Monday, March 23, 2015

เลนิน บนเส้นทางปฏิวัติ (4)

5. ถูกเนรเทศไปไซบีเรีย(1895–1900) 
วลาดิมีร์ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานแรกรับนักโทษที่ตั้งอยู่บนถนน ชปาเลอร์นายา ในระหว่างการสอบ ปากคำเบื้องต้นโดยไม่ยอมรับทนายความที่ทางการจัดให้และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของตำรวจ   ทางครอบครัวได้วิ่งเต้นเพื่อช่วยเหลือแต่เขาปฏิเสธการประกันตัว   นั่นหมายความว่าต้องถูกขังอยู่ถึงหนึ่งปีกว่าศาลจะตัดสิน     มิตรสหายสมาชิกขบวนการปฏิวัติได้ลักลอบส่งข่าวสารเข้ามาให้อยู่เสมอ   ในเวลาเดียวกันวลาดิมีร์ก็ประดิษฐ์รหัสต่างๆเพื่อใช้ในการติดต่อกับสหายโดยอาศัยการเล่นหมากรุกกับผู้ต้องขังอื่นๆ      บรรยากาศการถูกจองจำ นาเดซดา ครุฟสกายา ภรรยาและเพื่อนร่วมรบได้เขียนบรรยายไว้ในหนังสือความทรงจำของเธอในภายหลังว่า  

“วลาดิเมียร์ อิลยิช นั้นมีความห่วงใยต่อบรรดามิตรสหายที่ติดคุกด้วยกันมาก  จดหมายทุกฉบับที่ท่านส่งผ่านออกมา    เป็นต้องขอร้องให้ทำโน่นทำนี่ให้เพื่อนนักโทษอยู่เสมอไม่คนใดก็คนหนึ่ง     เช่นว่าคนๆนั้นไม่มีใครมาเยี่ยมเลยจำเป็น ต้องหาคู่หมั้น(คนมาเยี่ยม)ให้เขาสักคนหนึ่ง   หรือไม่ก็นักโทษคนหนึ่งต้องการรองเท้าบู๊ทที่อุ่นๆสักคู่หนึ่ง ฯลฯ “

เขาได้ใช้เวลาส่วนมากไปกับการเขียนบทความโดยเน้นไปที่บทบาทของชนชั้นกรรมกรที่วลาดิมีร์มีความเชื่อมั่นว่าจะเป็นผู้นำการปฏิวัติ      เชื่อมั่นว่าการเติบโตของวิสาหกิจทุนนิยมจะทำให้ชาวนาจำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้าเมืองและจะแปรเปลี่ยนฐานะไปเป็นชนชั้นกรรมาชีพ     และยังได้ให้อรรถาธิบายถึง  ”สำนึกทางชนชั้น” จะถูกพัฒนายกระดับขึ้นในอีกไม่ช้า      ซึ่งจะนำไปสู่การลุกขึ้นสู้ด้วยการปฏิวัติที่รุนแรงต่อต้านชนชั้นนายทุนผู้ซึ่งกดขี่พวกเขา    สิงหาคม 1896 บทความ ”ฉบับร่างว่าด้วยการอธิบายนโยบายสำหรับพรรคสังคม-ประชาธิปไตย”  ได้เขียนจบลงและเริ่มต้นเขียนหนังสือเรื่อง ”พัฒนาการของทุนนิยมในรัสเซีย”

เช่นเดียวกับบรรดามิตรสหาย วลาดิมีร์  อุลิยานอฟ ถูกตัดสินให้เนรเทศไปไซบีเรียตะวันออกเป็นเวลาสามปี     ก่อนไปในเดือนกุมภาพันธ์ 1897  ทางการได้ให้เวลาจัดการเรื่องราวต่างๆใน เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กแค่สองสามวัน    เขาได้ใช้เวลาอันน้อยนิดที่มีค่านี้พบปะกับมิตรสหายนักปฏิวัติทั้งหลาย     ในขณะที่เขาถูกจองจำอยู่นั้น....ขบวนการเคลื่อนไหวของพรรคสังคม-ประชาธิปไตยได้ถูกเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า  ”สันนิบาตการต่อสู้สำหรับการปลดปล่อยของชนชั้นกรรม กร”      การที่ผู้นำระดับปัญญาชนเกือบทั้งหมดถูกจำคุก   ทำให้บรรดากรรมกรต่างก็เลือกคนงานอาวุโสขึ้นมาแทนในตำแหน่งผู้นำ   จึงเกิดความแตกแยกไม่ค่อยจะเป็นเอกภาพนักทางการจัดตั้ง      วลาดิมีร์ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาด้วยความระมัดระวัง

