ตอนที่ 8.
จากเผด็จการรวบอำนาจทางทหารของครอมเวลล์ถึงการฟื้นอำนาจราชวงศ์สจ๊วต
การสถาปนาเผด็จการรวบอำนาจทางทหารของครอมเวลล์
ภายหลังที่ชนชั้นนายทุนโค่นล้มการปกครองศักดินาได้มาซึ่งอำนาจรัฐแล้ว
ด้านที่ล้าหลังในตัวของมันก็กลายเป็นด้านหลัก ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนและขุนนางใหม่กับประชาชนก็รุนแรงและแหลมคมขึ้น ค่าใช้จ่ายทางทหารอันหนักอึ้ง
ความทรุดโทรมทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ราคาสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ที่นับวันเลวลง
ทำให้ความไม่พอใจของประชาชนผู้ใช้แรงงานคุกรุ่นขึ้นมาอีก ฤดูใบไม้ผลิ ปี 1653 แคว้นเคมบริดจ์เกิดการลุกขึ้นสู้ของชาวนา แย่งยึดที่ดินที่ถูกแย่งยึดคืน ตีโต้กองทหารสาธารณรัฐที่ยกมาปราบปราม เดือนพฤษภาคม
แคว้นนอร์โฟล์คก็เกิดการลุกขึ้นสู้ในลักษณะคล้ายคลึงกัน พวกนักประชาธิปไตยก็เริ่มคึกคัก เคลื่อนไหวแจกจ่ายจุล สารที่คัดค้านรัฐบาล ปลุกระดมประชาชนให้ลุกขึ้นใช้ปฏิบัติการเพื่อบรรลุซึ่งการปฏิรูปอีกก้าวหนึ่ง
พรรคอัศวินได้ฉวยโอกาสอาศัยความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่ออำนาจรัฐใหม่ เตรียมก่อการจลาจลในหลายท้องที่ วางแผนกโลบายฟื้นอำนาจกษัตริย์ ชนชั้นนายทุนและขุนนางใหม่เผชิญกับการคุก คามที่เพิ่มทวีขึ้นทุกวันทั้งจากซ้ายและขวา
จึงมีความเรียกร้องต้องการที่จะสถาปนาเผด็จการทางทหารอย่างเร่งด่วน
เพื่อพิทักษ์รักษาเผด็จการชนชั้นนายทุน ครอมเวลล์ตัดสินใจใช้ปฏิบัติการ
ก่อนอื่นทำการตอบโต้การคุกคามที่มาจากด้านขวาก่อน จัดการขับไล่ไสส่งรัฐสภาช่วงยาวที่ไม่สมประกอบ
รัฐสภาช่วงยาวเคยเป็นศูนย์กลางนำการปฏิวัติชนชั้นนายทุน แต่ในสมัยสาธารณรัฐ มันได้เปลี่ยนสีแปรธาตุเป็นกลุ่มคณาธิปไตยที่ประชาชนรู้สึกจงเกลียดจงชัง มันได้สมรู้ร่วมคิดกับอิทธิพลศักดินาวางแผนตรากฎหมายเลือกตั้งใหม่ กุมอำนาจรัฐต่อไป เตรียมการฟื้นอำนาจกษัตริย์ วันที่20 เมษายน 1653ครอมเวลล์ได้ข่าวว่ารัฐสภากำลังเปิดอภิปรายกฎหมายเลือกตั้งใหม่ จึงนำกำลังทหารบุกเข้าไปในที่ประชุม ด่ากราดสมาชิกรัฐสภาด้วยการระบุชื่ออย่างเปิดเผย เขาล้วงนาฬิกาออกจากกระเป๋า ยื่นคำขาดว่าจะไม่ให้รัฐสภาดำรงอยู่ที่นี่เกิน
1 นาทีตามเวลาที่กำหนดให้
จากนั้นก็สั้งทหารทำการขับไล่สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดออกจากห้องประชุมครอมเวลล์เดินไปหยุดยืนที่ข้างเก้าอี้ประธานรัฐสภา เห็นบนโต๊ะมีตราประทับ (ตราพระลัญจกรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทรงอิทธิพลของกษัตริย์ที่มอบอำนาจไว้กับประธานรัฐสภา)
วางอยู่ จึงกล่าวว่า
