Monday, August 17, 2015

ประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไท 3/1

3/1 . ช่วง พ.ศ. 2488 – 2501  

ยุคนี้เป็นยุคหนึ่งที่กรรมกรมีความตื่นตัวสูง   ได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมและสหภาพแรงงานกันอย่างกว้างขวาง       ประกอบกับมีความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจหลังสง ครามโลกครั้งที่ 2   ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ  ของแพง  ซึ่งมีส่วนในการเคลื่อนไหวของกรรมกรโดยตรง   ประมาณการกันว่าระหว่างปีพ.ศ.2488 – 89 มีการนัดหยุดงานกันถึง 173 ครั้ง  แต่ละครั้งมีลักษณะการต่อสู้ร่วมกันระหว่างกรรมกรไทยกับกรรมกรจีนเช่น

วันที่16 พฤศจิกายน 2488 มีการหยุดงานของกุลีจีนลูกจ้างบริษัทข้าวไทยซึ่งเป็นของรัฐบาล  มีกรรมกรเข้าร่วม 2,000 คนเพื่อเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้น      ทางบริษัทฯใช้นโยบายปราบปรามและส่งคนเข้าบ่อนทำลาย   แต่ปรากฏว่าพวกที่เข้ามานี้กลับเห็นใจกรรมกรจึงร่วมต่อสู้กับกรรมกรจีนในวันรุ่งขึ้น    จากนั้นกรรมกรโรงสีจีนและลูกจ้างรัฐบาลก็ทำการสไต๊รค์สนับสนุนมีผู้เข้าร่วมถึง 4,000คน    เมื่อถึงวันที่ 28 พฤศจิกายนได้มีการตกลงกันนระหว่าง กรรมกร   นายทุน  รัฐบาล    กรรมกรประสบความสำเร็จในการต่อสู้และได้ค่าแรงเพิ่ม    มีสิทธิ์ได้เงินล่วงเวลาสำหรับการทำงานวันอาทิตย์และเลิกงานตอนเที่ยงคืน

เดือนกุมภาพันธ์ 2489 กรรมกรแบกหามในโรงไม้ก่อการสไต๊รค์ และในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันกรรมกรโรงงานยาสูบ  กรรมกรท่าเรือ และกรรมกรรถไฟก็สไต็รค์ตามมาเป็นระลอก   แต่ที่สำคัญมากก็คือการ สไต๊รค์ของกรรมกรรถไฟมักกะสันที่มีคนเข้าร่วมถึง 2000 คน  กรรมกรรถไฟได้เรียกร้องให้เพิ่มค่าแรง มีวันหยุดปีละ 2 อาทิตย์เป็นต้น   ส่วนการหยุดงานของกรรมกรท่าเรือที่มีผู้เข้าร่วมถึง1500 คนนั้นมุ่งไปที่การถูกลดค่าครองชีพ  และได้เรียกร้องให้นายจ้างจัดบริการทางการแพทย์ฟรี  และชุดทำงานราคาถูก
การหยุดงานครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งคือการหยุดงานของกรรมกรกุลีจีนซึ่งดำเนินคู่ขนานไปกับการเคลื่อน ไหวในจีนโดยตรง   จึงมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจน     กุลีขนข้าวหยุดงานตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคมเป็นเวลา 5 เดือนเต็ม    

การต่อสู้ในเดือนเมษายนนั้น กรรมกรเรียกร้องว่าข้าวไทยที่ขายไปยังจีนนั้นไม่ได้เพื่อทหารของก๊กมินตั๋ง แต่เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่อดอยากโดยตรงแง่มุมทางการเมืองของการต่อสู้ครั้งนี้มีความซับซ้อนขึ้นไปอีก   เพราะรัฐบาลไทยมีการตกลงกับอังกฤษและอเมริกาในเรื่องขนข้าวไปจีนเพื่อช่วยพรรค ก๊กมินตั๋ง จึงทำให้การต่อสู้ยืดเยื้อออกไป   พร้อมกันนั้นก็มีนายทุนฉวยโอกาสลักลอบส่งข้าวไปขายในตลาดมืดเพื่อหากำไร   แต่กรรมกรรู้ทันจึงบีบให้นายทุนสละเงิน”ก้อนใหญ่” เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้อดอยากในจีน

ควบคู่กันไปกับการเคลื่อนไหวต่อสู้ของกรรมกรครั้งแล้วครั้งเล่า  บรรดาพี่น้องกรรมกรได้มีการรวมตัวกันเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น   โดยการจัดตั้งเป็นสมาคมและสหบาลกรรมกรขึ้น   ซึ่งในยุคแรกได้มีการรวมตัวกันในหมู่ลูกจ้างของบริษัทห้างร้านใหญ่ๆเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันก่อน   โดยรวมกันแบบสมาคมลูก จ้างตามบทบัญญัติของกฎหมายแพ่งฯ      แต่สมาคมเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์ในการเจรจาต่อรองแต่อย่างใด
สมาคมลูกจ้างในประเทศไทยนั้นมีมานานแล้วเริ่มตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1   มีการเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมและช่วยเหลือกันและกันในหมู่สมาชิก  ทั้งในด้านการค้า ส่วนตัว และสังคม  แต่ไม่มีสิทธิ์ในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างหรือสิทธิในการนัดหยุดงานตามหลักปฏิบัติเหมือนเช่นในนานาประเทศ   สห- ภาพแรงงานได้ถือกำเนิดขึ้นตามหลักสากลจริงๆก็ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2    ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า สหบาลกรรมกร(Trade Union)      สำหรับประเทศไทยนั้น.. ก็ได้มีการตั้งสหบาลกรรมกรขึ้นประมาณปลายปี 2487 เรียกว่า สหบาลกรรมกรกลาง (Central Union of Labour)   เดือนมกราคม 2489 กรรมกรโรงพิมพ์ประมาณ 200 คนร่วมกันจัดตั้งสมาคม   จากนั้นก็มีการรวมกลุ่มสมาคมคนขับสามล้อ  สมาคมลูกจ้างคนงานในกิจการขนส่ง

ปี 2490 ก็เกิดสมาคมคนงานรถไฟ  สมาคมลากรถ   สมาคมคนงานขนส่ง   และในปีนี้เองที่มียอมรับ สหบาลกรรมกรกลางอย่างเป็นทางการ  ซึ่งสหบาลกรรมกรกลางนี้ก็คือ “สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” นั่นเอง   สมาคมสหอาชีวะฯ เป็นสมาคมแรกที่รวมเอากรรมกรในหลายสาขาอาชีพ เข้ามาอยู่ในสมาคมเดียวกันตามหลักการและอุดมการณ์ของกรรมกรสากลโดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ หรือเอาเรื่องเชื้อชาติมาเป็นอุปสรรคของสมาคม  ซึ่งเป็นการรวมมวลชนกรรมกรผู้ใช้แรงงานที่ถูกกดขี่ทั้งหลาย ซึ่งประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน  เพื่อรวมพลังกันต่อสู้กับความอยุติธรรมทั้งปวง  ในระยะนั้นมีสมาชิกจาก  กรรมกรโรงเรือ   โรงสี   รถไฟ  ไฟฟ้า  ซีเมนต์  ไม้ขีดไฟ  และกรรมกรสาขาเกษตร กรรมเข้าร่วมประมาณ  51 สมาคม  มีสมาชิกทั้งหมดราว 75,000 คน  ต่อมาในปี 2492 สหบาลกรรมกรได้เข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์สหบาลกรรมกรโลก (WFTU.)

ชนชั้นกรรมกรไทยไทยกว่าจะผนึกกำลังทำการการเคลื่อนไหวของตนเองทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองกันอย่างจริงจังก็เมื่อประมาณปี 2488-2489   กรรมกรรุ่นแรกๆที่มานะบากบั่นทำการเคลื่อนไหวก่อตั้งสมาคมกรรมกรซึ่งเราไม่อาจละเว้นที่จะกล่าวถึงท่านได้ก็คือ ร.ต.ต.วาส  สุนทรจามร และ มจ. วรรณกร  วรวรรณ     ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2488 สมาคมสหอาชีวะฯ    ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องและจัดให้มีการชุมนุมเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลขึ้นเป็นครั้งแรกที่วังสราญรมย์  โดยมีกรรมกรเข้าร่วมประมาณ 1000 คนเศษ   แต่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะเป็นการประกาศอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกของกรรมกรที่ได้เฉลิมฉลองวันของตนซึ่งไม่เคยปรากฏอย่างเป็นทางการมาก่อน

ในปีถ้ดมา สมาคมสหอาชีวะฯ ได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองวันกรรมกรฯขึ้นอีกที่ท้องสนามหลวง    ครั้งนี้นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ของกรรมกรไทยที่มีมวลชนกรรมกรเข้าร่วมเฉลิมฉลองกว่าแสนคนภายใต้ร่มธงสีเหลืองและคำขวัญ “กรรมกรทั้งหลาย จงสามัคคีกัน” ที่โบกสะบัดไปทั่วบริเวณ    คำขวัญนี้เปรียบ เสมือนจิตวิญญาณของ สหอาชีวะฯ เป็นคำขวัญอมตะของมวลชนกรรมกรตราบชั่วกัลปาวสานต์  ส่วนการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ   สหอาชีวะฯเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายชั่วโมงการทำงานให้อย่างสูงไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง    เรียกร้องสิทธิการรวมกลุ่มของกรรมกร  สิทธิในการนัดหยุดงานและการประกันสังคม   ในพ.ศ. 2489 นั้นเอง กรรมกรรถไฟซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีกรรมกรมากที่สุดแห่งหนึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมกรรมกรรถไฟแงประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2489  ผู้นำกรรมกรรถไฟใน ช่วงนั้นมีนาย ประกอบ โตลักษณ์ล้ำ  และนาย วิศิษฐ์ ศรีภัทรา  เป็นต้น

การเคลื่อนไหวของกรรมกรสามารดำเนินไปได้อย่างเปิดเผยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2เพราะเงื่อน ไขทางการเมืองอำนวยให้   ขณะนั้นรัฐบาลที่เข้าบริหารประเทศคือรัฐบาลของพรรคสหชีพ  และพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของ นาย ปรีดี พนมยงค์  ประกอบกับภายหลังสงครามไทยจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ     รัฐบาลต้องยกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์ ทำให้บรรยากาศทาง การเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น     กรรมกรสามารถรวมตัวกันได้ จึงทำให้การเคลื่อนไหวของกรรมกร ในการรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นตนดำเนินไปอย่างกว้างขวาง

ต่อมามีความผันผวนทางการเมืองทำให้รัฐบาลพรรคสหชีพและแนวร่วมรัฐธรรมนูญ รวมทั้งตัวนาย ปรีดี พนมยงค์ ต้องพ้นจากอำนาจไป   เพราะจอมพล ป. พิบูลย์สงครามทำรัฐประหาร  เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 และนาย ควง อภัยวงศ์ ถูกเชิญเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดชั่วคราว   ภายหลังการรัฐประหาร  กรรมกรโรงสี 18 โรงได้นัดหยุดงานพร้อมกันเพื่อประท้วงการกดขี่บีบคั้นทางเศรษฐกิจและทางการเมือง   การหยุดงานของกรรมกรโรงสีนอกจากจะเป็นการสร้างแบบอย่างการต่อสู้ให้แก่มวลชนกรรมกรไทยแล้ว  ยังสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่รัฐบาลทุนนิยมและผู้มีอำนาจทางการเมืองมิใช่น้อย      ซึ่งต่อมาจำต้องก้าวเข้าสู่อำนาจด้วยการจี้บังคับให้นายควงออกจากตำแหน่ง

