Thursday, April 16, 2015

เลนิน บนเส้นทางปฏิวัติ (14)

ภาคผนวก

1. นิพนธ์เดือนเมษายน (April theses)
บทนำ
“กว่าข้าพเจ้าจะมาถึงเปรโตกราดก็เป็นเวลาค่ำของวันที่ 3 เมษายน  และเพราะว่าต้องเข้าประชุมในเช้าวันที่ 4    น่านอน..ข้าพเจ้าได้เสนอแผนงานเกี่ยวกับภาระหน้าที่ในการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพในนามของตัวเอง  และขอสงวนไว้หากเกิดกรณีที่ยังมีการตระเตรียมที่ยังไม่พอเพียง 
สิ่งเดียวที่ข้าพเจ้าสามารถทำให้ทุกสิ่งง่ายขึ้นสำหรับตัวเองและเพื่อจะได้รับความเชื่อถือจากฝ่ายตรงกันข้ามก็คือการเตรียมด้วยการเขียน    ข้าพเจ้าได้อ่านและให้ตัวบทแก่สหาย  เซเรเทริ  ข้าพเจ้าอ่านอย่างช้าๆสองครั้ง   ครั้งแรกในที่ประชุมของพรรคบอลเชวิค และอีกครั้งหนึ่งในการประชุมร่วมระหว่างบอลเชวิคและเมนเชวิค  ข้าพเจ้าได้พิมพ์บทความส่วนตัวของข้าพเจ้าบทนี้โดยอธิบายความอย่างรวบรัด    ซึ่งก็ได้แก้ไขปรับปรุงในรายละเอียดต่างๆให้สมบูรณ์ขึ้นแล้วในรายงาน

บทนิพนธ์
1. ทัศนะของเราต่อสงครามภายใต้รัฐบาลใหม่(ชั่วคราว)ของ ลว๊อฟและพรรคพวก   ไม่ต้องสงสัยเลยว่ารัสเซียยังคงเป็นส่วนหนึ่งในสงครามปล้นสดมภ์ของจักรพรรดิ์นิยม     เนื่องมาจากธรรมชาติของรัฐบาลชนชั้นนายทุนจะไม่ยอมรับแม้แต่น้อยที่จะให้เกิดลัทธิ  ”ปกป้องการปฏิวัติ”       โดยจิตสำนึกของชนชั้นกรรมาชีพจะยอมรับก็เฉพาะสงครามปฏิวัติเท่านั้น     สงครามปกป้องการปฏิวัติต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า

(a)  อำนาจจะต้องเป็นของชนชั้นกรรมาชีพและชาวนาจนที่ร่วมมือกับชนชั้นกรรมาชีพ
(b)  คำประกาศสัญญาต่างๆจะต้องได้รับการตอบสนองอย่างชัดเจนไม่ใช่เพียงแค่ลมปาก 
(c)  ทำลายผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนลงโดยสิ้นเชิง

ในทัศนะที่ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาย่อมไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าในส่วนของมวลชนในระดับกว้างที่ศรัทธาในลัทธิปกป้องการปฏิวัติ, ผู้ซึ่งยอมรับว่าสงครามเป็นเรื่องที่จำเป็นและไม่ได้หมายถึงแค่การเอาชนะ    ในแง่ของความเป็นจริงพวกเขากำลังถูกหลอกลวงโดยชนชั้นนายทุน   มีความจำเป็นต้องใช้ความอดทนไปอธิบายอย่างละเอียดถึงความผิดพลาดของพวกเขา    ยืนหยัดอธิบายถึงสิ่งที่ดำรงอยู่ของสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ระหว่าง”ทุน”และสงครามจักรพรรดิ์นิยม    และพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่าหากไม่โค่นล้มทุน     ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะยุติสงครามลงไปได้อย่างแท้จริงโดยวิธีสันติและประชาธิปไตย    สันติภาพไม่อาจกำหนดขึ้นได้จากความรุนแรง    ทัศนะเช่นนี้ต้องมีการรณณรงค์อย่างกว้างขวางที่สุดด้วยการจัดตั้งในกองทัพที่อยู่ในแนวรบ

ภราดรภาพ
2. คุณลักษณะเฉพาะของสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศรัสเซียที่พึ่งจะผ่านขั้นตอนแรกของการปฏิวัติ     เนื่องจากเรายังขาดจิตสำนึกทางชนชั้นและองค์กรจัดตั้งของชนชั้นกรรมาชีพ จึงปล่อยให้อำนาจตกไปอยู่ในกำมือของชนชั้นนายทุนการไปสู่(การปฏิวัติ)ระยะที่สองนั้น อำนาจต้องอยู่ในกำมือของชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นชาวนาส่วนที่ยากจนที่สุดเท่านั้นลักษณะของการเปลี่ยนผ่านนี้ด้านหนึ่งโดยการยอมรับว่ากฎหมายเป็นสิ่งสูงสุด (รัสเซียขณะนี้มีเสรีมากกว่าทุกประเทศที่ทำสงครามในโลก);อีกด้านหนึ่งต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อมวลชนและสุดท้ายไม่ควรให้ความเชื่อถือรัฐบาลของชนชั้นนายทุนที่ไร้เหตุผล ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของสันติภาพและสังคมนิยมต่อสถานการณ์พิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นนี้เรียกร้องให้เราต้องปรับปรุงตนเองเป็นกรณีพิเศษ ทุ่มเทความสามารถของเราเข้าแบกรับภารกิจของพรรคไปเคลื่อนไหวท่ามกลางมวลชนกรรมาชีพอันไพศาลที่พึ่งจะมีความตื่นตัวในชีวิตทางการเมือง

3.  ต้องไม่สนับสนุนรัฐบาลชั่วคราว    กล่าวคือพวกเขาต้องให้ความกระจ่างในสนธิสัญาที่เสียเปรียบทุกฉบับ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ยอมรับเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการสละสิทธิ์ในการผนวกดินแดน     เปิดโปงและไม่ยอมรับข้อเรียกร้องที่เป็นเพียงมายาภาพทั้งมวลของรัฐบาลนี้    หยุดรัฐบาลของชนชั้นนายทุน ไว้   ก่อนที่มันจะก้าวไปสู่จักรพรรดิ์นิยม

4.ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าในสภาโซเวียตคนงานส่วนข้างมาก พรรคเราเป็นเสียงส่วนน้อยและจะน้อยลงไปอีกเมื่อเทียบกับกลุ่มนายทุนน้อยที่มีธาตุแท้ของนักฉวยโอกาสทั้งมวลจากพรรคสังคมนิยมป๊อปปูลิสต์  และพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ ที่อยู่ในองค์คณะกรรมการบริหาร(ชเคอิดเซ,เซเรตเตลี, สเต๊กลอฟ  ฯลฯ  ฯลฯ )   ซึ่งเป็นผู้ยอมสยบต่อผลประโยชน์เพื่อขยายอิทธิพลของชนชั้นนายทุนน้อยในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ จะต้องแสดงให้มวลชนเห็นว่ามีความเป็นไปได้เพียงประการเดียวคือผุ้แทนของโซเวียต คนงานจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติและนี่คือภาระหน้าที่ของเรา  ตราบเท่าที่รัฐบาลนี้ยอมสยบต่ออิทธิพลของชนชั้นนายทุน เราจะต้องยืนหยัดและอดทนที่จะอธิบายความผิดพลาดทางยุทธวิธีของพวกเขาอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องปรับคำอธิบายให้เหมาะสมเพื่อเข้ากับความเรียกร้องต้องการของมวลชนตราบเท่าที่เรายังคงเป็นเสียงส่วนน้อยอยู่ ภารระที่ต้องทำต่อเนื่องคือทำการวิจารณ์และเปิดโปงความผิดพลาดทั้งมวล ในขณะเดียวกันเราต้องแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านการเข้าสู่อำนาจของสภาโซเวียตคนงานประชาชนส่วนใหญ่จึงจะสามารถเอาชนะความผิดพลาดได้ด้วยประสบการณ์ของพวกเขาเอง