“เราจะจัดการอย่างไรกับของเล่นชิ้นนี้ดี
โยนมันทิ้งไปแล้วกันนะ”
เสร็จแล้วเขาก็สั่งให้ปิดประตูลั่นกุญแจประตูใหญ่ของตึกรัฐสภา แล้ว กลับไปที่ไวท์ฮอลล์
ในขณะที่ครอมเวลล์ทำการขับไล่รัฐสภาช่วงยาวอยู่นั้น ไม่ได้เจอกับแรงต่อต้านใดๆจากสมาชิกรัฐสภาทั้งสิ้น กล่าวตามคำพูดของเขาก็คือ “หมาตัวเดียวก็ไม่กล้าเห่า” มวลประชาชนอังกฤษชื่นชมกับเรื่องนี้
เพราะว่ามันได้ทำลายภัยแฝงในการฟื้นอำนาจศักดินาลงไปได้
หลังสลายรัฐสภาช่วงยาว เดือนกรกฎาคม 1653ครอมเวลล์ได้เรียกประชุม
“รัฐสภาขนาดย่อม” ที่มีสมาชิกเพียง100 กว่าคน
สมาชิกรัฐสภาขนาดย่อมไม่ได้เกิดจากการเลือกตั้ง
หากเกิดจากการเสนอชื่อโดยองค์การศาสนาของกลุ่มอิสระและอนุมัติโดยครอมเวลล์
เนื่องจากภายในประ เทศมีความไม่พอใจโดยทั่วไป
“รัฐสภาขนาดย่อม” จึงจำเป็นต้องผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปจำนวนหนึ่ง เช่นลดหย่อนภาษีอากร ยกเลิกภาษี 10 ชัก
1 ลดกำลังทหาร
เป็นต้น
เป็นเหตุให้กลุ่มนายทหารชั้นสูงที่นำโดยครอมเวลล์โกรธเกรี้ยวมาก จึงจัดการยุบมันเสียในวันที่ 12 ธันวาคม
หลังจากนั้น 4 วัน
ภายใต้การชี้แนะเป็นนัยของครอมเวลล์
พวกนายทหารชั้นสูง
ผู้พิพากษาและนายกเทศมนตรีลอนดอนได้เข้าชื่อเสนอให้ครอมเวลล์รับสมญานาม
“ผู้ป้องกันประเทศ” ด้วยประการฉะนี้ ครอมเวลล์ก็ได้สถาปนาอำนาจรัฐเผด็จการรวบอำนาจทางทหารภายใต้รูปแบบของสาธารณรัฐ อำนาจรัฐนี้มีชนชั้นนายทุนใหญ่และชนชั้นใหม่ของขุนนางเจ้าที่ดินเป็นรากฐานของมัน
โดยถือเอาการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของพวกเขาเป็นจุดมุ่งหมาย ชนชั้นขุนนางเจ้าที่ดินนี้ได้ค่อยๆก่อรูปและเติบใหญ่ขึ้นท่ามกลางสงครามรุกรานอาณานิคม
ส่วนบนของมันโดยทั่วไปจะมีสมญานามและยศถาบรรดาศักดิ์ขุนนาง
ทั้งนับวันแต่จะใกล้ชิดกับขุนนางศักดินาเก่ามากยิ่งขึ้น
เมื่อรากฐานทางชนชั้นของอำนาจรัฐครอมเวลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมจะสะท้อนออกในนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศของเขา
รัฐบาลแห่งชาติ การปกครองโดยทหารตำรวจและสงครามต่อภายนอก
หลังจากรัฐสภาขนาดย่อมถูกยุบไม่นาน
สภานายทหารได้ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญใหม่ที่เรียกว่า
“เครื่องมือการปกครอง” กำหนดว่า อำนาจรัฐของสาธารณรัฐอังกฤษ
สก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์ล้วนเป็นของเจ้าป้องกันประเทศ นี่ก็เป็นครั้งแรกที่ผนึกเอา อังกฤษ สก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ปีถัดมา อาศัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใหม่* (รัฐธรรมนูญใหม่ได้กำหนดคุณสมบัติด้านทรัพย์สินของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มจาก