ปี 2491 จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และได้ตระหนักถึงอิทธิพลของสมาคมสหอาชีวะฯในวงการกรรมกร  และเข้าใจว่า สหอาชีวะฯสนับสนุนนายปรีดีซึ่งเป็นศัตรูสำคัญทางการเมืองของตน  จึงให้บริวารของตนจัดตั้งสมาคมกรรมกรแห่งประเทศไทยขึ้น  บุคคลที่ใกล้ชิดจอมพล ป.ที่เข้ามามีส่วนชี้นำในการก่อตั้งสมาคมกรรมกรไทยคือ พลโท ขุนสวัสดิรณชัย  สวัสดิเกียรติ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาคณะรัฐมนตรี  และนาย สังข์  พัฒโนทัย  โฆษกคู่บารมีของจอมพล ป.ในยุค  ”เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย”   สมาคมนี้มีสำนักงานอยู่ที่ถนนราชดำเนินได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลปีละ 200,000 บาทโดยผ่านทางกรมประชาสงเคราะห์

การที่จอมพล ป. จัดตั้งสมาคมกรรมกรไทยขึ้นนั้นมีเหตุผลเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์  เพื่อทำลายพลังกรรมกร ที่สนับสนุนสหอาชีวะฯ  เพื่อชิงกานนำในวงการกรรมกรทั้งในและต่างประเทศ   นับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมกรรมกรไทยขึ้นแล้ว      การประชุมองค์กรกรรมกรระหว่างประเทศทุกครั้งจะมีแต่เจ้าหน้าที่ของสมาคมฯเท่านั้นที่ได้เป็นตัวแทนกรรมกรไทยไปร่วมประชุม       การก้าวเข้ามาแทรกแซงในขบวนการกรรมกรไทยของจอมพล ป.นี้  ได้สร้างความเสียหาย และบั่นทอนจิตวิญญาณของการต่อสู้ของกรรมกรไทยที่เคยเข้มข้นและมีความเชื่อมั่นในพลังของชนชั้นตนลงต้องตกต่ำลงไป     จอมพล ป. ไม่เพียงแต่จะจัดตั้งสมาคมกรรมกรที่รัฐบาลสามารถบงการได้เท่านั้น     แม้แต่คำว่า สหบาลกรรมกร ก็ยังไม่ใช้เพราะเห็นว่าชื่อแบบนี้เป็นคำที่ฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ใช้กัน    จึงใช้คำว่า สหภาพแรงงาน แทน   และสมาคมฯ ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์กรกรรมกรของอเมริกาคือ  ICFTU  เพราะถือว่า WFTU เป็นองค์กรกรรมกรของฝ่ายคอมมิวนิสต์

พ.ศ. 2492 พลตำรวจเอก หลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ ได้ประกาศห้ามสามล้อที่ขับขี่โดยแรงคนนำรถเข้าไปรับจ้างในเขตถนนเจริญกรุงและถนนเยาวราช  กรรมกรสามล้อจึงพากันประท้วงและประทะกับตำรวจที่ถนนเจริญกรุงระหว่างโรงหนังเฉลิมกรุงกับสะพานมอญ   ผลของการประทะตำรวจได้จับกุมกรรมกรสามล้อไปหลายสิบคนในข้อหาก่อจราจล     กรรมกรสามล้อจึงพากันแห่ไปหาพลโท ขุนปลดปรปักษ์ ภิบูลย์ภานุวัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ขุนศึกของจอมพล ป.อีกคนหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม(จอมพล ป.เป็นรัฐมนตรี)  พลโท ขุนปลดฯ จึงเป็นผู้ประกันกรรมกรสามล้อที่ถูกจับทั้งหมด   และมีการเจรจารอมชอมกันโดยตำรวจเป็นฝ่ายอ่อนข้อให้สามล้อเข้าไปรับจ้างได้ในบางเขต บางเวลา ข้อหาจลาจลเป็นอันยกเลิกไป     กรรมกรสามล้อจึงได้จัดตั้งเป็นสหพันธ์กรรมกรสามล้อขึ้นในปี 2493  โดยมี พลโท ขุนปลดฯเป็นประธาน  นายประเสริฐ ขำปลื้มจิตร กรรมกรสามล้อเป็นรองประธาน  นายแสนนภา บุญราศี(นักร้อง) เป็นเลขาธิการ       จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของกรรมกรในยุคนี้มักไม่เป็นตัวของตัวเอง  ไม่เชื่อมั่นในตนเองเมื่อเกิดปัญหา   แทนที่จะพึ่งพลังของตน นเองก็ใช้วิธีเชิญนักการเมืองมาช่วยเหลือ

รัฐบาลยังสนับสนุนบุคคลต่างอาชีพจัดตั้งเป็นสหพันธ์ต่างๆเช่น สนับสนุนให้แม่ค้าหาบเร่ แผงลอย ช่างถ่ายรูปที่เขาดินวนา แม่ค้าสะพานหัน สะพานมหาพฤฒารามฯลฯ รวมกันเข้าเป็นสหพันธ์แม่ค้าย่อย  มีนาย สมัย คมกฤช  นายโกศล กิจจานุวัฒน์  นางเสรี บุพการี นายกรานต์ เกิดนพคุณ  เป็นประธานกรรมการ และเลขานุการเป็นต้น   ในปี 2494  รัฐบาลจอมพล ป.ก็สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “สหพันธ์กรรมกรหญิง” ขึ้น    โดยอยู่ในความอุปการะของท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม   มีนางจำนงค์  ทิพย์พยอม เป็นประธาน  นาง ไคล ชุณหจันทร์ เป็นเลขาฯ  สหพันธ์นี้สอนเย็บปักถักร้อย  ทำกับข้าว  แม่บ้าน และอื่นๆ  มีกรรมกรหญิงเป็นสมาชิกมาก   เพราะใช้วิธีการเดียวกับสมาคมกรรมกรไทย ที่จอมพล ป.เป็นผู้อุปการะ    กรรมกรที่เป็นสมาชิกจะได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์ยามเจ็บป่วย คลอดบุตร ตาย โดยสมาชิกไม่ต้องเสียเงินค่าบำรุงแต่อย่างใด

พ.ศ. 2497 รัฐบาลจอมพล ป. ได้สนับสนุนให้ตั้ง”สมาคมกรรมกรเสรีแรงงานแห่งประเทศไทย” ขึ้นอีกสมาคมหนึ่ง   เป็นที่รู้กันว่าสมาคมนี้มีพลต.อ เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้ให้การอุปถัมภ์ เหตุ ผลก็คือเพื่อสามารถควบคุมกรรมกรได้อย่างใกล้ชิดและใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง     นายเลื่อน บัวสุวรรณ พ่อค้าใหญ่คนหนึ่งได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกสมาคมแห่งนี้     มีนายประภาส สุคนธ์ และ นาย เสนอ สว่างพันธ์ เป็นเลขาฯและอุปนายก

เด่นพงษ์ พลละคร ได้เขียนบรรยายสภาพของการก่อตั้งสหภาพแรงงานในสมัยนั้นว่า  “รัฐบาลสมัยนั้นตั้งหน้าตั้งตารวบรวมชนชั้นกรรมาชีพมาไว้ในสมาคมเดียวกัน  มีสำนักงาน  มีเจ้าหน้าที่บริหารให้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์      มีหนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน  มีเงินอุดหนุนค่าเช่าสถานที่  ค่าจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่  ค่าน้ำค่าไฟ   ใครเจ็บป่วยมีค่ารักษาพยาบาล    ใครคลอดลูกมีเงินอุดหนุนให้  ใครว่างงานสมาคมฯหางานให้ทำ   ใครไม่พอใจนายจ้างสมาคมฯช่วยพูดให้   แต่ว่ากันที่จริงแล้วก็คือ  รัฐบาลทำงานสงเคราะห์กรรมกรโดยผ่านสมาคมกรรมกรทั้งสองแห่งและผ่านกรมประชา สงเคราะห์นั่นเอง”

และเขายังชี้ไว้ในข้อเขียนของเขาอีกว่า  “เนื่องจากวัตถุประสงค์ของสมาคมฯทั้งสองนี้มุ่งหนักไปในทางการเมืองและมีนักการเมืองระดับสูงที่มีอิทธิพลในรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยอย่างใกล้ชิด   ประกอบกับสมาชิกของสมาคมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเสียค่าบำรุง       ดังนั้นสมาคมเหล่านี้จึงไม่อาจยืนอยู่บนขาของตัวเองได้   และในขณะเดียวกันก็คิดว่าแม้ไม่มีทุนดำเนินงานรัฐบาลก็ช่วยจ่ายค่าแรงหรือซื้อข้าวสาร เนื้อเค็มมาแจกให้กิน   นายจ้างไม่จ่ายค่าแรงในขณะนัดหยุดงาน    รัฐบาลยังแอบมาจ่ายค่าแรงให้ก็มี   ดังนั้นจึงเท่ากับว่าสมาคมแรงงานเหล่านี้ตั้งขึ้นเพราะรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนเพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐบาลและทำอะไรๆตามที่คนของรัฐบาลสั่งเท่านั้น”  

เพื่อจะต่อต้านคอมมิวนิสต์ให้ได้ผลนอกจากจะจัดให้สมาคมกรรมกรไทยเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์กรรมกรโลกเสรี (ICFTU) แล้ว   สมาคมกรรมกรไทยยังอยู่ใต้อิทธิพลของบางองค์กรที่มีวัตถุประสงแนวเดียวกันที่เข้ามาแทรกแซงด้วยเช่น  สันนิบาติเสรีพันธ์ ซึ่งมีนายสังข์ พัฒโนทัยเป็นเลขาธิการ    เอ็ม อาร์ เอ  หรือขบวนการฟื้นฟูศัลธรรม(หลวงวิเชียรแพทยาคม)  เพราะสมาคมฯรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลคนในสมาคมจึงต้องร่วมมือทำการต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามนโยบายรัฐบาลด้วย

ปี 2494 สมาชิกของสมาคมกรรมกรไทยการต่อต้านคอมมิวนิสต์บางส่วนจะถูกเรียกไปอบรมที่สำนักงานใหญ่สันนิบาติเสรีพันธ์   มีการจัดตั้งเป็นหน่วยต่างๆเช่นหน่วย ก. หรือหน่วยกึกก้องกัมปนาท มีนาย ฉาย วิโรจน์ศิริ  เป็นหัวหน้า หน่วย ม. หรือหน่วยมหากาฬ มีนายสังข์ พัฒโนทัย เป็นหัวหน้าเป็นต้น   กรรมกรถูกใช้ไปทำการโฆษณาต่อต้านคอมมิวนิสต์ ตามนโยบายของสันนิบาติเสรีพันธ์และรัฐบาล     เช่นไป ปิดแผ่นปลิวโฆษณาตามที่ต่างๆทั่วประเทศ  มีนาย พัฒน์ นิวาสานนท์ เป็นหัวหน้าฝ่ายโฆษณา   มีการนำพวงหรีดไปวางหน้าสถานทูตรัสเซียในโอกาสคล้ายวันเกิดของ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำของรัสเซียสมัยนั้น  รวมตลอดทั้งปลอมแปลงเครื่องแต่งกายและโกนหัวคล้ายพระถูกจับไปไถนา  เพื่อประกอบการโฆษณาว่า  คอมมิวนิสต์ทำลายศาสนา  สึกพระมาไถนาเป็นต้น

