขาได้รู้จักกับ เอม. พี. เชทเวอร์โกวา นักปฏิวัติ   และได้เข้าร่วมเสวนาทางการเมืองกันอย่างลับๆ      ซึ่งพวกเขาใช้เวลาส่วนมากไปกับการถกเถียงอภิปรายปัญหายุทธศาสตร์การเมือง  และที่นี่  เป็นที่ๆเขาได้รับแนวคิดลัทธิมาร์ซด้วยการศึกษาเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมจากหนังสือเรื่อง  ”ทุน” (Das Kapital) ของมาร์กซ   หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อเขาอย่างมหาศาล      แม่ได้เฝ้าสังเกตดูทัศนะทางการเมืองของเขาตลอดเวลา      ได้พยายามซื้อที่ดินในหมู่บ้าน อลาเคียฟวา ชานเมือง ซามาราซึ่งเป็นสถานที่มีชื่อเสียงจากบทกวีของ  เกลบ อูสเป็นสกี    นักกวีที่วลาดิมีร์ชื่นชอบโดยหวังว่าวลาดิมีร์จะหันเหความสนใจจากการเมืองมาเป็นการเกษตร    เขาเริ่มศึกษาชีวิตของชาวนาส่วนใหญ่ที่ต้องเผชิญกับความ    ยากจนค่นแค้น      ในเวลาต่อมาเริ่องนี้จึงมีอิทธิพลและเป็นพลังขับดันทัศนะทางการเมืองของเขาเป็นพิเศษ     เพียงแต่วลาดิมีร์ไม่ค่อยจะชอบใจที่พวกชาวนาชอบมาขโมยอุปกรณ์และสัตว์เลี้ยงของเขาเป็นอย่างมากด้วยเหตุนี้แม่จึงขายฟาร์มไปในที่สุด   ฤดูหนาวเดือนกันยายนปี1889 ครอบครัวอุลิยานอฟย้ายไปอยู่ที่ซามารา  ที่ซึ่งวลาดิมียร์ได้มีการติดต่อกับพวกที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเมืองของนักปฏิวัติผู้ที่ถูกเนรเทศ(สมาชิกนารอดนิครุ่นเก่า)    ในการแลกเปลี่ยนอภิปรายกันในกลุ่มย่อยที่มี  อเล็กไซ พี. สกลียาเลนโก เป็นหัวหน้า     ในครั้งนั้นทั้ง สกลียาเลนโกและ วลาดิมีร์ต่างก็ได้ศึกษาลัทธิมาร์กซมาก่อนบ้างแล้ว   วลาดิมีร์ได้แปลจุลสารชิ้นสำคัญคือ  ”คำประกาศของคอมมิวนิสต์” (The Communist Manifesto ,1848) ของมาร์กซและเองเกลส์ออกมาเป็นภาษารัสเซียเพื่อการศึกษาของหน่วย    เขาเริ่มศึกษางานของ กอร์กี้ เพลคานอฟ[2](1856–1918)    นักลัทธิมาร์กซชาวรัสเซียผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการ Black Repartition และสนับสนุนความเห็นของเพลคานอฟในข้อที่ว่า     รัสเซียจะต้องก้าวจากสังคมศักดินาไปสู่สังคมทุนนิยมอย่างไม่ต้องสงสัย     นักลัทธิมาร์กซต่างได้วิเคราะห์สรุปว่าสังคมรัสเซียมีแนวโน้มที่จะดำเนินไปในทางนั้น       สิ่งหนึ่งที่วลาดิมีร์เริ่มเกิดความสงสัย...ไม่แน่ใจมากขึ้นทุกทีคือวิธีการที่ใช้หน่วยติดอาวุธโจมตีและลอบสังหารศัตรู  และคิดว่าไม่ค่อยจะมีประโยชน์สักเท่าใดนัก      เดือนธันวาคม 1889   เขาได้คัดค้านยุทธวิธีเช่นนี้ด้วยการถกเถียงโต้แย้งกับ เอ็ม. วี. ซาบูเนียฟ  ผู้ซึ่งกำลังรณณรงค์หาสมาชิกใหม่เพื่อฟื้นฟูพรรค ”เสรีภาพของประชาชน” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง    แม้ว่าวลาดิมีร์จะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคแต่ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ฉันท์สหายกับสมาชิกพรรคเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี  