40ชิลลิงจากรายได้ในผืนที่ดินเป็น 200 ปอนด์ เช่นนี้แล้ว รัฐสภาก็ถูกควบคุมโดยเจ้าที่ดินใหญ่ นายทหารชั้นสูงที่กลายเป็นเจ้าที่ดินใหญ่จากการเขมือบที่ดินในไอร์แลนด์)
เรียกประชุมรัฐสภา
ในรัฐสภามีสมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งที่เป็นกลุ่มสาธารณรัฐ
ได้แสดง ออกซึ่งความไม่พอใจต่อการมีอำนาจเบ็ดเสร็จของเจ้าป้องกันประเทศ ดังนั้นครอมเวลล์จึงปล่อยให้มันดำรงอยู่แค่
5 เดือนก็จัดการยุบทิ้งเสีย
เป็นเวลา 2
ปีหลังจากนั้นก็ไม่ได้เปิดประชุมรัฐสภาอีกเลย
ครอมเวลล์อาศัยคณะรัฐมนตรีที่ประกอบจากนายทหารชั้นสูง 18 คน
ดำเนินการปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจ
แต่ว่า สถานการณ์ภายในประเทศตึงเครียดขึ้นอีกก้าวหนึ่ง เพื่อกดการต่อต้านของประชาชน ปราบปรามการกบฏของพวกนิยมกษัตริย์ ในระหว่างปี 1655-1656 ครอมเวลล์ได้จัดแบ่งอังกฤษออกเป็นเขตทหาร
11 เขต
แต่ละเขตแต่งตั้งนายทหารบกยศพลตรีเป็นผู้นำ
กุมอำนาจทั้งทางการเมืองและการทหารไว้บนตัวคนเดียว รับผิดชอบควบคุมดูแลตั้งแต่ระเบียบสังคมไปจนถึงชีวิตส่วนตัวของชาวบ้าน
ดำเนินระบอบการปกครองโดยทหารและตำรวจอย่างโจ๋งครึ่ม ซึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า ระบอบการปกครองโดยนายพลตรีกองทัพบกนั่นเอง
ในด้านเศรษฐกิจ
รัฐบาลแห่งชาติปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน รักษาไว้ซึ่งภาษี 10 ชัก 1ของศาสนจักรในอดีต คุ้มครองนักกว้านที่ดิน
ขบวนการกว้านที่ดินแถบป่าชายเลนขนานใหญ่ที่เริ่มเกิดขึ้นใหม่ในอังกฤษก็ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ
นโยบายต่างประเทศที่เป็นพื้นฐานของรัฐบาลแห่งชาติก็คือ
สร้างความได้เปรียบทางการค้าของโลกและจักรวรรดิอาณานิคมที่เข้มแข็งเกรียงไกรให้กับชนชั้นนายทุนอังกฤษ
เพื่อผ่อนคลายวิกฤติการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและใช้สินสงครามที่ได้จากการทำสงครามภายนอกประเทศไปชดเชยการขาดดุลทางการคลัง
รัฐบาลแห่งชาติยังคงดำเนินสงครามปล้นชิงต่อภายนอกประเทศต่อไป
โดยใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อประเทศโปรตุเกสและสเปนตามลำดับ
ภายหลังที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนอันมหาศาลแล้ว อังกฤษจึงสามารถแย่งยึดเกาะจาไมก้าในทะเลคาริบเบียน
(1655) และดานซิก บนผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรป (1658)
จากมือสเปนมาได้
สนองความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอาณาเขตให้กับชนชั้นนายทุน