แต่การกระทำดังกล่าวต้องประสบกับความล้มเหลวเพราะคำสารภาพของผู้ที่ได้ไปปฏิบัติงานกล่าวว่า ถูกชาวบ้านต่อต้าน คัดค้าน และทำลายแผ่นปลิวรวมทั้งไล่ชกต่อยผู้ที่นำแผ่นปลิวไปปิด   ระยะหลังจึงไม่มีใครกล้าไปทำ  และต่อมา “กรรมกรไทยดูจะรู้ถึงข้อผิดพลาด  จึงมีการเปลี่ยนแปลงท่าทีกันใหม่ในภาย หลัง   โดยพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเองเพื่อให้เป็นกรรมกรไทยที่แท้จริง”     อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ของสมาคมกรรมกรไทยบางคนได้กล่าวยอมรับว่า...ในระยะหนึ่งสมาคมได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนัก การเมือง(จอมพล ป.)จริง     แต่เป็นการแอบแฝงเข้าไปเพื่อใช้อิทธิพลทางการเมืองมาปลุกเร้ากรรมกรให้ตื่นตัว    ไม่ใช่การยอมสยบยอม..      เพราะถ้าไม่อาศัยอำนาจที่ดำรงอยู่ในขณะนั้นก็ไม่สามารถทำการเคลื่อนไหวได้  ซึ่งในระยะหลังกรรมกรได้พยายามยึดอำนาจกลับคืนมาได้เรื่อยๆ  จนกระทั่งสามารถขับนาย ฉาย  วิโรจน์ศิริ ออกไปจากสมาคมกรรมกรได้ในที่สุด

ในช่วงนี้ถึงแม้รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงขบวนกรรมกรอย่างเป็นระบบก็ตาม   แต่กรรมกรไทยไม่เคยละทิ้งการเคลื่อนไหวอันชอบธรรมดังจะเห็นได้จาก การเคลื่อนไหวต่อสู้ของกรรมกรรถไฟ (กบฏมักกะสัน)กล่าวคือนอกจากการหยุดงานต่อสู้เรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการที่ดีกว่าของกรรมกรโรงสี 18 โรงแล้ว   การต่อสู้ที่ต้องเอาเสรีภาพไปแลกกับปากท้องผลประโยชน์ของคนงานรถไฟแห่งประเทศไทยก็เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของกรรมกรไทย      การต่อสู้เริ่มต้นขึ้นเมื่อคนงานได้เสนอให้มีการปรับปรุงรายได้และสวัสดิการต่อการรถไฟซึ่งขณะนั้นยังเป็นของราชการอยู่ ไม่ได้แยกออกมาเป็นอิสระอย่างเช่นทุกวันนี้  เพราะขณะนั้นไทยยังไม่ได้กู้เงินจากธนาคารโลกเพราะไม่ยอมรับเงื่อนไขว่าเมื่อกู้แล้วต้องแยกออกมาเป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากรัฐ

การต่อสู้ของกรรมกรรถไฟเริ่มตั้งแต่ปี 2493 โดยฝ่ายกรรมกรได้ยื่นข้อเรียกร้องในเรื่องสวัสดิการของคนงานในปัญหาสำคัญๆเช่น  การเจ็บป่วยให้ลาได้ 60 วัน  ลาบวชได้ 120 วัน   ให้จ่ายบำเหน็จปีละ 1 เดือนของค่าจ้าง สำหรับกรรมกรหญิงให้ลาคลอดลูกได้ 60 วันเป็นต้น  ข้อเรียกร้องเหล่านี้ทางการรถไฟได้ยอมให้ตามข้อเรียกร้อง  ในปีต่อมาทางการรถไฟได้ออกระเบียบใหม่ให้กรรมกรต้องแต่งเครื่องแบบมาทำงาน   ฝ่ายกรรมกรจึงได้ยื่นข้อเรียกร้องห้ระงับการใช้ระเบียบนี้   ถ้าหากการรถไฟจะให้แต่งเครื่องแบบจริงก็ขอให้จ่ายเครื่องแบบให้ปีละสองชุดเป็นต้น   

การพิจารณาข้อเรียกร้องของฝ่ายกรรมกรในเรื่องนี้ได้ยืดเยื้อต่อมาและเกิดปัญหาขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น  เพราะต่อมาฝ่ายกรรมกรได้ยื่นข้อเรียกร้องให้มีการปลดย้ายพนักงานของการรถไฟบางคนที่กรรมกรเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นฝ่ายบริหาร  ซึ่งทางการรถไฟไม่สามารถตกลงตามคำเรียกร้องได้  เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงพร้อมใจกันนัดหยุดงานสนับสนุนข้อเรียกร้องของตนโดยเริ่มหยุดงานในวันที่ 21 มันาคม 2495  ทางการได้ตอบโต้การนัดหยุดงานโดยให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการจับกุมผู้นำกรรมกร 7 คน คือนายประกอบ โตลักษณ์ล้ำ นายพล เพิ่มพาณิชย์  นายเสริม  ทรากกลิ่นหอม  นายนิมิต   มุติภัย  นายสุพจน์ ฟองสินธุ์  นายวีระ  ถนอมเลี้ยง และนายสุวิทย์ เนียมสา  แม้พวกผู้นำการเรียกร้องจะถูกจับกุมตัวไปก็ตามการเรียกร้องก็มิได้ สลายลง     กรรมกรยังหยุดงานต่อมาอีก 2 วัน จึงกลับเข้าทำงานโดยทางการรถไฟยินยอมตามข้อเรียกร้อง

ส่วนผู้นำกรรมกรทั้ง 7 คนนั้นถูกควบคุมตัวอยู่ 43 วันจึงได้รับการประกันตัว  แต่ได้ถูกส่งฟ้องศาลในข้อ หา”กบฏ” ที่รู้จักกันในนาม ”กบฏมักกะสัน”  เพราะกรรมกรที่ทำการต่อสู้ครั้งนั้นส่วนใหญ่ทำงานประจำอยู่ที่โรงงานของการรถไฟที่มักกะสันนั่นเอง   สำหรับการพิจารณาคดีกบฏเพราะเรียกร้องความเป็นธรรม  ปรากฏว่าศาลพิจารณายกฟ้องและปล่อยตัวจำเลยทั้งหมด      แต่ทั้งๆที่ศาลยุติธรรมยกฟ้องไปแล้วเมื่อผู้นำทั้ง 7 ยื่นคำร้องขอกลับเข้าทำงานอีก   ทางการรถไฟกลับปฏิเสธไม่ยอมรับผู้บริสุทธิ์ทั้ง 7 เข้าทำงานโดยไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรม        การต่อสู้ของกรรมกรรถไฟมักกะสันครั้งนี้สรุปได้ว่า  ชัยชนะจะได้มาด้วยการต่อสู้  และการต่อสู้ที่ได้ผลนั้นต้องรวมพลังให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน      มวลชนกรรมกรนั้นเป็นผู้รักสันติ     ในการเรียกร้องต่างๆมักจะทำไปด้วยความสงบ ไม่นิยมความรุนแรงแต่มักจะถูกบีบบังคับให้กระทำในด้านตรงกันข้ามอย่างไม่มีทางอื่นให้เลือก   อีกทั้งถูกจับกุม คุมขัง และยัดเยียดข้อหาร้ายแรงให้อีกด้วย 





Wednesday, August 12, 2015

ประวัติการต่อสู้ของชนชั้นกรรมกรไทย 1 , 2

ประวัติการต่อสู้ของชนชั้นกรรมกรไทย 1

หมายเหตุ:   เรื่องประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทยนี้คัดมาจากจุลสารเรื่อง ”พัฒนาการของขบวนกรรม กรไทย”  ที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2523 เนื่องในวันกรรมกรสากล หรือที่ทางการไทยในยุคนั้นเรียกให้เพี้ยนไปว่า “วันแรงงานแห่งชาติ”   โดยคณะผู้ดำเนินงานมูลนิธิ อารมณ์  พงศ์พงัน   เราเห็นว่าบทบาทและจิตวิญญาณในการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยความวีระอาจหาญของผู้ใช้แรงงานไทยรุ่นก่อนนั้น..น่าจะได้รับการสืบทอดและพัฒนาให้เข้มแข็ง       เพราะในเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้..พลังของชนชั้นกรรมกรไทยด้านหนึ่ง..ได้ถูกกัดกร่อนบ่อนเซาะทำลายและแยกสลายไปแทบจะหมดสิ้นโดยชนชั้นผู้กดขี่โดยผ่านผู้นำกรรมกรบางคนที่ยอมทรยศต่อพี่น้องของตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนตน    จนขบวนกรรมกรไทยกลายเป็นซากร่างทียังมีลมหายใจในการสร้างกำไรและความสุขให้แก่ชนชั้นผู้กดขี่เท่านั้น      อีกด้านหนึ่งก็เนื่องมาจากสาเหตุต่างๆทั้งที่เป็นเงื่อนไขภายในของชนชั้นกรรมกรเองและปัจจัยแวดล้อมของสังคมทุนนิยมที่ได้แปรเปลี่ยนจิตสำนึกทางชนชั้นให้เสื่อมสลายไป     ในขณะนี้จะมีกรรมกรสักกี่คนที่ยังคงระลึกถึงรากเหง้าประวัติการต่อสู้ของชนชั้นตน    รู้ถึงการดิ้นรนต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น     มีแต่จะถูกชักจูงจากผู้นำแรงงานขุนนาง    นักไต่เต้า   และนักฉวยโอกาส  ให้ละทิ้งอุดมการณ์   ความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้และจิตสำนึกที่ดีงามไปเสียสิ้น    ดังนั้นเราจึงใคร่ขอนำประวัติการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชนชั้นกรรม กรไทยในอดีตมาเสนอ   เพื่อให้กรรมกรไทยในปัจจุบันได้เรียนรู้เรื่องราวของอดีต   เรียนรู้ถึงจิตใจที่วีระอาจหาญของคนรุ่นก่อน......ว่าต้องต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยความเหนื่อยยากเพียงใด      ทั้งเป็นการยกระดับจิตสำนึก และเป็นพลังที่จะสร้างสรรค์และบุกเบิกหนทางไปสู่อนาคตที่รุ่งโรจน์ของชนชั้นตน