โดยเฉพาะกับ  อพอลลอน ชุคสต์  สมาชิกอาวุโสซึ่งภายหลังขอให้วลาดิมีร์เป็นพ่อทูลหัวบุตรชายของเขา  มีนาคม 1890  มารดาพยายามร้องเรียนชี้แจงกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้วลาดิมีร์ได้มีโอกาสได้เข้าสอบเทียบเพื่อรับปริญญาบัตรตามที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เปิดโอกาสให้แก่บุคคลภายนอก(ที่ไม่ได้ลงทะเบียน)   เข้าสอบเทียบความรู้   เขาเลือกสอบที่มหาวิทยาลัยแห่งเซ็นต์ ปีเตอร์สเบิร์กและสามารถสอบเทียบได้ในระดับเกียรติ์นิยม        แต่งานฉลองจำต้องยกเลิกไปเนื่องจากโอลก้าน้องสาวป่วยและเสียชีวิตจากไข้ไทฟอยด์     วลาดิมีร์ยังคงอยู่ในซามาราอีกหลายปีจนกระทั่งเดือนมกราคม1892ศาลท้องถิ่นได้ว่าจ้างเขาทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา      หลังจากนั้นไม่นานก็ได้ทำงานกับทนายความ  อังไดร เอ็น. คาร์ดิน    
ปัญหาพื้นฐานที่ถกเถียงกันอยู่คือความไม่ลงรอยกันระหว่างชาวนากับบรรดาช่างฝีมือ    เขาเริ่มอุทิศเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเมืองแนวเสรีนิยม      และยังคงบทบาทการเคลื่อนไหวอยู่ในกลุ่ม สกีลาเรนโก และพยายามสร้างแนวทางลัทธิมาร์กซที่เหมาะกับสภาพของประเทศรัสเซีย   จากแรงกระตุ้นในการศึกษางานของเพลคานอฟ    วลาดิมีร์ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆของสังคมรัสเซียและชนชั้นที่หลากหลายในสังคมเพื่อใช้ในการสนับสนุนยืนยันในการอธิบายถึงพัฒนาการทางสังคม   ด้วยหวังว่าจะได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงจากปัญญาชน    ในปี1893 เขาได้เสนอบทความเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจแนวใหม่ในการดำเนินชีวิตของชาวนา” แก่หนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยมRussianThought” (แนวคิดรัสเซีย) แต่ถูกปฏิเสธิในที่สุดก็ได้ตีพิมพ์ในปี 1927(โดยพรรคหลังจากได้อำนาจรัฐแล้ว)    ฤดูใบไม้ร่วงปี1893ได้เขียนหนังสือเรื่อง  “ว่าด้วยสิ่งที่เรียกว่าปัญหาการตลาด” (On the So-Called Market Question ) ซึ่งเป็นความพยายามครั้งแรกที่จะเปิดเผยธาตุแท้ของระบอบทุนนิยมที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาวนารัสเซีย

4. การเคลื่อนไหวปฏิวัติที่เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กและในต่างประเทศ  (1893–1895)
ในปีนั้นเอง  วลาดิมีร์ได้ย้ายไปอยู่ที่ เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองหลวงของจักรวรรดิ์รัสเซียซึ่งกำลังก้าวไปสู่การเป็นนครอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่        เขาได้พำนักในอพาร์ทเม้นท์แถบถนน เซอร์เกี๊ยฟสกี  ในเขต ลิไทนี   ก่อนจะย้ายไปยังบ้านเลขที่ 7 ตรอกคาซาชีใกล้กับ เฮย์มาร์เก็ต และได้งานเป็นผู้ช่วย นาย เอ็ม. เอฟ.โฟคเกนชไตน์ ทนายความ    และได้เข้าร่วมกับหน่วยปฏิวัติใต้ดินที่นำโดย เอส.ไอ.รัดเชนโก  ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักเรียนจากสถาบันเทคโนโลยี่ที่สังกัดนครหลวง   เช่นเดียวกับวลาดิมีร์พวกเขาเป็นนักลัทธิมาร์กซที่เรียกตนเองว่านักสังคมประชาธิปไตยตามอย่างพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน  ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นพรรคลัทธิมาร์กซอยู่     ด้วยความประทับใจในความรู้ลัทธิมาร์กซของวลาดิมีร์  บรรดาสหายจึงให้การต้อนรับเขาด้วยความชื่นชม    และไม่นานก็ได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม  