ในนครหลวง เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กปี 1896–97 มีกระแสการนัดหยุดงานเรียกร้องให้ลดเวลาทำงาน จากวันละ 12-13 ชั่วโมงลงมาเป็น 11 ชั่วโมงครึ่ง   แต่นักลัทธิมาร์กซไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในองค์กรนำของ กรรมกร   งานนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ากรรมกรสามารถจัดการนัดหยุดงานกันเองได้ทำให้เชื่อว่าการคาด การณ์ล่วงหน้าของเขาเกี่ยวกับสำนึกทางชนชั้นนั้นกำลังเป็นจริงขึ้นมา  วลาดิมีร์ไม่มีความสุขนักที่ต้องละทิ้งการโอกาสเคลื่อนไหวไปในขณะที่เหตุการณ์กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มเช่นนี้ รัฐบาลซาร์เริ่มใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของค่ายพักและเขตพื้นที่(กันดาร)จัดการกับนักโทษการเมืองที่ต้องโทษเนรเทศราวกับว่าเป็นอาชญากร  ปี 1897 มีประชาชนรัสเซียถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในระบบนี้ถึง 300,000 คน ซึ่งเป็นจำนวน  5% ของประชากรในจักรวรรดิ์รัสเซียและวลาดิมีร์เองก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น     เขาได้รับอนุมัติให้เดินทางเองโดยไม่มีผู้ติดตาม   การเดินทางไปยังไซบีเรียตะวันออกใช้เวลาถึง 11 สัปดาห์ กว่ามารดาและน้องสาวจะตามมาสมทบก็กินเวลานาน     สรุปแล้วยังถือว่าได้รับการปฏิบัติที่ไม่เลวร้ายนักในการถูกเนรเทศไปยังชนบทที่หมู่บ้าน ชูเชนสโคเย (Shushenskoye) ตำบลมินูซินสกี  (Minusinsky District) เป็นสถานที่ซึ่งวลาดิมีร์กล่าวถึงว่า ”ไม่เลวนักหรอก”  เขาได้เช่าห้องเล็กๆในกระท่อมของชาวนาและต้องถูกจำกัดสถานที่และถูกจับตาเฝ้ามองจากตำรวจตลอดเวา  แต่ก็ยังสามารถติดต่อสื่อสารกันทางจดหมายกับบรรดาผู้ที่ต้องการล้มล้างระบอบซาร์ หลายคนได้เดินทางมาเยี่ยมเยือน,ร่วมเดินป่าล่าเป็ดและลงว่ายน้ำในแม่น้ำเยนิไซ(Yenisei River)ด้วยกัน

6. การประชุมสมัชชาครั้งที่ 1

บ้านที่ใช้เป็นที่ประชุมในเมืองมินสค์

การประชุมสมัชชาพรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตยครั้งแรกเป็นการประชุมลับขึ้นที่เมืองมินสค์ใน จักรวรรดิรัสเซีย (ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของเบลารุส)โดยใช้บ้านพักของครอบครัว รูมิยันเซฟ คนงานรถไฟแถบชานเมือง (ขณะนี้เป็นกลางเมืองไปแล้ว)เป็นที่ประชุมโดยจัดงาน” วันตั้งชื่อ”(nameday)ภรรยาเจ้าของบ้านบังหน้า เตาผิงในห้องถัดไปถูกจุดอยู่ตลอดเวลาเผื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นจะสามารถเผาเอกสารได้ทันท่วงที โดยมีนโยบายฉบับร่างของเลนินที่เขียนจากหมึกพิเศษซึ่งถูกลักลอบนำออกมาจากที่คุมขังมาพิจารณาด้วย สมัชชาประกอบ ด้วยกลุ่มสังคม-ประชาธิปไตยสามหน่วยหลักจากส่วนต่างๆของจักรวรรดิ   ได้แก่สหพันธ์เพื่อการต่อสู้ปลดปล่อยผู้ใช้แรงงานแห่งเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 1895 เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เก่าที่สุดในจักรวรรดิเนื่องจากถูกกวาดล้างเมื่อไม่นานมานี้ทำให้อ่อนตัวลงและไม่มีบทบาทสำคัญแต่อย่างใด    