รัฐบาลแห่งชาติล้มคว่ำ
รัฐบาลแห่งชาติถูกกระหน่ำตีทั้งจากด้านซ้ายและขวา ชาร์ลส์ที่ 2
ได้ช่วงชิงการสนับสนุนจากสเปน ฝรั่งเศสและอิทธิพลเน่าเฟะอื่นๆที่เป็นโรมันคาทอลิคบนผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรป
ทั้งได้ประสานกับพวกนิยมกษัตริย์ภายในประเทศดำเนินแผนกโลบายฟื้นอำนาจกษัตริย์ บนผืนแผ่นดินที่ผ่านการชะล้างจากเปลวเพลิงปฏิวัติ
การเคลื่อนไหวของประชาชนก็เริ่มก่อหวอดขึ้นอีก การต่อสู้ของชาวป่าชายเลนทางภาคตะวันออก
และการต่อสู้คัดค้านการกว้านที่ดินของชาวนาในท้องที่ต่างๆเกิดขึ้นมิได้ขาด เริ่มตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1650
ชาวนาไม่นำพาต่อการสั่งห้ามของเจ้าของกรรมสิทธิ์ พากันบุกเข้าไปในป่าสงวนหักร้างถางพง แปรเขตป่าเป็นผืนที่ดินเพาะปลูก ถึงปี 1659
การเคลื่อนไหวของชาวนาได้ปรากฏกระแสสูงใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ชนชั้นนายทุนและขุนนางที่ดิน โดยเฉพาะคือส่วนบนของพวกเขา
เมื่อเผชิญกับกระแสสูงการเคลื่อนไหวของประชาชนที่นับวันเพิ่มทวีขึ้น ก็ตกอกตกใจเป็นกำลัง จึงเรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบเผด็จการรวบอำนาจทางทหารกลับไปสู่ระบอบกษัตริย์
เพื่อจะได้ดำเนินการปราบปรามอย่างป่าเถื่อนสยดสยอง ปี1656 รัฐบาลแห่งชาติได้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยที่ 2 แก้ไข
“เครื่องมือการปกครอง”
มีการเสนอให้ฟื้นระบอบกษัตริย์และสภาสูง
เรียกร้องให้ครอมเวลล์สถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์
ครอมเวลล์เองย่อมมีความปรารถนาจะตั้งราชวงศ์ใหม่อยู่แล้ว
แต่เนื่องจากผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆในหมู่ชนชั้นนายทุนไม่ลงตัวกัน ต่อปัญหาฟื้นระบอบกษัตริย์จึงมีความเห็นแตกต่างกัน ทางกองทัพก็มีความเห็นคัดค้าน นายทหารชั้นสูงก็ไม่ยอมสละอำนาจทางการเมืองของตน ดังนั้น
ครอมเวลล์จึงจำต้องปฏิเสธการขึ้นสู่บัลลังก์
รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านสภาก็ให้ตัดข้อความเกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ออกเสีย แต่ประกาศว่า
เจ้าป้องกันประเทศจะสืบทายาทโดยตระกูลครอมเวลล์เท่านั้น
เดือนกันยายน
1658
ในขณะที่นโยบายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศของรัฐบาลแห่งชาติตกอยู่ในฐานะยากลำบาก
วิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจใกล้จุดระเบิดนั้น ครอมเวลล์ป่วยเสียชีวิต
หลังจากที่ลูกชายของเขา ริชาร์ดครอมเวลล์(Cromwell
Richard 1626-1712) เข้ารับตำแหน่งเจ้าป้องกันประเทศสืบต่อจากผู้เป็นบิดาแล้ว