เขาได้ขยายความคิดลัทธิมาร์กซไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวปฏิวัติของชาวสังคมนิยม    ปี 1894 ในการประชุมลับครั้งหนึ่ง    วลาดิมีร์ได้ถกเถียงโต้แย้งกับ วี.พี.โวรอนตซอฟ นักทฤษฎีผู้เลื่องชื่อซึ่งเป็นเจ้าของงานเขียน ”ชตากรรมของระบอบทุนนิยมในรัสเซีย (The Fate of Capitalism in Russia .1882)”    นิสัยแบบตรงไปตรงมาของเขาทำให้ถูกหมายหัวจากสายลับของตำรวจที่แทรกตัวอยู่ในที่ประชุม     ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเคลื่อนไหวแนวทางลัทธิมาร์กซในรัสเซีย    วลาดิมีร์จึงได้ติดต่อกับ เพทร เบอร์นาโดวิช สตรูฟ[3]  ผู้มั่งคั่งที่เห็นด้วยกับแนวคิดซึ่งยินดีข่วยเหลือในการตีพิมพ์หนังสือแนวคิดลัทธิมาร์กซ  และสนับสนุนให้กำลังใจในการจัดตั้งหน่วยงานปฏิวัติในแหล่งศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญในรัสเซีย     วลาดิมีร์ยังคบหาเป็นเพื่อนกับนักลัทธิมาร์กซหนุ่มชาวรัสเซียเชื้อสายยิวชื่อ จูเลียส มาร์ตอฟ  ผู้ซึ่งมีส่วนได้ช่วยเหลือสหายในกลุ่มให้ร่นเวลาในการแก้ปัญหาทางทฤษฎีในการเคลื่อนไหวปฏิวัติอีกด้วย

                               

เลนิน จากแฟ้มของตำรวจเมื่อปี 1895 
และ นาเดซดา  ครุพสกายา (นาดยา)คนรักซึ่งต่อมาเป็นภรรยา

นาเดซดา  ครุพสกายา:  สมาชิกพรรคบอลเชวิค นักปฏิวัติ  นักการศึกษา เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ คศ. 1869  ในครอบครัวชนชั้นสูงที่ฐานะทางการเงินไม่สู้จะดีนัก  บิดาของเธอ คอนสแตนติน  อิกนาเตวิช  ครุพสกี   เป็นนายทหารสังกัดกรมทหารราบมาจากตระกูลผู้ดีของจักรวรรดิ์รัสเซีย 

หลังจากรับราชการมาหกปีรู้สึกเบื่อหน่ายและถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าไม่มีพฤติกรรมแบบรัสเซียจึงลาออกจากราชการเพราะถูกสงสัยว่าเข้าข้างนักปฏิวัติ        ในเวลานั้นได้เข้าทำงานในโรงงานอีกหลายแห่ง และมีรายได้พิเศษจากค่านายหน้าทางธุรกิจตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต      มารดาของเธอ  เอลิซเวทตา  วาซีลลิเยฟนา  ทริสโทรวา     ลูกกำพร้าจากตระกูลผู้ดีที่ไม่มีที่ดินของตนเองได้ลงทะเบียนในหลักสูตร เบสตูเซฟ[4] เพื่อที่จะได้รับการศึกษาที่กำหนดไว้  ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับบุตรีของครอบครัวผู้ดีในรัสเซียสมัยนั้น  หลังจากจบการศึกษา เอลิซาเวทตา  ได้เข้าทำงานเป็นครูผู้ดูแลและสอนเด็กในครอบครัวผู้ดีครอบครัวหนึ่งจนกระทั่งแต่งงานกับ ครุพสกี