กลุ่มที่สองคือ สหพันธ์แรงงานชาวยิว(The General Jewish Labour Bund) หรือที่เรียกสั้นๆว่า“บุนด์”ที่ รวมเอาคนงานสังคม-ประชาธิปไตยชาวยิวจาก “เขตที่กำหนดให้ตั้งถิ่นฐาน”[1](Pale of Settlement) ทั้ง  ในรัสเซีย  ลิทัวเนีย  โปแลนด์(บางส่วน) ของจักรวรรดิรัสเซียก่อตั้งเป็นสหพันธ์ขึ้น   ในเวลานั้นสหพันธ์ฯเป็นกลุ่มสังคมนิยมที่ใหญ่ที่สุดในจักรวรรดิ์และเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินในการประชุมสมัชชาครั้งนี้    กลุ่มที่สามได้แก่องค์กรสังคม-ประชาธิปไตย ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1897  ในเคียฟ(ปัจจุบันเป็นเมืองหลวงของยูเครน)และท้องถิ่นรอบๆ  มีหนังสือพิมพ์ ราโบเชยา กาเซทตา (หนังสือพิมพ์ กรรมกร) เป็นกระบอก เสียง    องค์ประชุมประกอบด้วยตัวแทนของทั้งสามกลุ่มรวมไปถึงตัวแทนจากมอสโคว์และ เยคัธลินโนสลาฟ รวม  9 คน  ชาวสังคมนิยมจากคาร์คอฟปฏิเสธิในการเข้าร่วมเพราะเห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะเคลื่อนเคลื่อนไหว

การประชุมมี 6 วาระ...ไม่มีการจดบันทึกนอกจากจากการลงมติเพราะต้องการให้เป็นความลับ      เรื่องที่ตัวแทนทั้งหลายได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นคือ  การรวมตัวกันของกลุ่มนักสังคม-ประชาธิปไตยต่างๆให้เป็นพรรคเดียวและการตั้งชื่อพรรค    ที่ประชุมยังเลือกคณะกรรมการกลางสามคนได้แก่  สเตพัน  รัดเชนโก  หนึ่งในนักสังคม-ประชาธิปไตยผู้อาวุโสของรัสเซียในฐานะผู้นำสันนิบาติแห่ง เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก   บอริส ไอเดลมาน แห่งหนังสือพิมพ์ ”กรรมกร”และอเล็กซานเดอร์  เครเมอร์ผู้นำสหพันธ์กรรมกรยิว    ส่วนคำประกาศตั้งพรรคนั้นรัดเชนโกเห็นสมควรให้สตรูฟเป็นผู้เขียน

คณะกรรมการกลางได้พิมพ์คำประกาศและการตัดสินใจของสมัชชาฯ  แต่อีกไม่ถึงหนึ่งเดือนตัวแทนห้าคนจากเก้าก็ถูกจับกุมโดย ”หน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐ”(Okhrana,โอ๊คครานา) การประชุมสมัชชาครั้งแรกจึงไม่ประสบความสำเร็จในการผนึกรวมนักสังคม-ประชาธิปไตยรัสเซียเข้าด้วยกัน    ไม่ว่าจะเป็นข้อ บังคับหรือนโยบายก็พลอยล้มเหลวไปด้วย     เท่านั้นไม่พอยังถูกไล่ล่าถูกกดดันอย่างหนักจากตำรวจที่ต้องการขัดขวางไม่ให้มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกภาพของกลุ่มนักสังคม-ประชาธิปไตย ซึ่งได้เกิดผลกระทบในเวลาต่อมาอันเป็นสาเหตุไปสู่การแตกแยกภายใน บรรดาผู้นำต่างก็มีความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่เสมอ และการที่กรรมการอีกสามคนไม่ถูกจับเป็นเพราะ  ซูบาตอฟ[2] ปักใจว่าการละเว้นไม่จับกุมสมาชิกที่เหลือนั้นจะสามารถนำไปสู่การจับกุมสมาชิกคนอื่นๆต่อไป แต่แผนการของเขาไม่เกิดผล จนกระทั่งปี 1903  การประชุมสมัชชาครั้งที่สองของพรรคฯจึงได้ทำการประชุมนอกประเทศ    ทำให้พรรคสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขข้อบังคับและนโยบายได้ตามสถานการณ์ที่เป็นจริง