เกริ่น....กำเนิดและพัฒนาการของพลังกรรมกรไทย

พ.ศ.2365 จักรวรรดินิยมอังกฤษได้ส่งทูต เซอร์ จอห์น เบาริ่ง เข้ามาเจรจาทำสัญญาค้าขายกับไทย  หลังจากนั้นอีก 10 ปี  จักรวรรดินิยมอเมริกาก็ได้ส่ง เอ็ดมัน โรเบิร์ตเข้ามาทำสัญญาค้าขายกับไทยบ้าง  ผู้แทนของจักรวรรดินิยมทั้งสองชาติได้แสดงอำนาจและเอารัดเอาเปรียบไทยด้วยประการต่างๆ   แต่ไทยก็มิได้ยินยอมตาม  แต่จักรวรรดินิยมอังกฤษก็ไม่ได้ลดละความพยายาม   ได้ส่ง เซอร์ จอห์น เบาริ่ง เข้ามาอีกครั้งหนึ่ง   ด้วยเล่ห์เหลี่ยมและอำนาจอิทธิพลทำให้การเจรจาประสบความสำเร็จได้มีการทำสัญญาแห่งความไม่เสมอภาคขึ้นระหว่างไทยกับอังกฤษเรียกว่า “สัญญาเบาริ่ง” ลงนามกันในวันที่ 5 เมษายน 2398    สัญญาฉบับนี้ส่งผลให้ฐานะและสังคมไทยเปลี่ยนไป   กล่าวคือ..ผลของสัญ ญานี้    ทำให้ศาลไทยไม่มีอำนาจในการพิพากษาคดีความของคนในบังคับอังกฤษ(British Subjects)ที่กระทำความผิดในดินแดนไทย       คนอังกฤษและคนในบังคับของอังกฤษที่ทำผิดในประเทศไทยจะต้องให้ศาลกงสุลอังกฤษพิจารณาพิพากษา   ไทยจะกำหนดอัตราภาษีเองไม่ได้   และจะต้องเก็บภาษีขาเข้าได้ไม่เกินร้อยละ 3   ไทยต้องยกเลิกพระคลังสินค้าซึ่งเป็นสำนักงานดำเนินการค้าขายกับต่างประเทศ   การทำสัญญาฉบับนี้ไทยจำต้องยอมเพราะจักรวรรดิ์นิยมอังกฤษนำเรือปืน 4 ลำเข้ามาบีบบังคับ

หลังจากเพรี่ยงพล้ำต่ออังกฤษแล้ว  ไทยก็ถูกรุมกินโต๊ะจากประเทศจักรวรรดินิยมอื่นๆเช่น สหรัฐอเมริกา  ในพ.ศ. 2399  ฝรั่งเศส พ.ศ.2400  เด็นมาร์ก พ.ศ.2402  โปรตุเกส 2403 และฮอลันดาเมื่อ 2404 ฯลฯสนธิสัญญาดังกล่าวล้วนแล้วแต่ดำเนินรอยตามสัญญาเบาริ่ง   ประเทศไทยได้กลายไปเป็นตลาดรับสิน ค้าที่ประเทศจักรวรรดินิยมเหล่านั้นระบายเข้ามา    พร้อมกันนี้ก็เป็นแหล่งวัตถุดิบราคาถูกส่งไปป้อนอุต   -สาหกรรมในประเทศของตน     ในขณะเดียวกันก็มีการลงทุนในประเทศไทยด้วยการมาตั้งโรงสี    โรง เลื่อย  และโรงงานอื่นๆอีกหลายสาขา     สังคมไทยแต่เดิมเป็นสังคมเกษตรกรรมต้องเปิดทางให้แก่ วิสาหกิจอุตสาหกรรมไปด้วย   กำลังแรงงานในภาคเกษตรกรรมที่ล้าหลังได้จึงเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่วงจรอุตสาหกรรมของระบอบทุนนิยมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

เมื่อมีโรงงานก็ย่อมมีกรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานเกิดขึ้น     ในประวัติศาสตร์แรงงานไทยกรรมกรสมัยใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นในราวๆพ.ศ.2401    เป็นกรรมกรโรงสีที่ตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยโดยนายทุนชาวอเมริกัน      ด้วยสาเหตุนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า...การถือกำเนิดของชนชั้นกรรมกรไทยและประวัติของชนชั้นนี้มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการคุกคามของประเทศจักรวรรดินิยมตะวันตก  
จำนวนกรรมกรโรงสีรุ่นแรกจึงถือได้ว่าเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2401  มีจำนวนเพียงเล็กน้อย  จนอีกประมาณ 31 ปีต่อมาในพ.ศ. 2402 จำนวนกรรมกรโรงสีจึงทวีขึ้นกว่าพันคน   ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมโรงสีมีวัตถุดิบคือข้าวที่ส่งเป็นจำนวนมากบรรดานายทุนจึงลงทุนด้านโรงสีมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ   กิจการค้าข้าวจึงเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างความร่ำรวยให้แก่นายทุน พ่อค้าข้าว เป็นจำนวนมหาศาล   เฉพาะในช่วงเวลาดังกล่าวนี้..เฉพาะในกรุงเทพมีจำนวนโรงสีถึง 23 โรง

ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพอจะลำดับการถือกำเนิดของชนชั้นกรรมกรไทยได้ดังต่อไปนี้
พ.ศ. 2401 เริ่มมีอุตสาหกรรมโรงสีข้าว  กรรมกรโรงสีได้ถือกำเนิดขึ้น
พ.ศ. 2415  กรรมกรโรงพิมพ์
พ.ศ. 2427  กรรมกรเหมืองแร่
พ.ศ. 2430  มีการก่อตั้งอุตสาหกรรมไฟฟ้า เกิดกรรมกรไฟฟ้าและรถราง
พ.ศ. 2431  กรรมกรป่าไม้
พ.ศ. 2433  เกิดการรถไฟไทย มีทางรถไฟยาว 264 กม. เกิดกรรมกรรถไฟ
ในช่วงที่กล่าวมานี้กรรมกรในแต่ละกิจการมีไม่มากนัก  อยู่กันกระจัดกระจายจึงตกอยู่ในภาวะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมาก    ในระยะต่อมาเริ่มมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  กรรมกรจึงมีจำนวนมากขึ้นเช่น
พ.ศ. 2456  เกิดกรรมกรโรงงานปูนซีเมนต์
พ.ศ. 2462  เกิดกรรมกรโรงงานยาสูบ
พ.ศ. 2463  เกิดกรรมกรสวนยาง
พ.ศ. 2469  เกิดกรรมกรโรงงานไม้ขีดไฟ
พ.ศ. 2472  เกิดกรรมกรโรงกลั่นสุรา
พ.ศ. 2476  เกิดกรรมกรโรงงานทอผ้า
พ.ศ. 2480  เกิดกรรมกรโรงงานน้ำตาล
พ.ศ. 2493  เกิดกรรมกรโรงงานปั่นด้าย

โรงงานที่เกิดขึ้นช่วงแรกมีไม่มากนักและตั้งอยู่กระจัดกระจาย  ชนชั้นกรรมกรก็ยังมีจำนวนไม่มากนักจึงไม่สามารถรวมตัวกันให้เป็นปึกแผ่นได้ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อชนชั้นกรรมกรเลย

ในระยะต่อมาเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ผลิตผลทางการเกษตรของประเทศจะเพิ่มมากขึ้น   แต่อัตราส่วนแรงแรงงานนอกภาคเกษตรกรรม     โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมก็เพิ่มสูงขึ้นจำนวนโรงงานในภาคอุตสาห- กรรมเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว   จำนวนโรงงานจาก 16,007 โรงในปีพ.ศ. 2503  เพิ่มขึ้นเป็น 44,258 โรงในปีพ.ศ.2511      ซึ่งทางรัฐบาลได้พยายามเร่งส่งเสริมการลงทุนมากขึ้นเท่าใดจำนวนโรงงานก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น   ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนกรรมกรซึ่งเปรียบเสมือนเงาตามตัว   ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของชาติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้      เมื่อพิจารณาถึงการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกรรมกรในช่วง 20 ปืที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ในปี 2503มีผู้อยู่ในวัยทำงาน 17,310,993 คน เป็นผู้มีงานทำ 13,836,795 คน   เป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม 11,334,383คน  อยู่ในภาคอุตสาห - กรรม 16,32,248 คน   ปี 2520      ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานมีจำนวน  16,180,200 คนเป็นผู้มีงานทำ 15,967,700 คน  เป็นแรงงานที่เป็นลูกจ้างของรัฐและเอกชนจำนวน 4,283,800 คน

จากตัวเลขที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมทำให้กำลังของชนชั้นกรรมกรขยายตัวในอัตราที่สูง  และจะมีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของพลังการผลิตเป็นอย่างมาก   เมื่อพลังของกรรม กรก่อรูปขึ้นท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจแห่งชาติจึงมีความจำเป็นต่อการทำความ เข้าใจถึงประ สบการณ์และบทบาทที่ผ่านมาของชนชั้นกรรมกรไทย

2.  ช่วงก่อน พ.ศ. 2488

แม้ว่ากรรมกรไทยได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2401 แล้วก็ตาม  แต่ปรากฏว่ามวลกรรมกรหาได้รับความคุ้มครองหรือได้รับการดูแลจากรัฐแต่อย่างใดไม่        รัฐไม่ได้ออกกฎหมายรับรู้หรือรับรองสิทธิ์หรือให้ความคุ้มครองใดๆต่อกรรมกรเลย      เพียงแต่พยายามเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการเกณฑ์แรงงานเท่านั้น   ดังนั้นในปลายปี พ.ศ. 2440 กรรมกรรถรางได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมแรงงานขึ้นโดยมีสมาชิกราวๆ 300 คน   มีวัตถุประสงค์ที่สมาคมแถลงต่อรัฐบาลคือ  ส่งเสริมการประหยัก  สงเคราะห์ผู้ชราและคนพิการ  ส่งเสริมความสามัคคี ฯลฯ รัฐบาลจึงไม่อาจปฏิเสธการจดทะเบียนสมาคมฯนี้ได้  และพยายามดัดแปลงให้สมาคม จำกัดขอบเขตและบทบาทให้อยู่แต่เพียงด้านสังคมสงเคราะห์เท่านั้น   แต่ไม่สำเร็จ     เพราะกรรมกรรถรางเคยมีปัญหากับฝ่ายเจ้าของคือบริษัทไฟฟ้าสยามมาก่อนหน้านี้   เมื่อกรรมกรก่อตั้งสมาคมขึ้นมา   ทางบริษัทไม่ยอมรับคณะกรรมการของสมาคมในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท   ในที่     สุดรัฐบาลต้องเข้ามาจัดการประนีประนอม       และจากนั้นมาสมาคมกรรมกรรถรางก็ได้มีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