เนื่องจากมีบิดามารดาเป็นปัญญาชนและสืบเชื้อสายมาจากชนชั้นขุนนาง  ประกอบกับประสบการณ์การทำงานกับชนชั้นล่างที่ต่ำต้อยน่าจะเป็นสิ่งบ่มเพาะอุดมการณ์ของเธอ    ตั้งแต่วัยเด็ก...จิตวิญญานของครุพสกายาเปี่ยมล้นไปด้วยการต่อต้านชีวิตบัดซบที่ดำรงอยู่รอบกายของเธอ  อเรียตเน ไทรโควา เพื่อนร่วมโรงเรียนมัธยมกล่าวถึงเธอว่า  “ ตัวสูงๆ  เงียบขรึม  ไม่ค่อยสุงสิงกับเด็กผู้ชาย  ทำอะไรด้วยความรอบคอบ  มีความมั่นใจในตนเอง....เธอมักจะเป็นหนึ่งของผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานอยู่เสมอ”  นาดยาเข้าเรียนมัธยมต้นแห่งสองแห่งก่อนที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมสตรี “เจ้าชาย เอ. เอ.โอโบเลนสกี” โรงเรียนเอกชนที่มีระดับในเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก     การเรียนการสอนที่นี่ค่อนข้างเสรีไม่ค่อยเข้มงวดเหมือนกับโรงเรียนมัธยมทั่วไป   จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าดำเนินงานโดยกลุ่มนักปฏิวัติรุ่นเก่า   ครุพสกายามีความประทับใจและสนใจในเรื่องการศึกษามาตั้งแต่เด็ก   เธอชอบที่จะถอดรูปแบบการศึก  ษาจากทฤษฎีของตอลสตอย (Leo Tolstoy[5])   ซึ่งด้านหลักจะเน้นแต่การพัฒนาของนักเรียนแต่ละคนโดยใช้ความ สัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนเป็นศูนย์กลาง      ทำให้เธอต้องศึกษางานแทบทุกชิ้นของตอลสตอยรวมถึงทฤษฎีที่ว่าด้วยการปฏิรูป   ที่เน้นสันติวิธี   ยึดถือความถูกกฎหมาย  มุ่งไปสู่การละเว้นสิ่งฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นและสิ่งที่ผูกมัดตนเอง    ไม่จ้างใครมาทำงานบ้าน  ฯลฯ  

ตลอดชีวิตในวัยศึกษาครุพสกายาได้อุทิศตนในการเข้าร่วมถกปัญหากับผู้คนหลายๆกลุ่ม   กลุ่มศึกษาเหล่านี้ได้อภิปรายถกเถียงกันในหัวข้อที่ทุกคนต่างมีส่วนร่วมอย่างใจจดจ่อ   และไม่นาน...หนึ่งในกลุ่ม  ได้นำเสนอทฤษฎีลัทธิมาร์กซแก่ครุพสกายา   และแนวทางในการยกระดับชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นของทฤษฎีนี้ได้ดึงดูดความสนใจของเธอเป็นอย่างมาก    เธอจึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจังแต่ก็มีอุปสรรคอย่างมากที่หนังสือประเภทนี้ถูกประกาศให้เป็นหนังสือต้องห้ามโดยรัฐบาลซาร์      ทำให้บรรดานักปฎิวัติต่าง เก็บรวบรวมหนังสือเหล่านี้เก็บซุกซ่อนไว้ในห้องสมุดใต้ดิน   เมื่อวลาดิมีร์ได้เริ่มเข้าไปมีความสัมพันธ์กับกลุ่มศึกษาลัทธิมาร์กซใน เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก  ซึ่งมี นาเดซดา“นาดยา”ครุปสกายา(1869–1939) ร่วมอยู่ด้วย    ภายหลังเธอกล่าวถึงวลาดิมีร์ในจุลสารของเธอเรื่อง "เลนินศึกษามาร์กซอย่างไร” (How Lenin Studied Marx) ว่า

เลนินมีความรู้เกี่ยวกับลัทธิมาร์กอย่างอย่างน่าอัศจรรย์   ในปี 1893 เมื่อแรกที่เขามาถึงเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก   ก็ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่พวกเราชาวมาร์กซเป็นอย่างมากต่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่องานของมาร์กซและเองเกลส์    ในทศวรรษที่ 90 ในแวดวงของนักลัทธิมาร์กซเริ่มมีการเคลื่อนไหวรวมกลุ่มกัน  หลักๆแล้วตอนแรกก็สนใจศึกษาเรื่อง “ทุน” แม้มันค่อนข้างจะยาก ไปสักหน่อยแต่เราก็มีความพยายามที่จะเข้าถึงเนื้อหาของมัน     ทำให้ละเลยต่องานนิพนธิ์อื่นๆของมาร์กซไป      สมาชิกส่วนใหญ่ในแวดวงของเรายังไม่เคยอ่านแม้แต่   ”แถลงการณ์ของคอมมิวนิสต์”   อย่างเช่นตัวข้าพเจ้าเองได้อ่านครั้งแรกก็ตกเข้าไปปี 1898 จากฉบับพิมพ์ภาษา เยอรมันขณะที่กำลังลี้ภัยอยู่”