พอถึงเดือนมีนาคม 1898  นาดยา (ครุฟสกายา)ก็ได้เดินทางมาอยู่ด้วย   เนื่องจากเธอถูกจับเมื่อเดือนสิงหาคม1896 ในข้อหาจัดการให้มีการนัดหยุดงาน   เธอถูกตัดสินให้ต้องโทษเนรเทศไปยังเมือง ยูฟา แต่เธอทำเรื่องร้องขอไปอยู่ที่ ชูเชนสโคเย ซึ่งเป็นที่เดียวกับวลาดิมีร์    โดยอ้างว่าเป็นคู่หมั้นของเขา   ต่อมาทั้งสองได้แต่งงานกันเมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม  และใช้ชีวิตครอบครัวในถิ่นเนรเทศโดยมี เอลิซาเวทตา  วาซิลลิเยฟนา(Elizaveta Vasilyevna) แม่ของนาดยาติดตามไปอยู่ด้วย คู่สามีภรรยาช่วยกันแปลหนังสือเล่มที่ สตรูฟ  ส่งมาให้เรื่อง  ”ประวัติศาสตร์ลัทธิสหภาพแรงงาน” (The History of Trade Unionism  1894 )  ของ ซิดนีย์ และ บีอาทริส เวบบ์ เป็นภาษารัสเซีย    ทั้งสองคนทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันพยายามติดตามศึกษาการพัฒนาการเคลื่อนไหวของนักลัทธิมาร์กซเยอรมันซึ่งได้รับเลือกตั้งจากการสนับสนุนของมวลชนด้วยการลงคะแนนให้กับพรรคสังคม-ประชาธิปไตย (Social Democratic Part) อย่างมีนัยยะอย่างไรก็ตามในพรรคสังคม-ประชาธิปไตยเยอรมันได้เกิดการแตกแยกทางอุดมการณ์ขึ้นักลัทธิแก้เช่น   เอดูอาร์ด  แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein)[3]  สนับสนุนการไปสู่สังคมนิยมโดยสันติโดยผ่านแนวทางรัฐสภา   ซึ่งค้านกับความคิดลัทธิมาร์กซแบบฉบับ(Orthofox Marxism)ที่เสนอการเปลี่ยนไปสู่สังคมนิยมโดยผ่านการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น เลนินเชื่อมั่นในความคิดแบบหลัง จึงตีพิมพ์หนังสือเรื่อง ”คัดค้านโดยชาวสังคม-ประชาธิปไตยรัสเซีย”  (A Protest by Russian Social-Democrats)  โจมตีโต้แย้งนักลัทธิแก้    จากนั้นเลนินได้เขียนเรื่อง “การพัฒนาของลัทธิทุนนิยมในรัสเซีย” จบลง    ซึ่งเป็นหนังสือที่ยาวที่สุดของเขาที่ได้นำเสนองานค้นคว้าวิจัยเพื่อโต้แย้งนักสังคม-ประชาธิปไตย(รัสเซีย)และความเชื่อของพวกเขาที่ว่าระบอบทุนนิยมได้ตั้งมั่นเป็นที่เรียบร้อยแล้วในสังคมชนบทของรัสเซีย    โดย เลนินได้อาศัยหลักลัทธิมาร์กซมาวิเคราะห์พัฒนาการทางเศรษฐกิจของรัสเซีย  โดยใช้นามว่า วลาดิมีร์ อิลิน