บรรดานายทหารทั้งหลายก็เปิดฉากต่อสู้แก่งแย่งชิงอำนาจกันอย่างดุเดือด
ภ่ยในกลุ่มชนชั้นปกครองตกอยู่ในสภาพปั่นป่วนระส่ำระสาย
ชนชั้นนายทุนใหญ่และส่วนบนของขุนนางเจ้าที่ดิน มีความต้องการอันรีบด่วนที่จะมีอำนาจที่เข้มแข็งอำนาจหนึ่งเพื่อปราบปรามกำลังฝ่ายปฏิวัติ
พวกเขาจึงฝากความหวังไว้กับราชสำนักแห่งราชวงศ์สจ๊วต
ตัวแทนที่อยู่ในประเทศอังกฤษของชาร์ลส์ที่ 2 ก็ขยายการเคลื่อนไหวฟื้นอำนาจระบอบกษัตริย์เป็นการใหญ่ วิลเลี่ยมเลนธอลล์( William Lenthall 1591-1662) ประธานรัฐสภาช่วงยาวซึ่งเป็นพวกจงรักภักดีต่อราชสำนักได้ฟื้นรัฐสภาไม่สมประกอบในเดือนพฤษภาคม
1659
บีบบังคับให้ริชาร์ด ลาออก และล้มระบอบรัฐสภาแห่งชาติ จอร์จมังค์( Jeorge Monk1608-1670) ผู้บัญชาการทหารของอังกฤษประจำสก๊อตแลนด์เป็นพวกนิยมกษัตริย์ที่ฝังตัวอยู่ในกองทัพ ได้ยกทัพเข้ากรุงลอนดอนในเดือนกุมภาพันธ์
1660
เข้าควบคุมรัฐบาล จากนั้นก็วางแผนให้ชาร์ลส์ที่ 2
ซึ่งหนีตายอยู่ในฮอลแลนด์ ประกาศ
“แถลงการณ์เบรดา” โฆษณาเผยแพร่ในหมู่ผู้มีทรัพย์สินให้มีความเพ้อฝันต่อราชวงศ์เก่า เดือนมีนาคม เรียกประชุมรัฐสภาใหม่ มังค์ฉวยโอกาสยัดเยียดคนของพวกนิยมกษัตริย์เข้าสู่รัฐสภาจำนวนมาก เดือนพฤษภาคม รัฐสภาประกาศสถาปนาชาร์ลส์ที่ 2 เป็นกษัตริย์ จากนั้นไม่นาน
ชาร์ลส์ที่ 2 ก็กลับถึงลอนดอน เริ่มยุคฟื้นอำนาจในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
การฟื้นอำนาจราชวงศ์เก่าในปี
1660
ตลอดจนนโยบายภายในและต่างประเทศ
ชาร์ลส์ที่
2
(Charles 2 ครองราชย์ 1600-1685) ใน
“แถลงการณ์เบรดา”
ได้กล่าวถึงว่าหลังคืนสู่ราชบัลลังก์แล้วจะนิรโทษกรรมต่อผู้เข้าร่วมการปฏิวัติ จะอนุญาตให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ประกันความสัมพันธ์ในทรัพย์สินและที่ดินที่กำหนดขึ้นในสมัยปฏิวัติ
ดังนั้นจึงได้รับการต้อนรับจากผู้มีทรัพย์ สินโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นนายทุนใหญ่ แต่ว่าความฝันของพวกเขาได้พังทลายลงอย่างรวดเร็ว
พออำนาจที่อยู่ภายใต้การควบคุมของชาร์ลส์และพวกนิยมกษัตริย์เริ่มจะมั่นคง พวกเขาก็ตระบัดสัตย์
พยายามฟื้นระบอบเผด็จการศักดินาที่มีอยู่ก่อนปฏิวัติอย่างสุดกำลัง ดำเนินการพลิกคดีอย่างบ้าคลั่ง
ไม่เพียงแต่ปราบปรามมวลชนอย่างไร้ความปราณีเท่านั้น
หากยังปราบปรามชนชั้นนายทุนอย่างไม่ไว้หน้าอีกด้วย
ต่อบุคคลที่เคยเข้าร่วการพิจารณาคดีกษัตริย์ชาร์ลส์ที่
1 ล้วนมีโทษฐาน
“ผู้ปลงพระชนม์”
ไม่ว่าจะเสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่
ล้วนถูกตัดสินลงโทษด้วยการแขวนคอทั้งสิ้น