มาร์กซและเองเกลส์เป็นคำที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด ปี 1897 เลนินเขียนเรื่อง”The Characteristics of Economic Romanticism” ให้แก่วารสาร ”New Word ” ถูกบีบให้หลีกเลี่ยง คำว่า “มาร์กซ” และ ”ลัทธิมาร์กซ” หากจำเป็นก็ให้กล่าวโดยอ้อมไม่อย่างนั้นจะเกิดความยุ่งยากแก่วารสารได้ เลนินมีความเข้าใจภาษาต่างประเทศค่อนข้างดีและพยายามสืบค้นทุกสิ่งทุกอย่างของมาร์กซและเองเกลส์ทั้งภาษาเยอรมันและฝรั่งเศส อันนา อิลยินิชนา(พี่สาว) เล่าถึงการอ่านหนังสือ ”ความอับจนของปรัชญา” (The Poverty of Philosophy)  ในภาคภาษาฝรั่งเศสกับ โอลก้า น้องสาวของเขาว่า โดยมากแล้วเขาจะอ่านฉบับภาษาเยอรมันแล้วจะแปลงานของมาร์กซและเองเกลส์ส่วนที่มีความสำคัญและที่เขาสนใจไว้เป็นภาษารัสเซีย

งานใหญ่ชิ้นแรกของเขา  ซึ่งตีพิมพ์อย่างผิดกฎหมายในปี 1894 เรื่อง  “ใครเป็นมิตรกับประชาชน” ("Who are the Friends of the People?")   โดยอ้างอิงจากหนังสือ  แถลงการณ์ของคอมมิวนิสต์” (communist manifesto) , “บทวิจารณ์เศรษฐศาสตร์การเมือง” , ”ความอับจนของปรัชญา”, “อุดมการณ์เยอรมัน” , “จดหมายของมาร์กซถึงรูจ”  และหนังสือ “แอนตี้ ดือห์ริ่ง”( Anti Duehring) ของเองเกลส์  ,  “กำเนิดครอบครัว”( The Origin of the Family) และ” ทรัพย์สินส่วนตัวและรัฐ” (Private Property and the State.)   หนังสือ "Friends of the People "(มิตรของประชาชน) ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากนักลัทธิมาร์กซผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับงานของมาร์กซ     และมีความใส่ใจกับคำถามมากมายเกี่ยวกับหนทางที่จะไปสู่ความสำเร็จ    นิพนธ์เล่มต่อมาของเลนินคือ ”สาระทางเศรษฐศาสตร์ตามคำสอนของชาวนารอดนิคและข้อวิจารณ์ ของสตรูฟว์”  ที่เราได้ศึกษามาแล้วจากบทอ้างอิงใน "The Eighteenth Brumaire" และ “สงครามกลางเมืองฝรั่งเศส” จนถึง “วิพากษ์นโยบายโกธา” และจากตอนที่สองและสามของ “ทุน”

หลังจากย้ายที่พำนักจึงมีความเป็นไปได้สำหรับเลนินที่เริ่มศึกษาและคุ้นเคยกับงานนิพนธ์ต่างๆของมาร์กซและเองเกลส์  ประวัติของมาร์กซที่เลนินเขียนให้หนังสือ  “กรานาท เอนไซโคลพีเดีย”  บ่งแสดงความถึงความรับรู้ที่น่าทึ่งของเลนินที่มีต่องานมาร์กซดีกว่าสิ่งอื่นใด   ม้นแสดงว่าเลนินมี ความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะตักตวงเอาความรู้ขณะที่อ่านงานของมาร์กซ       ที่สถาบันเลนินมีสมุดบันทึกของเขามากมายโดยเฉพาะจากงานของมาร์กซ    เลนินได้ใช้ความรู้จากบันทึกเหล่านี้อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าจดและหมายเหตุเอาไว้   เขาไม่เพียงแต่ศึกษามาร์กซเท่านั้น   แต่ยังใคร่ครวญต่อคำสอนของมาร์กซอย่างลึกซึ้งอีกด้วย ดังเช่นปฐกถาของเขาในการประชุมสันนิบาตเยาวชนครั้งที่สามในปี 1920  เลนินกล่าวต่อเยาวชนเหล่านั้นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่จะรวบรวมความรู้ทั้งหมดและรับเอาอย่างชาวลัทธิคอมมิวนิสต์   จะต้องไม่ศึกษาแบบท่องจำ   แต่ควรเป็นวิธีขบคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง   ข้อสรุปบางอย่างอาจผิดแผกไปจากจากมุมมองของการศึกษาในปัจจุบัน” (Volume   XXV.)    