7. มิวนิค ลอนดอน และ เจนีวา 1900–1905
กุมภาพันธ์ ปี1900 โทษเนรเทศสามปีได้สิ้นสุดลง   เลนินถูกห้ามกลับไปยัง เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก  แต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ที่เมืองปัสคอฟ       เมืองเล็กๆที่ห่างจากเมืองหลวงราวสองชั่วโมงโดยทางรถไฟ     ในขณะที่นาเดซดาภรรยาของเขาล้มป่วยลงในขณะที่เธอยังคงอยู่รับโทษต่อที่เมืองยูฟา  ด้วยความตั้งใจที่จะต่อสู้กับ”นักลัทธิแก้ ”(revisionist) ในพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ   และต่อสู้กับการโฆษณาใส่ร้ายบิดเบือนลัทธิมาร์กซจากรัฐบาลซาร์ด้วยการคิดที่จะใช้หนังสือพิมพ์  เลนินและสตรูฟ เริ่มหาเงินเพื่อทำหนังสือพิมพ์ ”อิสครา” (Iskra / ประกายไฟ) และตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อเคลื่อนไหวปฏิวัติรัสเซียโดยใช้ชื่อว่า “พรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตยแห่งรัสเซีย”   (Russian Social Democratic Labour Party, RSDLP)     หลังจากไปเยี่ยมภรรยาที่เมืองยูฟาแล้ววันที่ 29 กรกฎาคม1900อุลิยานอฟก็เดินทางไปยุโรปตะวันตก   

ในสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมันเขาได้พบปะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับนักลัทธิมาร์กซอาวุโสของกลุ่ม ”ปลดปล่อยแรงงาน” เช่น เอ๊กเซลรอด , เพลคานอฟ ,  และโปเตรซอฟ   รายงานสถานการณ์ในรัสเซียให้ทราบเนื่องจากพวกเขาได้เดินทางมาลี้ภัยนอกประเทศเป็นเวลานานแล้ว    ซึ่งในเวลาเช่นนั้นสถานการณ์ต่างๆในรัสเซียกำลังก้าวรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วขบวนการกรรมกรเติบใหญ่ขึ้น ชีวิตลี้ภัยทางการเมืองเป็นเวลายาวนานส่งผลกระทบต่อทัศนะของพวกเขาเป็นอย่างมาก    เพราะถูกตัดขาดจากสังคมรัสเซีย   โดยเฉพาะขบวนการกรรมกรได้ก่อตัวขึ้นภายหลังที่พวกเขาไปอยู่ต่างประเทศแล้ว    ส่วนมากพวกเขาได้พบแต่นักการเมืองตัวแทนของพรรคต่างๆ   นักวิชาการ     นักศึกษาและแม้แต่กรรมกรเองเป็นรายบุคคล   แต่ไม่เคยได้พบเห็นมวลชนหรือชนชั้นกรรมกรรัสเซีย   ไม่เคยได้สัมผัสหรือเข้าร่วมเคลื่อนไหวทำงานด้วยเลย (จากความทรงจำถึงเลนิน, ครุฟสกายา)  