5  ต้องนำเอาสภาโซเวียตคนงานกลับคืนมา  ไม่ยอมรับระบอบรัฐสภาแบบสาธารณรัฐเพราะมันเป็นการก้าวถอยหลัง      ควรจะเป็นสาธารณรัฐโซเวียตของคนงาน ,ผู้ใช้แรงงานทางเกษตรกรรม  และชาวนา  จากบนสู่ล่างทั่วทั้งประเทศ    ล้มเลิกกองกำลังตำรวจและกองทัพของพวกขุนนาง    เงินเดือนค่าจ้าง พนักงานของรัฐระดับสัญญาบัตรที่ได้รับเลือกเลื่อนเข้ามาแทน(คนเก่า)     จะต้องไม่สูงเกินกว่าค่าจ้างโดยเฉลี่ยของคนชำนาญงาน
6. ให้น้ำหนักโดยเน้นความสำคัญด้านนโยบายในการยกระดับสภาโซเวียตแห่งคนงานด้านเกษตรกรรมและสภาโซเวียตชาวนาในท้องถิ่น    

ยึดที่ดินรายใหญ่ทั้งหมด
ที่ดินทั้งหมดในประเทศต้องตกเป็นของรัฐ      ที่ดินจะถูกบริหารจัดการโดยผู้แทนสภาโซเวียตของเกษตรกรและชาวนาในท้องถิ่นโดยแยกองค์กรออกจากโซเวียตของชาวนาจน    การจัดรูปแบบฟาร์มตัวอย่างโดยจัดตามขนาดของที่ดิน(ขนาด 100-300 เดสเซียติน[1] ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพและการตัดสินใจของแต่ละท้องถิ่น)        ภายใต้การควบคุมของคณะตัวแทนโซเวียตของผู้ใช้แรงงานด้านเกษตรกรรมและกองทุนสาธารณะ
7. ควบรวมธนาคารในประเทศให้เป็นธนาคารแห่งชาติเพียงหนึ่งเดียวโดยทันที   ควบคุมโดยผู้แทนสมัชชาโซเวียตคนงาน
8. ภาระแรกสุดของเรายังไม่ใช่การเสนอสังคมนิยม    หากเป็นเพียงการนำผลผลิตของสังคมทั้งมวลออกแจกจ่ายกลับคืนสู่สังคมอีกครั้งภายใต้การควบคุมของคณะตัวแทนโซเวียตแห่งผู้ใช้แรงงาน
9) ภาระหน้าที่ของพรรค
a)   เรียกประชุมสมัชชาพรรคอย่างเร่งด่วน
 b)   แก้ไขระเบียบการหลักๆของพรรค
       1 ว่าด้วยปัญหาจักรพรรดินิยมและสงครามจักรพรรดินิยม
      2  ว่าด้วยท่าทีของเราต่อรัฐและข้อเรียกร้องรัฐแบบคอมมูน (หมายถึงรัฐที่ใช้คอมมูนปารีสเป็น    แม่แบบ..ผู้แปล)
       3  แก้ไขปรับปรุงนโยบายที่ล้าหลังบางประการ
(c) เปลี่ยนชื่อพรรคเราจากพรรคสังคมประชาธิปไตย    ที่ผู้นำพรรคส่วนใหญ่ในโลกได้ละทิ้งและทรยศต่อหลักการสังคมนิยมไปแล้ว(ได้แก่บรรดากลุ่มนิยมเค้าทสกี้ที่โลเลและคัดค้าน) เราต้องเรียกพวกเราว่า พรรคคอมมิวนิสต์


สถาปนาสากลนิยมขึ้นใหม่
10. เราต้องริเริ่มสร้างสรรค์ขบวนการปฏิวัติสากลขึ้นมา    เพื่อต่อต้านบรรดากลุ่มสังคม-ชาตินิยมคลั่งชาติทั้งมวลและคัดค้านศูนย์กลางการเคลื่อนไหวลัทธิสังคม-ประชาธิปไตยที่มีแนวโน้มโลเลระหว่างนักลัทธิคลั่งชาติและนักสากลนิยมจอมปลอมทั้งหลาย เช่น เค้าทสกี้และสาวกในเยอรมันนี   ลองเกท์และพวกในฝรั่งเศส   ชไคดิเซและพวกในรัสเซีย   ตูราตีและพวกในอิตาลี   แมคโดแนลและพวกในสหราชอาณา จักร และคนอื่นๆ
เพื่อผู้อ่านจะเข้าใจได้ว่า.. ทำไมข้าพเจ้าจึงได้เน้นย้ำเป็นพิเศษในกรณีที่มีผู้คัดค้านโดยสุจริตใจ  ข้าพเจ้า   ขอเชิญท่านทั้งหลายลองเปรียบเทียบข้อเขียนนี้กับคำคัดค้านของคุณ โกลเดนแบร์ก ที่กล่าวว่า  “เลนินได้ตั้งธงของสงครามกลางเมืองไว้แล้วท่ามกลางการปฏิวัติประชาธิปไตย” (คัดมาจาก No. 5 of Mr. Plekhanov's Yedinstro/หนังสือพิมพ์ของพรรค เยดินสโตร)

มีคุณค่าหรือไม่?
ข้าพเจ้าเขียนและแถลงอย่างละเอียดชัดเจนว่า “ในทัศนะของมวลชนส่วนที่เชื่อว่าพวกเขาคือผู้ปกป้องการปฏิวัติ   ในความเป็นจริงนั้นพวกเขากำลังถูกหลอกลวงโดยชนชั้นนายทุน จึงมีความจำเป็นโดยเฉพาะในการอธิบายถึงความผิดพลาดของพวกเขาด้วยความอดทนและอย่างต่อเนื่อง  สุภาพบุรุษชนชั้นนายทุนที่เรียกตนเองว่า “นักสังคมประชาธิปไตย”  ผู้ซึ่งยังไม่สังกัดข้างใดไม่ว่าจะเป็นข้างมวลชนอันไพศาลหรือ ผู้ที่เชื่อในลัทธิปกป้องชาติได้วิพากษ์ทัศนะของข้าพเจ้าว่า  “ธงแห่งครามกลางเมืองได้ถูกปักลงแล้วบนใจกลางของการปฏิวัติประชาธิปไตย”  (ซึ่งไม่เคยปรากฏแม้แต่คำเดียวในข้อเขียนและในคำปราศรัยของข้าพเจ้า)
มันหมายความว่าอะไร?  และมันแตกต่างอย่างไรกับการปลุกระดมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจลาจลของหนังสือพิมพ์  รุสกายา โวลย่า? [2]
ข้าพเจ้าเขียน และแถลงอย่างละเอียดชัดเจนว่า  “มีแต่สภาโซเวียตของคนงานเท่านั้นที่มีคุณสมบัติในการสถาปนารัฐบาลปฏิวัติและนี่คือภาระของเราที่จะนำเสนออย่างอดทน   เป็นระบบ   ยืนหยัดในการชี้แจงถึงความผิดพลาดทางยุทธวิธีของพวกเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวไปสู่การปฏิบัติตามความต้องการของมวลชน”
ขณะนี้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกลับโจมตีแนวทางทัศนะของข้าพเจ้าว่าเป็น  “สงครามกลางเมืองท่ามกลางการปฏิวัติประชาธิปไตย”!