ด้วยความรอบรู้ในลัทธิมาร์กซและในความเชื่อมั่นในพลังของชนชั้นคนงานต่อการปฏิวัติ  วลาดิมีร์ ได้ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงในทุกๆวันอาทิตย์ตามโรงงานหรือสถานที่อื่นๆเพื่อพบปะพูดพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับวิถีปฏิวัติแบบสังคมนิยม    นาเดซดา ครุฟสกาย่า  เล่าว่า
ที่จริงแล้วเราสามารถคุยกันที่โรงเรียนได้เกือบทุกเรื่อง  แม้ว่าแทบทุกชั้นเรียนจะมีตำรวจลับอยู่ด้วย  ขอเพียงแต่หลีกเลี่ยงคำที่ต้องห้ามอย่างเช่น “ซาร์”  “การนัดหยุดงาน” หรืออะไรทำนองนี้  ก็สามารถพูดเรื่องราวพื้นฐานได้ทั้งหมด” 

วลาดิมีร์เองเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มว่า นิโคไล เปโตรวิช ที่เป็นชื่อปลอม  แต่เพื่อนๆชอบที่จะเรียกด้วยความสนิทสนมว่า   “สตาริก”(ผู้อาวุโสหรือไอ้เฒ่า) จากลักษณะท่าทางที่ค่อนข้างจะเข้มงวดในการปกปิดร่อง รอยการเคลื่อนไหว     เพราะรู้ดีว่ามีสายลับตำรวจจำนวนไม่น้อยที่แฝงตัวแทรกซึมอยู่ในขบวนการปฏิวัติ     เขาเริ่มเขียนบทความสั้นทางการเมืองเรื่อง ”ใครเป็นมิตรกับประชาชน”  ที่ต่อสู้เพื่อลัทธิสังคมประชาธิป ไตยจากพื้นฐานประสบการณ์ที่กว้างขวางของตนเองในซามารา   และได้พิมพ์แจกจ่ายอย่างลับๆกว่าสองร้อยฉบับ      แม้จะยึดแนวทางสังคมประชาธิปไตยอย่างเดียวกันวลาดิมีร์และชาวสังคมประชาธิปไตยก็มีความคิดขัดแย้งกับพรรค  สังคมนิยมปฏิวัติ  ซึ่งยึดถือแบบแผนที่ล้าสมัยของพรรค นารอดนายา โวลยา     และยังสนับสนุนความคิดสังคมนิยมที่มีพื้นฐานมาจากชาวนา   พรรคสังคมนิยมปฏิวัติยังคงเน้นที่บทบาทสำคัญของชาวนาที่มีต่อการปฏิวัติ ด้วยการเน้นความจริงของประเทศรัสเซียในปี 1881 ที่มีชาวนาถึง 75 ล้านคนในขณะที่ชนชั้นกรรมาชีพมีเพียงแค่ 1 ล้านคนเท่านั้น    แม้จำนวนจะแตกต่างกันอย่างมากมายเพียงนี้แต่นักลัทธิมาร์กซยังเชื่อว่า....ชนชั้นชาวนานั้นมีแรงกระตุ้นเพียงเพื่อต้องการเป็นเจ้า ของที่ดินทำกินเท่านั้น   พวกเขายังมีแนวคิแบบทุนนิยมไม่ใช่สังคมนิยม   มีแต่ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเป็นพลังนำการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้    แต่วลาดิมีร์ยังคงยอมรับแนวคิดของ  เพทร์ (ปีเตอร์) ทกาเชวี (1844–1886)  นักสังคมนิยม-ชาวนา ในประเด็นของกองกำลังติดอาวุธ
เลนินมีความคาดหวังต่อความเป็นปึกแผ่นของการประสานงานระหว่างการเคลื่อนไหวของขบวนการสังคมประชา ธิปไตยของเขาและ”กลุ่มปลดปล่อยแรงงาน” ที่จัดตั้งขึ้นใน เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย เพลคานอฟและนักลัทธิมาร์กซชาวรัสเซียผู้ลี้ภัยเมื่อปี1883  วลาดิมีร์และ อี.ไอ.สปอนติ  ได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อพบกับเพลคานอฟผู้ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสนับสนุนพรรคสังคมประชาธิป ไตยแต่ได้วิจารณ์พรรคว่าเพิกเฉยต่อบทบาทของชนชั้นนายทุนในการปฏิวัติ     วลาดิมีร์เดินทางต่อไปยังยังซูริคและได้รู้จักกับ  พาเวล เอ๊กเซลรอด  (Pavel Axelrod) และสมา ชิกคนอื่นๆของกลุ่มปลดปล่อยแรงงาน ส่วนในปารีสได้พบกับ เพาล์ ลาฟาร์ก[6](Paul Lafargueและได้ค้นคว้าเรื่องปารีสคอมมูนซึ่งเขาถือว่าเป็นต้นแบบ ”รัฐ” ของชนชั้นกรรมาชีพ   