วันที่ 24 สิงหาคม 1900   นักลัทธิมาร์กซรัสเซียกลุ่มอิสคราซึ่งถือว่าเป็นหน่วยจัดตั้งระดับนำหน่วยหนึ่งได้มีการประชุมกันขึ้นที่เมือง คอร์แซร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์    อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกันเพื่อปูทางไปสู่แนวทางการสร้างพรรค   แต่ทั้งเพลคานอฟและโปเตรซอฟได้สร้างความประหลาดใจแก่คนอื่นๆด้วยการแสดงความกราดเกรี้ยวออกมาเมื่อกล่าวถึงกรรมกรชาวยิว     โดยเฉพาะเพลคานอฟที่มีแนวคิดต่อต้านชาวยิว(anti-semitism) อย่างรุนแรง   บุคลทั้งสองเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องนับถืออย่างสูงในฐานะ ”บิดาแห่งลัทธิมาร์กซรัสเซีย”  ต่างก็ได้สูญเสียเกียรติภูมิอันสูงส่งไปจนหมดสิ้น    ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าควรออกหนังสือพิมพ์เพื่อทำการโฆษณาแนวทางการสร้างพรรคโดยใช้ชื่อว่า “อิสครา”(ประกายไฟ) มาจากประโยคที่ว่า ”ประกายน้อยส่งสร้าง   เปลวเพลิง” (One spark will start a flame) จากบทกวีของ อเล็กซานเดอร์ โอโดเอียฟสกี(Alexander Odoevsky)[4]   
อุลิยานอฟเริ่มใช้นามปากกาว่า ”เลนิน” ในเดือนธันวาคม 1901 ซึ่งน่าจะมาจากชื่อแม่น้ำ เลนา ด้วยวิธีเดียวกันนี้ เพลคานอฟ ก็ได้ใช้นามแฝงว่า โวลกิน จากชื่อแม่น้ำโวลกา  ในปี 1902 ภายใต้นามปากกานี้เขาได้ตีพิมพ์จุลสารการเมืองเรื่อง What Is to Be Done? (จะทำอะไรดี)  ซึ่งได้ชื่อมาจากหนังสือนวนิ ยายที่ทรงอิทธิพลของ เชอร์นีเชฟสกี จุลสารฉบับนี้ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในแวดวงสิ่งพิมพ์ของยุคนั้น   มันสะท้อนความคิดของเลนินในการสร้างพรรคการเมืองที่เป็นกองหน้าเพื่อนำการต่อสู้ปฏิวัติของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน     ทั้งสองตั้งหน้าปลุกระดมทางการเมืองต่อไปโดยบทความที่เลนินเขียนลงในอิสคราฉบับต่อมาได้เสนอร่างนโยบายของพรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตย โจมตีวิจารณ์แนวคิดอุดมการณ์ของบรรดานักฉวยโอกาสทั้งภายในและภายนอกพรรค และยึดมั่นอยู่กับคำสอนดั้งเดิมของลัทธิมาร์กซ เลนินเริ่มยอมรับทัศนะของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ[5](Social Revolutionary Party's) ในประเด็นศักยภาพและพลังการปฏิวัติของชาวนารัสเซีย จึงได้ลงมือเขียนจุลสารเรื่อง ”ถึงคนจนในชนบท”(To the Village Poor)  เพื่อพยายามดัดแปลงพวกเขาให้เข้าใจในวัตถุประสงค์ของลัทธิมาร์กซ    

เมื่อครุฟสกายาภรรยาของเลนินพ้นโทษเนรเทศแล้วเธอได้เดินทางตรงไปยังมิวนิคทันที   ที่นั่นทั้งสองได้พบกันอีกครั้งหนึ่ง   โดยครุฟสกายาทำหน้าที่เป็นเลขานุการช่วยรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆให้เลนินเพื่อเตรียมงานสำหรับหนังสือพิมพ์อิสครา  หนังสือเชิงชีวประวัติและงานเรื่อง “เลนิน..ศาสดานักปฏิวัติ”  เขียนโดย นินา กรูฟิงเกล ที่วิภาษ รักษาวาที ถอดความเป็นไทยกล่าวถึงครุฟสกายาว่า    
“...ข่าวทั้งหมดซึ่งมีมากมายหลายชนิดที่ถูกต้องแน่นอน ที่อิสคราได้ข่าวจำนวนมหาศาลเหล่านี้มาจากงานงานประจำวันของครุฟสกายา เป็นงานซึ่งต้องใช้หน่วยงานเลขานุการที่ใหญ่โตแต่เธอสามารถทำโดยตัวเธอเอง”
กองบรรณาธิการอิสคราประกอบไปด้วย เพลคานอฟ  เอ๊กเซลรอด  เวรา ซาซูลิค  โปรเตซอฟ  เลนิน  และมาร์ตอฟ  ที่ประชุมได้ตกลงกันว่าจะพิมพ์ออกที่เมืองมิวนิค     ซึ่งเพลคานอฟที่มีฐานอยู่ในสวิสฯจะไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จและตัวเขาเองนานๆก็จะเขียนบทความมาลงในอิสคราสักครั้งหนึ่ง   อิสคราฉบับแรกออกเมื่อเดือนธันวาคมตรงกับวันคริสมาสอีฟ(วันก่อนหน้าวันคริสต์มาส)โดยเสนอบทนำเรื่อง ”หน้าที่จำเป็นของขบวนการของเรา”   ได้กล่าวอธิบายถึงการก่อตั้งพรรคการเมืองลัทธิมาร์กซที่มีความเข้มแข็ง    เพราะจะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่สามารถนำไปสู่การปลดปล่อยชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกขูดรีดได้    เลนินกล่าวว่า   “เวลาสำหรับพวกมือสมัครเล่นกลุ่มต่างๆที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายและกิจกรรมที่ไม่มีจุด มุ่งหมายในการรวมตัวกันควรยุติลงได้แล้ว      ที่สำคัญทุกคนต้องเข้าใจและมีความแจ่มชัดก่อนที่ จะรวมกัน   ก่อนอื่นใดทั้งหมด..เราต้องขีดเส้นแบ่งกลุ่มต่างๆออกจากกันให้ชัดเจน”