ปี 2444 ได้มีกฎหมายเกี่ยวกับคนงานฉบับแรกของประเทศไทยคือ “ข้อบังคับของกรมตำรวจ” เกี่ยวกับการควบคุมคนใช้ที่ทำงานอยู่ในบ้านของชาวต่างชาติ     แต่กฎหมายฉบับนี้ก็มิได้ให้ความคุ้มครองคนของตนแต่อย่างใด   ตรงกันข้ามกลับมีวัตถุประสงค์เป็นการควบคุมลูกจ้างมากกว่าดูแล    และเพื่อคุ้ม ครองหรือเป็นประโยชน์ต่อชาวต่างชาติผู้เป็นนายจ้างโดยตรง    ต่อจากข้อบังคับของกรมตำรวจแล้วก็มีประกาสให้มีการ“จดทะเบียนรถลาก” ประกาศนี้ก็มีวัตถุประสงค์มุ่งคุ้มครองความปลอดภัยของผู้โดยสาร
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ไทยเข้าเป็นสมาชิดขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ไอ.แอล.โอ) ในพ.ศ. 2462 ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มต้นขององค์กร     และได้เข้าร่วมประชุมครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา   และถูกสันนิบาติชาติถามเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานตัวแทนรัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ตอบไปว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม อุตสาหกรรมยังมีน้อย  ปัญหากรรมกรยังไม่มีและยังไม่มีความจำเป็นที่จะมีกฎหมายกรรมกร   ดังนั้นกรรมกรไทยจึงยังไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐเรื่อยมา     ในปี พ.ศ.2470  รัฐได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและคุ้มครองคนงาน   ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรให้มีกฎหมายดังกล่าวแต่ก็หาได้มีการร่างหรือประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวไม่

ดังนั้นเมื่อสำรวจสภาพการใช้แรงงานของกรรมกรไทยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเห็นถึงการ เอารัดเอาเปรียบกรรมกรว่ามีระดับความรุนแรงมากเพียงใด   โดยดูจากค่าจ้างแรงงาน   ชั่วโมงการทำ งาน   และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของบรรดากรรมกร       ประการสำคัญที่สุดก็คือภาพสะท้อนจากการต่อสู้ของกรรมกรเอง        ก็น่าจะชี้ให้เห็นได้ว่ากรรมกรไทยในยุคนั้นมีลักษณะและสภาพความเป็นอยู่อย่างไร    พ.ศ. 2476-2482 กรรมกรกุลีได้รับค่าแรงเฉลี่ยวันละ 75-80 สตางค์สำหรับผู้ชายและ 60 สตางค์สำหรับผู้หญิง     โดยใช้เวลาทำงานวันละ 9-10 ชั่วโมง     สำหรับช่างฝีมือนั้นจะได้รับสูงสุดไม่เกินวันละ 2 .47 สตางค์    ในขณะที่คนเฝ้ายามได้รับค่าจ้างเดือนละ 25.26 บาท    หัวหน้าคนงานได้ รับเดือนละ 71 บาท  สำหรับคนงานไร้ฝีมือนอกเขตเมืองหลวงจะลดลง   กรรมกรชายได้วันละ 65 สตางค์   กรรมกรหญิงได้วันละ 50 สตางค์เท่ากับแรงงานของกรรมกรรถไฟ

เฉลี่ยแล้วประมาณว่ากรรมกรไร้ฝีมือชายจะได้รับค่าจ้างวันละ 21 บาท     ส่วนกรรมกรหญิงได้เดือนละ  16.50 บาท   ในขณะที่รัฐสภายุคแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำของข้า ราชการไว้ที่ 30 บาทต่อเดือน        ความแตกต่างในรายได้ขั้นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตนำไปสู่การเรียกร้องของกรรมกรรถไฟให้เพิ่มค่าแรงจากวันละ 50 สตางค์ไปเป็น 1 บาทต่อวัน     แต่รัฐบาลปฏิเสธโดยอ้างว่าเพื่อต้องการให้กรรมกรรู้จักประหยัด   และอ้างว่าถ้าเพิ่มค่าแรงให้กรรมกรไทยก็จะเอาไปเล่นการพนันหมดทั้งยังข่มขู่กรรมกรอีกด้วยว่า  รัฐสามารถหาแรงงานได้มากมายหรือไม่ก็ใช้เครื่องจักรแทน
สำหรับชั่วโมงการทำงานนั้น  ในปี พ.ศ.2479-2481กรรมกรกรุงเทพต้องทำงานเฉลี่ยอาทิตย์ละ 50 ชั่ว     เมือโมงและเพิ่มเป็น 54 ชั่วโมงในปี 2482   ระยะการทำงานไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนขึ้นอยู่กับนายจ้างเป็นส่วนใหญ่   ในด้านที่พักอาศัยก็ไม่ได้รับการเหลียวแลไม่ว่าจากรัฐหรือนายจ้าง    กรรมกรส่วนมากจึงเช่าห้องแถวอยู่   ที่พักฟรีเท่าที่มีคือโรงยาฝิ่นนั่นหมายความว่าเขาต้องเป็นผู้ติดฝิ่นด้วยจึงจะไปใช้สถานที่ได้เมื่อห้องแถวที่กรรมกรอาศัยเกิดความแออัดและแปรสภาพไปเป็นสลัมที่ไม่น่าดูในสายตาของรัฐแล้ว  การแก้ไขสภาพดังกล่าวก็คือเกิดเพลิงไหม้ไล่ที่   และการสร้างอาคารขึ้นใหม่เพื่อผลประโยชน์ในกิจการอื่นๆของเจ้าของต่อไป

พ.ศ. 2472 เมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว   ก็ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคน งานรวมอยู่ด้วย  ในบรรพที่ 3 ลักษณะ 6 อันว่าด้วย “การจ้างแรงงาน” เกี่ยวกับการจ่ายสินจ้าง   หลัก เกณฑ์วิธีการเลิกจ้างแรงงาน  ซึ่งบทบัญญัตินี้มีส่วยในการคุ้มครองลูกจ้างอยู่บ้าง   แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า  บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้  มิใช่กฎหมายที่ออกมาคุ้มครองแรงงานโดยรงแต่เป็นเรื่องที่ว่าด้วยการจ้างแรงงานโดยทั่วไปซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวยังมีผลบังคับใช้อยู่จนทุกวันนี้

ส่วนสิทธิในการรวมตัวกันของกรรมกรไม่มีกฎหมายโดยตรง  หากกรรมกรมีความประสงค์ในการรวมตัวกันก็ทำได้เพียงการตั้ง”สมาคม”เท่านั้น   ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับสมาคมทั่วๆไป   และตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งฯ ลักษณะ 3 เรื่องสมาคมนี้     ในการรวมตัวกันเป็นสมาคมดังกล่าวย่อมไม่เหมาะสำหรับกรรมกร       โดยเฉพาะในการยื่นคำขอและต้องได้รับอนุญาตจากทางการเสียก่อนจึงจะก่อตั้งได้  การยื่นขออนุญาตนั้นก็มีความยุ่งยากมาก   ในทางปฏิบัติ..การให้อนุญาตขึ้นอยู่กับอิทธิพลทางการเมืองหรือนโยบายของฝ่ายปกครองในเวลานั้น   ทำให้กรรมกรต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ นักการเมืองไม่เป็นตัวของตัวเอง

นอกจากกฎหมายแพ่งฯที่กล่าวมาแล้ว  ในการจัดการกับกรรมกรรัฐยังใช้กฎหมายลักษณะอาญามาใช้บังคับอีกด้วย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติที่ห้ามกรรมกรนัดหยุดงาน       ฝ่ายปกครองมักจะใช้กฎ หมายว่าด้วย”กบฏ” เข้ามาจัดการกับกรรมกรคือบทบัญญัติในมาตรา 104 (2) (ประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไข)  ที่ว่า..”ผู้ใดยุยง เสี้ยมสอน  หรือแนะนำให้เกิดการนัดหยุดงานเพื่อความประสงค์ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลหรือประเพณีของบ้านเมือง  หรือจะบังคับรัฐบาลหรือจะข่มขู่ประชาชน      ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทอีกด้วยโสดหนึ่ง

ผู้ใดทราบความประสงค์ดังกล่าวแล้วข้างต้นนี้  และเข้ามีส่วนด้วยในการนัดหยุดงาน...ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 5 ปี และปรับไม่เกิดนกว่า หนึ่งพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง
(3) ผู้ใดบังคับหรือพยายามบังคับด้วยทำให้เกิดความกลัว    หรือขู่ว่าจะทำร้าย หรือใช้กำลังทำร้ายด้วยประการใดๆให้บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดเข้ามีส่วนในการนัดหยุดงาน  ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีและให้ปรับไม่เกินสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”

ตามบทบัญญัตินี้ ดร.หยุด แสงอุทัย  นักกฎหมายได้อธิบายว่า  ที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ต้องเป็นการนัดหยุดงานเพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลหรือกฎหมายบ้านเมืองเท่านั้น      ถ้ามีเจตนาให้ขึ้นค่าจ้าง หรือลดค่าจ้างก็ไม่ผิดตามอนุมาตรานี้     ในปีพ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศ้กฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานรวม 2 ฉบับคือ  พรบ.สำนักงานจัดหางาน  และพรบ.จัดหางานประจำท้องถิ่น   สาเหตุที่ทีการตรากฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ขึ้นก็เพื่อจัดหางานให้แก่ประชาชน   ซึ่งในระยะเวลานั้นเกิดปัญหาการว่างงานขึ้นเป็นจำนวนมากสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจตกต่ำ

ในปีพ.ศ.2479 รัฐได้ออก”กฎหมายการสอบวนภาวะกรรมกร”  เพื่อสอบสวนและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของกรรมกรเพื่อนำมาวางนโยบายและตรากฎหมายแรงงาน   ระหว่างพ.ศ.2480-2484ได้มีการเคลื่อนไหวในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐบาลที่จะออกกฎหมายฉบับนี้หลายครั้ง   ปี 2482 ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานเข้าสู่สภาฯซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดชั่วโมงการทำงาน  ค่าจ้าง  การคุ้มครองดูแลคนงานหญิงและเด็ก     การจ่ายเงินค่าทดแทนในกรณีประสบอุ บัติเหตุในขณะทำงาน    แต่ปรากฏว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องตกไปโดยสภาไม่รับหลักการ  พ.ศ.2484 ได้มีการเสนอกฎหมายทำนองเดียวกันนี้เข้าสภาฯอีก   แต่ก็ตกไปโดยปริยายเพราะสภาฯถูกยุบไปในปี 2485   อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายโรงงานในปี 2482  วางข้อกำหนดเกี่ยวกับการตั้งโรงงาน  ละความปลอดภัยในโรงงาน (กฎหมายได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้ง  ครั้งสุดท้ายประกาศ ใช้พรบ.โรงงานพ.ศ.2512)

การตื่นตัวของชนชั้นกรรมกรไทยในการเรียกร้องให้มีกฎหมายแรงงานที่ครอบคลุมถึงเรื่องที่จำเป็นต่างๆเช่น การปรับปรุงสวัสดิภาพลารทำงาน  โดยเฉพาะสิทธิ์ในการก่อตั้งสหภาพแรงงานได้แพร่กระจายไปในหมู่กรรมกร     การนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในปัญหาค่าจ้าง  สวัสดิการได้เพิ่มมากขึ้น  นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 เป็นต้นมากล่าวคือ
เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2440   มีการนัดหยุดงานของกรรมกรรถลาก   กรรมกรรถราง หลังจากก่อตั้งเป็นสมาคมแล้ว   เป็นการเรียกร้องเพื่อให้นายจ้างลดค่าเช่าลงจากวันละ 40 สตางค์  ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก    การต่อสู้ครั้งนี้กรรมกรต้องตกเป็นฝ่ายแพ้ด้วยการยอมประนีประนอมตามข้อเสนอของนายทุนเนื่องจากไม่อาจต่อสู้กับความหิวได้      ในปี 2475 การนัดหยุดงานของกรรมกรหญิงโรงงานย้อมผ้าสามารถเอาชนะการตัดค่าแรงจากวันละ 40 สตางค์เป็น 30 สตางค์ได้    และการนัดหยุดงานของกรรมกรรถลากในกรุงเทพฯ 6,000 คน  เมื่อ 4 สิงหาคม 2475 เป็นเวลา 5 วันเพื่อขอลดค่าเช่าจากวันละ 75 สตางค์เป็น 60 สตางค์ ได้รับผลสำเร็จอย่างงดงาม    จากนั้นการนัดหยุดงานได้กระจายไปตามต่างจังหวัด   ในปี 2478  พนักงานขับรถโดยสารสายเชียงราย-ลำปางได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้นภายหลังการนัดหยุดงาน
ปี 2477 กรรมกรขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯประท้วงให้เพิ่มค่าแรงและกฎจราจร  