ศพที่เน่าเปื่อยแล้วของครอมเวลล์ก็ถูกขุดขึ้นมาและนำไปแขวนคออยู่บนหลักกางเขน ปี 1661 เรียกประชุม “รัฐสภาอัศวิน” ประกาศฟื้นคณะอังกลิกัน เริ่มยุคปองร้ายทางศาสนาอีกครั้งหนึ่ง
การเข่นฆ่าได้ขยายขอบเขตออกไปสู่ผู้คนทั้งปวงที่นิยมระบอบสาธารณรัฐ พวกหัวรุนแรงตลอดจนผู้เข้าร่วมปฏิวัติหรือสนับสนุนการปฏิวัติ
แต่ว่าการกระทำที่ถอยหลังเข้าคลองของราชวงศ์ฟื้นอำนาจได้ถูกคัดค้านจากด้านต่างๆ พวกนิยมกษัตริย์ที่กลับจากการหนีตาย ถึงแม้ว่าจะพยายามฟื้นคืนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนที่สูญเสียไป แต่ว่าที่ดินเหล่านี้ได้เปลี่ยนเจ้าของไปหลายเจ้าของแล้วในสมัยปฏิวัติ
และส่วนใหญ่ตกไปอยู่ในมือของชนชั้นนายทุนที่เป็นกลุ่มคณะเพรสไบทีเรียน
พวกนิยมกษัตริย์รวมทั้งตัวกษัตริย์เองจำใจเห็นด้วยกับวิธีประนีประนอมคือให้เจ้าของที่ดินคนใหม่ชด ใช้ค่าสินไหมทดแทนบางประการแก่เจ้าที่ดินคนเก่า แต่ที่ดินยังคงเป็นของเจ้าของคนใหม่ต่อไป
รัฐบาลฟื้นอำนาจในขณะเดียวกับที่ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของเจ้าที่ดินใหญ่และเจ้าของฟาร์มเกษตรใหญ่แบบทุนนิยมนั้น
ก็ได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในบางระดับ เพราะว่าทางราชสำนักก็ได้รับประโยชน์ไม่น้อยจากการเคลื่อนไหวปล้นชิงอาณานิคมจากบริษัทผูกขาดการค้ากับต่างประเทศและจากการค้าทาส
เพื่อช่วงชิงการช่วยเหลือจากกษัตริย์หลุยส์ที่
14 ของฝรั่งเศส ชาร์ลส์ที่ 2 ได้ฟื้นศาสนจักรโรมันคาทอลิคในอังกฤษ
และเสริมความเข้มแข็งให้กับการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช
ต่อภายนอกยอมขึ้นต่อฝรั่งเศสซึ่งเป็นโรมันคาทอลิค ปี 1670
ได้เซ็นสัญญาลับกับฝรั่งเศสซึ่งมีลักษณะทำลาย ชนชั้นนายทุนอังกฤษ
ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเลิกนโยบายปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของอังกฤษ ทั้งขายเมืองดานซิกที่ครอมเวลล์ยึดได้ให้กับฝรั่งเศส มาตรการเหล่านี้
ล้วนทำให้ชนชั้นนายทุนอังกฤษไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ความพ่ายแพ้ในสงคราม อังกฤษ-ฮอลแลนด์(1664-1667) ยิ่งทำให้ผู้คนทั้งหลายเคียดแค้นชิงชังต่อราชวงศ์สจ๊วต ปี 1672ชาร์ลส์ที่ 2 ประกาศ
“แถลงการณ์เสรีภาพในการนับถือศาสนา”
เป็นก้าวแรกของการฟื้นศาสนจักรโรมันคาทอลิคในอังกฤษ แต่ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากรัฐสภา จึงจำใจยกเลิกแถลงการณ์ฉบับนั้น
ในกระบวนการต่อสู้กับราชวงศ์สจ๊วตนั้น รัฐสภาได้ค่อยๆแบ่งฝ่ายออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายที่สนับสนุนกษัตริย์เรียกว่า