ด้วยความช่วยเหลือทางการเงินจากมารดาจึงได้เดินทางกลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อรักษาสุขภาพ หลังจากนั้นก็ไปยังกรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมัน    ที่นั่นวลาดิมีร์ได้ใช้เวลาหกเดือนศึกษาค้นคว้าในห้องสมุกลางและได้รู้จักกับ   วิลเฮล์ม ลิบเนคท์[7](Wilhelm Liebknecht)   เมื่อถึงคราวที่จะต้องเดินทางกลับรัสเซียก็แอบซุกซ่อนเอกสารเกี่ยวกับการปฏิวัติมาด้วย    ตลอดเวลาวลาดิมีร์ต้องเดินทางหลบซ่อนหรือย้ายที่อาศัยไปหลายๆแห่งเพราะรู้ตัวว่าถูกตำรวจจับตามองอยู่กระนั้นก็ได้เผยแพร่เอกสารความคิดลัทธิมาร์กซ์เรื่อง” เหตุผลของกรรมกร”  รวมทั้งจดหมายข่าวในคราวที่กรรมกรนัดหยุดงานในกรุงเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กอันเป็นศูนย์ กลางโรงงานทอผ้าของบริษัทธอนตัน    ในที่สุดวลาดิมีร์และนักเคลื่อนไหวอีก 40 คนก็ถูกจับในคืนก่อนที่จะพิมพ์เอกสารใต้ดิน     และถูกฟ้องในข้อหามีพฤติกรรมปลุกระดมและก่อความไม่สงบ

-------------------------------------------------------------------------------------
[1] ชมรมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย   ส่วนมากจะมีลักษณะเป็นชมรมท้องถิ่นเพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่สมาชิก  
[2] นักทฤษฎีลัทธิมาร์กซชาวรัสเซียคนแรกที่เผยแพร่ลัทธิมาร์กซในรัสเซีย
[3] นักสังคมนิยมชนชั้นนายทุนน้อย  ภายหลังกลายเป็นนักลัทธิแก้โดยสนับสนุนแนวทางของเมนเชวิค
[4] เป็นสถาบันการศึกษาของกุลสตรีที่ใหญ่และเด่นที่สุดในจักรวรรดิรัสเซีย   หลังการปฏิวัติได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สามในเปโตรกราดและยุบรวมเข้ากับมหาวิทยาลัยแห่งเปโตรกราดเมื่อปี 1919
[5] ลีโอ  ตอลสตอย (1828-1910) นักประพันธ์เอกชาวรัสเซีย   เจ้าของบทประพันธ์เรื่อง “สงครามและสันติภาพ”
[6] นักปฏิวัติชาวฝรั่งเศส แต่งงานกับลูกสาวของมาร์กซ
[7]  นักปฏิวัติลัทธิมาร์กซ ชาวเยอรมัน