บทความในอิสคราฉบับแรกนี้ส่วนใหญ่เลนินเป็นคนเขียน โดยประณามเหตุการณ์ในขณะนั้นที่มหา อำนาจในยุโรปทำการแทรกแซงการลุกขึ้นสู้ของขบวนการ ”อี้เหอถวน”(Boxer Rebellion) ในประเทศจีน   ในขณะเดียวกันพรรคแรงงานสังคม-ประชาธิปไตยรัสเซีย ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่ง ชื่อ“ซารียา”(Zarya รุ่งอรุณ) เมื่อเดือนมีนาคม 1901 ที่เมือง ชตุทการ์ท,เยอรมัน   แต่ออกได้เพียงสี่ฉบับเท่านั้นก็ต้องเลิกราไป   ส่วนอิสครากลับประสบความสำเร็จมากกว่าได้รับการสนับสนุนจาก โรซา ลุกเซ็มบวร์ก  คาร์ล เค้าทสกี นักทฤษฎีลัทธิมาร์กซชาวเยอรมัน  ช่วงนี้ ลีออน ทร๊อตสกี หนุ่มนักลัทธิมาร์กซชาวยูเครนที่หลบหนีโทษเนรเทศจากไซบีเรียได้เข้ามาร่วมงานในฤดูใบไม้ผลิปี 1902 นำข่าวที่ทำให้เลนิน ปลาบปลื้มใจเป็นอันมาก  ที่สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับลัทธิมาร์กซถูกเวียนกันอ่านในไซบีเรียเช่นเดียวกับในคุกที่มอสโคว์...หนังสืออิสคราถูกลักลอบนำเข้าไปเผยแพร่ในรัสเซียอย่างลับๆ  สามารถกระจายไปยังบรรดาผู้ถูกเนรเทศจนไปจรดฝั่งแม่น้ำเลนา

--------------------------------------------------------------------------

[1] คือกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยจักรพรรดินีคัธรีน     เป็นการจัดระเบียบเพื่อควบคุมประชาชนเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่รัสเซียให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตนิคมเดียวกันเพื่อสะดวกในการควบคุม
[2] เซอร์ไก วาสิลิเยวิช  ซูบาตอฟ (Sergei Vasilyevich Zubatov ) หัวหน้าตำรวจลับของระบอบซาร์
[3] นักทฤษฎี นักการเมือง ในพรรคสังคม-ประชาธิปไตยเยอรมันที่ไม่เห็นด้วยกับคำสอนของมาร์กซ    และได้เสนอทฤษฎีของตนที่ตรงกันข้ามกับทฤษฎีลัทธิมาร์กซ   จึงได้รับฉายานามจากนักลัทธิมาร์กซว่าเป็นบิดาแห่งลัทธิแก้ (Revisionist)
[4] นายทหาร  กวี  นักเขียนบทละคร   เป็นสมาชิกกลุ่ม decembrists ซึ่งทำรัฐประหารคัดค้านซาร์อเล็กซานเดอร์ที่หนึ่ง   เป็นเจ้าของบทกวี  One spark will start a flame. (“ประกายไฟน้อยส่งสร้าง    เปลวเพลิง”  )
[5] พรรคการเมือง แนวทางสังคมนิยมปฏิรูปแบบชนชั้นนายทุนน้อยที่สนับสนุนการต่อสู้ทางรัฐสภา   คัดค้านการใช้ความรุนแรงในการปฏิวัติ   

No comments:

Post a Comment