ข้าพเจ้าโจมตีรัฐบาลชั่วคราวที่ไม่ได้มาจากการแต่งตั้ง     ไม่ว่าทั้งก่อนหน้านี้และทุกๆเมื่อที่มีการเรียกประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ,สภาที่มีบทบาทที่จำกัดยิ่ง   ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยต่อการเรียกประชุมโดยไม่มีตัวแทนของโซเวียตแห่งคนงานและทหารซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะประกันถึงความสำเร็จ
ในทัศนะของข้าพเจ้าไม่มีเหตุผลใดๆที่ว่า...เพราะข้อคัดค้านของข้าพเจ้าเป็นสาเหตุให้ต้องมีการเรียกประชุมสภาอย่างเร่งด่วน

ข้าพเจ้าคงเพ้อเจ้อแน่     หากไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าได้ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมานานนับสิบๆปี   สิ่งเหล่านี้ได้สอนข้าพเจ้าว่า     ความซื่อตรงของฝ่ายตรงข้ามนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ในเอกสารของ คุณเพลคานอฟ เรียกปฐกถาของข้าพเจ้าว่า “เพ้อเจ้อ” การโต้แย้งของคุณช่างไร้มารยาทและรับรู้ช้าเสียจริงๆ   ถ้าข้าพเจ้าพูดเรื่อง ”เพ้อเจ้อ” ทำไมคนนับร้อยจึงยังทนนั่งฟังเรื่อง”เพ้อเจ้อ”เช่นนี้อยู่ได้ตลอดสองชั่วโมง    ทำไมหนังสือพิมพ์ของคุณจึงต้องอุทิศเนื้อที่ทั้งคอลัมน์ให้กับเรื่องเพ้อเจ้อเช่นนี้เล่า? มันช่างขัดกันเหลือเกิน

แน่นอนมันเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะตระโกน  ประณาม  และโห่ฮา  มากกว่าการอธิบาย     หากหวลระลึกถึงคำกล่าวของมาร์กซและเองเกลส์ในปี 1871, 1872  และ 1875 เกี่ยวกับประสบการณ์ของปารีสคอมมูนและรูปแบบของรัฐที่ชนชั้นกรรมาชีพปรารถนา    เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า คุณเพลคานอฟ อดีตนักลัทธิมาร์กซ  ไม่สนใจที่จะหวนกลับมาระลึกถึงลัทธิมาร์กซอีก

ข้าพเจ้าขอยกคำพูดของ โรซา ลุกเซ็มบวร์ก ที่เรียกนักสังคม-ประชาธิปไตยเยอรมันเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1914 ว่าเป็น “ซากศพที่เน่าเหม็น”  เพลคานอฟ ,โกลเดนเบิร์กส์และพรรคพวกรู้สึกไม่พอใจ  ในนามของใครหรือ?  ในนามของนักลัทธิคลั่งชาติเยอรมันนะสิ      พวกเขารู้สึกสับสนเพราะถูกเรียกว่านักลัทธิคลั่งชาติ    นักสังคม-คลั่งชาติชาวรัสเซียผู้น่าสงสารเหล่านี้ .......นักสังคมนิยมในคราบของนักลัทธิคลั่งชาติ

หมายเหตุ:    บทนิพนธิ์ชิ้นนี้คือ บทนิพนธิ์เดือนเมษายน (April Theses)อันลือชื่อของเลนิน   ซึ่งเลนินได้อ่านด้วยตัวเองในที่ประชุมทั้งสองครั้งที่พระราชวังเทาริดา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 1917 (ในการประชุมของพรรคบอลเชวิคและการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนสภาโซเวียตของคนงานและทหารของพรรคบอลเชวิคและเมนเชวิคทั่วประเทศ)      หัวข้อนี้ได้ตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือพิมพ์โซเชียล-เดโมแครต ของพรรคบอลเชวิค (มอสโคว์)  โปรเลตารี่(คาร์คอฟ)  คราสโนยาสกี เรโบชี (คราสโนยาสก์ค)  วีเปอร์ยอด(อูฟา) บากินสกี้ เรโบชี (บากู)  คอฟคาสกี ราโบชี(ทิฟลิส) และที่อื่นๆอีกหลายแห่ง
-------------------------------------------------------------------------------------

ประวัติบุคคลโดยสังเขป

1. กอร์กี้   วาเลนติโนวิช  เพลคานอฟ(Гео́ргий Валенти́нович Плеха́нов )  

(29พฤศจิกายน 1856 – 30 พฤษภาคม 1918)

กอร์กี้   วาเลนติโนวิช  เพลคานอฟ  เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน1856 (ปฏิทินเก่า) ที่หมู่บ้าน กูลานอฟกาจังหวัด ทามบอฟ ประเทศรัสเซีย หนึ่งในบรรดาพี่น้อง 12 คน  วาเลนติน  เพลคานอฟ บิดาของเขาเป็นทายาทของตระกูลผู้ดีชนชาติส่วนน้อยตาร์ตา    นับเป็นผู้ดีระดับล่างของสังคมรัสเซียถือครองที่ดินประมาณ 270 เอเคอร์และไพร่ติดที่ดินราว 50 คน    มาเรีย  ฟีโอโดรอฟนา มารดาของกอร์กี้ เป็นเครือญาติห่างๆกับ วิซาลิออน  เบ-ลินสกี นักวิจารณ์วรรณคดีชื่อดัง       แต่งงานกับวาเลนตินเมื่อปี 1855 หลังจากภรรยาคนแรกเสียชีวิต   กอร์กี้เป็นบุตรคนแรกในจำนวน 5 คนของทั้งคู่
 เมื่ออายุได้ 10 ขวบกอร์กี้ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายทหารคอนสแตนตินอฟในโวโรเนซเมื่อปี 1866 จนถึงปี 1873   มารดาของเขาให้เหตุผลในภายหลังว่า  สาเหตุที่บุตรของเธอใช้ชีวิตเยี่ยงนักปฏิวัติกระทั่งมีแนว คิดเสรีนิยมก็เพราะหลักสูตรการสอนในโรงเรียน    ปี 1871 วาเลนติน เพลคานอฟ  ไม่อยากให้ครอบครัว