เดือนสิงหาคม 2479กรรมกรเหมืองแร่ที่ยะลากว่า 200 คน นัดหยุดงานประท้วงการตัดค่าแรงที่ลดลงไป 10 เปอร์เซ็นต์   การประท้วงดังที่กล่าวมานี้มีลักษณะที่โดดเดี่ยว  ไม่มีความเป็นเอกภาพ   การประท้วงครั้งสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะเดิมได้แก่การประท้วงของกรรมกรโรงสีเมื่อต้นปี 2477  ซึ่งเคยหยุดงานประท้วงมาก่อนหน้านี้       แต่ครั้งนี้เป็นการประท้วงที่มีขนาดใหญ่โดยมีการร่วมมือจากกรรมกรอื่นๆด้วย      กรรมกรโรงสีประท้วงการงดจ่ายเงินพิเศษในวันตรุษจีน(แต๊ะเอีย)ซึ่งเคยมีการปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำ   ทางโรงสีข้าวอ้างว่าปีนี้ราคาข้าวตกต่ำ   จึงไม่อาจจ่ายเงินให้ได้ตามปกติ   แต่กรรมกรอ้างว่าไม่เป็นความจริง   จากนั้นกรรมกรโรงสีได้มีการติดต่อกับสมาคมกรรมกรรถรางซึ่งเป็นสมาคมที่จดทะ เบียนถูกต้องตามกฎหมายให้เป็นตัวแทนในการเจรจาข้อพิพาท     พร้อมกันนั้นได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเข้ามาทำการไกล่เกลี่ย  และให้รัฐบาลยึดโรงสีเสียเลยหากจำเป็น   จากนั้นกลุ่มกรรมกรได้แถลงต่อประประชาชนว่าการประท้วงครั้งนี้เป็นการต่อสู้เพื่อสวัสดิการลุความอยู่รอดของชาวสยามทั้งมวล    ในที่สุดรัฐบาลก็เข้ามาประนีประนอมหลังจากที่นายจ้างได้ใช้มาตรการขั้นรุนแรงทำร้ายกรรมกร   ทุนส่วนหนึ่งที่ใช้ในการประท้วงมาจากการขายรูปถ่ายของพระยาพหลฯและหลวงประดิษฐ์ฯ

ก่อนที่การประท้วงของกรรมกรโรงสีจะยุติลง      ทางด้านกรรมกรรถไฟก็ได้มีการหยุดงานประท้วงอีกเช่นกัน  กรรมกรได้เข้ายึดขบวนรถและที่ทำงานในกรุงเทพฯพร้อมกับแถลงต่อประชาชนว่า  ผู้บริหารการรถไฟไม่มีความยุติธรรมและขอให้รัฐบาลเปลี่ยนผู้บริหารเสียใหม่   การประท้วงยุติลงได้เมื่อนายก รัฐมนตรีขึ้นมากล่าวยอมรับข้อเสนอดังกล่าว   หลังจากนั้นรัฐบาลได้ตั่งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาแรงงานซึ่งก็จำกัดอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯเสียเป็นส่วนใหญ่   ในขณะที่ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบแรงงานในต่างจังหวัดก็ทวีมากขึ้นเช่นเดียวกัน   เช่นในปี 2484 มีกรรมกรสามล้อนัดหยุดงานเพื่อยื่นคำร้องต่อข้าหลวงประจำจังหวัดให้ตำรวจเพลามือในการจับกุมในกรณีความผิดเล็กๆน้อยๆ   ข้าหลวงไม่ยอมทำตาม   กรรมกรสามล้อจึงนัดหยุดงาน  จึงถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏและยื่นฟ้องศาล   เมื่อคดีถึงศาลฎีกาและถูกยกฟ้องในที่สุด   ต่อิประเด็นนี้จะเห็นได้ว่าในทางปฏิบัติ   ฝ่ายปกครองมักจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจไว้อย่างกว้างขวางเข้าจัดการกับกรรมกรที่นัดหยุดงานในข้อหากบฎ

สรุป....จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้ของกรรมกรไทยในช่วงที่ผ่านมาก่อนพ.ศ. 2488 นั้นกล่าวได้ว่าเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีองค์กรจัดตั้งของกรรมกร   การเคลื่อนไหวต่อสู้จึงเป็นไปเองตามธรรมชาติ  เป็นการต่อสู้ที่โดดเดี่ยว   เพื่อเรียกร้องค่าจ้างและความเป็นธรรม   ยังไม่ค่อยจะมีสีสันและการแทรกแซงทางการเมือง   แต่ก็เริ่มมีการพัฒนาในลักษณะที่หนุนเสริมกันอยู่บ้างในบางกรณีที่การอาศัยอำนาจรัฐเข้ามาไกล่เกลี่ย     เมื่อเวลาผ่านไปกรรมกรเริ่มมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น   จนกระทั่งมีการรวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพโดยเริ่มมีการจัดตั้งองค์กรของตนขึ้น



Tuesday, August 11, 2015

บทเรียนจากชิลี 8

8..  รัฐ..ไม่เคยเป็นกลาง

ความผิดพลาดพื้นฐานของฝ่ายนำพรรคประชาชนสามัคคีที่จินตนาการว่า      รัฐของชนชั้นนายทุนจะยอมรับทัศนคติที่ “เป็นกลาง” ในพัฒนาการของการต่อสู้ทางชนชั้น       และในชิลีนับเป็นกรณีพิเศษเพราะมี ”ธรรมเนียมประชาธิปไตย” ในกองทัพ       ภายใต้ภาพลวงตาเหล่านี้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากบรรดานายพลจนถึงที่สุด       ก่อนหน้ารัฐประหาร.. หลังจากนายพล ลีห์  กุซมาน  ได้รับการแต่ง ตั้งให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพอากาศ     ได้กล่าวปราศรัยยืนยันว่าเห็นด้วยที่กองทัพ   “จะไม่แหวกประเพ ณีในการสนับสนุนรัฐบาลที่ถูกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ”     ภาพลวงตาเหล่านี้แพร่กระจายไปในหมู่ผู้ นำของพรรคประชาชนสามัคคี   โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ถูกเรียกว่าพรรคคอมมิวนิสต์    ในระยะแรก  หลุยส์  คอร์วาลัน  ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการปกป้อง “ความเป็นมืออาชีพ” และ ”ลัทธิรักชาติ” ของกองทัพชิลี     บทความที่ตีพิมพ์ใน ”เวิร์ล มาร์กซิส รีวิว” เดือนธันวาคม 1970  คอร์วาลัน เน้นหนักเป็นพิเศษถึงลักษณะพิเศษของกองทัพอากาศชิลีที่ “ยังคงดำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของความเป็นมืออาชีพ  ที่ให้ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย”    ตามที่พูดนั้นผิด..น่าจะกล่าวว่า “พวกเขาคือทาสรับใช้จักรวรรดิ์นิยมและชนชั้นสูงมากกว่า”

อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1975 ในวารสารฉบับเดียวกัน  คอร์วาลันได้ยืนยันว่า “ทั้งๆที่มีความหลากหลายในหมู่พวกเขา..คนในกองทัพโดยทั่วไปยังยึดมั่นอยู่ในจรรยาบรรณ โดยให้ความเคารพต่อ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย     และให้ความภักดีต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกกฎหมาย”  และเช่นเดียวกันเขายังเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ มอร์นิ่งสตาร์ว่า ..”มันมีความจำเป็นการจะธำรงไว้ซึ่งการเผชิญหน้ากับกำลังติดอาวุธของประชาชน     ในสถานการณ์ปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อกองทัพ....ซึ่งเรื่องเช่นนี้จะต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อความก้าวหน้าของชิลีโดยจะต้องไม่มีสิ่งหรือเหตุใดๆมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง”

จะเอาชนะทหารได้อย่างไร?

ถ้า..ฝ่ายนำของพรรคประชาชนสามัคคีจะใช้เวลาเพียง 1 ในสิบ ที่ทุ่มเทให้กับการเอาชนะความเชื่อ มั่นและความเคารพจากชนชั้นผู้นำในกองทัพ     มาทุ่มเทให้กับกำลังพลในกองทัพอย่างจริงจังในรูปแบบของการเคลื่อนไหวแบบแรงงาน    การพ่ายแพ้ในวันที่ 11 กันยายนจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
ถ้าอาเยนเดใช้เกียรติภูมิที่ยิ่งใหญ่ของเขาและอำนาจตามกฎหมายในฐานะประธานาธิบดีแห่งสาธารณ รัฐเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนายพลผู้นำกองทัพ สถานการณ์ที่ออกมาคงจะผิดแผกไปจากนี้    ทหารชั้นผู้น้อยไม่มีทางหลีกเลี่ยง และต่างมีประสบการณ์ในการเผชิญหน้ากับการเคลื่อนไหวของมวลชนมาแล้ว
จะเกิดความเครียดและความรู้สึกแปลกแยกในที่สุด        ชนชั้นนำที่อยู่บนยอดปิรามิดในทุกๆกองทัพนั้นย่อมมีสายใยที่มองไม่เห็นเชื่อมโยงอยู่กับชนชั้นปกครอง     ส่วนระดับล่างๆมักจะมีความใกล้ชิดกับชนชั้นผู้ใช้แรงงานและชาวนา    ทหารบกและทหารเรือเห็นด้วยกับมวลชนที่เคลื่อนไหวสนับสนุนรัฐบาลของพรรคประชาชนสามัคคี      เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวในบรรดาทหารชั้นผู้น้อยให้ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน      จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้บรรดาทหารชั้นล่างมีความมั่นใจในความต้องการของกรรมกรโดยผ่านการต่อสู้จนถึงขั้นสุดท้าย      หรือพูดสั้นๆก็คือ...จะต้องทำให้ทหารชั้นล่างมีมีความเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ของชัยชนะ   ถ้าปราศจากสิ่งนี้.. ความกลัวที่มีต่อนายทหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกองทัพก็จะทำให้พวกเขายังคงยึดมั่นอยู่กับระเบียบวินัย