“พรรคทอรี่” เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของขุนนางเจ้าที่ดินซึ่งมีความสัมพันธ์กับราชสำนัก
พวกนี้สนับสนุนรูปแบบอำนาจรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฝ่ายที่คัดค้านกษัตริย์เรียกว่า “พรรควิก”*(คำว่า
วิก/Whig ตามความหมายเดิมหมายถึงโจรสก๊อตแลนด์ ส่วนคำว่า ทอรี่ นั้น ความหมายเดิมหมายถึงคนที่นับถือศาสนาโรมันคาทอลิคของไอร์แลนด์ เป็นฉายานามที่ทั้งสองฝ่ายใช้ด่าทอฝ่ายตรงข้าม) ซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมตลอดจนขุนนางเจ้าที่ดินใหม่ที่มีความสัมพันธ์กับมัน พวกนี้พยายามช่วงชิงขยายอำนาจของรัฐสภา จำกัดอำนาจกษัตริย์
ปี 1679
พวกวิกพยายามดันรัฐสภาผ่าน “กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองต่อร่างกาย” ในกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ไม่มีหมายจับของศาลจะทำการจับกุมคุมขังผู้คนไม่ได้ ผู้ถูกจับจะต้องส่งให้ศาลพิจารณาในเวลาอันสั้น
นี่ก็คือรากฐานระบอบรัฐธรรมนูญของอังกฤษนั่นเอง แต่ความเป็นจริงแล้ว
มันคือวิธีการอย่างหนึ่งที่ชนชั้นนายทุนใช้รับมือกับการปองร้ายของชนชั้นศักดินา
ก่อนอื่นก็คือใช้มาปกป้องคุ้มครองชาวพรรควิก กฎหมายนี้ยังระบุว่า
ผู้ถูกจับถ้าหากสามารถยื่นหลักทรัพย์จำนวนมากค้ำประกัน ปล่อยตัวชั่วคราวได้ แต่ผู้ถูกจับที่ถูกจับในกรณีติดหนี้แล้ว จะอยู่นอกความคุ้มครองของกฎหมายฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า
“กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองทางร่างกาย”
มีลักษณะทางชนชั้นอย่างเด่นชัดที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้มีทรัพย์สินเท่านั้น
ปี
1685
ชาร์ลส์ที่ 2 สิ้นพระชนม์ เจมส์ที่ 2 (James 2 ครองราชย์
1685-1688)
ผู้ซึ่งคลั่งไคล้ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิคสืบราชบัลลังก์ เขาก็รับเงินอุดหนุนจากฝรั่งเศส ทำงานตามนโยบายของหลุยส์ที่ 14 เช่นเดียวกับชาร์ลส์ที่ 2 เขาลดภาษีขาเข้าสำหรับสินค้าฝรั่งเศส
ขายผลประโยชน์ทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของอังกฤษ
ทั้งเตรียมสถาปนาศาสนจักรโรมันคาทอลิคขึ้นในอังกฤษอีก ฟื้นการปกครองของศาสนจักรโรมันคาทอลิคอันเป็นห่วงโซ่สำคัญห่วงหนึ่ง
ในการบรรลุซึ่งการฟื้นอำนาจศักดินาอย่างทั่วด้านและเสริมความมั่นคงให้กับการปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ในการนี้
เจมส์ที่2
ได้ปลดปล่อยสาวกนิกายโรมันคาทอลิคที่ต้องโทษจำคุกจำนวนมาก
เอาสาวกนิกายโรมันคาทอลิคมาเป็นแม่ทัพนายกองในกองทัพ ปี 1687 ประกาศ
“แถลงการณ์เสรีภาพในการนับถือศาสนา”
ยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสาวกนิกายโรมันคาทอลิคและสาวกนอกนิกายของทางการ
เตรียมเปลี่ยนนิกายโรมันคาทอลิคเป็นศาสนาของทางการ
เดือนเมษายน
1688
กษัตริย์มีราชโองการให้อ่านแถลงการณ์ฉบับนี้ให้วิหารทุกแห่ง ทั้งทำการจับกุมสังฆราชและมหาสังฆราชของคณะอังกลิกันที่ขัดราชโองการของพระองค์ ความจริง การที่ราชวงศ์สจ๊วต
ซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนชั้นศักดินาเคยร่วมมือกับชนชั้นนายทุนนั้นก็เป็นเพราะความจำเป็น
มาบัดนี้ถึงคราวที่จะแตกหักอย่างเปิดเผยแล้ว ดังนั้นจึงทำให้ขุนนางเจ้าที่ดินใหม่และชนชั้นนายทุนรู้สึกถึงความคุกคามที่มีต่อพวกเขาโดยตรง พวกขุนนางเจ้าที่ดินกลัวว่าวันใดที่ฟื้นอำนาจสังฆราชโรมันคาทอลิค นำมาซึ่งการฟื้นอำนาจระบอบศักดินาอย่างทั่วด้านแล้ว
ที่ดินและศาสนสมบัติที่พวกเขาแย่งยึดจากศาสนจักรโรมันคาทอลิคแต่ครั้งปฏิรูปศาสนาของพวกเขาก็จะหลุดมือไป ที่ดิน 7 ใน 10 ของอังกฤษก็จะต้องเปลี่ยนเจ้าของใหม่
ชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมกลัวว่า
ศาสนจักรและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชจะอุดช่องทางการสร้างฐานะร่ำรวยของพวกเขา นี่ก็ทำให้กลุ่มและชั้นชนต่างๆของชนชั้นนายทุนและขุนนางเจ้าที่ดินใหม่รวมตัวกันเข้าภายใต้คำขวัญ คัดค้านศาสนจักรโรมันคาทอลิคของ “ต่างชาติ”
ที่เป็น “ปฏิปักษ์กับประชาชาติ”
นับแต่คณะอังกลิกันซึ่งเป็นศาสนาของทางการไปจนถึงกลุ่มคณะเพรสไบที เรียน
กลุ่มอิสระ ซึ่งเป็นสาวกนิกายโปรแตสแตนท์อันเป็นศาสนาที่ไม่ใช่ของทางการ
ล้วนรวมตัวกันขึ้นมาคัดค้านกษัตริย์เพื่อป้องกันการฟื้นอำนาจอย่างทั่วด้านของระบอบศักดินาและการเคลื่อนไหวปฏิวัติของมวลชน ที่อาจเกิดขึ้นอีก
พรรควิกและพรรคทอรี่ตกลงร่วมมือกันก่อการรัฐประหาร เดือนมิถุนายน 1688 รัฐสภาส่งตัวแทนไปประเทศฮอลแลนด์ เชิญเจ้าชายวิลเลี่ยมที่ 3 แห่งราชวงศ์ออร์เรนจ์ (1650-1702) ราชบุตรเขยของเจมส์ที่ 2
ซึ่งขณะนั้นเป็นกงสุลบริหารรัฐบาลของฮอลแลนด์มาสืบราชบัลลังก์ของอังกฤษ เดือนพฤศจิกายน
วิลเลี่ยมนำกองทัพยกพลขึ้นบกที่อังกฤษ
เจมส์ที่ 2
ไม่ทันได้ต่อต้านก็หนีเตลิดไปอยู่ฝรั่งเศส เดือนกุมภาพันธ์ 1689
รัฐสภาประกาศสถาปนาวิลเลี่ยมเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ พระชายาของพระองค์เป็นราชินี
ผ่านจากการต่อสู้ฟื้นอำนาจและต้านการฟื้นอำนาจหลายครั้งหลายหน ในที่สุด
อังกฤษก็สามารถสถาปนาระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของชนชั้นนายทุนขึ้น
การรัฐประหารครั้งนี้
ชนชั้นนายทุนเรียกมันว่า
“การปฏิวัติที่มีเกียรติ” จบตอนที่ 8
No comments:
Post a Comment