ที่มีฐานะเป็นเจ้าที่ดินน้อยจึงรับงานเป็นผู้บริหารสภาเมือง(zemstvo / เซมสตโว )ที่พึ่งจะตั้งขึ้นใหม่และเสียชีวิตในอีกสองปีต่อมา        หลังการเสียชีวิตของบิดา...เพลคานอฟได้ลาออกจากโรงเรียนทหารและลงทะเบียนเรียบในสถาบันโลหะวิทยาในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก    ที่นี่เขาได้รู้จักกับปัญญาชนชื่อว่านักปฏิวัติหนุ่ม ปาเวล เอ๊กเซลรอด ซึ่งภายหลังเพลคานอฟได้กล่าวถึงเขาด้วยความประทับใจว่า “เขาชอบพูดถึงการทำงานด้านธุรกิจพอๆกับ วรรณคดี เป็นคนหนึ่งที่รักการเรียนรู้ ชอบอ่าน คิด และทำ     มีความไฝ่ฝันอยู่ตลอดเวลาที่จะไปศึกษาและฝึกงานในด้านเคมีในต่างประเทศซึ่งผมไม่ค่อยชอบนัก..ผมพูดกับเขาว่ามันฟุ่มเฟือยเกินไป      ถ้าคุณใช้เวลานานจนกว่าจะจบการศึกษาแล้วเมื่อไหร่คุณถึงจะได้เริ่มต้นปฏิวัติล่ะ

ภายใต้อิทธิพลของแอ๊กเซลรอด   เพลคานอฟจึงถูกชักจูงเข้าสู่กลุ่มป๊อปปูลิสต์[3]ในฐานะนักเคลื่อนไหวกิจกรรม ในองค์กร เซมลียา อี โวลียา (แผ่นดินและเสรีภาพ ).ซึ่งเป็นองค์กรปฏิวัติกลุ่มแรกๆในสมัยนั้นเพลคานอฟเป็นหนึ่งในผู้จัดการประท้วงทางการเมืองในรัสเซีย  1 ตุลาคม 1876 ในระหว่างการประท้วงที่คาซานเพลคานอฟได้กล่าวโจมตีระบอบอัตาธิปไตยของพระเจ้าซาร์อย่างเผ็ดร้อนและสนับสนุนปกป้องความคิดของเชอร์นีเวฟสกี         หลังจากนั้น...เพราะเกรงว่าจะถูกตอบโต้จึงนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างระมัด ระวัง      เขาถูกจับสองครั้งจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกขังอยู่ไม่นานก็ถูกปล่อยตัวออกมา

แม้ว่าจะเป็นพวกป๊อปปูลิสต์มาแต่เดิม    แต่เมื่อย้ายไปยังยุโรปตะวันตกเขาได้มีความสัมพันธ์และเคลื่อนไหวร่วมกับกับนักสังคมประชาธิปไตยยุโรปตะวันตกและเริ่มศึกษางานของมาร์กซและฟรีดริค  เองเกลส์     เมื่อปัญหาการก่อภัยร้ายได้กลายมาเป็นการอภิปรายถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในขบวนการเคลื่อนไหวในหมู่พวกป๊อปปูลิสต์ในปี 1879      เพลคานอฟได้ตัดสินใจตัดอย่างเด็ดขาดที่จะต่อต้านการเมืองที่ใช้การลอบสังหาร      นักประวัติศาสตร์ ลีโอโพล แฮมสัน ยกคำพูดของเพลคานอฟ ที่ว่า “ประณามการเคลื่อนไหวที่ก่อภัยร้ายอย่างไม่มีการยั้งคิด    จะเป็นการลดทอนพลังปฏิวัติและกระตุ้นให้รัฐบาลทำการปราบปรามอย่างรุนแรง   การปลุกระดมมวลชนจะเป็นไปอย่างยากลำบาก”   เพลคานอฟได้ คัดค้านทัศนะคติที่ผิดอย่างสม่ำเสมอ      ยินยอมละทิ้งการเคลื่อนไหวทั้งหมดมากกว่าที่จะประนีประนอม

เขาตั้งกลุ่มการเมืองชื่อ  เชรินยี เพเรเดล    ด้วยการรวบรวมเอาพวกป๊อปปูลิสต์ที่กระจัดกระจาย    เพื่อต่อสู้คัดค้านการเคลื่อนไหวก่อภัยร้ายของพวก นารอดยา โวลยา(ความต้องการของประชาชน)   แต่เป็นที่ประจักษ์ว่าความพยายามของเขาไม่ประสบความสำเร็จปี 1880 ได้ลี้ภัยไปยังสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งตั้งใจว่าจะพำนักเพียงชั่วคราว    แต่กว่าจะได้กลับบ้านเกิดก็ล่วงเข้าไปถึง 37 ปี      สามปีต่อมา..เพลคานอฟ ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างกว้างขวาง  และค่อยเข้ามาสู่ปัญหาความเชื่อของเขาต่อความเป็นไปได้ของรูปแบบการปฏิวัติบนพื้นฐานของคอมมูน[4]แบบดั้งเดิม. ในช่วงเวลานี้เพลคานอฟได้ทุ่มเทให้กับกลุ่มสายกลาง (centralist)    เชื่อมั่นในศักยภาพของการเคลื่อน ไหวต่อสู้ทางการเมืองเขาตัดสินใจที่จะต่อสู้ในฐานะนักสังคมนิยม     ในอนาคตระบอบทุนนิยมจะต้องพัฒนาขึ้นในสังคมแบบเกษตรกรรมของรัสเซียอย่างแน่นอน

เดือนกันยายน 1883 เพลคานอฟได้ร่วมกับเพื่อนเก่าเช่น  เอ๊กเซลรอด   เลฟ  ด๊อยช์  วาซิลี  อิกนาต๊อฟและ เวรา  ซาซูลิค  ตั้งองค์กรการเมืองลัทธิมาร์กซขึ้นชื่อว่า “กลุ่มปลดปล่อยแรงงาน” (Освобождение труда / อ๊อสโวบอซเดนิเย ทรูดา) และได้เสนอนโยบายทางสังคมขององค์กร    ฐานขององค์กรที่อยู่ในเจนีวา      ได้พยายามขยายแนวคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจ-สังคมของมาร์กซ  แต่ก็ประสบความ สำเร็จเพียงเล็กน้อยโดยได้รับความสนใจจากปัญญาชนชั้นสูงเช่น  เพร์ท(ปีเตอร์) สตรู๊ฟ  วลาดิมีร์ อูลิยานอฟ(เลนิน) จูเลียส มาร์ตอฟ  และอเล็กซานเดอร์  โปเตรซอฟ  เข้ามาร่วมในองค์กร