ความเป็นจริงเมื่อวันที่ 11 กันยายนนั้น..มีทหารเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีส่วนร่วมในการก่อรัฐประหาร  ในขณะที่ทหารส่วนใหญ่ถูกกักไว้ในค่าย        แสดงว่า นายพล ปิโนเช มีความเข้าใจสถานการณ์ตึงเครียดที่เป็นอยู่ในกองทัพดีกว่า อาเยนเด    แต่ที่ไม่มีการต่อต้านอย่างหนักหน่วงรุนแรงก็เนื่องจากว่าไม่ได้เป็นการกระทบกระเทือนหรือได้ชัยชนะต่อทหารส่วนใหญ่ที่เลือกจะอยู่เฉยๆ..แม้จะมีความเห็นอกเห็นใจใจกรรมกรก็ตาม     ในแง่นี้..วิธีการของนักปฏิรูป ”ผู้รักสันติ” ทั้งหลายมักจะนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์กับผู้ที่มีความตั้งใจจะต่อสู้

บัดนี้..บรรดาผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้        พวกเขาได้พยายามที่จะ ปกป้องตนเองให้พ้นจากข้อกล่าวหา  เพื่อแสดงว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการอ้างเหตุผลทุกชนิด    หนึ่งในข้ออ้างที่มักจะใช้กันอยู่เสมอๆก็คือ... ในช่วงที่คับขันนั้นชนชั้นกรรมกรพบว่าตนเองถูก ”โดดเดี่ยว”   คำตอบสำหรับข้ออ้างเหล่านี้  เซปูลเวดา กล่าวว่า  “ชนชั้นกรรมกรไม่ได้ถูกโดดเดี่ยวเลย   แท้จริงแล้วพวกเขาได้แสดงออกถึงความอ่อนล้า    ทั้งชนชั้นไม่ได้มองถึงสิ่งตอบแทนใดๆในการต่อสู้เพื่อแสดงให้ฝ่ายศัตรูรู้   แต่เหนื่อยล้ากับการเดินขบวน   มันต้องมีการกระทำที่เป็นจริงในการขจัดปัญหาความขัดแย้งในสังคมและพวกเขาไม่ได้มีความรับรู้ใดๆในส่วนของการเป็นผู้นำทางการเมืองของตน     แต่พวกเขาพร้อมที่จะต่อสู้ในทุกขณะเมื่อได้รับคำสั่ง    ในวันที่ 11 และในกรณีเดียวกัน..แม้กระทั่งวันที่ 12 และ 13   กรรมกรยังคงรอคำสั่งอยู่” ('Socialismo Chileno, p37, our emphasis)

มวลชนถูกทอดทิ้ง

ทั้งพรรคสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ต่างก็มีอาวุธ  มีทฤษฎีชี้นำ  มีนโยบายทางการทหาร    แต่ในช่วงเวลาที่จริงจัง  อาวุธทั้งหลายแหล่กลับกลายเป็นแค่วัตถุเท่านั้น    นโยบายทางการทหารนั้นไร้ผล   บรรดาผู้นำส่วนใหญ่ตาลีตาเหลือกหลบหนี   ทอดทิ้งมวลสมาชิกของตนให้ช่วยเหลือตนเองเท่าที่พวกเขาจะทำได้      มันจบลงอย่างไร้คุณค่าสำหรับสามปีแห่งการต่อสู้เยี่ยงวีรชนของชนชั้นกรรมกรและชาวนาชิลี         มีคนกล่าวว่าการสละชีวิตของประธานาธิบดี อาเยนเด ถือได้ว่าเป็นการ ”ดำรงไว้ซึ่งเกียรติยศ” ของระบอบสังคมนิยมชิลี         และมันก็เป็นได้แค่ ”เกียรติยศ” และธรรมจรรยาที่เป็น นามธรรม เท่านั้น    ไม่ใช่ชัยชนะ  และเป็นความพ่ายแพ้ของการปฏิวัติสังคมนิยม    มันไม่ใช่เป็นเรื่องของชีวิตหรือความตายของคนๆหนึ่ง     

ในวันที่ชนชั้นกรรมกรได้ถูกสังหารหมู่..  ไม่มีแม้แต่ความเป็นไปได้ในการที่จะปกป้องตนเอง    ไม่ต้องสงสัยเลยถึงความจริงที่ว่า...ประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเด ได้ยืนหยัดและสละชีวิตของตนภายใต้ซากสลักปรักพังของทำเนียบ โมเนดา     จะเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของบรรดาผู้นำที่น่านับถือหลายๆคนที่ได้ละทิ้งสมาชิกของตนให้ตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเลวร้ายที่ติดตามมา       พวก ผู้นำ ที่นั่งอยู่ในสถานลี้ภัยที่แสนสุขสบาย แล้วเขียนบทความอย่างยืดยาวเกี่ยวกับ  “การต่อต้านของวีรชนในชิลี”

ซัลวาดอร์ อาเยนเด ได้กลายเป็น“ผู้อุทิศตนเพื่ออุดมการณ์” ของการเคลื่อนไหวด้านแรงงาน     แต่ความเห็นอกเห็นใจจากทั่วโลกไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ของวันที่ 11 กันยายน 1973  หรือทำให้อาเยนเดพ้นจากการมีส่วนในความรับผิดชอบต่อสิ่งเกิดขึ้นได้   มีความพยายามที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของมวลชนกรรมกรจากเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นจริง    และทำไมมันจึงเกิดขึ้น  โดยใช้วิธีการทุกชนิด  เช่นการโน้มน้าวจิตใจและสร้างตำนานความไม่น่าเชื่อถือของสังคมนิยมและการปฎิวัติ    แต่เราให้ความเคารพและมีความทรงจำที่ดีต่อ อาเยนเด  และผู้คนอีกนับพันนับหมื่นที่ไม่ปรากฏนามทั้งหญิงและชายผู้ซึ่งถูกฆาตรกรรมในวันต่อๆมาภายหลังเหตุการณ์   สำหรับชนชั้นกรรมกรเรา ภาระหน้าที่แรกสุดก็คือต้องเรียนรู้จากประสบการณ์โดยจะต้องไม่ให้มันเกิดซ้ำขึ้นอีก

ระบอบปกครองอะไร?

ในประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า..สำหรับชนชั้นกรรมาชีพแล้วไม่มีอะไรที่จะเลวร้ายไปกว่าการยอมจำนนโดยไม่มีการต่อสู้...  ตราบเท่าที่องค์กรจัดตั้งของพวกเขายังอ่อนปวกเปียกในขณะที่เผชิญหน้ากับความเป็นจริง    มวลชนจะตกอยู่ภายใต้ความสิ้นหวังโดยสิ้นเชิง        ไม่ว่าจะเป็นความพ่ายแพ้ของวีรชนในการต่อสู่เช่น ปารีส คอมมูน หรือแอสตูเรียน ที่เสปนในปี 1934 (การลุกขึ้นสู้ของกรรมกรเหมืองในแคว้นแอสตูเรียภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเสปน)   ได้ทิ้งไว้ให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลังให้สืบสานต่อไป