กิจกรรมด้านหนังสือ....ในช่วงนี้เองที่เพลคานอฟเริ่มเขียนและตีพิมพ์งานหนังสือเกี่ยวกับการเมืองเล่มสำคัญของเขา รวมไปถึงจุลสารที่เกี่ยวกับสังคมนิยมและการต่อสู้ทางการเมือง    เช่นหนังสือขนาดยาวเรือง  ”ความแตกต่างของเรา” (1885)    งานนี้ได้แสดงความชัดเจนเป็นครั้งแรกในฐานะนักลัทธิมาร์ก รัสเซีย    และอธิบายถึงเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงจากนักเคลื่อนไหวป๊อปปูลิสต์ไปสู่นักลัทธิมาร์กซหนังสือเล่มต่อมาเขาได้เน้นย้ำว่า    ระบอบทุนนิยมได้เกิดขึ้นแล้วด้วยตัวมันเองในรัสเซียแม้จะยังเป็นประเทศเกษตรกรรม     แรกสุดได้แก่โรงงานสิ่งทอ  ชนชั้นผู้ใช้แรงงานเริ่มปรากฏขึ้นในหมู่ชาวนารัสเซียและการขยายตัวของชนชั้นนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็วอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้   และจะเป็นการนำความเปลี่ยนแปลงรัสเซียไปสู่สังคมนิยม

มกราคม 1895 เพลคานอฟได้ออกหนังสือเล่มที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากที่สุดเรื่อง ”พัฒนาการของนัก   เอกนิยมในมุมมองทางประวัติศาสตร์”  หนังสือเล่มนี้ผ่านการเซ็นเซอร์จากรัฐบาลและตีพิมพ์อย่างถูกกฎ หมายของรัสเซียภายใต้นามปากกา เบลตอฟ  และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในการปกป้องแนวคิดวัตถุนิยมประวัติศาสตร์   และแน่นอนเลนินได้ให้ความเห็นว่าเป็นหนังสือที่ได้ช่วยให้การศึกษาแก่นักลัทธิมาร์กซรัสเซียอย่างมาก
ฟรีดริค  เองเกลส์ได้ให้ความเห็นในจดหมายถึง เวรา ซาซูลิค เกี่ยวกับหนังสือนี้ว่าพิมพ์ออกมาถูกเวลา ที่สุด    เพราะซาร์ นิโคลัส ที่ 2 พึ่งจะออกคำแถลงถึงความไร้ประโยชน์ของเซมสตโว รัฐบาลท้องถิ่น   ที่ต้องการยับยั้งการปลุกระดมเพื่อให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยในรัสเซียเท่านั้น  นิโคลัสที่ 2  ได้ตัดสินใจ นำรัสเซียกลับไปสู่การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชเช่นเดิมเหมือนสมัยของซาร์อเล๊กซานเดอร์ที่ 3 พระราชบิดาอีกครั้ง      การตั้ง เซมสตโว หรือ สภาบริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งในจักรวรรดิ์รัสเซียภาคพื้นยุโรปนั้น     เป็นการริเริ่มของซาร์อเล๊กซานเดอร์ที่ 2 ปู่ของพระองค์ในปี 1864 แต่ภายใต้ นิโคลัสที่2  กลับเป็นการฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นมาอีก     ดังนั้นเซมสตโวทั้งหลายเป็นสิ่งที่เกินความต้องการจะต้องถูกล้มเลิกไป     เองเกลส์ได้คาดหมายไว้คำประกาศนี้จะเป็นสาเหตุให้การประท้วงจะลุก ลามไปทั่วรัสเซีย     และเห็นว่าการตีพิมพ์หนังสือของเพลคานอฟเล่มนี้เป็นปัจจัยในการประท้วงขยายตัวเพิ่มมากขึ้น       หลังเดือนกุมภาพันธ์ปี1895 เองเกลส์ได้เขียนจดหมายถึงเพลคานอฟแสดงความยินดีในความสำเร็จอย่างสูงที่สามารถพิมพ์หนังสือเล่มนี้ได้ภายในประเทศ     ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน เมื่อ 1896 ที่เมืองชตุร์ทการ์ต

ตลอดทั้งปี 1890  เพลคานอฟหมกมุ่นอยู่กับงานค้นคว้าหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติ      เบื้องแรกได้ พยายามค้นคว้าและเผยให้เห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีวัตถุนิยมของฝรั่งเศสก่อนหน้ามาร์กซ์และวัตถุนิยมของมาร์กซ    “ความเรียงที่ว่าด้วยวัตถุนิยมประวัติศาสตร์”(1892 - 1893) ของเขาเห็นพ้องด้วยแนวคิดวัตถุนิยมฝรั่งเศส  เช่น เปาล์ โฮลบัค  โค๊ลด อาดริแอง เฮลเวทิอุส  เพลคานอฟแก้ต่างให้ทั้ง เฮลเวทิอุสและโฮลบัค   จากการโจมตีของ ฟรีดริค อัลแบร์ท ลางเง , จูลส์ เอากุสเต ซูรี  และนักปรัชญาจิตนิยมคนอื่นๆที่เป็นสานุศิษย์ของคานท์    ในข้อเขียนเหล่านี้เพลคานอฟระมัดระวังเป็นพิเศษในการเน้นถึงแนวทางการปฏิวัติของปรัชญาลัทธิมาร์กซ     เขาไม่เพียงแต่จะค้นพบว่าปรัชญาวัตถุนิยมนั้นเป็นพลังขับดันทางประวัติศาสตร์เท่านั้น    แต่มันยังเป็นแบบฉบับที่ใช้พิจารณาเศรษฐกิจแบบวัตถุนิยมอันเป็นปัจจัยเฉพาะของการเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

ประการต่อมา....เขาได้สรุปส่วนสำคัญของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์และบทบาทของมันในการต่อสู้กับอุดมการณ์ของชนชั้นนายทุน  “ทฤษฎีผู้ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์” ของนักปรัชญาชนชั้นนายทุนถูกเพลคานอฟ โจมตีด้วยมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ในหนังสือของเขาเรื่อง  ”บทบาทของปัจเจกชนในประ วัติศาสตร์”   ประการที่สามเขาได้ปกป้องทฤษฎีปฏิวัติของลัทธิมาร์กซที่ถูกวิจารณ์โดยนักลัทธิแก้  เอดูอาร์ด  แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein) และ ปยอทร์  สตรูฟ  (Pyotr Struve)        ปี 1900 เพลคานอฟ ,ซาซูลิค, เลนิน , โปเตรซอฟ  , มาร์ตอฟ ได้ร่วมกันออกหนังสืออิสครา(ประกายไฟ)แนวทางลัทธิมาร์กซ      ด้วยเจตนาที่จะนำไปสู่การรวมนักลัทธิมาร์กซอิสระทั้งหลายให้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในองค์กร     จากความพยายามนี้ทำให้พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย(RSDLP)ก่อเกิดเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาภายใต้กลุ่มบอลเชิคและเมนเชวิค    หลังปี1903 ในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่2 เพลคานอฟเข้าข้างเลนิน     ภายหลังในทางการเมืองเขากลับเสียดสีเลนิน  
 เพลคานอฟรู้สึกผิดหวังและให้ข้อสังเกตว่า  บอลเชวิคให้ความสำคัญเรื่องประชาธิปไตยน้อยกว่าเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ   เขากล่าวว่า  “ความสำเร็จของการปฏิวัตินั้นเป็นหลักการอันสูงสุด   และถ้าความสำเร็จของการปฏิวัติเรียกร้องแค่การจำกัดประชาธิปไตยนั่นถือว่ามันเป็นอาชญากรรม   นักปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพไม่ควรจำกัดสิทธิทางการเมืองของชนชั้นที่สูงกว่า      ถ้าจะให้การปฏิวัติมีความมั่นคงประ ชาชนควรเลือกตัวแทนรัฐสภาโดยทันที.....”  เพลคานอฟเชื่อว่านักลัทธิมาร์กซควรจะเริ่มต้นด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการต่อสู้ทุกชนิดที่คัดค้านเป้าหมายใหญ่ของการปฏิวัติ      เพื่อบรรลุถึงเรื่องนี้...พรรคสังคมประชาธิปไตยรัสเซียจะต้องมีโครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตย       ระหว่างการปฏิวัติปี 1905 เพลคานอฟได้วิพากษ์วิจารณ์เลนินและบอลเชวิคอย่างต่อเนื่องถึงความผิดพลาดที่มีความเข้าใจอย่างจำกัดในบทบาททางประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติและการกำหนดยุทธวิธีที่ไม่เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง   "เขาเชื่อว่าการกระทำของบอลเชวิคนั้นขัดกับสภาพภววิสัยและกฎเกณฑ์ทางประวัติศาสตร์        คือข้ามขั้นตอนของการพัฒนาทุนนิยมของรัสเซียที่ยังมีความล้าหลังอยู่ก่อนที่จะก้าวไปสู่สังคมนิยม         

ในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่เพลคานอฟได้รับการจดจำในฐานะทีเป็นผู้ที่ขยายแนวคิดของปรัชญาลัทธิมาร์กซ    เลนินได้เขียนถึงเพลคานอฟว่า  “คุณูปการที่เขาได้กระทำไว้ในอดีตเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก”  ตลอดระยะยี่สิบปีตั้งแต่ 1888 – 1903 เพลคานอฟได้ผลิตบทความที่ทรงคุณค่าออกมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่คัดค้าน  นักฉวยโอกาส  นักปฏิบัตินิยม  และ แนวคิดนารอดนิค   หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม เลนิน เรียกร้องให้มีการรวบรวมพิมพ์ผลงานด้านปรัชญาเหล่านี้เพื่อเป็นตำราศึกษาภาคบังคับสำหรับชาวคอมมูนิสต์ในอนาคต   เมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่1 เพลคานอฟกลายเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร(Entente)[5]อย่างเปิดเผย   เหยียดหยามกลุ่มที่เรียกว่า ”ชาวสังคมนิยมผู้รักชาติ[6]” (ที่ต่อต้านสงครามจักรพรรดินิยม  และแปรสงครามนี้ให้เป็นสงครามปฏิวัติ)  ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยเลนินและมิตรสหาย  เขามั่นใจว่าจักรวรรดิ์นิยมเยอรมันเป็นฝ่ายผิดที่ก่อสงครามและเชื่อว่าหากเยอรมันชนะจะทำให้ชนชั้นกรรมกรยุโรปจะตกอยู่ภายใต้หายนะอันใหญ่หลวง   เพลคานอฟยังคงต่อต้านพรรคบอลเชวิคที่นำโดยเลนินอย่างแข็งกร้าว    และเขาเองก็เป็นผู้นำกลุ่มเยดินสตโว  กลุ่มการเมืองเล็กๆกลุ่มหนึ่งและออกหนังสือพิมพ์ในชื่อเดียวกัน     เขาได้วิจารณ์บทนิพนธ์เดือนเมษายนของเลนินว่าเป็นเรื่อง”เพ้อฝัน”ต่อเจตนารมณ์ที่จะก้าวข้ามขั้นตอนการพัฒนาทุนนิยมในสังคมเกษตรกรรมของรัสเซียไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยม     และให้ฉายาเลนินว่า “นักปฏิวัติจอมปลอม”  เพลคา นอฟ  มีความเอนเอียงและสนับสนุนข้อที่เลนินถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับของเยอรมัน   เรียกร้องให้รัฐบาลชั่วคราวของ อเล็กซานเดอร์  เคเรนสกี    ใช้มาตรการกดดันพรรคบอลเชวิคอย่างเข้มงวดเพื่อหยุดยั้งแนวทางการเมืองที่เป็นอันตราย

หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม เพลคานอฟ ได้ออกจากรัสเซียเนื่องจากเป็นปฏิปักษ์กับบอลเชวิค    และเสียชีวิตด้วยวรรณโรคที่ เทริโจกิ ประเทศฟินแลนด์(ปัจจุบันคือเขตชานเมืองของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก)ในวัย 61 ปี  ศพของเขาถูกฝังที่สุสานโวลโคโว ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  ใกล้ๆกับ วิซซาริอน  เบลินสกี  และนิโคไล โดโบรลิยูบอฟ      แม้ว่าเพลคานอฟและเลนินจะไม่ลงรอยกันในเรื่องปฏิบัติการทางการเมือง   โดยเฉพาะในเรื่องการชี้นำชนชั้นกรรมาชีพ    แต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตได้ใช้ชื่อเพลคานอฟเป็นชื่อของสถาบันเศรษฐกิจโซเวียต  และสถาบันเหมืองแร่แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  เพื่อเป็นเกียรติและระลึกถึงคุณูปการเขา   เพลคานอฟถูกจดจำในฐานะของนักคิด นักบุกเบิกและเผยแพร่ลัทธิมาร์กซคนสำคัญของรัสเซียหรือ ”บิดาแห่งลัทธิมาร์กซรัสเซีย”

 2. ปาเวล บอริสโซวิช อัคเซลรอด (Па́вел Бори́сович Аксельро́д)

 ซื่อเดิม ปินเชส บอรุกซ์ (Пи́нхус Бо́рух)  
(25 สิงหาคม 1850 – 16 เมษายน 1928)