ตัวอย่างที่ร้ายแรงที่สุดก็คือกระบวนการในเยอรมันเมื่อปี 1933   ซึ่งใชัวิธีที่เกือบจะเหมือนกับที่ผู้นำของพรรคประชาชนสามัคคีชิลีใช้     ผู้นำของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันยินยอมให้ ฮิตเลอร์ ก้าวขึ้นสู่อำนาจโดย “ไม้ต้องทุบกระจกหน้าต่าง” (หมายถึงยินยอมต่อการข่มขู่โดยการใช้กำลัง) อย่างที่ฮิตเลอร์ได้คุยโวในภายหลัง   อะไรที่ส่งผลต่อทัศนะของการประนีประนอมแบบ    “สันติ อหิงสา” ของผู้นำกรรมกรเยอรมัน    การเคลื่อนไหวต่อสู้ของกรรมกรเยอรมันซึ่งก่อนหน้านี้กล่าวได้ว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลกได้กลายเป็นผุยผงเพียงชั่วข้ามคืน  ในทางปฏิบัติมันได้สาบสูญไปแล้วโดยสิ้นเชิง   ความสิ้นหวังและการหลงทิศผิดทางของชนชั้นกรรมกรเยอรมัน.    .เป็นผลมาจากความมืดบอดของบรรดาผู้นำซึ่งสามารถอธิบายได้อย่างพื้นฐานที่สุดก็คือการยอมจำนนภายใต้อำนาจของทรราชฮิตเลอร์   และในทางปฏิบัติก็คือไม่มีการจัดตั้งเพื่อต่อต้านพวกนาซีในเยอรมัน        ในเชิงเปรียบเทียบนี้ได้เกิดขึ้นในประเทศ ต่างๆ
หลังรัฐประหาร 11 กันยายน    การกระทำหลายสิ่งหลายอย่างของระบอบ ปิโนเช มีลักษณะฟาสซิสต์และในความเป็นจริงวิธีการต่างๆที่ใช้ต่อต้านชนชั้นกรรมกรของ ปิโนเช ก็คือการเข่นฆ่า  ทรมาน  และค่ายกักกัน   ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่เคยใช้มาแล้วในอดีตโดย ฮิตเลอร์  มุสโสลินี  และฟรังโก
ไม่เพียงเท่านั้น..กรณีเปรียบเทียบระหว่างชิลีและเยอรมันซึ่งมีความแตกต่างกันโดยพื้นฐาน  ในเบื้อง แรก..สถานการณ์ในชิลีของวันก่อนรัฐประหาร   ชนชั้นกรรมกรได้รับความชื่นชอบมากกว่าในเยอรมัน   ชนชั้นกรรมกรเยอรมันได้รับความบอบช้ำอย่างร้ายแรงต่อเนื่องจากความพ่ายแพ้ในระหว่างปี 1919 และ 1933   ในทางกลับกัน....ในชิลีกรรมกรได้รับชัยชนะหลายครั้งต่อความพยายามของพวกปฏิปักษ์-ปฏิวัติ   ในเดือนก่อนหน้ารัฐประหารที่ได้แสดงให้เห็นเมื่อวันที่ 4 กันยายน และความกระตือรือร้นที่จะต่อสู้
แต่พื้นฐานที่แตกต่างกันคือ   ฮิตเลอร์ทุ่มตัวเองบนพื้นฐานของการเคลื่อนไหวในกลุ่มมวลชนฟาสซิสต์ “สังคมชาตินิยม”     ที่พึ่งพาการเคลื่อนไหวสนับสนุนอย่างจริงจังของมวลชนนับล้านๆคนของชนชั้นนายทุนน้อยที่โลเลสิ้นหวัง    พวกกรรมกรว่างงาน  และอันธพาลนับหมื่นคนที่จัดตั้งและติดอาวุธให้โดยหน่วยตำรวจลับ เอส. เอ.    เป็นที่แน่นอนว่าฐานมวลชนนี้เป็นฟาสซิสต์รูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากรูปแบบอื่นที่ใช้ตอบโต้กลุ่มอื่นๆโดยใช้ความรุนแรงอย่างถึงเลือดเนื้อ    เป้าประสงค์ของลัทธิฟาสซิสต์ คือการทำลายองค์กรจัดตั้งของกรรมกรให้สิ้นซาก     รวมไปถึงการขจัดตัวอ่อนของสังคมใหม่ที่อยู่ในครรภ์ของสังคมเก่าอีกด้วย
แต่เครื่องมือของรัฐชนชั้นนายทุนไม่เพียงพอต่องานทำลายล้างนี้  พื้นฐานของรัฐนั้นแคบเกินไปในการบรรลุการจัดการให้ถึงรากแก่นของชนชั้นกรรมาชีพ         จากเหตุผลที่ว่านี้..ลักษณะพิเศษของลัทธิฟาสซิสต์ในจุดหมายเบื้องต้นได้แก่การเคลื่อนไหวมวลชนชนชั้นนายทุนน้อยที่ “บ้าคลั่ง” ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติของระบอบทุนนิยมและไม่มีความมั่นใจในความศักยภาพของชนชั้นกรรมกรในการนำเสนอทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้  จึงหันไปหาทางออกจากลัทธิฟาสซิสต์ที่มีการหลอกลวงทางการเมืองสูง ประกอบกับลัทธิ “สังคมชาตินิยม” ของมัน    นี่คือฐานมวลชนที่สนับสนุนระบอบฟาสซิสต์ให้มีความมั่นคงขึ้นและเปิดโอกาสให้มีการทำลายการเคลื่อนไหวด้านแรงงาน  (ในเยอรมันแม้แต่ชมรมหมากรุกของชนชั้นกรรมกรก็ถูกสั่งปิด)
ระบอบฟาสซิสต์ในเยอรมันใช้เวลา 12 ปี  ในอิตาลี 20 ปี  ในเสปน ใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 40 ปีและ   ความเป็นจริงในระยะเวลาต่อมาระบอบปกครองก็ได้กลายสภาพไปเป็นรัฐเผด็จการของทหาร/ตำรวจที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความเฉื่อยเนือยของประชาชน      ระบอบปิโนเชท์ไม่เคยมีพื้นฐานมวลให้การสนับ  สนุนหากจะเปรียบเทียบกับระบอบฟาสซิสต์ทั่วไปกลุ่มฟาสซิสต์เช่นกลุ่ม “ปิตุภูมิและเสรีภาพ” ( ปาเตรีย อี ลิเบอร์ตาด/ Patria y Libertad) ที่ได้บ่มเพาะความสยดสยองและความวุ่นวายก็เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ     พวกเขาไม่มีบทบาทในการเป็นตัวของตัวเองได้เลยแม้แต่น้อย     ได้แต่แสดงออกแบบพวกปฏิกิริยา  โดยทั่วไปแล้วจะเป็นไปในทิศทางที่เข้าไปแทรกแซงเสียมากกว่า      พวกเขาเป็นได้ไม่มากไปกว่ากำลังเสริมหรือกองหนุนของรัฐชนชั้นนายทุน      และพวกเขายังไปไม่ถึงระดับเดียวกับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรค ฟาลางค์ ของเสปน(พรรคฟาสซิสต์ของเสปน)ในทศวรรษที่ 1930
เป็นความจริงที่ว่า..   เมื่อเกิดรัฐประหาร...ในส่วนของชนชั้นกลางถูกกระทบโดยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นถึง 300% และความเชื่อมั่นที่ลดลงจากนโยบายด้านการเมืองของรัฐบาลพรรคประชาชนสามัคคี..เมื่อเฝ้ามองดูบรรดานายพลทั้งหลายต่างก็มีความหวังที่สอดคล้องกันที่จะหาวิธีแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ    แต่ไม่มีหนทางใดๆมาหนุนช่วยได้หากจะเทียบกับลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลีหรือเยอรมันในทศวรรษที่ 1930     การทำรัฐประหารของปิโนเช เป็นการกระทำโดยทหารซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกันกับการทำรัฐประหารของประเทศอื่นๆในลาตินอเมริกา   จะต่างกันก็ตรงที่ที่มีความสยดสยองมากกว่า   ลักษณะของความโหดร้ายนองเลือดของการรัฐประหารครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่และเป็นครั้งแรกสำหรับลาติน  อเมริกา     จึงสามารถอธิบายอย่างชัดเจน..ถึงความกลัวของชนชั้นปกครองที่มีประสบการณ์ภายใต้รัฐบาลของอาเยนเด   ที่พวกตนต้องตกอยู่ภายใต้การกดดันของมวลชน    ซึ่งเป็นการมองภาพที่เลยไปไกลเกินกว่าเหตุมาก    บรรดานายทุนและเจ้าที่ดินได้ทำการแก้แค้นด้วยความรุนแรงโดยมีความมุ่งมั่นที่จะ  ”สั่งสอนและให้ได้รับบทเรียน” เสียบ้าง     อีกด้านหนึ่ง..การเคลื่อนไหวของกรรมกรนั้นมีความเข้มแข็งมาก  นั่นหมายความว่าปฏิกิริยาในการตอบโต้จึงต้องใช้มาตรการในระดับถึงเลือดถึงเนื้อมากกว่าในประเทศอื่นๆ
ระบอบเอกบุรุษ  (A bonapartist regime )

เผด็จการแบบ ทหาร-ตำรวจ   ที่พื้นฐานของมันมาจาก “ปกครองด้วยดาบ” ของระบอบบูชาคนเก่ง  แต่ระบอบนี้ในชิลี...สำหรับเหตุผลที่กล่าวถึงแล้ว.จำเป็นต้องมีลักษณะของการใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะ ได้ลอกเลียนแบบวิธีการมาจากระบอบฟาสซิสต์     แต่ปิโนเช ไม่มี..และไม่เคยมีฐานมวลชนในสังคม ในการดำเนินภารกิจใจกลางของระบอบฟาสซิสต์        จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งด้วยการทำลายการเคลื่อนไหวทั้งหมดของมวลชนกรรมกรโดยพยายามแยกสลายให้ถึงที่สุด     แทนที่ด้วยการกดขี่อย่างหนักหน่วงซึ่งเป็นธรรมชาติของกลุ่มทหารที่ปกครอง      มันเป็นระบอบการปกครองที่ไม่มีความมั่นคงภายใน  และมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะอยู่ยงเท่ากับระบอบของฮิตเลอร์และมุสโสลินี    ซึ่งค่อนข้างจะเหมือนกลุ่มเผด็จการในกรีซ     ที่ทู่ซี้อยู่ถึง 7 ปี  แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆของระบอบทุนนิยมของประชาชนกรีกได้เลย   และในที่สุดก็ล่มสลายไปเปิดทางให้คลื่นลูกใหม่ของการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วที่ทำให้สังคมต้องชะงักงัน

ในระยะสั้น    ข้อผิดพลาดที่แสดงออกถึงความไม่มีเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างยิ่งยวดก็คือไม่มีการต่อต้านกลุ่มปกครองจากมวลชนในชิลีที่มีความรู้สึกถึงการไร้พลังอำนาจ     หลังจากองค์กรจัดตั้งของกรรมกรชิลีได้ถูกทำลายลงเมื่อวันที่ 11 กันยายน       การสังหารหมู่นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานเป็นไปอย่างเหี้ยมโหดทารุณ          การแยกสลายสหภาพแรงงานได้สร้างบรรยากาศที่สับสนอลหม่านไปทั่ว   ต่อสถานการณ์เช่นนี้.. ท่ามกลางวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจ..การไม่มีงานทำและความหิวโหย   ละทิ้งการต่อสู้........สิ่งเดียวที่อยู่ในจิตวิญญาณของกรรมกรก็คือความท้อแท้สิ้นหวังและเฉื่อยเนือย     ดังนั้นจึงสามารถอธิบายได้ว่า..ทำไมระบอบเผด็จการจึงอยู่ได้อย่างยาวนานทั้งๆที่ในบ้านเมืองเต็มไปด้วยสารพันปัญหาและความขัดแย้งนานาชนิด      ทั้งยังมีเรื่องตลกร้ายให้เห็นอีกคือ.  หลังจากวันที่ 11 กันยายน   กลุ่มผู้นำที่ปฏิเสธการติดอาวุธให้แก่กรรมกร-ชาวนาอย่างเป็นระบบซึ่งจะสามารถนำไปสู่ชัยชนะได้นั้นพวกเขาทำอย่างไรกัน ?      หลายต่อหลายครั้งที่พวกเขาได้ปวารณาตัวเองขึ้นมาเขียนบทความมาก มายหลายชิ้นจากสถานที่ลี้ภัยที่อยู่ไกลโพ้นและมีความปลอดภัย       เรียกร้องให้ติดอาวุธเพื่อต่อต้านพวกเผด็จการ!!!!

มากกว่าหนึ่งปีหลังการรัฐประหาร      โฆษกพรรคคอมมิวนิสต์ชิลีได้มีคำประกาศออกมาอย่างต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์ ”ลา เสต็มปา” ของอิตาลี  เห็นด้วยกับ  ”องค์กรฝ่ายซ้ายทั้งหลายของชิลีจะติดอาวุธ  แต่ต้องพิจารณาถึงการควบคุมจำนวนของมันด้วย” และ “ การต่อสู้โค่นล้มระบบอบทหาร”   ช่างเป็นโลกแห่งความฝันสำหรับวีรบุรุษผู้ลี้ภัยเหล่านั้นอาศัยอยู่”

แน่นอน..สิ่งสุดท้ายที่ควรจะเสนอแนะภายใต้สถานการณ์เหล่านี้คือการต่อสู้ด้วยอาวุธ     สงครามกองโจร   หรือลัทธิก่อภัยร้ายต่อบุคคล   ผลลัพท์ที่คนกลุ่มน้อยผู้ผลักดันความคิดเหล่านี้ในชิลีได้สะท้อนกลับที่เป็นไปในเชิงลบเสียมากกว่า      ความไร้สติและไม่มีความจำเป็นทำให้ต้องสูญเสียสหายเยาวชนผู้กล้าหาญที่มีแนวคิดที่ไม่ถูกต้องไปคนแล้วคนเล่าและทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกขึ้นในกลุ่ม     ถึงกระนั้นก็ยังมีกลุ่มแกนเล็กๆของชนชั้นกรรมกรทั้งที่เป็นสมาชิกของพรรคสังคมนิยมและพรรคอมมิวนิสต์ ได้เริ่มรวมตัวกันขึ้นอย่างช้าๆท่ามกลางความเจ็บปวดในการแบกรับภาระหน้าที่ๆยากลำบากด้วยการทำงานใต้ดิน


ไม่เหมือนกับกลุ่มผู้นำที่ลี้ภัย    บรรดาสหายเหล่านี้ไม่เคยพยายามที่จะปิดบังสภาพที่เลวร้ายด้วยคำพูดที่ระรื่นหู    แต่จะพูดความจริงและซื่อสัตย์ถึง การปราบปราม  การกดขี่  ความอดอยากและ การก่อภัยสยดสยองต่อประชาชน     เงื่อนไขที่ดีที่สุดของชนชั้นกรรมกรก็คือ  ไม่ว่าจะอยู่ในคุก  ในงานใต้ดิน  ในค่ายกักกัน   ต่างก็พยายามทำภาระหน้าที่พื้นฐานของตนให้บรรลุในการสรุปบทเรียนที่ถูกต้องจากประ สบการณ์อันเลวร้ายของพวกเขา       แต่โชคร้าย..ดูเหมือนว่าพวกผู้นำที่อาวุโสทั้งหลายต่างไร้ความสามารถและไม่เต็มใจที่จะทำเช่นนั้น