 นักปฏิวัติกลุ่มเมนเชวิค  เกิดที่เมือง ปอตเชฟ  อยู่ระหว่างเมืองเชอร์นิคอฟ จังหวัด ชคอฟ เมืองชนบทเล็กๆและเมืองโมกิเลฟที่เป็นเมืองใหญ่อันดับสามของจักรวรรดิ์รัสเซีย  ปัจจุบันอยู่ในเบลารุสเป็นบุตรของเจ้าของโรงแรมชาวยิวเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1850 ปี1875 แต่งงานกันนาเดซดา อิวานโนวา คามินา ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์   ช่วงแรกของการแต่งงานค่อนข้างจะมีความยุ่งยากเดือดร้อนเรื่องการเงินอยู่บ้างแต่ชีวิตครอบครัวก็ดำเนินไปด้วยดี   กลางปี 1880 ได้ตั้งบริษัทเล็กๆทำธุรกิจด้านผลิตเครื่องดื่มนมเปรี้ยวขึ้น   และขยายสาขาไปยัง ซูริค  และบาเซิล ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นพอที่จะเกื้อหนุนนักปฏิวัติได้    ปี 1908   ได้ขายกิจการไปทั้งหมด    ตั้งแต่วัยเด็กเขาได้รับอิทธิพลจากมิคาอิล บาคูนิน(นักอนาธิปไตยรัสเซีย)  และยังคงยึดมั่นอยู่กับแนวคิดเดิมจนกระทั่งได้รับการศึกษาปรัชญาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ    อัคเซลรอดเป็นหนึ่งในผู้ ก่อตั้งกลุ่มปลดปล่อยแรงงานขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นกลุ่มนักลัทธิมาร์กซกลุ่มแรกๆของรัสเซียร่วม กับสหายที่คบกันมาตลอดชีวิตคือ กอร์กี เพลคานอฟ  และ เวรา ซาซูลิค ในปี 1883    และในปี 1900  อัคเซลรอด  เพลคานอฟ และซาซูลิค ได้ร่วมผนึกกำลังกับบรรดานักปฏิวัติลัทธิมาร์กซรุ่นหลัง คือจูเลียส มาร์ตอฟ   วลาดิมีร์ เลนิน  และอเล็กซานเดอร์  โปเตรซอฟ    ทำหนังสือพิมพ์ ”อิสครา”แนวลัทธิมาร์กซตั่งแต่ 1900  ถึง1903   เมื่อกองบรรณาธิการของ อิสครา แตกออกเป็นสองขั้วในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่สอง อัคเซลรอด  เลือกอยู่ข้างกลุ่มเมนเชวิคคัดค้าน เลนินและกลุ่มบอลเชวิค
 หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ 1917  ได้กลับรัสเซีย   ในขณะนั้นกลุ่มเมนเชวิคได้เข้าร่วมกับรัฐบาลชั่วคราวของเคเรนสกีแล้ว   พร้อมทั้งสนับสนุนนโยบายทำสงครามของรัฐบาล   เขาต้องประสบกับความล้มเหลวในความพยายามที่จะเจรจาสันติภาพกับกลุ่มอำนาจกลาง(เยอรมัน  ออสเตรีย-ฮังการี) แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากเมนเชวิค   หลังจากชัยชนะของบอลเชวิคที่อัคเซลรอดเรียกว่า “อาชญากรรมทางประวัติศาสตร์ที่ไม่มีเส้นขนานไปกับประวัติศาสตร์ปัจจุบัน”  เขาได้เดินทางไปทั่วโลกเยี่ยงนักสังคมนิยมที่คัดค้านบอลเชวิค   อัคเซลรอดเสียชีวิตที่เบอร์ลินเมื่อปี 1928 ในฐานะผู้ลี้ภัย

 3. เวรา  อิวานอฟนา  ซาซูลิค (Ве́ра Ива́новна Засу́лич)  

นักเขียน นักลัทธิมาร์กซ  นักปฏิวัติ  เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1849 ที่มิคายลอฟกา รัสเซีย  เป็นบุตรสาวหนึ่งในสี่คนของชนชั้นผู้ดีระดับล่างที่ฐานะไม่สู้ดีนัก  บิดาเสียชีวิตตั้งแต่เธออายุได้เพียง 3 ขวบ   มารดาจึงส่งเธอไปอยู่กับครอบครัว มิคูลิค เครือญาติที่ฐานะดีกว่าในบียาโคโลโว     หลังจากจบชั้นมัธยมปลายเธอจึงย้ายไปยังเซนต์ปีเตอิร์สเบิร์กและได้งานเสมียนที่นั่น      ไม่นานนักเธอได้เข้าไปมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายโดยเข้าไปช่วยสอนหนังสือให้แก่กรรมกรในโรงงาน    และได้พบกับ เซอร์ไก เนเชียฟ นักปฏิวัติระดับนำชาวรัสเซียนำไปสู่การถูกจับและจำคุกในปี 1869
เมื่อถูกปล่อยตัวเมื่อปี 1873 เธอได้ย้ายไปอยู่ที่เคียฟ   และได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวลุกขึ้นสู้ร่วมกับกลุ่มนักปฏิวัติที่สนับสนุน มิคาอิล บาคูนิน  นักอนาธิปไตย และได้ส่งผลให้เธอกลายเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวที่น่ายกย่องคนหนึ่งของขบวนการ  เลฟ ไดค์  นักปฏิวัติผู้เป็นทั้งผู้ติดตามและสหายร่วมรบที่ยาวนานได้ กล่าวถึงเธอว่า    “เพราะการพัฒนาความรับรู้ของเธอและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเธออ่านหนังสือได้เร็วมาก  เวรา ซาซูลิคจึงเด่นกว่าคนอื่นๆในแวดวงสมาชิกของเรา   ใครๆก็เห็นว่าเธอเป็นหญิงสาวที่น่าทึ่งมาก  คุณจะต้องประทับใจในท่วงทำนองของเธอโดยเฉพาะจิตใจที่เอื้ออาทรและความจริงใจของเธอที่มีต่อผู้อื่น”

ในเดือนกรกฎา 1877 อเล็กไซ  โบโกลียูบอฟ นักโทษการเมืองปฏิเสธที่จะถอดหมวกเพื่อเป็นการให้ความเคารพแก่ พันเอก ธีโอดอร์ เทรปอฟ ข้าหลวงแห่งเซนต์ปีเตอร์เบิร์กผู้มีชื่อเสียงจากการปราบจราจล  ของชาวโปลเมื่อปี 1830 และ 1836  เพื่อเป็นการตอบโต้  เทรปอฟสั่งให้เฆี่ยนโบโกลียูบอฟ  ซึ่งเป็นการกระทำที่รุนแรง   ไม่เพียงแต่นักปฏิวัติเท่านั้นที่เกิดความเห็นอกเห็นใจแม้แต่กลุ่มปัญญาชนก็ยังรับไม่ได้ กลุ่มนักปฏิวัติหกคนได้วางแผนสังหารเทรปอฟ  แต่ซาซูลิคต้องลงมือเป็นคนแรก  เธอและเพื่อนนักปฏิวัติ มาเรีย(มาชา)โคเลนคินา ได้วางแผนสังหารคนของรัฐบาลสองคน หนึ่งในนั้นคือผู้พิพากษา วลาดิสลาฟเซเลคอฟสกี  ที่จะตัดสินคดีหมายเลข 193 และศัตรูอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นเป้าของกลุ่มนักเคลื่อนไหวควรจะเป็นเทรปอฟ    พวกเขาคอยจนกระทั่งวันตัดสินคดีหมายเลข 193 ในวันที่ 24 มกราคม 1878 โคเลนคินา สังหาร เซเลคอฟสกี ไม่สำเร็จแต่เวราที่ใช้ปืนลูกโม่บูลด๊อกของอังกฤษยิงเทรปอฟได้รับบาดเจ็บสาหัสหลังจากการไต่สวนได้แพร่สะพัดไป  การแก้ต่างของทนายสามารถโน้มน้าวให้ศาลเชื่อถือได้   เธอได้รับความเห็นอกเห็นใจจากมวลชนและถูกพิพากษาว่าไม่มีความผิด     ผลการตัดสินที่ออกมาเช่นนี้มีผลให้ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สามต้องทำการปฏิรูประบบศาลยุติธรรมเสียใหม่    เวราจึงหลบหนีก่อนที่เธอจะถูกจับกุมอีกเธอได้กลายเป็นวีรสตรีของบรรดานักคิดสายกลางในสังคม

หลังจากพ้นข้อกล่าวหาเธอได้หลบไปยังสวิตเซอร์แลนด์และที่นั่นทำให้เธอเปลี่ยนไปเป็นนักลัทธิมาร์กซและร่วมก่อตั้ง ”กลุ่มปลดปล่อยแรงงาน” กับกอร์กี เพลคานอฟ และปาเวล อัคเซลรอด     ปี1880เธอได้ รับมอบหมายให้แปลบทนิพนธิ์ของมาร์กซเป็นภาษารัสเซีย      ซึ่งได้เผยแพร่ไปสู่นักลัทธิมาร์กซอย่างกว้างขวางและมีอิทธิพลต่อปัญญาชนรัสเซียในระหว่างปี 1880 -1890 อันเป็นเงื่อนไขในการก่อตั้งพรรค สังคมประชาธิปไตยรัสเซียขึ้นในปี 1898      กลางปี 1900 ผู้นำกลุ่มฝ่ายซ้ายรุ่นใหม่ของรัสเซียได้แก่ จูเลียส มาร์ตอฟ  วลาดิมีร์ เลนิน  และอเล็กซานเดอร์ โปเตรซอฟ   เข้ามาสมทบกับ ซาซูลิค เพลคานอฟ และอัคเซลรอดในสวิตเซอร์แลนด์     แม้ทั้งสองกลุ่มจะไม่ค่อยลงรอยกันนักแต่ทั้งหกคนก็ได้ร่วมกันออกหนังสือพิมพ์”อิสครา”(Искра /ประกายไฟ)ซึ่งเป็นหนังสือแนวปฏิวัติลัทธิมาร์กซ ถือว่าเป็นหน่วยจัดตั้งของคณะบรรณาธิการด้วย   พวกเขาคัดค้านนักลัทธิมาร์กซในรัสเซียที่รู้จักกันในนาม ”นักลัทธิเศรษฐกิจ ”[7] เช่น ปีเตอร์ สตรูฟอดีตนักลัทธิมาร์กซและ เซอร์ไก บุลกาคอฟ  ด้วยการถกเถียงโต้แย้งผ่านหนังสือ พิมพ์อิสครา

คณะบรรณาธิการของอิสคราประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการประชุมสมัชชาครั้งที่สองที่กรุงบรัสเซลและลอนดอนเมื่อปี 1903    แต่ก็ทำให้ผู้สนับสนุนแตกออกเป็นสองกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการระหว่างการประชุมครั้งนี้  ได้แก่กลุ่มบอลเชวิคที่นำโดยเลนินและเมนเชวิคที่นำโดยมาร์ตอฟ   ซาซูลิคสนับสนุนกลุ่มเมนเชวิค   หลังการปฏิวัติปี 1905 เธอเดินทางกลับรัสเซียแต่ให้ความสนใจแนวทางปฏิวัติน้อยลง   เธอสนับสนุนการทำสงครามของรัสเซียและคัดค้านการปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917  และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1919 ที่เปโตรกราด      ทร้อตสกีเขียนถึงเธอในหนังสือของเขาเรื่อง”เลนิน” ว่า
”ซาซูลิค  เป็นบุคคลที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งมีเสน่ห์ดึงดูดอย่างมากทีเดียว      เธอเขียนหนังสือช้ามาก แต่มีความอดทนที่จะสร้างสรร.... เลนินเคยกล่าวกับข้าพเจ้าว่า   “เวราไม่ได้เขียนอย่างเดียวแต่เธอประ ดิษฐประดอยร้อยเรียงไปด้วย”    วิธีเขียนของเธอคือจะวางแต่ละประโยคแยกกันไว้ก่อน  แล้วเดินลากรองเท้าแตะไปมารอบๆห้อง  สูบบุหรี่มวนเองอยู่ตลอดเวลาทิ้งก้นบุหรี่หรือบุหรี่ที่สูบได้เพียงครึ่งมวนไปทุกทิศทุกทางไม่ว่าจะเป็นหน้าต่าง  ที่นั่ง  บนโต๊ะ  เถ้าบุหรี่ติดอยู่ตามเสื้อนอก  มือ  ต้นฉบับ  ในถ้วยน้ำชา  และแขกที่มาเยือน       เธอยังยึดติดอยู่กับแนวคิดของปัญญาชนแบบเก่าที่พึ่งจะได้รับรู้หลักการของลัทธิมาร์กซ   ข้อเขียนของเธอแสดงออกถึงการยอมรับปัจจัยทางด้านทฤษฎีของลัทธิมาร์กซ   แต่เธอยังไม่อาจสลัดจิตสำนึกพื้นฐานด้านจริยธรรมทางการเมืองแบบฝ่ายซ้ายเก่าของรัสเซียเมื่อทศวรรษที่ 70 ออกไปได้ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต”

[1] คือมาตราวัดที่ดินซึ่งใช้ในสมัยซาร์  1 เดสเซียติน เทียบเท่า 2.702 เอเคอร์  หรือ 10,900  ตารางเมตร หรือ 6.813 ไร่
[2] Russkaya Volya  (ความปรารถนาของประชาชนรัสเซีย)   คือหนังสือพิมพ์ของกลุ่มการเมืองชนชั้นปัญญาชนนายทุนน้อยนักชาตินิยมรัสเซีย    ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิวัติแบบบอลเชวิค
[3]  คือแนวคิดทางการเมืองแขนงหนึ่งที่เรียกร้องให้ระบบสังคม-การเมือง  ยกย่องประชาชนมากกว่าปัญญาชน  หรือยกย่องสามัญชนมากกว่าคนร่ำรวยหรือนายทุน
[4] ในยุคสังคมศักดินารัสเซีย ได้มีการจัดตั้งชุมชนชาวนา(คอมมูน)ขึ้นทั่วประเทศ    เพื่อสะดวกในการควบคุมบังคับเพราะชาวนาส่วนมากมีฐานะทางสังคมเป็นแค่ไพร่ติดที่ดินเท่านั้น 
[5]  ได้แก่ฝ่ายพันธมิตรที่ประกอบด้วย จักรวรรดิอังกฤษ  สาธารณรัฐฝรั่งเศส  จักรวรรดิรัสเซีย  อิตาลี  กลุ่มสนับสนุนมี ญี่ปุ่น  เบลเยียม  เซอร์เบีย  มอนเตนีโกร  กรีซ  โรมาเนีย  เชคโกสโลวัค
[6] กลุ่มนักสังคมประชาธิปไตยที่เข้าร่วมประชุมที่เมือง ซิมเมอร์วาลด์(Zimmerwald)  ในสวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนกันยายน 1915  เป็นการประชุมครั้งแรกของกลุ่มสังคมนิยมสากล  ประกอบด้วยนักสังคมนิยมแนวทางปฏิวัติที่รู้จักกันในนาม  กลุ่มซ้ายซิมเมอร์วาล(เลนิน)  และกลุ่มสังคมนิยมปฏิรูปที่อยู่ในสากลที่สอง  
[7] คือกลุ่มนักปฏิวัติที่มีแนวคิดว่าชนชั้นกรรมกรควรต่อสู้กับนายทุนหรือเจ้าของโรงงานเรื่องรายได้  และการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่มากกว่าที่จะต่อสู้ทางการเมือง  ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของชนชั้นนายทุนและปัญญาชนมากกว่า

No comments:

Post a Comment